ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
จากนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น นำไปสู่การบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ขณะนี้ได้เห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมอีกทั้งพลังความเข้มแข็งของเกษตรกร โดยเฉพาะ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ ศพก ทุกอำเภอ หรือศพก. เครือข่าย ต่อยอดความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ หลายพื้นที่สามารถดำเนินการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเกษตรกรผ่านการอบรมของ ศพก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงวางทิศทางเพื่อให้ ศพก. เป็นกลไกหลักในการปฏิรูปภาคการเกษตร และรับฟังเสียงสะท้อนจากการทำงานของเกษตรกร มากกว่าที่ผ่านมา เปิดเวทีให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดเครือข่ายการทำงาน การช่วยเหลือกันอย่างเป็นระบบ ทั้งในระดับทิศทางการทำงานระดับประเทศ หรือการทำงานในระดับพื้นที่
ทั้งนี้ เกษตรกรทั่วประเทศสามารถรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนเพื่อเร่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อีกทั้งพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ดังนั้นเมื่อเกิดโครงการในรูปแบบของแปลงใหญ่ ผลสะท้อนที่ตามมาคือเกิดความสามัคคีกันในหมู่เกษตรกร สามารถพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ตลอดเวลา และมีกลุ่มตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง อย่างฟาร์มชุมชน ภายใต้การบริหารงานของ นายวิศรุต อ่วมกลัด ประธานกลุ่มฟาร์มชุมชน ตำบลยี่ล้น อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง ภายใต้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ โดยดำเนินการในรูปแบบฟาร์มชุมชน มีการทำการเกษตรหลากหลาย ทั้งการปลูกผัก ทำนา เลี้ยงปลา โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาของกลุ่มนี้ที่มีความโดดเด่น มีสมาชิกจำนวน กว่า 80 ราย เกิดการรวมตัวกันเพื่อหาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาราคาปลาตกต่ำ มีการเลี้ยงปลาบ่อดิน อาทิ ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิน ปลาสวาย ฯลฯ ซึ่งทางกลุ่มได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาดำเนินการเดินตามรอยเท้าพ่อหลวง ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม
จากกการศึกษาดูงานทางกลุ่มได้รับคำแนะนำให้นำปลาที่เลี้ยงหลังจากการขายปลาสดแล้วนั้น นำมาแปรรูปทำเป็นปลาช่อนแดดเดียว สามารถจำหน่ายได้ราคาถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม ปลาร้า ปลายอ น้ำพริก แหนม สามารถออกจำหน่ายเป็นรายได้ทุกวัน ทำให้เกษตรกรและสมาชิกกลุ่มมีรายได้ต่อเนื่อง ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สำหรับการรวมกลุ่มดังกล่าวมีข้อดีที่เห็นได้ชัด เกษตรกรเกิดความรักสามัคคีเกิดขึ้นภายในชุมชน จากเดิมที่อยู่แบบตัวใครตัวมัน แต่ปัจจุบันสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะบางรายมีการพัฒนานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ก็นำมาถ่ายทอดให้เกษตรกรในภายในชุมชนซึ่งกันและกัน มีการปรับสภาพพื้นบ่อทำให้การเลี้ยงปลามีคุณภาพมากขึ้น และที่สำคัญมีการพัฒนาความรู้ตลอดเวลา มีการอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรกรที่เลี้ยงปลาภายในชุมชนสามารถผลิตปลาและแปรรูปอาหารจากปลาอย่างมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม คุณวิศรุต เล่าให้ฟังอีกว่า ทุกกิจกรรมภายในฟาร์มชุมชนมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เกษตรกรที่รับผิดชอบสามารถทำงานแต่ละด้านตามความถนัด ความชำนาญของตนเองได้ จนสามารถนำไปจำหน่ายภายใต้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้ และผลจากการดำเนินโครงการฯ เกษตรกรเครือข่าย ศพก. ยังตั้งเป้ารวมตัวกันทำแปลงใหญ่ ปลาช่อนและปลานิลซึ่งขณะนี้มีสมาชิกกว่า 30 ราย พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการแล้ว ในปี 2561
“สุดท้ายที่เกษตรกรได้จากการก่อตั้งฟาร์มชุมชนแห่งนี้ ได้มีการก่อตั้งธนาคารเพื่อใช้แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเกษตรกรด้วยกัน อาทิ เกษตรกรรายได้มีกากน้ำตาลก็สามารถนำมาแลกปุ๋ยไปใช้ได้ รวมทั้งสินค้าอื่นๆ อีกหลากหลาย และประการสำคัญทำให้เกิดความรัก สามัคคี ภายในชุมชน” คุณวิศรุต กล่าว