ผู้เขียน | วิลาสินี แอล โฟลเดอร์นาวร์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คนเคยไปไต้หวันจะรู้ว่าสิ่งที่ทำให้เราจำได้ไม่ลืมคือ ผักและผลไม้ของประเทศนี้หวานกรอบเหลือเกิน มันหวานกรอบอย่างหาได้ยากในประเทศอื่น กระทั่งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่ว่ากันว่าปลูกผักผลไม้ได้หวานเหลือเกิน
กินอาหารที่ไต้หวัน แค่ผัดผักน้ำมันเฉยๆ ก็อร่อยขึ้นสวรรค์แล้ว ฉันว่า อันนี้ประสาฉันคนรักผักนะ คนไม่รักผักอย่าไปไต้หวันเลย ฉันเตือน
คนไต้หวันชิลกว่าคนจีนทั่วไป อาจเพราะเขาเป็นเกาะ อากาศดี เย็นตลอดปี ดินก็ดีด้วย เขาเพาะปลูกอะไรก็งาม พืชผักที่เอามาปลูกแถวภาคเหนือของไทย จำนวนมากมาจากการส่งเสริมของไต้หวัน ได้พันธุ์มาจากไต้หวัน พุทรานมสดนั่นไง ไหนจะองุ่นไร้เมล็ดอีก ไม่นับชาไข่มุก ที่มาจากเขามีชาคุณภาพดีมาก และดื่มชากันมาก จนหาทางพัฒนาให้กลายเป็นเครื่องดื่มที่คนรุ่นใหม่กินได้ และกลายเป็นวัฒนธรรมส่งออกไปทั่วโลก
ไต้หวันภูมิใจมากกับฉายาดินแดนแห่งอาหารเลิศรส เขามีร้านอาหาร ภัตตาคารมากมาย กินกันทั้งวันคืน แต่นอกจากจะมากปริมาณแล้ว ร้านอาหารเขายังใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ ซึ่งก็อย่างที่บอกมาว่ามันทั้งสดทั้งใหม่ ดังนั้นทำอะไรก็อร่อย
การเกษตรของไต้หวันได้รับการยอมรับว่าอยู่แถวหน้าของโลก เขาพัฒนาโดยอาศัยทั้งความอดทนของคน และเทคโนโลยีที่ใส่เข้าไปไม่ยั้ง รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง จนวันนี้เกาะเล็กๆ แห่งนี้พึ่งพาตนเองได้ในแง่อาหาร (สิงคโปร์ รวยกว่า แต่ยังพึ่งพาตนเองในเรื่องนี้ไม่ได้-แต่ก็พยายามอย่างหนักอยู่นะขอบอก)
เขาส่งออกความรู้ด้านการเกษตรของเขาไปทั่วโลก โครงการหลวง และบรรดาเกษตรอินทรีย์บ้านเรา เรียนรู้จากไต้หวันมาหลายสิบปี
รัฐบาลสนับสนุนการวิจัยอย่างหนัก ส่งคนไปเรียนรู้ทั่วโลก เมื่อกลับมาทำงาน เขาให้ทำงานในประเทศเพียง 8 เดือน อีก 4 เดือน รัฐบาลจ่ายเงินให้ไปเรียนรู้เพิ่มเติมอีก เทคโนโลยีของไต้หวันจึงก้าวไกลมาก เป็นการก้าวไกลที่ไปพร้อมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาคบริการ การลงทุน และการเกษตร ไม่มีภาคไหนเป็นลูกเมียน้อยโดยเด็ดขาด
ไต้หวัน มีประชากร 25 ล้าน เป็นประเทศเล็กๆ ขับรถจากเหนือสุดถึงใต้สุด ใช้เวลา 5 ชั่วโมง มีคนวิ่งมาราธอน หรือปั่นจักรยานข้ามประเทศเป็นว่าเล่น
การเกษตรของไต้หวันพัฒนาไปเป็นเกษตรขั้นสูง คือเน้นความปลอดภัยในการผลิต และกำลังจะก้าวไปสู่การเป็นเกาะแห่งเกษตรอินทรีย์ จุดหมายเบื้องต้นคือ ผลิตอาหารปลอดภัยให้คนของตัวเองกิน จะได้ไม่ต้องเสียเงินไปกับการซ่อมแซมสุขภาพ หรือเสียทรัพยากรบุคคลไปกับการตายเร็วเพราะสารเคมี
