ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
น้อยหน่าเป็นไม้ผลประจำถิ่นของอเมริกากลาง เรียกกันว่า “อะ โน น่า” สันนิษฐานว่าน้อยหน่าเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก ช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ประมาณปี 2060 โดยชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำพันธุ์มาเผยแพร่ แต่บางกระแส เชื่อว่า ชาวอังกฤษ เป็นผู้นำน้อยหน่ามาจากอินเดียเข้ามาเผยแพร่ในไทย ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ประมาณปี พ.ศ. 2155
มีสันนิษฐานกันว่า หากชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำน้อยหน่าเข้ามาไทย คาดว่าจะปลูกน้อยหน่าเป็นครั้งแรก แถบอยุธยา และลพบุรี หากอังกฤษเป็นผู้นำเข้ามา น่าจะเริ่มปลูกน้อยหน่าในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม เรื่อยไปจนถึงอยุธยา และลพบุรี เนื่องจากจังหวัดลพบุรี เคยมีน้อยหน่าท้องถิ่นสายพันธุ์หนึ่ง เรียกว่า “น้อยหน่าพระที่นั่งเย็น” หรือ “น้อยหน่าพระนารายณ์ ” นั่นเอง
ทุกวันนี้ มีการปลูกน้อยหน่าแพร่หลายไปทั่วประเทศ และมีการเรียกชื่อน้อยหน่าแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น นอแน่ มะนอแน่ (ภาคเหนือ) มะออจ้า หรือ มะโอจ้า (ไทยใหญ่) หน่งเกล๊าะแช (เงี้ยวหรือไทยใหญ่แม่ฮ่องสอน) บักเขียบ (ภาคอีสาน ) น้อยแน่ (ภาคใต้)ลาหนัง (ปัตตานี) นอกจากนี้ น้อยหน่ายังเป็นพืชเศรษฐกิจของหลายประเทศ เช่น บราซิล อียิปต์ อิสราเอล แอฟริกากลาง อินเดีย และภูมิภาคเอเชียใต้
ลักษณะทั่วไป
น้อยหน่าเป็นไม้ผลที่มีลำต้นเล็ก เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะบาง สูงประมาณ 5-6 เมตร มีทั้งกิ่งหลัก กิ่งรอง กิ่งแขนง และกิ่งย่อย ลำต้น เป็นไม้ประเภทผลัดใบ มีใบเดี่ยว ใบอ่อนจะมีสีขาวปนเขียว ใบแก่ก็เขียวเข้มปนน้ำตาล ปลายใบแหลมรูปหอก มีดอกโผล่ตามกิ่งในฤดูใบไม้ผลิ หลังจากผลัดใบ
ผลน้อยหน่าจะเกิดจากดอกเพียงดอกเดียว ไม่พึ่งการผสมเกสรระหว่างดอก มีลักษณะกลมรีรูปหัวใจ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-10 เซนติเมตร รอบพื้นผิวของผลจะมีส่วนที่นูนขึ้นเป็นตะปุ่มตะป่ำ สีเขียวแกมเหลือง ภายในผลน้อยหน่ามีเนื้อนุ่มและหวาน หุ้มอยู่นอกเมล็ดใน ชุ่มน้ำ และมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน เมล็ดในของน้อยหน่า มีสีดำสนิท หรือน้ำตาลเข้มนั้น เป็นที่สะสมอาหาร เพื่อใช้บำรุงรากและลำต้น ในการใช้เมล็ดปลูกครั้งใหม่
ในอดีตน้อยหน่าในเมืองไทยมีแค่ 3 พันธุ์ คือพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์หนัง ส่วนพันธุ์พื้นเมือง ยังแตกพันธุ์ออกถึง 3 ชนิด ได้แก่ 1. ชนิดผลสีเขียวหรือฝ้ายเขียว หรือน้อยหน่าฝ้าย 2. พันธุ์พื้นเมืองสีม่วง หรือฝ้ายครั่ง 3. ชนิดผิวเหลืองอ่อนหรือน้อยหน่าเผือก แต่เป็นชนิดที่ไม่เป็นที่นิยม เพราะสีไม่สวย รสก็ไม่หวาน
ปัจจุบันนี้ พันธุ์น้อยหน่าพัฒนาไปอีกมาก สำหรับพันธุ์หนังนั้นเป็นน้อยหน่าเวียดนาม แต่ไพล่ไปเรียกกันว่า พันธุ์เขมร เป็นพันธุ์มีผลสีเขียว ส่วนพันธุ์นี้ที่มีผลสีเหลือง ก็เรียกอีกชื่อว่า น้อยหน่าหนังสีทอง และคำว่า “หนัง” นั้นมาจากชื่อเมืองดานังในเวียดนาม แต่ไทยเรียกว่า หนัง
