ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ |
เผยแพร่ |
คุณเล็ก เกตุนาค ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เลขที่ 70/3 หมู่ที่ 3 บ้านหนองโสน ตำบลเขาคิริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โทร. (061) 684-1969
การทำแปลงปลูกพริก “ก็ต้องเตรียมดินให้ดี” การปลูกพืชหรือปลูกพริกให้งาม ต้องเตรียมดินให้ดี การเตรียมพื้นที่ปลูกพริก สำหรับเกษตรกรที่เริ่มต้นปลูกพริกในที่ดินใหม่ จะต้องเก็บตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์ อย่างน้อยที่สุดควรตรวจค่าความเป็น กรด-ด่าง ของดิน ดินที่เหมาะต่อการปลูกพริก ควรมีค่า pH = 6.0-6.8 ถ้าสภาพดินเป็นกรด จะต้องมีการปรับสภาพของดิน โดยใช้โดโลไมท์หรือปูนขาว ในการใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ในแต่ละครั้ง ไม่ควรเกิน 300 กิโลกรัม ต่อไร่ ในการเตรียมพื้นที่ก่อนที่จะไถดิน ให้ใส่ปุ๋ยคอก อย่างน้อย ไร่ละ 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน เมื่อไถดินเสร็จ ให้ตากดินทิ้งไว้นาน 3-7 วัน หลังจากตากดินเสร็จ ก็จะเป็นขั้นตอนของการยกแปลงปลูก โดยแปลงปลูกควรจะสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวของแปลงขึ้นกับสภาพพื้นที่ แต่ความยาวของแปลงไม่ควรเกิน 50 เมตร ในการขึ้นแปลงจะใช้รถไถติดผาล 7 ขึ้นแปลงไป-กลับ 1-2 รอบ เมื่อขึ้นรอบสุดท้าย ให้ใช้เกรดรถไถปรับหลังแปลงให้เรียบเป็นแปลงพริก (ไม่ต้องเสียเวลาใช้แรงงานคน) จากนั้นจะเป็น
ขั้นตอนการวางระบบน้ำ วางสายน้ำหยดบนแปลงปลูก อย่างการปลูกแถวคู่บนแปลงก็ต้องวางสายน้ำหยด 2 เส้น ตามแนวปลูกพริก จากนั้นปูพลาสติกคลุมแปลง นำดินมากลบชายพลาสติกคลุมแปลง ไม่ให้ลมตีพัดขึ้นมาเสียหาย เจาะหลุมปลูกตามระยะที่เราต้องการ หลุมที่เจาะควรมีความกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 3.5-4 นิ้ว เนื่องจากถ้าเจาะพลาสติกให้มีขนาดรูเล็กเกินไป เวลาช่วงที่อากาศร้อนพลาสติกคลุมแปลงจะร้อนมากเช่นกัน ความร้อนจากพลาสติกคลุมแปลงจะทำให้โคนต้นพริกที่ได้ไอความร้อนเน่าได้ง่าย
การเพาะเมล็ดพริก เป็นการเริ่มต้นที่มีความสำคัญ การเพาะเมล็ดพริกที่เกษตรกรไทยนิยมปฏิบัติกัน จะแบ่งออกได้ 3 วิธี คือ
- หยอดเมล็ดลงในถาดเพาะโดยตรง ซึ่งจัดเป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวกที่สุด
- หว่านในตะกร้าพลาสติกที่ใช้ทรายเป็นวัสดุปลูก แนะนำให้ใช้ทรายขี้เป็ดชนิดหยาบเป็นวัสดุเพาะ ขั้นตอนสำคัญจะต้องนำทรายไปต้ม เพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน รอให้ทรายเย็นลงแล้วนำมาใส่ในตะกร้าพลาสติก (อย่าลืมรองก้นตะกร้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์) หลังจากหว่านเมล็ดพริกลงตะกร้าแล้ว ให้กลบด้วยปุ๋ยหมักอินทรีย์หรือขุยมะพร้าวที่ร่อนเอากากออกแล้ว รดน้ำและพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อราเพื่อป้องกันโรคโคนเน่า การรดน้ำ อย่าให้แฉะจนเกินไป เพราะจะทำให้เมล็ดพริกเน่าได้ สำหรับการเพาะเมล็ดพริกในฤดูร้อน หลังจากเพาะไปได้ 7-10 วัน ย้ายต้นกล้าลงถาดหลุม แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ถึงจะย้ายต้นกล้าลงถาดหลุมได้ เพื่อย้ายลงปลูกในแปลงต่อไป
