ปลูกมัลเบอร์รี่ แบบซุ้มอุโมงค์ สวนเป็นระเบียบ สวยงาม ง่ายต่อการเก็บผลผลิต

มัลเบอร์รี่ หรือ หม่อน ผลไม้หนึ่งในตระกูลเบอร์รี่ ปลูกง่าย แปรรูปเป็นผลิตภัณ์เพื่อสุขภาพสร้างมูลค่าได้หลากหลาย สามารถปลูกได้กับทุกสภาพพื้นที่ มีข้อดี ข้อเสีย ต่างกัน หากปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน แดดจัด ผลจะดก โตเร็ว มีข้อเสียคือ ผลจะนิ่ม ถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นผลหม่อนจะออกไม่ดกมาก ข้อดีคือ ผลจะมีความหวาน กรอบ หากจะปลูกเชิงการค้า แนะให้เลือกพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเย็นและมีแดดส่องถึง อย่างที่อำเภอวังน้ำเขียว

คุณนันทวัน โตอินทร์ หรือ ครูไก่ เจ้าของสวนแม่หม่อน ตั้งอยู่ เลขที่ 201 หมู่ที่ 5 ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา อดีตแม่พิมพ์ของชาติ ลาออกจากราชการก่อนครบอายุ ผันตัวทำงานเกษตรที่ตนเองรัก บนพื้นที่มรดกคุณพ่อทิ้งไว้ให้ที่อำเภอวังน้ำเขียว จำนวน 13 ไร่ ครูไก่ เล่าว่า ก่อนที่จะลาออกจากราชการได้มีการคิดวางแผนมาก่อนแล้วว่า หากลาออกจากราชการจะทำอะไรดี จึงได้ศึกษาหาความรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้ให้ได้มากที่สุด มองดูรอบๆ พื้นที่แล้วน่าจะเหมาะกับการปลูกมัลเบอร์รี่ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อของ “ลูกหม่อน” เพราะพื้นที่ในอำเภอวังน้ำเขียวมีอากาศเย็น และมีแดดส่องทั่วถึง จึงเหมาะกับการปลูกมัลเบอร์รี่

คุณนันทวัน โตอินทร์ หรือ ครูไก่ เจ้าของสวนแม่หม่อน

นอกเหนือจากพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว มัลเบอร์รี่ยังเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์และวิตามินสูง ปลูกง่าย โตเร็ว อีกทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลากหลาย ทั้งขายผลสด แปรรูปเป็นน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ แยม อบแห้ง กวน  ครูไก่ บอกว่า โชคดีที่ตนเป็นครูมาก่อน จึงมีนิสัยที่ชอบค้นคว้าหาความรู้ มีมุมมองที่หลากหลาย คิดในระยะยาวหากทำอะไรที่เหมือนคนอื่น อีกไม่นานสินค้าอาจล้นตลาด จะลำบาก จึงหาวิธีแปรรูป และทำท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้นักท่องเที่ยวที่เยี่ยมชมสวน เด็ดลูกหม่อนกินผลสดได้ตลอดทั้งปี ปลอดสารพิษแน่นอน วิธีนี้ถือว่าได้ใจนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

 

มัลเบอร์รี่ ปลูกง่าย โตเร็ว ไม่ต้องใช้สารเคมี

ครูไก่ บอกว่า ตอนแรกจะปลูกเล่นๆ ไม่ได้ทำใหญ่โตอะไรนัก ปลูกเพียงให้ได้ขายหลังจากเกษียณ เพราะโดยพื้นฐานเดิมเป็นคนรักสุขภาพ เห็นว่ามัลเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์สูง ปลูกง่าย ไม่ต้องฉีดยา แต่ทำไปทำมาผลผลิตเริ่มออกเยอะ และได้ผลดี หลังจากนั้นจึงมีความคิดที่จะขยายพื้นที่ปลูกและเริ่มทำเต็มรูปแบบ เมื่อปี 2557 ปลูกทั้งหมด 13 ไร่ แบ่งปลูก 2 พันธุ์ แปลงแรก จำนวน 8 ไร่ ปลูกพันธุ์เชียงใหม่ 60 อีก 5 ไร่ แบ่งปลูกพันธุ์ดำออสตุรกีเป็นพันธุ์ของต่างประเทศ เพื่อสร้างความหลากหลาย ในส่วนของพันธุ์ดำออสตุรกี ตอนนี้ยังผลิตไม่พอขาย

