เลี้ยงปลานิลบ่อดิน 8-10เดือน จับขาย แนะเทคนิคลดต้นทุน โตเร็ว ไร้กลิ่นโคลน

พื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่จัดว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากพอสมควร โดยเฉพาะระบบน้ำในการเกษตร ที่เหมาะสำหรับทำประมง เพราะใกล้แหล่งน้ำที่สำคัญทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม และบางพื้นที่ยังเหมาะสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำบางชนิดที่เจริญเติบโตได้ดีในระบบน้ำกร่อยอีกด้วย
เช่น เกษตรกรตำบลบางหัก อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เกือบทั้งตำบลประกอบอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก นอกเหนือจากนั้นเป็นการปลูกพืชไร่ พืชสวน และเลี้ยงสัตว์

การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในชุมชน เป็นสิ่งที่เกษตรกรอาชีพประมงในพื้นที่ตำบลบางหัก อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี หันมาให้ความสำคัญ และสิ่งนี้ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่ม ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแก้ปัญหาเมื่อเพื่อนสมาชิกประสบ เกษตรกรประมงกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองการซื้อขายสัตว์น้ำ และลดการเกิดปัญหาในอาชีพ เม็ดเงินที่ได้จากการเกษตรจึงเป็นรายได้ที่สร้างความพึงพอใจเป็นอย่างดี

ความโดดเด่นของเกษตรกรประมงกลุ่มนี้คือ การเลี้ยงปลานิลลดต้นทุน อีกทั้งปลานิลที่เลี้ยงเป็นปลาไซซ์ใหญ่ ราคาต่อกิโลกรัมสูง และไม่มีกลิ่นโคลนเหมือนเช่นปลานิลแหล่งอื่น ทำให้ความต้องการในตลาดมีมาก

คุณพรชัย บัวประดิษฐ์ ประธานชมรมผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางหัก กล่าวว่า อดีตที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ของตำบลบางหัก ประกอบอาชีพประมง โดยก่อนหน้านี้เป็นการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่ประสบปัญหาโรคระบาด จึงปรับมาเป็นการเลี้ยงกุ้งกุลาดำผสมกุ้งก้ามกราม จากนั้นเมื่อตลาดกุ้งมีความต้องการกุ้งขาวมาก ประกอบกับเดิมเกษตรกรเกือบทุกรายเลี้ยงปลาเป็นอาชีพอยู่แล้ว ทำให้ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นการทำประมงบ่อดินโดยการเลี้ยงปลานิลและกุ้งขาวด้วยกัน

แนวคิดเรื่องการเลี้ยงปลานิลเพียงชนิดเดียว แตกต่างจากการทำประมงปลาแหล่งอื่น ที่ส่วนใหญ่จะเลี้ยงปลาเบญจพรรณ เนื่องจากเกษตรกรที่นี่มองเห็นทิศทางตลาดปลานิลในต่างประเทศ ที่มีความต้องการปลาเนื้อขาวสำหรับบริโภคสูง และปลานิลก็เป็นปลาเนื้อขาวที่ราคาถูกกว่าชนิดอื่น เมื่อนำไปแปรรูปบริโภค ราคาขายจึงไม่สูงมาก ทำให้การซื้อขายคล่องตัวมากกว่าปลาเนื้อขาวชนิดอื่น1406277927-704x1024

คุณพรชัย บอกว่า เกษตรกรผู้ทำประมงมองเห็นความสำคัญของการจัดตั้งกลุ่ม จึงเริ่มจัดตั้งชมรมผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางหักขึ้น ในปี 2546 ปัจจุบัน มีสมาชิกชมรม 104 ราย รวมพื้นที่ทำประมงในอำเภอพานทอง ทั้งสิ้นเกือบ 3,000 ไร่ และจัดทำมาตรฐานชมรม โดยทำทะเบียนประวัติการเลี้ยงของสมาชิก ทั้งยังสุ่มตรวจโดยจับปลาและกุ้งส่งตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อและน้ำที่ใช้เพาะเลี้ยงยังสำนักงานประมงจังหวัดด้วย

“ที่ผ่านมา ราคาซื้อขายปลานิลในตลาดแต่ละพื้นที่ไม่ต่างกัน ที่นี่ก็เช่นกัน แต่เกษตรกรมีรายได้ในแต่ละครั้งของการจำหน่ายปลานิลได้มากกว่า เพราะต้นทุนการผลิตน้อยกว่า”

ประธานชมรมผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางหัก กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเลี้ยงปลาคือ พันธุ์ปลา ซึ่งชมรมให้ความสำคัญที่การกินอาหารของลูกปลา ควรเลือกลูกปลาที่กินเก่ง เพื่อการเจริญเติบโตที่ดี ส่วนอัตราการรอดของลูกปลานั้น ชมรมเห็นว่าผู้เลี้ยงสามารถเลือกที่จะเลี้ยงโดยให้อัตราการรอดของลูกปลาสูงได้เอง

“เราค่อนข้างได้รูปแบบการผลิตที่ชัดเจน ใช้ลูกปลาไซซ์ 150 ตัว ต่อกิโลกรัม ปล่อยลงบ่อ ขนาด 1 ไร่ น้ำลึก 1.50 เมตร จำนวน 800-1,200 ตัว เท่านั้น เพื่อให้ปลามีพื้นที่ การเจริญเติบโตจะรวดเร็ว อัตรารอดไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเลี้ยงครบรอบจับขายได้ประมาณ 8-10 เดือน ราคาต้นทุนต่อตัวในการเลี้ยงปลา ไม่เกิน 37 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคารับซื้อจากหน้าบ่อ ไม่ต่ำกว่า 45 บาท ต่อกิโลกรัม หากคิดเป็นกำไรในแต่ละรอบการเลี้ยง ได้มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์”

การให้อาหารในปลาเล็ก ใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปผสมรำ เพื่อลดต้นทุน เมื่อปลาโตเป็นปลาวัยรุ่น หรือขนาดน้ำหนักของปลา 3-5 ตัว ต่อกิโลกรัม ต้องให้อาหารเม็ดเต็มที่ และการให้อาหารใช้วิธีให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปในสวิงที่แขวนไว้ปากบ่อ ซึ่งสามารถเช็กอาหารได้ว่าปลากินหมดหรือไม่ การให้อาหารในสวิงแขวน จะช่วยให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปไม่ลอยกระจายไปติดริมบ่อ หรือจมลงใต้บ่อ ลดการสูญเสียอาหารเม็ดสำเร็จรูป จำนวนสวิงแขวนสำหรับให้อาหารปลา 1 จุด ก็เพียงพอสำหรับบ่อ ขนาด 2-3 ไร่ แต่ถ้าผู้เลี้ยงไม่มั่นใจว่าปลาจะได้อาหารครบทุกตัวหรือไม่ จะเพิ่มจุดแขวนสวิงก็ไม่ได้เพิ่มต้นทุนมาก เพราะสวิงแขวนเพิ่มต้นทุนไม่เกิน 120 บาท ต่อจุด

ความพิเศษของปลานิลที่ไร้กลิ่นโคลนของเกษตรกรตำบลบางหัก คุณพิชัย บอกว่า เกิดจากความโชคดีของพื้นที่เลี้ยงส่วนหนึ่ง ที่อยู่ใกล้แม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่และเป็นสายหลักที่ไหลทอดยาวลงทะเล ลักษณะดินจึงเป็นดิน 2 น้ำ และปลาน้ำจืดที่เลี้ยงในน้ำเค็มจะไม่มีกลิ่นคาวของโคลน แม้ว่าจะเลี้ยงบ่อดิน นอกจากนี้ การให้อาหารก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการ ที่ทำให้ปลานิลไร้กลิ่นโคลน โดยให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ ไม่มีส่วนประกอบของมูลสัตว์ และการให้อาหารสวิงแขวน อาหารไม่ตกไปนอนโคลนก้นบ่อ โอกาสที่ปลาจะกินอาหารที่ตกก้นบ่อและกินโคลนเข้าไปด้วยจึงไม่มี1406278011

“ในแต่ละรอบการเลี้ยงปลานิลที่สามารถจับขายได้ อยู่ที่ 8-10 เดือน ซึ่งราคาปลานิลจะถูกมากระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ดังนั้น หากครบรอบการเลี้ยงระหว่าง 4 เดือนนี้ และไม่อยากได้ราคาถูก เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลานิลต่อไปได้อีกนานที่สุดถึง 14 เดือน เพื่อรอราคาปลานิลขึ้น ถ้าจะมองว่าเป็นการเพิ่มต้นทุน ตรงนี้ผมอยากบอกว่า คิดผิด เพราะปลานิลที่นี่หากไม่ให้อาหารก็สามารถอยู่ได้ เพราะปลานิลจะกินอาหารที่มีอยู่ในธรรมชาติ คือ แพลงตอน แทน”

