ไก่บ้านเมืองเพรียว สระบุรี ไก่เนื้อก็ได้ ไก่ชนก็ดี

“ไก่เมืองเพรียว” เป็นไก่พื้นเมืองดั้งเดิมของชาวบ้านตำบลห้วยแห้ง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ที่เลี้ยงกันไว้ตามบ้านเรือนแบบปล่อยตามธรรมชาติ ต่างคนต่างเลี้ยงไม่มีรูปแบบการเลี้ยงที่ชัดเจน จนเมื่อเกิดการรวมกลุ่มกันของสมาชิกในชื่อเกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองบ้านเขาขี้เหล็ก และจัดตั้งฟาร์มต้นแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของสมาชิกและนำกลับไปพัฒนาไก่ของตนเอง จึงส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ โดยได้รับการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์จากทางปศุสัตว์

การเลี้ยงไก่พื้นเมืองชนิดนี้สมาชิกกลุ่มจะรวมกันผลิต ผสมอาหารเองจากวัตถุดิบในท้องถิ่นปลอดจากสารเคมีทุกอย่างและแจกจ่ายให้สมาชิกนำกลับไปใช้ มีการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการวางแผนการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด

(ซ้าย) คุณสมบัติ ขุนทอง รองประธานกลุ่ม กับ คุณอณัฐวิชัย ชาโพธิ์ สัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอแก่งคอย

คุณสมบัติ ขุนทอง รองประธานกลุ่ม กล่าวว่า เหตุผลสำคัญของการรวมกลุ่มเพื่อต้องการให้ชาวบ้านที่เลี้ยงไก่ในแต่ละครัวเรือนมีเอกภาพที่ชัดเจน ไม่ต้องการให้เลี้ยงกันเองโดยขาดระบบจนควบคุมไม่ได้ ทั้งในเรื่องโรคระบาดหรือการกำหนดราคาขาย

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่ได้เน้นเชิงการค้ามากนัก ดังนั้น ในแต่ละครัวเรือนจึงมีจำนวนไก่ที่เลี้ยงรายละ 30-50 ตัว ไปจนถึงจำนวนกว่า 100 ตัว แต่หากรวมจำนวนไก่ทั้งหมดในกลุ่มอาจได้จำนวนนับพันตัว ทั้งนี้ ในแต่ละครัวเรือนมักเน้นเลี้ยงไก่พ่อ-แม่พันธุ์ไว้เป็นหลัก แล้วค่อยๆ ขยายพันธุ์ด้วยการให้แม่ไก่ฟักเองตามธรรมชาติ โดยแม่พันธุ์ที่อายุมากแล้วเริ่มให้ลูกไม่แข็งแรงจะปล่อยขายเป็นไก่เนื้อ

รูปแบบการเลี้ยงไก่ของชาวบ้านจะทำเป็นโรงเรือนแบบเล้ากับล้อมเป็นคอกไว้ ซึ่งมีขนาดแต่ละครัวเรือนต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่ ทั้งนี้ การล้อมคอกเพื่อป้องกันไม่ให้ไก่ออกไปหาอาหารกินไกล

ลักษณะการเลี้ยงแบบธรรมชาติ

สำหรับไก่ที่ออกไข่แล้วแม่ไก่จะฟักไข่เองตามธรรมชาติ โดยวัคซีนจะเริ่มให้ครั้งแรกเมื่อลูกไก่อายุได้ 3 วัน แล้วไม่ควรให้เกิน 7 วัน หลังจากได้ลูกเจี๊ยบแล้วจะนำมาคัดความสมบูรณ์แล้วแยกออกมาเป็นพ่อ-แม่พันธุ์แล้วจะเริ่มคัดเมื่อลูกเจี๊ยบอายุสัก 1-2 สัปดาห์เพื่อแยกเลี้ยงไว้ต่างหาก ทั้งนี้ จะมีการกำหนดว่าพ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 5 ตัว หรือตัวผู้ 2 ตัว ต่อตัวเมีย 10 ตัว ขึ้นอยู่กับแต่ละครัวเรือนจะกำหนด ไก่แต่ละแม่จะมีลูกเจี๊ยบได้คราวละ 5-10 ตัว

ลูกเจี๊ยบจะถูกเลี้ยงไว้ในสุ่มก่อนแล้วให้อาหารประเภทปลายข้าว ข้าวโพดบด หรือหัวอาหารและรำ ขึ้นอยู่กับแต่ละรายที่เลี้ยง เมื่อเลี้ยงไว้ได้สัก 2-3 อาทิตย์ จึงปล่อยออกมาเลี้ยงต่อในเล้า

ลูกเจี๊ยบโตที่ปล่อยหากินตามธรรมชาติ

ไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยงอยู่ในช่วง 8-10 เดือนจึงเริ่มขายได้ และน้ำหนักที่ตลาดต้องการอยู่ระหว่าง 1.5-2 กิโลกรัม สำหรับชาวบ้านรายใดที่พร้อมจะขายไก่ก็จะดำเนินการผ่านกลุ่มเพื่อให้พ่อค้ามารับซื้อ

การเลี้ยงไก่พื้นบ้านเมืองเพรียวของชาวบ้านในพื้นที่จะเลี้ยงกันแทบทุกบ้าน มีจำนวนมาก-น้อยต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการและจำนวนพื้นที่ ทั้งนี้ ชาวบ้านจะเลี้ยงไก่ไปพร้อมกับการประกอบอาชีพหลักของชาวบ้านในพื้นที่คือการทำนา ปลูกมันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด หรือบางส่วนไปทำงานตามโรงงาน ทั้งนี้ ชาวบ้านเลี้ยงไก่เป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม โดยใช้อาหารตามธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น จึงไม่มีไขมัน แล้วมีเนื้อล้วน นับเป็นไก่อินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

