ส้มเขียวหวานสีทอง ที่แม่สิน สุโขทัย ส้มคุณภาพ ผลิตส่งโมเดิร์นเทรด

จังหวัดสุโขทัย เป็นแหล่งปลูกส้มเขียวหวานสีทองแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูก 22,592 ไร่ แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอเหนือสุดของจังหวัดสุโขทัย เขตติดต่ออำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ซึ่งก็มีพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานสีทองมากเช่นกัน ทั้ง 2 อำเภอ จึงเป็นดินแดนแห่งการผลิตส้มเขียวหวานสีทอง

พื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานสีทองในประเทศไทย เรียงตามลำดับพื้นที่ รวม 11 จังหวัด

จังหวัด ครัวเรือน พื้นที่ปลูก (ไร่)  เก็บเกี่ยวผลผลิต (ไร่)
รวม 3,141 34,814 26,225
1. สุโขทัย 1,322 22,592 20,722
2. แพร่    832  6,524  4,076
3. น่าน   797 3,818     560
4. เชียงราย   116  1,294     777
5. จังหวัดอื่นๆ     74     586      90

 

(กำแพงเพชร พิษณุโลก ตาก ลำปาง เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ราชบุรี)

ข้อมูล : กรมส่งเสริมการเกษตร

27 เมษายน 2559 ที่อำเภอศรีสัชนาลัย มีแหล่งปลูกส้มเขียวหวานสีทองมากที่สุด อยู่ที่ตำบลแม่สิน ผลิตส้มออกขายทั้งผลสด และส่งโรงงานผลิตน้ำส้มคั้นบรรจุกล่องยี่ห้อดัง และส่งห้างโมเดิร์นเทรดด้วย

แม่สิน เป็นชื่อเรียกลำห้วยแม่สิน เป็นลำห้วยที่สำคัญของประชากรผู้อยู่อาศัยและหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกส้มเขียวหวานสีทองให้แก่เกษตรกร ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำยม ที่บ้านปากสิน จึงเรียกชื่อตำบลตามลำห้วยว่า ตำบลแม่สิน

ตำบลแม่สิน แบ่งการปกครองออกเป็น 25 หมู่บ้าน (หนึ่งในนั้นคือ บ้านปากสิน)

ลักษณะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ภูเขาและป่าไม้ ร้อยละ 55 มีพื้นที่ราบและที่ลาดเชิงเขา ร้อยละ 45 เป็นพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานสีทองเป็นส่วนใหญ่

การเดินทางไปสวนส้มที่ตำบลแม่สิน เริ่มจากที่ว่าการอำเภอศรีสัชนาลัย ตามทางหลวงหมายเลข 101 ขึ้นเหนือ เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ 28 ณ ที่ทำการสวนป่าห้วยทรวง จะมีทางแยกซ้ายมือ ไปตามทางหลวง หมายเลข 1177 เข้าสู่ตำบลแม่สิน รวมระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร

สวนส้มเขียวหวานสีทองที่ผู้เขียนจะนำเนื้อหาข้อมูลมาถึงท่านผู้อ่าน อยู่ที่บ้านปากสิน หมู่ที่ 12 เป็นสวนส้มเขียวหวานสีทองของ คุณสมพงษ์ ปลาป๊อก ผู้ซึ่งเกษตรอำเภอศรีสัชนาลัยเป็นผู้แนะนำ

 

ผู้ใหญ่สมพงษ์ ปลาป๊อก

สมพงษ์ ปลาป๊อก กับหลายบทบาทหน้าที่

คุณสมพงษ์ ปลาป๊อก อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 295 หมู่ที่ 12 บ้านปากสิน ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โทรศัพท์ (087) 840-0372

– การศึกษาระดับปริญญาตรี

– ผู้ใหญ่บ้าน บ้านปากสิน หมู่ที่ 12

– สมาชิกสภาเกษตรกร จังหวัดสุโขทัย

– ประธานกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ส้มแม่สิน

– ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ส้มเขียวหวานสีทอง ตำบลแม่สิน

– เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน จังหวัดสุโขทัย ปี 2560

– Young Smart Farmer ของจังหวัดสุโขทัย

และอีกหลายบทบาทหน้าที่ ที่จะปรากฏให้เห็นถึงความรู้ ความสามารถ ความเป็นผู้นำทางความคิดในการสร้างชื่อเสียงของส้มเขียวหวานสีทองศรีสัชนาลัยในบทความต่อไปนี้

 