ข้อดีของพันธุ์เชียงใหม่ 60 เหมาะกับทุกสภาพพื้นที่ทั่วประเทศ เพียงแต่มีข้อดี ข้อด้อย ต่างกัน ถ้าปลูกที่อำเภอวังน้ำเขียวเป็นพื้นที่อากาศเย็น เพราะฉะนั้นผลจะหวาน กรอบ ลูกแข็ง โดยธรรมชาติ

ปลูกมัลเบอร์รี่แบบอุโมงค์ ดูแลจัดการง่าย ดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี

ที่สวนแม่หม่อน ใช้วิธีการปลูกแบบแบ่งโซน มีการจัดกิ่งให้โน้มเข้าหากันคล้ายอุโมงค์ เพื่อง่ายต่อการดูแลเก็บเกี่ยวผลผลิต และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม เก็บผลสดถ่ายรูปได้ตลอดทั้งปี วิธีการไม่ยาก แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน ถ้าปลูกที่บ้าน ให้ปลูกแค่ 4 ต้น สมมุติว่า ที่สวนมี 400 ต้น ให้แบ่งปลูกเป็นโซน โซนละ 100 ต้น

100 ต้นแรก ให้ตัดแต่งกิ่งและยอด เอาใบออก แล้วจับกางออกให้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง แล้วนับตั้งแต่วันตัดแต่งกิ่ง 50 วัน จะเริ่มเก็บลูกได้ ระยะเวลาในการเก็บลูก 20 วัน ถึง 1 เดือน ลูกจะหมด เพราะฉะนั้น 100 ต้นแรก แต่ง วันที่ 1 ของเดือนมกราคม เว้นไว้ 1 เดือน วันที่ 1 ของเดือนกุมภาพันธ์ มาแต่งอีกโซน ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 4 โซน พอครบก็จะกลับมาโซนที่ 1 ใหม่ 1 ต้น 1 ปี จะตัดได้ 3 ครั้ง ด้วยวิธีนี้มัลเบอร์รี่ที่นี่จึงไม่ขาดลูกเลยตลอดทั้งปี

 

ระยะห่างระหว่างแถว 4x4 เมตร ต้นโตดี ให้ผลผลิตดก

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้สอนให้เจ้าของรู้ เริ่มต้นเคยปลูกห่างกันแค่ 2 เมตร ผ่านมา 1 ปี ต้นโตชนกัน พอชนเรามาคิดละว่า ทำไงดี จึงใช้วิธีขุดล้อมยกทั้งเบ้าไปปลูกที่อื่น หลังจากนั้น จึงค้นพบว่า ระยะห่างที่เหมาะสมคือ 4×4 เมตร เพื่อให้กิ่งแผ่รับแสงแดดได้เต็มที่ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ทำงานสะดวก เก็บผลง่ายเวลาเดินเก็บไม่ต้องก้มให้ปวดหลัง” ครูไก่ บอก

ระบบน้ำ เนื่องจากอำเภอวังน้ำเขียว เป็นอำเภอที่มีหมอกหนา น้ำค้างเยอะ ที่สวนจึงใช้สปริงเกลอร์สูง รดจากด้านบนลงมา ตั้งแต่ตี 5 ข้อดีคือ ชุ่มชื้น ล้างใบป้องกันโรคได้ดี แต่ข้อเสียของสปริงเกลอร์คือ เปลืองน้ำ หญ้าขึ้นเยอะ

 

