“ชาวนาแดนน้ำดำ”พลิกผืนนาทำฟาร์มเลี้ยงหนูนาโกยรายได้เดือนละ5หมื่น

นายชาญชัย ภูทองกลม อายุ 56 ปีชาว ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ในอดีตได้ประกอบอาชีพทำนา โดยทำทั้งนาปีและนาปรัง เนื่องจากอยู่ในเขตพื้นที่ชลประทานเขื่อนลำปาว มีผลผลิตแบ่งขายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและเหลืออุปโภคในครัวเรือนได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปีที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ขณะที่ต้นทุนการทำนาสูงขึ้น รายได้ไม่คุ้มทุน จึงลดพื้นที่ทำนาลงเกือบ 2 ไร่เศษโดยนำที่นาส่วนหนึ่งมาสร้างโรงเรือนเลี้ยงหนูนา เนื่องจากเห็นว่าหนูนาเป็นอาหารยอดนิยมของชาวบ้านในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนำที่นาบางส่วนมาปลูกมันสำปะหลัง ปลูกผักสวนครัว เพื่อเป็นอาหารเสริมให้หนูนา

“หนูนาเป็นอาหารยอดฮิตของชาวอีสานที่มักจะนำมาประกอบอาหารในฤดูหนาว เนื้อให้รสชาติที่นุ่ม เหนียว ติดมัน นำมาทำอาหารได้หลายเมนู เช่น ย่าง ผัดเผ็ด ลาบ ก้อย คั่ว แกง อ่อม หรือหมก บางคนยังเชื่อว่าถ้าได้เปิบหนูนาในฤดูหนาว ยังจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นด้วย”นายชาญชัยกล่าวและว่านับวันหนูนาตามธรรมชาติจะหายากมากขึ้น เนื่องจากระบบนิเวศเปลี่ยนไป หนูนาจึงขาดแคลน เมื่อปีที่ผ่านมาจึงได้ทดลองเลี้ยงหนูนาเพื่อจำหน่าย โดยใช้ภูมิปัญญาใช้กับดักหาจับเองบ้าง รับซื้อจากชาวบ้านบ้าง ตัวใหญ่จำหน่ายตัวละ 80 – 100 บาท หรือหากจับได้ตัวเล็กก็นำมาขุนให้โตก่อนจำหน่าย โดยทำคอกที่เทพื้นด้วยคอนกรีตและก่อด้วยอิฐ มุงด้วยตาข่ายและสังกะสี วางท่อซีเมนต์และวีพีซี ให้เป็นรังและที่หลบซ่อนตัว ป้องกันขุดรูหนีและหลบภัยจากศัตรู อย่าง แมว สุนัข เหยี่ยว งู เข้ามารบกวน ขุนด้วยอาหารหมู และเสริมด้วยข้าวเปลือก ข้าวโพด หญ้า หัวมันสำปะหลัง ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าใกล้ไกลมาสั่งซื้อไปบริโภคและจำหน่าย โดยเฉพาะในฤดูแล้งจะขายดีมาก จนไม่เพียงพอที่จะส่งขายให้ลูกค้า

