ชาวตำบลชะอม แก่งคอย สระบุรี หันมาเลี้ยงกระบือขาย มีรายได้ดีกว่าทำนา

มีชาวบ้านในพื้นที่ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี หลายครัวเรือนประสบปัญหาการทำนาไม่ได้ผลแล้วส่งผลต่อรายได้ จึงเปลี่ยนมาเลี้ยงกระบือหรือควายขุนเนื้อขายแทน เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ เลี้ยงง่าย ทนทาน แล้วขายได้ราคา มีรายได้ดีกว่าทำนาเสียด้วย!!

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงต้องลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านและผู้เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงควายกันสักหน่อย

ผู้ใหญ่ไพฑูรย์ แพทย์เจริญ อยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 6 ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี  โทรศัพท์ (081) 762-6957 บอกว่า ลูกบ้านในชุมชนที่ดูแลอยู่มีจำนวน 125 ครัวเรือน ทำเกษตรกรรมหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาชีพไม้ขุดล้อมที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ แล้วยังทำนา ทำไร่ และเลี้ยงกระบือขาย

ผู้ใหญ่บ้านกับสมาชิกประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์

พร้อมกับบอกถึงเหตุผลที่ชาวบ้านต้องเปลี่ยนแนวทางการเลี้ยงควายจากเดิมที่ใช้ทำนาทำไร่แล้วมาเลี้ยงขายเนื้อ เพราะในระยะหลังพื้นที่ทำนาลดน้อยลงมาก ประกอบกับมีหลายปัจจัยที่ชาวบ้านเลิกทำนา ไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศ ราคาปุ๋ยยา ค่าแรงที่สูงขึ้น ราคาข้าวไม่คงที่ ประกอบกับการที่เครื่องจักรเกษตรตอบสนองความต้องการได้ดีกว่าควาย ฉะนั้น ควายที่มีอยู่จึงต้องหาวิธีอื่นที่สร้างประโยชน์แทนการทำนาด้วยการขุนควายขายแล้วรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว

ขณะเดียวกัน คุณอ๊อด แช่มพุทรา อยู่บ้านเลขที่ 7/2 หมู่ที่ 10 ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โทรศัพท์ (081) 385-5949, (082) 721-6509 เป็นสมาชิกกลุ่มแล้วถือเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงควายขายอย่างมากได้เล่าให้ฟังว่า การเลี้ยงควายแต่เดิมเพื่อไว้ใช้งานในไร่ ทำนา จนถึงตอนนี้เครื่องจักรการเกษตรเข้ามามีบทบาทมาก จนทำให้ความสำคัญของควายไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ฉะนั้น ชาวบ้านหลายรายจึงปรับมาเป็นการเลี้ยงควายขายพันธุ์และขายเนื้อแทน

คุณอ๊อด แช่มพุทรา

ความที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการผสมพันธุ์ควายจึงทำให้คุณอ๊อดนำควายในฝูงที่เลี้ยงมาผสมพันธุ์กัน ปรากฏว่าได้ลูกที่ไม่สมบูรณ์ มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ไม่แข็งแรง จึงไปปรึกษาทางสัตวแพทย์พบว่าเกิดจากเลือดชิด

อีกทั้งควายไทยมีนิสัยชอบนอน เนื้อน้อย แล้วไม่ค่อยแข็งแรง เลยไปหาควายต่างประเทศพันธุ์มูร่ามาใช้ผสมกับควายไทย จนได้พันธุ์ลูกผสมที่มีลักษณะดีมาก โตเร็ว แข็งแรง ให้น้ำหนักเนื้อดี มีลูกดก โดยมีเกณฑ์ว่าทุก 3 ปี จะผลัดเปลี่ยนพ่อ-แม่พันธุ์เพื่อป้องกันเลือดชิด

แม้ควายจะเป็นสัตว์ที่คนไทยคุ้นเคยและอยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกรมานาน แต่การเลี้ยงควายในเชิงพาณิชย์ต้องมีวิธีและแนวทางที่แตกต่างจากการเลี้ยงทั่วไป

คุณอ๊อด ชี้ว่า คนเลี้ยงควายอย่างมืออาชีพเพื่อขุนขายควรจะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 5 อย่าง ได้แก่ มีพื้นที่ ขยัน ใจรัก ดูแลใกล้อย่างใส่ใจ และอดทน เพราะทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนมีความสำคัญ แล้วหากทำทุกอย่างได้ครบก็สามารถเลี้ยงควายให้มีรายได้อย่างที่ต้องการ