นาข้าวของไต้หวันน้ำจะใสสะอาดมาก เพราะเขาไม่ใช้สารเคมี และแม้จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เขาก็ใช้แค่เหมาะสม ไม่ประโคมโหมแห่ลงไปมาก ถ้าหนาวเกินเขาทำน้ำให้อุ่นโดยใช้เครื่องจักรที่รัฐบาลสนับสนุน เขาปล่อยเป็ดลงแปลงกินหอย ปลูกตะไคร้ไล่แมลงรอบแปลง ไม่เผาตอซัง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เท่าที่เหมาะสม เขารู้ว่าหากใส่มากเกินไปจะทำให้ต้นข้าวอ่อนแอ ถึงจะอินทรีย์ก็เถอะ
ภาคการเกษตรทั้งหมดของไต้หวัน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เช่น หากอยากแปรรูปผลผลิต รัฐบาลลงทุนซื้อเครื่องจักรให้ทั้งหมด แล้วค่อยทยอยจ่ายคืน ขณะที่ประเทศไทย งบประมาณที่สนับสนุนภาคเกษตรมีไม่ถึง 5% ของงบประมาณทั้งหมด
หรืออย่างการวินิจฉัยโรค เกษตรกรเขาส่งตัวอย่างพืช หรือกระทั่งถ่ายรูปส่งอีเมลไปให้ เขาบริการวินิจฉัยให้ฟรี ของไทยนี่ค่าใช้จ่ายตัวอย่างละหลายตังค์ เกษตรกรแบกรับไม่ไหว เลยต้องไปพึ่งร้านขายยาฆ่าแมลง จ่ายเงินซื้อยาแล้วไปตายเอาดาบหน้า ทั้งพืชทั้งคนปลูก
ไต้หวันมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ประมาณ 3.7 หมื่นไร่ คิดเป็น 0.6% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด เทียบกับประเทศแนวหน้าด้านเกษตรอินทรีย์ เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งมีสัดส่วนเกษตรอินทรีย์ 16% และ ออสเตรีย 20% ถือว่ายังห่างไกล แต่เขาก็เร่งมืออย่างหนัก ตอนนี้ร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในไต้หวันมีกว่า 2,000 ร้าน มีตลาดนัดที่เกษตรกรขายตรงต่อผู้บริโภค 70 แห่ง
ถ้าใครคิดว่า ไต้หวัน จะเป็นแค่เกาะที่มีคนจีนอยู่ ไม่ต่างจากประเทศจีน นั่นคิดผิดมาก ไต้หวันมีเชื้อชาติจีนนั้นจริงอยู่ แต่เขาได้รับอิทธิพลตะวันตก และมีความเป็นตะวันตกมากกว่ามาก
คนไต้หวันพูดภาษาอังกฤษได้ส่วนใหญ่ คนรุ่นเก่าก็พูดได้ เขาเหมือนคนฮ่องกงมากกว่า แต่มีเอกลักษณ์มากกว่า เพราะเขาไม่อยากจะเป็นเหมือนจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ต้องชะตากันนัก เนื่องจากประวัติศาสตร์ ฉันว่านี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไม่ค่อยรู้จักมักจี่ไต้หวัน
ไต้หวันมีเรื่องให้เรียนรู้มากมาย เอาง่ายๆ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวัน มีสมบัติพัสถานที่ขนมาจากเมืองจีน เมื่อครั้งที่เจียงไคเช็ค ถอยทัพครั้งใหญ่ เขาไม่ได้มาแต่กองทัพ หากแต่ขนเอาข้าวของใส่รถไฟมา เล่าลือกันว่า 14 โบกี้ และบัดนี้มันมาสถิตสถาพรอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวัน มีศิลปะชิ้นล้ำค่าชนิดที่หาดูในเมืองจีนไม่มี อย่างหยกที่ว่ากันว่าสวยวิจิตรที่สุดในโลก ก็อยู่ที่ไต้หวัน
แต่สิ่งที่น่าเรียนรู้มากที่สุดของไต้หวันคือ ทำอย่างไร เกาะเล็กๆ แห่งนี้จึงกลายเป็นสวรรค์อันอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร และวิทยาการของโลก