- ใช้แปลงเพาะ เป็นวิธีการที่เกษตรกรไทยนิยมมากที่สุด เนื่องจากประหยัดต้นทุนการผลิต ขนาดของแปลงเพาะมีความกว้าง 2 เมตร ความยาว 5-10 เมตร เริ่มต้นจากการขุดพลิกดินและตากดินไว้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้น ย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง ใส่ปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักอินทรีย์ อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อแปลง คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากันจนร่วนซุย เกลี่ยดินให้เรียบ นำเมล็ดพริกมาเพาะ โดยใช้อัตราพริก น้ำหนัก 50 กรัม ต่อพื้นที่ปลูกพริก 1 ไร่ จะต้องโรยเมล็ดให้ลึก ประมาณ 0.5 เซนติเมตร เป็นแถวตามความกว้างของแปลง แต่ละแถวห่างกัน ประมาณ 10 เซนติเมตร เสร็จแล้วให้กลบดินบางๆ ให้เสมอผิวดินเดิม แล้วใช้ฟางข้าวคลุมแปลงเพาะบางๆ รดน้ำที่ผสมสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา
เมื่อเห็นต้นกล้างอกขึ้นมาเหนือพื้นดิน ค่อยๆ ดึงฟางออกให้บางลง เพื่อต้นกล้าจะได้เจริญเติบโตได้ดี ต้นกล้ามีจำนวนใบจริง 3-5 ใบ จะต้องพ่นสารป้องกันและกำจัดแมลงร่วมกับสารเคมีป้องกันโรคโคนเน่า อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ต้นกล้าพริกที่มีอายุเฉลี่ย 25-30 วัน มีความสมบูรณ์และต้นแข็งแรง ไม่มีโรครบกวน ให้ย้ายลงปลูกในแปลงได้ การย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หลังจากที่เตรียมขุดหลุมตามระยะปลูกเรียบร้อยแล้ว มีเทคนิคที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เกษตรกรมักจะมองข้ามคือ การย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมาก ขณะที่จับต้นกล้าพริกออกจากถาดหลุม จะต้องจับบริเวณเหนือใบเลี้ยง (ใบคู่แรก) เพื่อป้องกันการบอบช้ำของเนื้อเยื่อบริเวณโคนต้นกล้า ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นส่วนที่เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เป็นสาเหตุหลักของโรคเน่าคอดินตามมา หลังจากย้ายกล้าลงหลุมปลูกเสร็จภายในวันเดียวกัน หรืออย่างช้าวันรุ่งขึ้นจะต้องฉีดพ่นสารป้องกันและกำจัดเชื้อราในกลุ่มสารเมทาแลคซิล หรือใช้ยาอาลีเอทก็ได้
แต่คุณเล็ก อธิบายว่า เพื่อความสะดวกและให้เหมาะสมกับจำนวนการใช้ต้นกล้านับแสนต้นในแต่ละปี ปัจจุบัน ทางกลุ่มได้สั่งกับแหล่งที่รับเพาะกล้าโดยเฉพาะ เนื่องจากมีความชำนาญและสถานที่เพาะที่เหมาะสม สามารถควบคุมโรคและแมลงกับต้นกล้าได้เป็นอย่างดี จนวันส่งมอบต้นกล้าพริกให้เกษตรกร ซึ่งตอนนี้ต้นทุนที่ซื้อมา ต้นละ 1 บาท แต่ถ้าซื้อเมล็ดมาเพาะเอง ดูแลกล้าพริกเอง คำนวณค่าใช้จ่ายแล้วก็ถือว่าใกล้เคียงกันมาก