นายชาญชัยกล่าวว่า เมื่อเห็นทิศทางว่าการเลี้ยงหนูนาจะไปได้ดี และมีแนวโน้มที่ตลาดต้องการมากขึ้น เมื่อต้นปีนี้จึงเกิดความคิดว่าน่าจะเพาะพันธุ์หนูนาขาย จึงขยายโรงเรือนเป็นฟาร์มเลี้ยงหนูนา ลงทุน 3 หมื่นบาทเพื่อทำคอกหนูรุ่นเพิ่มเติม และซื้อท่อซีเมนต์ประมาณ 80 ท่อ แบ่งออกเป็นคอกผสมพันธุ์ คอกอนุบาล คอกหนูรุ่น คอกตัวผู้ และคอกตัวเมีย มีการจัดการบริหารอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อายุ 4 เดือนมาขังในคอกเดียวกันคอกละ 1 คู่ ใช้เวลาประมาณ 15 วันผสมพันธุ์เสร็จ จากนั้นแยกพ่อพันธุ์ออกมาขังรวมในคอกที่แยกสำหรับพ่อพันธุ์ เมื่อแยกพ่อพันธุ์ออกมาจากแม่พันธุ์แล้ว ประมาณ 24-28 วัน แม่พันธุ์จะตกลูกออกมาครอกละ 6-12 ตัว อีก 20 วัน ลูกหนูนาก็จะหย่านม ก็แยกลูกหนูรุ่นออกมาขุนในคอกซีเมนต์ขนาด 5 x 7 เมตร ขณะที่แม่พันธุ์ก็พร้อมที่จะจับคู่กับพ่อพันธุ์เพื่อผสมพันธุ์อีก ทำวนไปอย่างนี้เรื่อยๆ ซึ่งแม่พันธุ์ตัวหนึ่งๆ จะให้ลูกปีละประมาณ 4 รุ่น ซึ่งที่ฟาร์มนี้จะทำการขุนหนูนาเพื่อจำหน่ายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เท่านั้น จะไม่ขายหนูเนื้อเหมือนปีแรก เพราะจะเป็นการขายแล้วหมดไป เสียเวลาเพาะพันธุ์ สู้ขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่ได้ ที่จะเป็นการเพิ่มมูลค่า และเพิ่มประชากรหนูนาได้หลายเท่าทวีคูณ ในราคาคู่ละ 500 บาท อย่างไรก็ตาม หากชาวบ้านหาหนูนามาขายให้ ก็จะรับซื้อเพิ่มเพื่อนำมาขุนต่อ โดยจะซื้อคู่ละ 100 บาท

นายชาญชัยกล่าวว่า ธุรกิจการเพาะเลี้ยงหนูนาเพื่อจำหน่ายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งใช้ต้นทุนต่ำแต่จำหน่ายผลผลิตตลอดปี กำลังไปได้ดีเกินคาด ได้รับความสนใจจากลูกค้าทุกจังหวัดทั่วภาคอีสาน และบางจังหวัดในแถบภาคกลาง เช่น สระบุรี ลพบุรี ราชบุรี ซึ่งมีทั้งเดินทางมาติดต่อซื้อด้วยตนเองและโทรศัพท์มาสอบถามก็มาก เพราะกลุ่มผู้นิยมเปิบหนูนาก็กลุ่มใหญ่ แต่หาจับตามธรรมชาติได้ยากมากขึ้น หากหาซื้อตามฟาร์มจะสะดวกกว่า และให้รสชาติไม่แตกต่างกับหนูนาตามธรรมชาติ เพราะจะเพิ่มความมันของเนื้อหนูนาด้วยอาหารหมูและหัวมันสำปะหลัง นอกจากนี้ จากการบริหารจัดการในฟาร์มอย่างดี อาหารที่ใช้เลี้ยงหนูสะอาด สามารถการันตีว่าไม่มีพยาธิ ไม่มีโรคติดต่อ จึงมีนักเปิบหนูนา รวมทั้งผู้ที่ต้องการทำฟาร์มเลี้ยงหนูนา และกลุ่มวิสาหกิจฯ ติดต่อซื้ออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทำฟาร์มเลี้ยงหนูนาอย่างจริงจังประมาณ 1 ปี ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายหนูนาเดือนละไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท

“การทำฟาร์มเลี้ยงหนูนา เพื่อขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จึงเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส จากการที่เคยทำนาปลูกข้าวได้เป็นอย่างดี เพราะทำง่าย ลงทุนต่ำ มีรายได้ที่สูงขึ้น ทำคนเดียวได้ แทบจะไม่ต้องใช้แรงงานเลย ทุกวันนี้ก็ช่วยกันทำกับภรรยา 2 คน เพียงหาเก็บผัก หัวมันสำปะหลัง และให้อาหารเท่านั้นก็จบในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม หากเพาะพันธุ์หนูนาได้ทันความต้องการของลูกค้า สามารถพูดได้เลยว่าจะมีรายได้มากกว่านี้ หรือไม่น้อยกว่าเดือนละแสนบาททีเดียว ซึ่งก็จะพยายามปรับปรุงเทคนิคการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจ นอกจากนี้ยังยินดีให้คำปรึกษา กับผู้ที่จะทำฟาร์มเลี้ยงหนูนาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย” นายชาญชัยกล่าว