เกษตรกรตัวจริง ปลูกส้มเขียวหวานสีทองบ้านแม่สิน

ผู้ใหญ่สมพงษ์ ได้เล่าถึงความเป็นมาของการปลูกส้มเขียวหวานสีทองว่า ปลูกส้มเขียวหวานสีทองกันมาเกือบ 65 ปี ตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า ก่อนหน้านั้นปลูกพืชตระกูลถั่ว พืชไร่ ข้าวโพด กล้วย ต่อมามีผู้นำกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานมาจากบางมด (ปัจจุบันคือ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ) จึงเปลี่ยนมาปลูกส้มแทนจากการปลูกถั่วมาก่อน พื้นดินบริเวณนี้จึงมีความอุดมสมบูรณ์และพื้นที่ทั้งตำบลแม่สิน เป็นพื้นที่ราบและที่ลาดเชิงเขา มีแม่น้ำยมและลำห้วยแม่สินไหลผ่าน ยิ่งช่วยให้พื้นที่มีความเหมาะสมแก่การปลูกส้มเขียวหวานสีทอง

จากส้มเขียวหวานบางมด กลายมาเป็นส้มเขียวหวานสีทองได้อย่างไร ผู้เขียนตั้งคำถามด้วยความสงสัย ผู้ใหญ่สมพงษ์ บอกว่าตัวแปรหลักคือ สภาพอากาศ ช่วงอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิ 14-20 องศาเซลเซียส ยิ่งหนาวเย็นส้มเขียวหวานยิ่งออกสีทอง กับอีกสิ่งหนึ่งคือบริเวณสวนส้มตำบลแม่สิน มีบ่อน้ำร้อนอยู่ 2 แห่ง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นผลสีทองของส้มก็เป็นได้ และที่สำคัญขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรผู้ปลูกไม่ให้มีโรค/แมลง มารบกวน

ผู้ใหญ่สมพงษ์ บอกว่า ตนเองปลูกส้มเขียวหวานสีทอง จำนวน 30 ไร่ ให้ผลผลิตหมดแล้วทุกต้น อายุเฉลี่ยของต้นส้ม 30 ปี และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

เกษตรกรตำบลแม่สิน ร้อยละ 90 ปลูกส้มเขียวหวานสีทองเป็นอาชีพหลัก จนกล่าวได้ว่าส้มเขียวหวานสีทองเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสุโขทัยนั้น ผลิตที่ตำบลแม่สิน

ในอดีตเกษตรกรในตำบลแม่สิน ต่างคนก็ต่างปลูกส้มกันไป ถึงช่วงฤดูเก็บผลผลิตก็ต่างคนต่างขาย ผลผลิตที่ได้ก็มีความแตกต่างกัน บางสวนก็ใช้สารเคมี บางสวนก็ไม่ใช้ แต่พยายามหันมาทำส้มเขียวหวานอินทรีย์ พ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามาซื้อก็จะเลือกซื้อเฉพาะบางสวนตามคุณภาพที่ตนต้องการ ปัญหาต่างๆ จึงเกิดขึ้น จนต้องจัดเวทีนำปัญหามาถกกันและหาทางออกร่วมกัน

 

ผู้นำทางความคิด กระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่ม

จากปัญหาดังกล่าว ผู้ใหญ่สมพงษ์จึงเป็นแกนนำ เชิญเกษตรกรมาหาทางออกร่วมกัน นั่นคือ การรวมกลุ่มเกษตรกร จัดตั้งกลุ่ม ชื่อ กลุ่มเกษตรกรแม่สินพัฒนา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 มีผู้ใหญ่สมพงษ์เป็นประธานกลุ่ม วัตถุประสงค์ ของการจัดตั้งกลุ่มก็เพื่อรวบรวมเกษตรกรชาวสวนส้มที่ต้องการผลิตส้มปลอดสารพิษออกสู่ตลาด เป็นประการที่ 1 เพิ่มความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในการต่อรองราคาส้ม เป็นประการที่ 2 และประการสุดท้าย ต้องการยกระดับผลผลิตระดับตำบลให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และก้าวสู่ระดับสากล ปัจจุบัน กลุ่มมีจำนวนสมาชิก 251 คน จากเกษตรกรผู้ปลูกส้มในตำบลแม่สิน 4,000 คน

หลังจากนั้น ได้พัฒนามาเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ชื่อว่า ส้มเขียวหวานสีทองแปลงใหญ่ตำบลแม่สินจำนวนเกษตรกร 50 ราย ได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช) จากสมาชิกกลุ่ม จำนวน 70 คน