ลักษณะรูปร่างควายลูกผสมที่มีความสมบูรณ์

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอดทนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการเลี้ยงควายเพื่อทำให้ราคาควายที่ต้องการขายสูงจำเป็นต้องอาศัยเวลานานพอสมควร เนื่องจากถ้ารีบขายควายในขณะที่ตัวยังเล็กก็จะได้เงินเพียงน้อยนิด แต่ถ้ารอคอยจนกระทั่งควายมีรูปร่างใหญ่จะขายได้คุ้มค่ากว่า อีกทั้งถ้าเก็บไว้รอจนได้ลูกออกมาก็ยิ่งทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ชาวบ้านที่เลี้ยงควายขายในหมู่บ้านแห่งนี้จึงไม่มีทุกครัวเรือน”

ธรรมชาติของควายสามารถให้ลูกได้ปีละตัว จะตั้งท้องประมาณ 10 เดือน หรือประมาณ 320 วัน อายุควายที่เหมาะสมพร้อมผสมพันธุ์ไม่ควรต่ำกว่า 2 ปี อีกทั้งควรพิจารณาความสมบูรณ์ควบคู่ไปด้วย แล้วการเลี้ยงควายแม่พันธุ์ต้องดูแลให้อาหารอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม พ่อ-แม่อาจไม่จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ สามารถเลี้ยงปล่อยไปตามธรรมชาติได้ เพียงแต่คอยสังเกตว่าถ้าควายแทะเล็มหญ้าต้นสูงแทนหญ้าต้นต่ำแล้ว แสดงว่าเกิดการขาดธาตุอาหารจึงจำเป็นหามาเสริมให้ควายกินเพิ่มเติม

ตัวเลขราคาขายควายไม่มีกฎเกณฑ์หรือมาตรฐาน แต่จะถูกกำหนดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสมบูรณ์ของร่างกาย น้ำหนัก หรืออายุ รวมถึงต้องดูความต้องการของผู้ซื้อด้วยว่ามีเจตนาซื้อไปเพื่ออะไร ในกรณีที่ซื้อไปเป็นควายเนื้อราคาจะต่างจากควายพ่อ-แม่พันธุ์ นอกจากนั้นแล้ว ผู้ซื้อยังต้องตรวจสอบผู้เลี้ยงควายด้วยว่ามีคุณภาพการเลี้ยงควายดีเพียงใด ใช้อาหารประเภทใดเลี้ยง เพราะอาหารแต่ละชนิดจะให้ความหนาแน่นของเนื้อไม่เท่ากัน

อย่างควายอายุเพียง 1 ปี ราคาขายทั่วไปได้เพียง 8,000 บาท แต่ควายที่คุณอ๊อดเลี้ยงอายุเท่ากันจะขายได้ตัวละ 12,000 บาท หรือหากใครสนใจพ่อ-แม่พันธุ์อาจดันราคาไปถึง 15,000-20,000 บาท เพราะมองว่าการเลี้ยงควายที่มีคุณภาพ ผู้ขายสามารถกำหนดราคาได้เองโดยไม่ต้องง้อคนซื้อ เรียกได้ว่าพอใจราคาเท่าไรจึงขาย

คุณอ๊อดกล่าวให้แง่คิดกับคนที่ต้องใช้ความอดทนต่อการเลี้ยงควายเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าว่า สมมุติถ้าตั้งตัวเลขราคาขายควายสักตัวละหมื่นบาท แล้วให้เทียบว่าในหนึ่งปีมี 8,760 ชั่วโมง เมื่อคิดเฉลี่ยออกมาเป็นต่อชั่วโมงแล้วก็เท่ากับ 1 บาทกว่า

คราวนี้ในทางกลับกันถ้ามาคิดว่าการนำควายออกไปเลี้ยงโดยไม่ต้องมีทุนในแต่ละวันคุณก็จะมีรายได้ของตัวเอง จากควาย 1 ตัว เฉลี่ยวันละ 20 บาท แต่ถ้าคุณเลี้ยงควายไว้สัก 20 ตัว พอถึงสิ้นปีคุณจะมีรายได้จำนวนเท่าไร เพราะแท้จริงแล้วคุณคงไม่ได้ขายแค่หมื่นเดียว ยิ่งเลี้ยงนานเท่าไร ควายยิ่งตัวโตเท่าไรราคาขายจะสูงมากโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น ฉะนั้น ในแนวทางแบบนี้คุณอ๊อดที่เริ่มจากการเลี้ยงควายเพียง 3 ตัว จึงทำให้ในตอนนี้มีจำนวนมากกว่า 300 ตัว