เกษตรกรที่ตำบลบางหัก อำเภอพานทอง จะเลี้ยงกุ้งขาวพร้อมๆ กับการเลี้ยงปลานิล และสามารถจับกุ้งขาวขายได้ทุกวัน รายได้จากการขายกุ้งขาวขึ้นอยู่กับจำนวนที่เลี้ยง โดยจำนวนกุ้งขาวที่ปล่อยต่อบ่อ ขนาดบ่อ 2-3 ไร่ ไม่เกิน 20,000 ตัว รายได้ต่อครั้งที่จับกุ้งขาวขายได้มาก 20,000-30,000 บาท ทีเดียว

เมื่อถามถึงไซซ์ปลาที่ตลาดต้องการ คุณพิชัย กล่าวว่า น้ำหนักปลา ขนาด 400-600 กรัม ต่อตัว เป็นขนาดที่ตลาดต้องการ แต่เป็นไซซ์ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงได้กำไรน้อย ดังนั้น ชมรมจึงสนับสนุนให้เกษตรกรในกลุ่มเลี้ยงปลาให้ได้ทั้งน้ำหนักและคุณภาพ ซึ่งเมื่อน้ำหนักมาก แต่คุณภาพดี ก็มีตลาดส่วนหนึ่งที่ต้องการปลาลักษณะนี้เช่นกัน จึงหมดกังวลว่าการทำปลาให้ได้น้ำหนักมากจะขายไม่ได้

สำหรับเทคนิคการเตรียมบ่อและการปล่อยกุ้งขาวและปลานิล คุณพิชัย แนะนำดังนี้

“ตากบ่อ ประมาณ 10-15 วัน ก็พอ ไม่ต้องแห้งมาก สำรวจไม่ให้มีศัตรูภายในบ่อ จากนั้นปล่อยน้ำเข้าบ่อ โดยเคล็ดลับของผมคือ ซื้อน้ำอามิ ซึ่งเป็นน้ำเหลือจากการทำผงชูรส ปล่อยเข้าบ่อก่อน เพื่อต้องการสร้างไรแดงเป็นอาหารตามธรรมชาติให้กุ้งและปลานิล น้ำอามิ ปริมาณ 50 ลิตร ต่อไร่ ราคาลิตรละ 1.50 บาท หากเกษตรกรรายใดไม่ใช้น้ำอามิ ก็ต้องใส่จุลินทรีย์ระหว่างรอบการเลี้ยง เพื่อป้องกันการเสื่อมคุณภาพของน้ำในบ่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อให้น้ำอามิแล้ว ควรเปิดเครื่องตีน้ำและเครื่องให้อากาศด้วย ไม่อย่างนั้น น้ำอาจจะเสียได้”

เมื่อหมดรอบการเลี้ยงแต่ละรอบ การถ่ายน้ำเพื่อตากบ่อ คุณพิชัย ใช้วิธีถ่ายน้ำจากบ่อหนึ่งไปยังอีกบ่อหนึ่ง (บ่อที่ไม่มีน้ำ ตากเกือบแห้งแล้ว) เพื่อสลับที่พักน้ำ ทำให้ไม่เปลืองน้ำที่ต้องใช้เลี้ยงในรอบใหม่

ในการเลี้ยงกุ้งขาวและปลานิลด้วยกัน หลังจากเตรียมน้ำในบ่อเสร็จเรียบร้อย ควรปล่อยกุ้งขาวก่อน หลังจากนั้น 7-10 วัน จึงปล่อยปลานิลลงบ่อ และหากต้องการเพิ่มจำนวนกุ้งขาว ก็สามารถปล่อยกุ้งขาวระหว่างเลี้ยงเพิ่มได้ด้วย

คุณพิชัย บอกด้วยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำของชมรม มักประสบปัญหาเงินทุนสำหรับซื้ออาหารใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ สิ่งหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้คือ การใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกร ซึ่งชมรมใช้วิธีให้สมาชิกใช้สินเชื่อจากบัตรสำหรับซื้ออาหารและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์น้ำเท่านั้น เพราะที่ผ่านมายังพบว่ามีเกษตรกรบางรายใช้สินเชื่อไปในทางที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตาม วงเงินสินเชื่อของบัตรสินเชื่อเกษตรกรช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยได้ดี แต่ไม่เพียงพอสำหรับเกษตรกรรายใหญ่

สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลานิลบ่อดิน สนใจศึกษาการเลี้ยงปลานิลบ่อดินต้นทุนต่ำ ชมรมผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางหัก ยินดีให้คำแนะนำปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่ คุณพิชัย บัวประดิษฐ์ ประธานชมรมผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางหัก เลขที่ 24 หมู่ที่ 2 ตำบลบางหัก อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ (081) 818-7927

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์