เทรนด์เกษตรปี 61 สร้างมูลค่าสินค้าด้านปศุสัตว์ ต่อยอดการเลี้ยงแบบอินทรีย์

ในช่วงระยะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการทำปศุสัตว์ในยุคปัจจุบัน ค่อยๆ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงมากเหมือนสมัยก่อน จะเห็นได้จากเกษตรกรหลายรายได้มีการจัดการพื้นที่ของตนเอง เพื่อเลี้ยงสัตว์เป็นการสร้างรายได้เป็นกิจกรรมเสริม เช่น การเลี้ยงโคเนื้อบนพื้นที่ 1 ไร่ การจัดสรรใช้พื้นที่บริเวณบ้านทำโรงเรือนเลี้ยงแพะ ตลอดไปจนถึงการเลี้ยงไก่แบบเชิงอารมณ์ดี คือการปล่อยให้อยู่กับธรรมชาติ

จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเนื้อสัตว์ เพื่อการบริโภคก็กลับหันมาเลี้ยงเองมากขึ้น เพื่อให้มีการใช้จ่ายเงินประหยัดขึ้น จึงทำให้สินค้าทางเนื้อสัตว์อาจชะลอตัวไปบ้างเล็กน้อย และซื้อสินค้าในปริมาณที่ใช้จริงๆ เท่านั้น

ตลอดไปจนถึงช่วงระยะหลังมานี้ผู้บริโภคมีการใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น จึงทำให้การเลี้ยงสัตว์ก็มีการปรับเปลี่ยนไปด้วย คือการเลี้ยงแบบในระบบอินทรีย์เพื่อตอบรับแก่ผู้บริโภคที่กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งการทำในระบบอินทรีย์แม้จะเลี้ยงโดยเน้นคุณภาพทำให้ผลผลิตมีน้อย แต่ในเรื่องของราคาจำหน่ายก็สามารถให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงกับเกษตรกรผู้เลี้ยง โดยอาจจะไม่เน้นให้สัตว์เลี้ยงอยู่กันอย่างหนาแน่นจนเกินไป ให้อยู่ในบริเวณที่เหมาะสมก็จะเป็นการช่วยให้สัตว์มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีอารมณ์ที่ดี เหมือนเช่น การเลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้ออารมณ์ดีเหมือนในยุคปัจจุบัน

คุณ ณ นพชัย ผิวเกลี้ยง อยู่บ้านเลขที่ 328 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เรียนจบปริญญาตรีทางด้านสัตวบาล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุวรรณภูมิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขาเล็งเห็นถึงอนาคตของการทำตลาดแบบเลี้ยงไก่อินทรีย์ มาใช้กับการเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว เมื่อนำไก่ชนิดนี้มาทำการเลี้ยงในระบบแบบปล่อยตามธรรมชาติ และกินอาหารเป็นพืชผักที่หาได้ตามท้องถิ่น จนทำให้ไก่ที่เลี้ยงมีสุขภาพที่แข็งแรง คุณภาพเนื้อจึงออกมาดี โดยเขาได้ทำฟาร์มแบบครบวงจร ทั้งฟักไข่ จำหน่ายลูกพันธุ์ขนาดเล็ก ตลอดไปจนถึงการชำแหละจำหน่ายเป็นไก่สดเพื่อนำไปประกอบอาหาร จึงเกิดเป็นรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

เหตุที่คุณ ณ นพชัยเลือกเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ เพราะมองว่าไก่มีความแข็งแรง สามารถต้านทานโรคได้ดี และสามารถเลี้ยงในระบบอินทรีย์ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการทำตลาด และที่สำคัญเนื้อไก่ที่ทำออกสู่ท้องตลาดก็มีคุณภาพเนื้ออร่อย จนเกิดการยอมรับในเรื่องนี้

“ระบบการเลี้ยงอินทรีย์ของสัตว์ ตอนนี้ต้องบอกก่อนว่า สามารถเลี้ยงได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นไก่ โค หมู ซึ่งถ้าเราจะเห็นตามท้องตลาด ก็จะเห็นว่าตอนนี้ไข่ไก่อินทรีย์มีค่อนข้างมากในท้องตลาด โดยที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ ซึ่งบางคนที่พอมีพื้นที่เหลืออยู่บ้าง ก็จะใช้พื้นที่บริเวณบ้าน เลี้ยงไว้ทานเอง อย่างเช่น ไก่ไข่ พอมีจำนวนที่มากขึ้น ก็สามารถนำไข่ออกมาขาย ก็เกิดเป็นการสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้อีกช่องทาง” คุณ ณ นพชัย กล่าว

ซึ่งไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ที่เขาเลี้ยงจะปล่อยเลี้ยงไก่ 4-5 ตัว ต่อ 1 ตารางเมตร เมื่อเลี้ยงจนได้อายุประมาณ 4 เดือน ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ตัวผู้จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 2-2.3 กิโลกรัม และตัวเมียน้ำหนักจะอยู่ที่ 1.7-1.8 กิโลกรัม หากพิจารณาดูถึงว่าน้ำหนักไม่มาก แต่เมื่อเลี้ยงไปจนครบอายุไก่ชนิดนี้จะค่อนข้างที่มีเนื้อที่อกเต็ม เนื้อแน่น และโครงสร้างของลำตัวที่ดี โดยจะทำเป็นไก่สดแปรรูปพร้อมจำหน่ายอาหาร อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 150-170 บาท ใน 1 เดือน สามารถทำจำหน่ายได้ 1,000-2,000 ตัว และในขณะเดียวกัน ก็ทำการฟักลูกไก่เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจนำไปเลี้ยงสร้างรายได้อยู่ที่ 4,000-5,000 ตัว ต่อเดือน

โดยเวลานี้ในเรื่องของสินค้าป้อนเข้าตลาด คุณ ณ นพชัย บอกว่า ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะตลาดค่อนข้างเข้ามาติดต่อมาก โดยมีแผนในอนาคตว่าจะค่อยๆ เพิ่มกำลังผลิตให้มีมากขึ้น คือการรวมกลุ่มของผู้เลี้ยงให้มากขึ้น เพื่อให้สินค้าสามารถมีเข้ามาสู่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันในเรื่องของการทำตลาดขาย ต้องบอกก่อนว่าสมัยนี้ค่อนข้างง่ายกว่าสมัยก่อนมาก เพราะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็ทำให้สามารถขายของผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ ยิ่งถ้าเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มและทำการตลาดกันเอง ก็จะทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น และก็เป็นโอกาสให้กับผู้ที่สนใจเลี้ยงเริ่มแรกมีกำลังใจ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ในอนาคตต่อไป และเมื่อสามารถเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จก็สามารถขยับขยายการทำปศุสัตว์ออกไปเรื่อยๆ หรือบางคนทำงานในออฟฟิศ ก็อาจจะมีไข่ไก่ที่เลี้ยงอยู่เอามาขาย ก็เป็นการเสริมรายได้แบบง่ายๆ อีกหนึ่งช่องทาง คือการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้” คุณ ณ นพชัย กล่าว