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 กลุ่มได้ยื่นจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด วัตถุประสงค์เพื่อการจัดหาเงินทุนมาบริหารภายในกลุ่ม ผู้ใหญ่สมพงษ์ ได้บอกถึงจุดเด่นของการบริหารจัดการกลุ่มอยู่ที่ การสร้างความเชื่อมั่นว่า เกษตรกรผู้ปลูกส้มมีอาชีพอยู่ได้อย่างมั่นคง ผู้ซื้อผลผลิตส้มก็ต้องดำเนินกิจการต่อไปได้ กลุ่มบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและดำรงอยู่ได้ ประการสุดท้ายไม่เอาเปรียบผู้บริโภค

“อยากเห็นอาชีพเกษตรกรมีความมั่นคง ยั่งยืน หลุดพ้นจากภาระหนี้สิน”

การรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานสีทอง จากเดิมต่างคนต่างขาย ขายในราคาไม่เท่ากัน คุณภาพแตกต่างกัน ก็แนะนำให้มารวมกลุ่มกัน โดยอาศัยกระบวนการกลุ่มแต่ละฝ่าย แต่ละคนปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็ง มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ต่อกลุ่ม ต่อผู้ซื้อ ต่อผู้บริโภค รวมถึงการนำวิธีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช หรือ GAP มาเป็นเครื่องมือให้เกษตรกรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนด 8 ข้อ คือ

  1. แหล่งน้ำ
  2. พื้นที่ปลูก
  3. วัตถุอันตรายทางการเกษตร
  4. การจัดการคุณภาพ
  5. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
  6. การพักผลผลิต การขนย้ายในแปลงปลูกและการเก็บรักษา
  7. สุขลักษณะส่วนบุคคล
  8. การบันทึกข้อมูล ซึ่งการปฏิบัติตามนี้ทำให้เกิดการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตส้ม สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตส้มสร้างชื่อให้กับส้มเขียวหวานสีทองศรีสัชนาลัย

 

บุกเบิกเชื่อมโยงการตลาดภายนอก

ให้ส้มเขียวหวานสีทองศรีสัชนาลัยโด่งดัง

ทุกวันนี้ ผู้ใหญ่สมพงษ์ ยังต้องทำหน้าที่ในการแสวงหาตลาด โดยยึดหลักการว่า ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกส้ม ผู้ดำเนินการตลาด และผู้ซื้อ ต้องขับเคลื่อนกิจการของตนได้ ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้การกำหนดราคาที่เป็นธรรม

“อยากให้ผู้ซื้อหรือพ่อค้า ติดต่อซื้อโดยตรงกับกลุ่มเกษตรกร ไม่ควรไปเสาะหาเกษตรกรผู้ปลูกโดยตรง แล้วเสนอราคาแตกต่างกัน บางคนถูกกดราคา ซึ่งส่งผลให้การประกอบอาชีพเกษตรขาดความมั่นคง กลุ่มขาดความเข้มแข็ง”

ผู้ใหญ่สมพงษ์ รับหน้าที่เป็นตลาดกลางผลไม้ ในการติดต่อตลาด ประสานงานกับแหล่งรับซื้อที่ยังดำเนินการจัดส่งส้มเขียวหวานเข้าสู่ตลาดกันอยู่ ได้แก่ บจก. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บมจ. สยามแม็คโคร, บจก. เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล, บ. มาลีสามพราน ฯลฯ และขยายช่องทางจำหน่ายอื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรได้จำหน่ายผลผลิตส้มในราคาที่พึงพอใจ มีความมั่นคงด้านรายได้ในครัวเรือน ผู้บริโภคได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพ ภายใต้สโลแกนว่า กินส้มปลอดภัย ต้องส้มชนาลัย by แม่สิน

และได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างชื่อเสียงให้กับส้มเขียวหวานสีทองแม่สิน ศรีสัชนาลัย ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยร่วมมือกับ บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) หรือน้ำผลไม้มาลีที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ใช้ข้อความว่า “บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) หรือน้ำผลไม้มาลี ขอแนะนำ น้ำส้มเขียวหวาน พร้อมเนื้อส้ม 100% โดยพิถีพิถันในการคัดเลือกส้มเขียวหวานพันธุ์คุณภาพ ปลอดสารพิษจากแหล่งเพาะปลูกทางภาคเหนือ ที่อุดมสมบูรณ์จากกลุ่มเกษตรกรแม่สินพัฒนา ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งส้มเขียวหวานคุณภาพเหล่านี้ผ่านกระบวนการปลูกด้วยระบบการผลิตพืชตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) และกระบวนการผลิตจากธรรมชาติ ที่ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่เติมน้ำตาล และไม่เจือสีสังเคราะห์” เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตส้ม สร้างชื่อเสียงให้กับส้มศรีสัชนาลัย

ทั้งมีพันธสัญญาในการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้ซื้อดังที่กล่าวไปแล้ว กับเกษตรกรผู้ผลิตส้ม โดยการเจรจาและทำข้อตกลงกันถึงลักษณะทั่วไปและคุณภาพผลผลิตส้ม สรุปได้ว่า