เด็กน้อยทำความสะอาดไก่ชน

นอกจากการเลี้ยงไก่เนื้อแล้ว หากไก่ตัวใดที่มีรูปลักษณะคุณสมบัติเหมาะกับการเป็นไก่ชน โดยจะดูจากไก่ที่มีน้ำหนักระหว่าง 2.7-3 กิโลกรัม มีหางยาว ปีกยาว และหนา หรือมีคอยาวก็จะแยกเลี้ยงไว้ ทั้งนี้ ไก่ชนมักจะแยกไว้ทุกรุ่น โดยมีการให้ความดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งวิธีการเลี้ยงและการให้อาหาร หรือวิตามิน กระทั่งพออายุได้สัก 8 เดือนจึงจะเริ่มให้ทดลองชน อย่างไรก็ตาม ไก่ชนที่เลี้ยงไว้แล้วมีคุณลักษณะเด่นมาก จะมีชาวบ้านจากจังหวัดอื่นเดินทางมาซื้อ

สำหรับไก่เนื้อจะมีพ่อค้ามารับซื้อ โดยจะมาติดต่อที่กลุ่มก่อนเพื่อสอบถามรายละเอียดความต้องการไก่ จากนั้นจึงไปจับไก่ตามบ้านของสมาชิกที่พร้อมขาย

พ่อค้าที่เดินทางมารับซื้อไก่ในทุกสัปดาห์ในครั้งละไม่ต่ำกว่า 20 ตัว โดยจะเลือกไก่ที่มีขนาดใหญ่ สมบูรณ์และมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2 กิโลกรัม ต่อตัว ในราคารับซื้อตัวละ 80-90 บาท ตัวผู้หรือตัวเมียราคาเดียวกัน เป็นการรับซื้อเป็นไก่เป็น จากนั้นพ่อค้าจึงนำไปแปรรูปขายทั้งตัวในราคาตัวละประมาณ 150 บาท มักนำไปขายที่ตลาดสดแถวแก่งคอย

พ่อค้ารับซื้อไก่ชี้ว่า ไก่ของชาวบ้านกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีคุณภาพเพราะเลี้ยงกันอย่างมีระบบทั้งวิธีการดูแลและการให้ยา จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งไก่บ้านเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเพราะไม่มีไขมัน มีเนื้อล้วน นำไปปรุงอาหารแล้วอร่อย

มีความปราดเปรียวคล่องแคล่ว

คุณสมบัติ บอกว่า อีกไม่นานทางกลุ่มจะติดตั้งตู้ฟักไข่เพื่อให้สมาชิกนำไข่มาฟัก แล้วเมื่อได้เป็นตัวลูกเจี๊ยบก็จัดการหยอดวัคซีนทันที ดังนั้น แนวทางนี้จึงสามารถช่วยให้การฟักไข่ที่ชาวบ้านนำมามีประสิทธิภาพมากกว่าการฟักตามธรรมชาติ อีกทั้งเมื่อลูกไก่ฟักแล้วทางกลุ่มจะหยอดวัคซีนให้ฟรี แล้วจึงนำคืนให้ชาวบ้านกลับไปเลี้ยงต่อไป

สมาชิกกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองบ้านเขาขี้เหล็ก

ดังนั้น ชาวบ้านสามารถประหยัดต้นทุนจากการสูญเสียไก่ แล้วสะดวกไม่ต้องหยอดวัคซีนเอง ทั้งยังช่วยให้วัคซีนเป็นไปตามตารางที่ทางปศุสัตว์กำหนด อีกทั้งยังเป็นการควบคุมการใช้วัคซีนของทางราชการได้อย่างคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม การนำไข่ของชาวบ้านมาฟักที่กลุ่มมีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ค่าบำรุงเล็กน้อย

คนสานสุ่มไก่ถือว่าเป็นอีกอาชีพที่มีบทบาทในหมู่บ้าน โดยปกติคุณทะนงที่มีอาชีพสานสุ่มไก่มานานกว่า 10 ปี จะสานไว้ขายปีละ 70-80 ใบ แล้วสานคนเดียวเท่านั้น ใช้ไม้ไผ่สีสุกที่หาได้ในพื้นที่มาสานสุ่มไก่ ทำไว้ 2 ขนาด คือเล็ก-ใหญ่ ต้นทุนจะซื้อไม้ไผ่ลำละ 30 บาท โดยสุ่ม 2 ใบ ใช้ไม้ไผ่ 3 ลำ จึงลงทุนซื้อไม้ไผ่ในราคา 90 บาท แต่ขายมีรายได้ 500 บาท

จึงเห็นได้ว่าการเลี้ยงไก่พื้นบ้านเมืองเพรียวของชาวบ้านตำบลห้วยแห้ง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี สามารถสร้างเม็ดเงินโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งรายได้จากอาชีพเกษตรกรรมประจำเพียงอย่างเดียว เพราะไก่พื้นบ้านชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นไก่เนื้อหรือไก่ชนก็ตาม

สอบถามรายละเอียดการสั่งซื้อไก่เมืองเพรียวได้ที่ คุณสมบัติ ขุนทอง โทรศัพท์ (089) 796-6004