ไม้ผลในตระกูลเดียวกับน้อยหน่า มี 4 ชนิด คือ 1. ซีรีมัวย่า เป็นพันธุ์จากเม็กซิโก แต่เดิมมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นที่สองรองจากน้อยหน่า 2. น้อยโหน่ง เป็นพืชชนิดที่ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้ง มีต้นขนาดเดียวกับน้อยหน่า แต่ตามกิ่งไม่มีขน ใบก็เหมือนน้อยหน่า 3. ทุเรียนเทศ เป็นทุเรียนแขกหรือทุเรียนน้ำ ได้พันธุ์มาจากมาเลเซีย ส่วนทางมาเลเซียเรียกว่า ทุเรียนยุโรป 4. อิลามา มีปลูกตามไหล่เขาในเม็กซิโก นิการากัว และซานซัลวาดอร์
การปลูก
น้อยหน่าช่วงออกดอก ต้องการอากาศแห้งแล้ง จะทำให้ผลิดอกออกผลได้ดี ผลจะมีขนาดใหญ่ และมีคุณภาพ แต่ถ้าปลูกในที่มีความชื้นสูง จะให้ผลแคระแกร็น ติดผลน้อย และมีคุณภาพต่ำ ส่วนรากน้อยหน่าลงดินไม่ลึก ต้องเป็นดินที่ระบายน้ำได้ดี งอกได้ทั้งดินเหนียว ดินทราย ดินหิน และดินปูน ขอให้ได้น้ำเข้าถึงก็ใช้ได้
แปลงปลูกน้อยหน่าไม่ต้องพิถีพิถันนัก เว้นแต่พื้นที่ป่าเก่า ต้องไถพรวนดินเอารากไม้ออก และไม่ควรมีไม้อื่นคอยบังทางลม และแย่งอาหาร ก่อนปลูกต้องโค่นแบบถอนรากถอนโคน รอทำทีหลังไม่ได้เด็ดขาด จะทำให้ต้นน้อยหน่าไม่งอกงาม และตอนโตแล้วยิ่งโค่นลำบาก เพราะไปติดกิ่งก้านน้อยหน่า ยากไปจนถึงตอนเก็บเกี่ยว
ไถพรวนดินแปลงแล้วปล่อยให้แห้ง 1 สัปดาห์ จากนั้นไถเพื่อให้ดินร่วนซุย ตอนปลูกควรเว้นระยะห่างตามสภาพดิน ถ้าดินดีต้องห่าง 4×4 เมตร ดินไม่สู้ดีห่าง 3×3 เมตร ระยะห่างระหว่างแถวก็ใช้หลักเดียวกัน ทั้งนี้เกิดจากเหตุผลที่ว่า ถ้าดินดี ลำต้น กิ่ง และก้านจะสมบูรณ์ แผ่ออกก่ายกันระหว่างต้น รากก็แย่งอาหารกันเอง ยิ่งยังลำบากตอนเก็บเกี่ยว
ต้นน้อยหน่า ควรปลูกต้นฤดูฝนคือ เดือนพฤษภาคม หาน้ำได้ไม่ลำบาก แต่พูดถึงความทนทานก็ปลูกได้ทุกฤดู ด้านพืชเป็นกำแพงบังลมแรง มีสนทะเล ไผ่รวก ยูคาลิปตัส หรือพวกไม้ผลอย่าง ขนุน มะม่วง แต่ต้องไม่ปล่อยให้ร่มเงาแผ่กว้าง ส่วนพืชแซมอาจเป็น ละมุด มะม่วง และพืชคลุมดินจำพวกถั่ว เพื่อช่วยสร้างธาตุอาหารในดินหลังเก็บเกี่ยว ตอนยังอยู่ก็ช่วยป้องกันหน้าดินถูกชะล้าง ทั้งยังช่วยรักษาสภาพดิน เก็บความชื้นของดิน และกำจัดวัชพืชไปในตัว
กรณีต้นน้อยหน่า มีกิ่งก้านมาก ควรตัดแต่งโดยคำนึงถึงว่า น้อยหน่าเป็นไม้ยืนต้นอายุยืน นานไปกิ่งก้านจะรกทึบ เกิดอุปสรรคหลายด้านดังที่กล่าวมา อายุออกดอกถึงวันเก็บเกี่ยวประมาณ 110-120 วัน เก็บเกี่ยวได้ราวเดือนพฤษภาคม ควรเก็บด้วยมือ ถ้าสูงก็ใช้ไม้ง่ามสอย หรือทำเป็นตะกร้อ เก็บใส่เข่งที่กรุด้วยใบตอง แล้วคัดแยกผลใหญ่เล็กออกจากกัน
น้อยหน่าใช้ผลสดรับประทานแทนอาหารว่าง เป็นที่นิยมตรงที่ราคาไม่แพง รสก็หวานอร่อย รากใช้ทำยาสมุนไพร ต้มกับน้ำเป็นยาระบาย เปลือกลำต้นที่ฝาดใช้ฝนกับแผ่นหินทำยาสมานแผล ส่วนใบใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ขับพยาธิในลำไส้ด้วยการต้มน้ำดื่ม ถ้าเอาใส่ครกโขลกพอกแก้ช้ำบวม แก้เกลื้อนกลาก และเมล็ดใช้กลั่นน้ำมันเพื่อใช้ทำสบู่ หรือเอากากน้ำมันทำปุ๋ย
น้อยหน่าจะมีขายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่วนผลที่บังคับให้ออกนอกฤดู จะมีขายในเดือนเมษายนกับพฤศจิกายน มีในตลาดปากช่อง นครราชสีมา ชาวสวนมักขนมาขายเองริมถนนมิตรภาพ พอจะมีพ่อค้าคนกลางไปซื้อในสวนมาขายเองบ้าง ในกรุงเทพฯ พอมีที่ปากคลองตลาด มหานาค และตลาด อ.ต.ก. สี่มุมเมือง
แม้เมืองไทยจะผลิตน้อยหน่าน้อย การส่งออกยังพอมี เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และตะวันออกกลาง ต่างประเทศพอใจน้อยหน่าไทย ติดขัดตรงคุณภาพหย่อนไปบ้าง การขนส่งยังไม่มีประสิทธิภาพ 2-4 วัน ผลก็เน่า ค่าโสหุ้ยยังสูง เพราะต้องขึ้นเครื่องบิน ส่วนน้อยหน่าคุณภาพเวลานี้ มาจากป่ากลางดง อำเภอปากช่อง เป็นชนิดที่มีความทนทานต่อสภาพการเน่าเสียสูง