การส่งมอบส้มเป็นส้มทั้งผล เนื้อแน่น สด และคงรูป มีรูปทรง สี รสชาติ ตรงตามพันธุ์ สภาพภูมิอากาศและฤดูกาล ไม่เน่าเสีย ไม่มีรอยช้ำหรือตำหนิที่เด่นชัดที่ผิวผล และหรือเสื่อมคุณภาพที่ทำให้ไม่เหมาะสมกับการบริโภค ไม่มีศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อรูปลักษณ์ทั่วไปของผลผลิตและต่อการยอมรับของผู้บริโภค ต้องมีความปลอดภัยจากสารเคมี คือไม่มีสารเคมีตกค้าง และต้องมีระยะเวลาการเก็บ 15-30 วัน หลังจากใช้สารเคมีแล้ว ไม่มีความเสียหายต่อคุณภาพผลผลิต เนื่องจากอุณหภูมิต่ำและหรืออุณหภูมิสูง

 

แสวงหาเทคโนโลยีที่พัฒนา

การผลิตส้ม และลดต้นทุน

ผู้ใหญ่สมพงษ์ มีความเห็นว่า ถ้าเกษตรกรทุกคนหรือแม้แต่ผู้ใหญ่สมพงษ์เอง มีความเข้าใจตรงกันว่า การที่จะปฏิบัติการให้ส้มเขียวหวานมีการเติบโตที่ดี ไม่มีโรคและแมลงมารบกวน ก็น่าจะดูแลเอาใจใส่ในเรื่องธาตุอาหารที่จำเป็นว่าส้มต้องการธาตุอาหารใด ปริมาณเท่าไร ช่วงระยะเวลาไหน ก็ให้เขาได้รับสารอาหารนั้นอย่างเพียงพอ ครบถ้วน บริบูรณ์ เช่นเดียวกับคนเราถ้าร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน อวัยวะต่างๆ ก็ทำงานเป็นปกติ สุขภาพย่อมแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

ผู้ใหญ่สมพงษ์ จึงได้นำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้ในพื้นที่ทั้งของตนเอง และของเกษตรกรรายอื่นด้วยการริเริ่มการใช้ปุ๋ยสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดินในแปลงส้ม เพื่อปรับการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น และใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเบตาไรเซียม เพื่อเป็นแนวทางการลดต้นทุนการผลิตส้ม และเพิ่มผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ

ตัวบ่งบอกถึงคุณภาพของส้มเขียวหวานสีทองศรีสัชนาลัย

ผู้ใหญ่สมพงษ์ บอกอย่างมั่นอกมั่นใจว่า

  1. รสชาติของส้มเขียวหวานสีทอง ต้องมีรสชาติหวาน 100% และผิวผลส้มมีสีทองในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน
  2. การดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรผู้ปลูก มีการสำรวจแปลง ตรวจโรคและแมลง การสังเกตสีผิวเปลือกส้ม ดูการพัฒนาการของผลให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช หรือ GAP
  3. การคัดเลือกผลที่จะเก็บ เด็ดทีละผล ใช้มือคนเด็ดบิดขึ้น เพื่อไม่ให้ขั้วส้มเสียหาย สามารถตรวจดูได้ว่าส้มผลใดดีหรือเสียอันเกิดจากโรคและแมลง ซึ่งจะได้ผลส้มที่มีคุณภาพกว่าการใช้อุปกรณ์อื่น

 

ลักษณะผลส้มเขียวหวานสีทองศรีสัชนาลัย

ผลค่อนข้างกลมแป้นเล็กน้อย ฐานผลบุ๋มเล็กน้อย ก้นผลเรียบ ผิวสีเขียวอมเหลืองถึงเหลืองเข้ม (ในฤดูหนาว) ผิวผลเรียบ เปลือกบางล่อน เปลือกแกะออกง่าย ผนังกลีบบางมีรกน้อย ฉ่ำน้ำ เนื้อในผลสีส้มอมทอง รสชาติหวาน (ในฤดูหนาว) และหวานอมเปรี้ยว (ในช่วงฤดูร้อน)

ผู้ใหญ่สมพงษ์ เป็นผู้ดำเนินการสร้างจุด หรือสถานที่คัดแยก รวบรวมและคัดแยกผลผลิตส้มเขียวหวาน เพื่อให้เกษตรกรภายในชุมชนนำผลผลิตมาคัดแยกและบรรจุ รวมทั้งให้ผู้รับซื้อผลผลิตมารับผลผลิต ณ จุดนั้น เป็นที่ทำการของวิสาหกิจชุมชนตลาดกลางเพื่อการเกษตรครบวงจรตำบลแม่สิน