อุโมงค์มัลเบอร์รี่เอาใจนักท่องเที่ยว

ตัดแต่งกิ่งใส่ปุ๋ย

เจ้าของบอกว่า ให้นับตั้งแต่วันที่เก็บลูกรุ่นแรกหมด พักไว้แล้วใส่ปุ๋ยคอก รดน้ำ พักทิ้งไว้ให้ต้นเก็บอาหารอย่างน้อย 2 เดือน แล้วตัดใหม่ ปุ๋ยที่ใช้เป็นปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ตามสูตรของวิศวกรรมแม่โจ้ ลงสม่ำเสมอ เยอะไม่เป็นไร จะเป็นมูลอะไรก็ได้ ที่นี่จะใช้มูลวัว เพราะโดยแวดล้อมเกษตรกรเลี้ยงวัวเยอะ ถ้าที่อื่นมีฟาร์มหมูหรือฟาร์มไก่ ก็ใช้ได้เช่นกัน

 

ศัตรูพืชน้อย ป้องกันและกำจัดโรคแมลงไม่ยาก

ที่สวนแม่หม่อน จะไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง เพียงแค่ปรับวิธีคิดใหม่ ขยันมากขึ้น ถึงเวลาตัดแต่งกิ่ง เมื่อทำเสร็จจะเก็บไปทำปุ๋ยทันที จะไม่กองทิ้งไว้ในแปลง เพราะหัวใจหลักของการป้องกันโรคแมลงคือ ความสะอาด คือ 1. เมื่อตัดกิ่งและใบ อย่าทิ้งไว้ ให้นำไปทิ้งหรือทำปุ๋ย เพราะการที่กองกิ่งและใบไว้ถือว่าเป็นการสะสมโรคแมลง

  1. ตัดหญ้าให้เตียน เพื่อไม่ให้แมลงหวี่ขาวมารุม
  2. ใช้สารชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาที่ป้องกันเชื้อรา

 

ปุ๋ยหมักคุณภาพ สูตรวิศวกรรมแม่โจ้ ประหยัดต้นทุนได้เยอะ

ปุ๋ยหมักที่นี่ทำไม่ยาก ใช้สูตรวิศวกรรมแม่โจ้ ค้นหาตามอินเตอร์เน็ตได้เลย ทำง่าย นำใบและกิ่งที่ตัดทิ้งมาเข้าเครื่องย่อย ให้ได้ 1 กอง ตั้งกองสามเหลี่ยมขึ้นสลับกับมูลวัวเป็นชั้น ที่ตั้งเป็นสามเหลี่ยมเพราะน้ำจะไม่เข้าไปข้างใน สามารถทำกลางแจ้งได้ ไม่ต้องกลับกอง 10 วันแรก รดน้ำทุกวัน หลังจากนั้น เอาไม้แหลมเจาะรูทั่วกอง ห่างกันประมาณ 40 เซนติเมตร เจาะแล้วเอาน้ำกรอกเข้าไป กรอกเสร็จให้ปิดรู เพื่อให้มีความชื้นอยู่ข้างใน 3 เดือน ใช้ได้  ถือว่าเป็นการประหยัดต้นทุน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

เจาะรูรดน้ำ

ผลผลิตดก 75 กิโลกรัม ต่อต้น

ผลผลิตออกตลอดทั้งปี 1 ต้น ใน 1 รุ่น ให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 25 กิโลกรัม ต่อต้น 1 ปี สามารถเก็บผลผลิตได้ 3 ครั้ง ใน 3 รุ่น ได้ผลผลิต 75 กิโลกรัม ต่อต้น

พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 100 ต้น

ผลหม่อนส่วนใหญ่แล้วลูกดำจะหวาน แต่บางคนก็ชอบแดง จะมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ทางสวนเปิดให้เดินเก็บเอง  ส่วนที่ชิมไม่คิดเงิน แต่จะมีตะกร้าให้เดินเก็บ ตะกร้าละ 50 บาท ถ้าเบื่อแล้วเก็บไม่เต็ม เจ้าของจะเติมให้เต็ม

 