หลังจากที่ย้ายต้นกล้าพริกลงหลุมปลูกแล้ว การใช้ไม้หลักปักค้ำต้นพริกมีความจำเป็นและสำคัญเช่นกัน ถ้าหากปักหลักต้นพริกช้าเกินไป รอจนรากของต้นพริกเดินกระจายทั่วแล้ว จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย เพราะหลักที่นำไปปักทีหลังหรือปักช้าเกินไปนั้น ปักไปโดนกับส่วนของรากเสียหายและเกิดบาดแผล เชื้อเข้าทำลายระบบท่อน้ำและท่ออาหารได้
ดังนั้น เกษตรกรที่จะปลูกพริกในเชิงพาณิชย์ จะต้องมีการเตรียมไม้หลักไว้ล่วงหน้า โดยคำนวณจากต้นพริกที่ปลูก ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกแบบแถวคู่ จะมีจำนวนต้น ประมาณ 3,200 ต้น ก็เตรียมไม้หลักจำนวนเท่ากัน ปกติขนาดของไม้หลัก ควรจะมีความสูง 60-80 เซนติเมตร หลังจากปลูกพริกไปได้ 50-70 วัน จะต้องมีการปักไม้หาบต้นพริกหรือล้อมด้วยเชือก เพื่อช่วยพยุงต้นพริกไม่ให้หักโค่น หรือกิ่งฉีกหักจากการรับน้ำหนักของผลผลิตที่มีความดก แนะนำให้ใช้ไม้ไผ่ที่มีความยาว 1.20 เมตร ปักคู่กันระหว่างต้นพริกด้านซ้ายและด้านขวา จากนั้นใช้ไม้อีกอันหนึ่งวางขวางด้านบนสุด มัดเชือกให้แน่น โดยจะทิ้งช่วงของการปักไม้เป็นระยะ ทุกๆ 3 เมตร จากนั้นก็มัดเชือกทั้งข้างซ้ายและข้างขวาให้ยาวตลอดแนวแถวแปลงพริก ดึงเชือกให้ตึงในแต่ละช่วง จะช่วยให้ต้นพริกไม่โค่นล้มได้ง่าย
ปุ๋ยต้องเรียนรู้เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิต การใช้ปุ๋ยในการปลูกพริก แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่มีความจำเป็นในการปลูกพริกทุกครั้ง ใส่เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดิน ช่วยให้ร่วนซุย จะมีการใส่ปุ๋ยคอกก่อนการไถพรวน ในอัตรา อย่างน้อย 1 ตัน ต่อไร่ และจะใส่ปุ๋ยหมักอินทรีย์รองก้นหลุมก่อนปลูกพริก ในอัตรา 250 กิโลกรัม ต่อไร่ ในส่วนที่ 2 คือ
ปุ๋ยเคมี ทางดินจะให้อย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง สูตรที่ใช้ยืนพื้น คือ ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15, 16-16-16 ผสมกับ แคลเซียมไนเตรต (สูตร 15-0-0) เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นและใบ ซึ่งแคลเซียมไนเตรต (สูตร 15-0-0) นอกจากจะช่วยเร่งการเติบโตทางต้นและใบ เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดธาตุแคลเซียม วิธีการสังเกตต้นพริกที่ให้ผลผลิตดกเกินไป อาจจะพบอาการขั้วนิ่ม ปลายผลเหลืองและร่วง หรือที่หลายคนเรียกกันว่า อาการ “กุ้งแห้งเทียม” แสดงว่าต้นพริกขาดธาตุแคลเซียม ในส่วนของปุ๋ยทางใบ มักจะมีการฉีดพ่นควบคู่กับการฉีดพ่นสารปราบศัตรูพืช
สารป้องกันกำจัดโรคและแมลง ที่ใช้จะเน้นการใช้ป้องกันเพลี้ยไฟ คือ พวกอิมิดาคลอพริด (เช่น โปรวาโด, สลิง เอ็กซ์, เสือพรีอูส, โคฮีนอร์), อะบาเม็กติน (เช่น โกลแจ็กซ์, แจคเก็ต), สไปนีโทแรม (เช่น เอ็กซ์ซอล จะเก่งเพลี้ยไฟและหนอนเจาะผลระบาดโดยเฉพาะช่วงพริกมีผลขนาดเล็ก เน้นการใช้ในช่วงวิกฤตหรือพบการระบาดมาก)