 

พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตร

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน

ผู้ใหญ่สมพงษ์ บอกว่า ตนเองเป็นผู้นำแนวคิดในการสร้าง Orange Skywalk ผุดขึ้นกลางสวนส้มเขียวหวานสีทอง ซึ่งตั้งอยู่บนเนินกลางหุบเขา เพื่อใช้เป็นทางเดินชมยอดส้มในสวนและทิวทัศน์โดยรอบสวน อันสวยงาม มองทิวทัศน์ได้ 360 องศา เลยทีเดียว สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวชม ถือเป็นการต่อยอดในการพัฒนาสวนส้มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตรที่ยั่งยืนได้อีกรูปแบบหนึ่ง

 

การปลูกและการดูแล ส้มเขียวหวาน

ผู้ใหญ่สมพงษ์ อธิบายว่า สภาพพื้นที่ ดิน อุณหภูมิ สิ่งแวดล้อม แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ตามที่ธรรมชาติบ่งบอกไว้ สภาพพื้นที่ตำบลแม่สินมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ หากมีใครนำกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานจากที่นี่ไปปลูกอาจได้ผลลัพธ์อีกอย่างหนึ่งก็เป็นไปได้

แนวทางการปลูกส้มนั้น ควรนำดินไปตรวจวิเคราะห์สภาพดิน เพื่อหาค่า pH และธาตุอาหารในดินก่อน แล้วจัดการปรับปรุงดิน ตามคำแนะนำ แต่อย่างน้อยก็ต้องมีการปรับปรุงดินให้มีอินทรียวัตถุด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก แล้วจึงไถพรวนดิน ปรับพื้นที่ให้เรียบ จัดวางแนวปลูกระยะ 3×6 เมตร ขุดหลุม กว้างxยาวxลึก (50 เซนติเมตร) ใช้ปุ๋ยหมักรองก้นหลุมและผสมดินที่ขุดขึ้นมากองไว้ด้วยปุ๋ยหมัก แล้วโกยลงไปในหลุมตามเดิม แหวกกลางหลุม นำกิ่งพันธุ์ส้มลงปลูกใช้หลักปัก ผูกยึดด้วยเชือกกันลมพัด อาจทำให้โยกคลอนได้ รดน้ำพอชุ่ม ใช้ฟางข้าวคลุมโคนต้น จัดทำระบบน้ำเมื่อจำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน

 

การใส่ปุ๋ย

ผู้ใหญ่สมพงษ์ บอกว่า สวนส้มของสมาชิกจะใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดตามค่าความวิเคราะห์ดิน โดยหลังจากได้มีการตรวจวิเคราะห์สภาพดินแล้ว ก็จะคำนวณอัตราปุ๋ยที่จะใส่ให้แก่ส้มเขียวหวานสีทองตามขนาดและอายุของต้น ด้วยขั้นตอนดังนี้ ตรวจสอบข้อมูลชุดดินเพื่อต้องการรู้ลักษณะดิน ศักยภาพดิน ความลึก เนื้อดินในพื้นที่ตำบลแม่สิน เป็นดินบนพื้นที่ดอน และเป็นเนินเขา มีการระบายน้ำดีปานกลาง จากนั้นตรวจสอบปริมาณธาตุอาหาร ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) ในดินและความเป็นกรด-ด่าง (pH) เพื่อต้องการรู้ว่าดินในพื้นที่ตำบลแม่สิน ของสมาชิกแต่ละราย ณ เวลานั้น มีธาตุอาหารดังกล่าวในปริมาณเท่าไร และไปจัดซื้อแม่ปุ๋ยที่ต้องการใช้ คือ แม่ปุ๋ย (N) 46-0-0 แม่ปุ๋ย (P) 18-46-0 แม่ปุ๋ย (K) 0-0-60 มาผสม โดยการตวงแม่ปุ๋ย เทซ้อนกันเป็นชั้นๆ ใช้พลั่วเกลี่ยจากชั้นบนสุดลงมาทีละชั้น เกลี่ยกองปุ๋ยกลับไปมาซ้ำๆ กัน 2-3 ครั้ง จากนั้นตักใส่กระสอบนำไปใส่ต้นส้มเขียวหวานสีทองได้ทันที ทั้งนี้ จะใส่พร้อมกับปุ๋ยอินทรีย์ ต้นละ 2-5 กิโลกรัม