แปรรูปผลผลิต สร้างมูลค่า

“ผลสด ถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวมาสิ่งแรกที่เขานึกถึงเขาจะขอชิมผลสดก่อน เราจึงมีการเก็บผลสดใส่ถาดไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวชิม ไม่ต้องกังวลเรื่องความสะอาด เพราะเราเปิดพัดลมตัวเล็กไว้พัดไล่แมลงหวี่ตลอดเวลา นอกเหนือจากผลสดแล้วยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งผลสดมีให้เดินเก็บจากต้น น้ำมัลเบอร์รี่ แยม มัลเบอร์รี่อบแห้ง มัลเบอร์รี่กวน รับประกันเลยว่าต้องโดนใจผู้ที่ไม่รับประทานหวาน เพราะผู้เขียนได้มีโอกาสชิมทั้งหมดแล้ว แต่วันนี้ครูไก่จะมาแนะนำวิธีการทำน้ำมัลเบอร์รี่ให้ผู้อ่านทางบ้าน ที่ปลูกมัลเบอร์รี่ไว้เพื่อกินผลสด ลองหันมาทำน้ำดื่มกันดูบ้าง สำหรับมือใหม่ไม่ต้องทำใส่ขวดแก้ว ให้ใส่ขวดพลาสติกก่อน สาเหตุที่สวนใส่ขวดแก้วเพราะสวนเราอยู่ไกลนักท่องเที่ยว มาแล้วต้องเดินทางกลับ จึงทำใส่ขวดแก้วเพื่อให้เก็บได้นาน เพราะเราไม่ใส่สารกันบูด” เจ้าของ บอก

วิธีทำ

  1. เก็บผลมัลเบอร์รี่ล้างให้สะอาด
  2. ปั่นผสมน้ำนิดหน่อยเพื่อให้ปั่นง่าย
  3. ใช้ผ้าขาวบางคั้นกรองกากออก
  4. เมื่อได้น้ำออกมา ตั้งใส่หม้อสเตนเลสเติมน้ำนิดหน่อย ตั้งให้เดือด ประมาณ 15-20 นาที ช้อนฟองออกให้หมด ในขณะที่ต้มน้ำก่อนเดือดให้เอาขวดกับฝานึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ เวลานึ่งให้คว่ำขวด คว่ำฝา พอตรงนี้ได้แล้ว ต้องกรอกในเวลาอันรวดเร็วในขณะที่ร้อน พื้นที่ต้องสะอาด ปิดฝา เพียงเท่านี้ วิธีนี้สามารถเก็บได้นานเป็นปี แต่ตามธรรมชาติยิ่งเก็บไว้นานสารอาหารยิ่งลดลง เราจึงเขียนวันหมดอายุให้ไม่เกิน 4 เดือน เราจะใช้วิธีทำไปขายไป ไม่ให้เหลือค้างไว้นาน น้ำมัลเบอร์รี่ที่นี่ไม่ใส่เกลือ เพราะเคยใส่แล้วค้นพบว่า ทิ้งไว้ 1 เดือน น้ำเค็ม

แนะนำเกษตรกรมือใหม่

ครูไก่ บอกว่า

  1. เลือกพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูก แดดจัด อากาศร้อนไม่เป็นไร อากาศร้อนออกลูกดี
  2. หม่อนต้นทุนต่ำ แต่ต้องอาศัยความขยัน เพราะหากจะทำสวนปลอดสารพิษก็ต้องใช้แรงงานมากหน่อย ทำแปลงให้สะอาด อย่าให้เป็นแหล่งสะสมโรค

ปลูกไม่ยาก ระยะห่างระหว่างแถว 4×4 เมตร ตัดกิ่งเท่าที่เราเก็บถึง

การแต่งกิ่ง สภาพต้นพร้อมให้ลูก ให้ดูที่กิ่ง กิ่งจะแก่มีสีน้ำตาลเพราะสะสมอาหารเต็มที่ ถ้าได้อย่างนี้แล้วให้ตัดยอด เสร็จแล้วให้โน้มกิ่งผูกเข้าหากันเป็นซุ้ม เพียงเท่านี้

สำหรับท่านที่อยากเข้าไปเยี่ยมชม สวนแม่หม่อน หรืออยากจะเข้าไปขอความรู้ ครูไก่ยินดีให้คำปรึกษา ก่อนที่จะเข้าไปเยี่ยมชม ให้โทร.ถามทางก่อน ที่เบอร์โทรศัพท์ (081) 304-0980

 

คุณนันทวัน โตอินทร์ หรือครูไก่และสามี

แผนที่เดินทางไปสวนแม่หม่อน