“สิ่งเหล่านี้เป็นน้ำซึมบ่อทรายที่คุณเพียงใส่ใจกับการเลี้ยงแต่ละวันให้ดีโดยไม่ต้องไปลงทุนหรือเสียกำลังให้เหนื่อยยาก แต่ขอให้มีความขยัน อดทนเท่านั้น อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจขาย เพราะถ้ามองให้ดีจะต่างกับการที่คุณออกไปขายแรงงานเสียด้วยซ้ำ”

ขณะที่ คุณกรกฏ สุคนธ์ สัตวแพทย์ชำนาญงาน สำนักงานปศุสัตว์สระบุรี โทรศัพท์ (081) 756-8844 กล่าวเสริมด้วยว่า ในพื้นที่บริเวณนี้เลี้ยงควายกินหญ้าธรรมชาติทั้งหญ้าต้นเตี้ยและต้นสูง ดังนั้น ต้นทุนค่าอาหารจึงไม่มียกเว้นคุณต้องการให้อาหารเสริมมาช่วย

นอกจากนั้น อาจมีค่าแร่ธาตุ ค่ายาบำรุง ซึ่งก็ไม่มีจำนวนมากมายเท่าไร จะมีเรื่องค่าพันธุ์ที่มากกว่า ฉะนั้น เมื่อมองเรื่องต้นทุนการเลี้ยงควายแล้วแทบจะไม่มีอะไร แล้วหากคนเลี้ยงจัดการเองทั้งหมดโดยไม่มีการจ้างแรงงาน รายได้ที่คุณได้รับจะสูงและคุ้มค่ามาก

ควายหาอาหารตามธรรมชาติกิน

ขณะที่ลูกควายแรกเกิดจะกินนมแม่จนถึงอายุ 2 เดือน จากนั้นจึงเริ่มหัดกินหญ้าเองตามแม่ควาย เพราะโดยธรรมชาติควายมี 4 กระเพาะ ดังนั้น ในช่วงอายุน้อย กระเพาะจะทำงานเพียง 2 ส่วน จึงกินได้เพียงนม แต่เมื่ออายุมากมีความสมบูรณ์ของร่างกาย กระเพาะที่เหลือจึงเริ่มทำงาน จากนั้นควายจึงเริ่มกินหญ้าได้ สำหรับโรคที่พบมีปากเท้าเปื่อย โดยควายทุกตัวจะมีตารางฉีดวัคซีนทุก 6 เดือน ตั้งแต่วัย 6 เดือนเป็นต้นไป

ผู้ใหญ่ไพฑูรย์ บอกเหตุผลการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านที่เลี้ยงควายว่า เพื่อต้องการให้ทางราชการเข้ามาช่วย ทั้งเรื่องงบฯ การให้ความรู้ ตลอดจนเรื่องวัคซีน รวมถึงยังเป็นศูนย์ในการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ กันด้วย

แล้วยังบอกต่ออีกว่าในปัจจุบันตลาดควายยังได้รับความนิยมอยู่ ตราบใดที่ยังมีผู้บริโภคเนื้อควาย แม้ว่าสัดส่วนเนื้อควายจะน้อยกว่าเนื้อวัว แต่ในแง่โภชนาการแล้วเนื้อวัวมีไขมันมากกว่าเนื้อควายที่น้ำหนักเท่ากัน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้ดูแลสุขภาพ สำหรับตลาดควายได้รับความนิยมมากที่สุดทางภาคเหนือ

“ส่วนการนำเนื้อควายไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลายชนิด ได้แก่ เนื้อสวรรค์, นำเนื้อไปใส่แกงชนิดต่างๆ, ทำเป็นเนื้อแดดเดียว หรือลาบ และขณะนี้กำลังมีการทดลองนำเนื้อควายไปใช้แทนที่เนื้อวัวในบางเมนูแต่ที่เห็นชัดเจนคือใช้ในอาหารประเภทปิ้งย่าง หรือเมนูกระทะ จิ้มจุ่ม”