ผู้ใหญ่สมพงษ์ ยังกล่าวเสริมว่า การใช้ปุ๋ยสั่งตัดมีประโยชน์หลายประการคือ ลดต้นทุนการผลิต ไม่มีวัสดุตัวเติม (filler) ใช้ปุ๋ยจำนวนพอดีกับความต้องการของต้นส้มเขียวหวานสีทอง ทำให้ต้นส้มเจริญเติบโตได้ดี ลดปัญหาโรคแมลง ได้ผลผลิตสูง 1 ไร่ ได้ปริมาณส้มเขียวหวานสีทองถึง 6,000 กิโลกรัม

ส้มเขียวหวาน อายุ 4 ปี เริ่มให้ผลผลิต จึงต้องดูแลจัดการแต่ละช่วงของฤดูการผลิต ดังนี้

การดูแลปฏิบัติต่อส้มเขียวหวานสีทองตามช่วงเวลาการให้ผลผลิต

ผลผลิต รุ่นที่ 1 ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ต้นส้มจะเริ่มออกดอกในเดือนธันวาคม ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน จึงเก็บผลผลิตได้

การดูแล

  1. ตัดแต่งกิ่ง โดยเฉพาะกิ่งแขนงที่รกทึบ กิ่งด้านล่างและกลางลำต้น กิ่งปลายที่ห้อยลงดิน กิ่งคดงอ กิ่งกระโดง กิ่งที่เป็นโรคและแมลงรบกวน
  2. ฉีดพ่นฮอร์โมน ธาตุอาหาร เพื่อสะสมอาหาร
  3. ใส่ปุ๋ย ที่มีสูตรตัวหน้า (N) และตัวกลาง (P) สูง ใส่ตามขนาดอายุต้น เช่น ส้มอายุ 10 ปี ใส่ต้นละ 1-2 กิโลกรัม โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง และใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย
  4. ให้น้ำ ปริมาณตามอายุของต้น
  5. เมื่อส้มออกดอก ให้ดูธาตุอาหารที่ส้มต้องการ และการแสดงอาการขาดธาตุอาหาร
  6. ฉีดพ่นสารกำจัดแมลง ป้องกัน/กำจัดพวกหนอน เพลี้ยไฟ ไรแดง (ถ้ามี) ช่วงติดผลอ่อน
  7. กำจัดวัชพืชไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของแมลง

ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่ของการปลูกส้มเขียวหวานมีความแตกต่างกัน ต้องอิงกับหลักธรรมชาติให้มากที่สุด ถ้าไม่มีโรคหรือแมลงรบกวน ก็จะไม่ใช้สารเคมีใดๆ

 

เดือนมกราคม ช่วงส้มเขียวหวานติดผลอ่อน จนถึงส้มได้ขนาด เบอร์ 4

การดูแล

  1. ตัดแต่งกิ่ง
  2. ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรค/แมลง (ตามสถานการณ์ที่เกิด) 30-60 วัน/ครั้ง
  3. ฉีดพ่นฮอร์โมนทางใบให้ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม 3-4 ครั้ง เพื่อเพิ่มรสชาติ
  4. ใส่ปุ๋ยหมัก 1 ถัง/ต้น
  5. ดูว่าเกิดเชื้อราที่ขั้วผลหรือไม่
  6. ถ้าผลส้มติดมาก เด็ดออกบ้าง ให้เหลือก้านละ 1 ผล หรือเด็ดผลที่เป็นโรคออกไปทำลายเสีย

 

เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เป็นส้มขนาด เบอร์ 3, 4 การดูแลเช่นเดียวกันกับช่วงเดือนมกราคม

เดือนเมษายน-พฤษภาคม เป็นส้มขนาด เบอร์ 2, 3 และส้มรุ่นที่ 2 จะเริ่มออกดอกเดือนพฤษภาคม

การดูแล

  1. ดูแลไม่ให้เกิดเพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยอ่อน
  2. ให้น้ำช่วงหน้าแล้ง 10 วัน/ครั้ง หรือเดือนละ 2-3 ครั้ง
  3. ถ้าผลส้มติดดกมาก ก็เก็บขายได้ เพื่อนำไปทำน้ำส้มคั้น รสชาติของส้มจะมีรสเปรี้ยวนำ

 

เดือนมิถุนายน-สิงหาคม

การดูแล

  1. ใส่ปุ๋ยสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดิน และให้อาหารเสริมต่างๆ
  2. จัดการค้ำกิ่งส้ม เริ่มรับน้ำหนักมากขึ้น กิ่งอาจหักได้
  3. เก็บผลส้มขาย เป็นส้มคั้นน้ำบ้าง
  4. ตรวจดูอาการจากโรคต่างๆ ของต้นส้ม ว่าแสดงอาการใดบ้าง รวมทั้งแมลงต่างๆ อาจมารบกวน เช่น หนอนผีเสื้อมวนหวาน แมลงวันทอง เป็นต้น