มีการรองก้นหลุมปลูกพริก ด้วยสารสตาร์เกิ้ล-จี (ชื่อสามัญ ไดโนทีฟแรน) รองก้นหลุมหรือโรยรอบโคนต้น : อัตรา 2 กรัม ต่อต้น ต่อหลุม ปลูกเพื่อป้องกันเพลี้ยต่างๆ และแมลง ในช่วงแรกในการปลูกพริก สามารถคุมได้นานนับเดือน มีประสิทธิภาพออกฤทธิ์ควบคุม และกำจัดแมลงได้ยาวนาน 30-45 วัน ป้องกันกำจัดแมลงบนดิน เช่น เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ หนอนแมลงวันชอนใบ หนอนแมลงวันเจาะลำต้น ด้วงเต่าแตง และแมลงใต้ดิน เช่น มด ปลวก ด้วงดิน เสี้ยนดิน เป็นต้น กำจัดแมลงปากดูดที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ ได้ดีเยี่ยม
ส่วนเรื่องโรคเชื้อราก็เน้นการป้องกัน โรคกุ้งแห้ง หรือ แอนแทรกโนส จากเชื้อรา พบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพริก พบการแพร่ระบาดของโรคมากในช่วงฤดูฝน โรคกุ้งแห้ง มักพบอาการบนผลพริกที่เริ่มสุกหรือผลพริกก่อนจะเปลี่ยนสี เริ่มแรกมีแผลจุดช้ำสีน้ำตาลบุ๋มยุบตัวลึกลงเล็กน้อยในผิวผลพริก ต่อมาแผลขยายออกเป็นวงรีหรือวงกลมซ้อนกันเป็นชั้นๆ ถ้าอากาศชื้นบริเวณแผลจะมีเมือกเยิ้มสีส้มอ่อนๆ แต่หากแสดงอาการที่ผลอ่อนจะทำให้ผลพริกโค้งงอบิดเบี้ยวลักษณะคล้ายกุ้งแห้ง หากสำรวจพบพริกแสดงอาการโรค ควรเก็บผลพริกเป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที หากเริ่มพบการระบาดให้ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ (เช่น ฟังกูราน) ใช้อัตรา 10-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันกำจัดโรคผลเน่า โรคเน่าเปียก โรคแอนแทรกโนส (โรคกุ้งแห้ง) ฉีดสลับกับสารแมนโคเซบ กลุ่มยาสัมผัส เป็นสารกำจัดโรคพืชที่สามารถควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้อย่างกว้างๆ ถ้ามีการระบาดระดับรุนแรงจะไม่สามารถแสดงผลควบคุมโรคได้ดีพอ ในกรณีที่ระบาดรุนแรง ก็จะต้องสลับสารป้องกันกำจัดเชื้อราที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น อะซ็อกซีสโตรบิน (เช่น มิราโด อมิสตา) ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดโรคพืชประเภทดูดซึม
เทอร์ราคลอร์ ซุปเปอร์-เอ็กซ์ (ชื่อสามัญ อีทริไดอะโซล+วินโทซีน) ใช้ป้องกันกำจัดโรคในพืชชนิดต่างๆ เช่น โรครากเน่าโคนเน่าได้ดี มักจะฉีดพ่นลงดินบริเวณโคนต้นพริก โรครากเน่าโคนเน่า มักเกิดในระยะพริกโตเต็มที่ ช่วงออกดอกติดผล อาการเริ่มแรกจะมีใบเหลืองและร่วง หากระบาดรุนแรง ต้นพริกจะเหี่ยวและยืนต้นตาย…โคนต้นจะมีเชื้อราเส้นใยสีขาวรวมเป็นก้อนกลม จากนั้นจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลดำคล้ายเมล็ดผักกาด (ราเม็ดผักกาด)
คุณเล็ก นาคเกตุ เล่าว่า เกษตรกรผู้ปลูกพริกหนักใจเรื่องโรคเชื้อรามากกว่าแมลงศัตรู การใช้สารเคมี จะต้องหยุดฉีดก่อนล่วงหน้า 1 สัปดาห์ หลังการเก็บพริกส่งโรงงานเสร็จ ก็จะเริ่มฉีดพ่นสารเคมีตามขั้นตอนต่อไป คือเราต้องใส่ใจในการผลิตพริกที่ปลอดภัยสารเคมีด้วย และไม่ให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้าง ซึ่งทางบริษัทที่รับซื้อจะมีการตรวจสอบสารตกค้างทุกครั้งที่นำผลผลิตไปส่ง