 

เดือนกันยายน-พฤศจิกายน ส้มเริ่มได้คุณภาพ 60-70% รสชาติหวานอมเปรี้ยว และส้มรุ่นที่ 3 จะออกดอกเดือนตุลาคม

การดูแล

  1. กำจัดวัชพืชด้วยการตัดหญ้า
  2. ปลายฝนต้นหนาว อาจมีโรค/แมลง ต้องขยันตรวจดู อาจพบเชื้อราทำลายขั้วผล หนอนชอนใบ
  3. ใช้สารชีวภัณฑ์ฉีดพ่น เป็นการป้องกัน ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย
  4. งดฉีดพ่นสารเคมีทุกชนิด

 

เดือนธันวาคม ผลส้มมีรสชาติหวาน ได้คุณภาพ 100%

การดูแล

  1. เก็บผลส้มโดยใช้มือเด็ดผลทีละผล เด็ดผลชี้ขึ้นหรือบิดขึ้น จะไม่ทำให้ขั้วส้มเสียหาย และไม่ใช้อุปกรณ์ใดๆ ตัดขั้ว

จากการประเมิน พบว่า ถ้าใช้มือเด็ดทีละผล จะเก็บได้ 250 กิโลกรัม/คน/วัน ถ้าใช้กรรไกรตัดขั้วส้ม จะเก็บได้เพียง 100 กิโลกรัม/คน/วัน

  1. การใช้มือเด็ดผล เพื่อจะได้ตรวจสอบดูด้วยว่า ส้มผลใดดีหรือเสีย จากโรค/แมลง ซึ่งจะได้ผลส้มที่มีคุณภาพ

ผลส้มเขียวหวานที่มีสีทอง คือส้มที่เก็บผลในช่วงเดือนมกราคม อันเนื่องมาจากสภาพอากาศ หากมีอุณหภูมิ 14-20 องศาเซลเซียส หรือยิ่งหนาวเย็นเท่าไร ผิวส้มก็จะยิ่งออกสีเหลืองทอง

 

ส้มเขียวหวานสีทอง ที่บ้านแม่สิน ศรีสัชนาลัย จะเก็บผลผลิตได้ 3 รุ่น คือ

รุ่นที่ 1 ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม สีผิวผลส้มจะออกสีน้ำตาล มีกระคล้ายส้มบางมด

รุ่นที่ 2 ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน เป็นผลผลิตส้มที่มีรสชาติอร่อยที่สุด คือหวานจัด เป็นช่วงที่มีฝนน้อย สีผิวผลส้มสวยเป็นสีทองจากสภาพอากาศหนาวเย็น

รุ่นที่ 3 ช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ผลผลิตส้มช่วงนี้ จะเก็บขายเป็นส้มคั้นน้ำ ผิวผลส้มจะมีสีเขียวปกติทั่วไป

ผลส้มเขียวหวานสีทอง จะถูกคัดด้วยเครื่องคัดแยกตามขนาดเป็นเบอร์ต่างๆ ดังนี้

เบอร์ 00 หรือเป็นผลส้มเบอร์ใหญ่สุด วัดขนาดผล 6-9 เซนติเมตร

เบอร์ 0 วัดขนาดผล 6-4 เซนติเมตร

เบอร์ 1 วัดขนาดผล 5-9 เซนติเมตร

เบอร์ 2 วัดขนาดผล 5-4 เซนติเมตร

เบอร์ 3 วัดขนาดผล 4-9 เซนติเมตร

เบอร์ 4 วัดขนาดผล 4-5 เซนติเมตร

เบอร์ 5 วัดขนาดผล 3.8 เซนติเมตร

ปริมาณการผลิตส้มเขียวหวานสีทองของสวนผู้ใหญ่สมพงษ์ ได้ปีละ 50 ตัน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม จำนวน 10 ตัน และช่วงเดือนมกราคม-เมษายน จำนวน 40 ตัน

หากรวบรวมผลผลิตส้มของสมาชิกกลุ่ม ได้ดังนี้

ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม จำนวน 300 ตัน

ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน จำนวน 500 ตัน

ช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน จำนวน 200 ตัน

รวม 1,000 ตัน

เกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานสีทอง อีกรายหนึ่งที่ผู้ใหญ่สมพงษ์นำผู้เขียนไปเยี่ยมชมสวนคือ สวนของ คุณธนากร น้อยเขียว อยู่บ้านเลขที่ 111 หมู่ที่ 7 บ้านผาคำ ตำบลแม่สิน ปลูกส้มเขียวหวานสีทอง จำนวน 29 ไร่ มีหลายแปลง แต่ละแปลงปลูกส้มเหลื่อมอายุกัน ผู้เขียนเห็นสวนส้มแห่งนี้แล้ว บอกได้ว่ามีคุณภาพจริงๆ ผลส้มที่กำลังรอเก็บมีขนาดใหญ่ ชนิดเบอร์ 00 เลยทีเดียว และยังมีผลส้มขนาดรองลงมาติดผลอยู่บนต้นอีกเป็นจำนวนมาก

สวนส้มของคุณธนากร เป็นสมาชิกแปลงใหญ่และได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว แต่คุณธนากรเลือกที่จะปลูกส้มเขียวหวานสีทองไร้สาร “ผมใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดแต่เพียงอย่างเดียว 1 ปี ใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง สารเคมีกำจัดโรคและแมลงไม่ได้ใช้เลย มีแมลงรบกวนบ้าง ตั้งใจจะนำน้ำหมักสมุนไพรมาฉีดพ่น เป็นการป้องกันไว้ก่อน ส่วนหญ้านั้นใช้วิธีตัด”

ผลผลิตคุณภาพเหมือนอย่างที่โฆษณาน้ำผลไม้

การจัดการบริเวณสวนส้มของคุณธนากรดูแล้วสะอาดเรียบร้อยดีมาก สอบถามได้ความว่าใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูแล ตรวจแปลง ดูการเติบโตของผลส้ม สวนส้ม 29 ไร่ ปฏิบัติงานกันเพียง 2 คน สามี-ภรรยา เท่านั้น

หากท่านอ่านบทความมาถึงตอนนี้ ท่านจะเห็นข้อมูลตัวเลขที่แตกต่างกันกับที่เสนอภาพรวมตอนต้นเรื่อง ว่าพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานสีทองศรีสัชนาลัยของทั้งจังหวัดสุโขทัย มีจำนวน 22,592 ไร่ (ตัวเลขนี้เฉพาะเกษตรกรที่มีโฉนด) แต่ทั้งอำเภอศรีสัชนาลัย มีพื้นที่เพาะปลูกส้ม ประมาณ 40,000 ไร่ แม้จะยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง เรื่องนี้ผู้ใหญ่สมพงษ์ อธิบายว่า ส้มเขียวหวานสีทองบ้านแม่สิน และทั่วทั้งอำเภอศรีสัชนาลัย ปลูกกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า จนมาถึงรุ่นหลาน ประมาณ 65 ปี ล่วงมาแล้ว เกษตรกรรุ่นปัจจุบันจึงเป็นเกษตรกรตัวจริง ไม่มีเกษตรกรนายทุน เพราะมีการปลูกส้มเขียวหวานกัน 5 ไร่ 10 ไร่ ถึง 30 ไร่ เท่านั้น แต่มีสวนส้มของเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ทั้งๆ ที่แปลงปลูกเป็นพื้นที่ราบหรือเนินเตี้ยๆ ตรงนี้เป็นปัญหาหนักใจแก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะส่งผลให้เกษตรกรไม่ได้รับสิทธิ์ และได้รับการปฏิเสธจากภาครัฐในหลายประการ ได้แก่

  1. ไม่ได้รับใบรับรองมาตรฐานการผลิต GAP แม้เกษตรกรรายนั้นจะผลิตส้มเขียวหวานด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ก็ตาม
  2. เมื่อไม่มีเอกสารสิทธิ ก็ไม่สามารถนำที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงิน เพื่อนำมาทำทุนได้ ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่น เช่น เงินกู้นอกระบบ เป็นต้น
  3. ไม่ได้รับความช่วยเหลือ กรณีสวนส้มนั้นได้รับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
  4. ขาดโอกาสในการขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องแหล่งน้ำก็ไม่ได้รับ เช่น จะขอให้สร้างฝายกั้นน้ำ กรมป่าไม้ก็ไม่อนุญาต หรือจะขอให้ขุดสระน้ำ สถานีพัฒนาที่ดิน ก็ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะที่ดินนั้นไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นต้น
  5. เกษตรกรตั้งใจจะเสียภาษีให้แก่รัฐผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เหมือนที่เคยจ่าย แต่ปัจจุบันได้รับการปฏิเสธที่จะรับ เพราะที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ

ปัญหาดังกล่าว ยังไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ แต่เกษตรกรก็ยังตั้งใจรอ รอว่าเมื่อไรรัฐบาลจะมาดำเนินการสำรวจ รังวัด ทำแผนที่ เพื่อออกโฉนดที่ดินให้ จะส่งผลต่อความมั่นใจในอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง แม้ชื่อเสียงด้านการผลิตส้มเขียวหวานสีทองแม่สิน ศรีสัชนาลัย จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ยังขาดความสมบูรณ์ในด้านกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน