“พริกขี้หนู” พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย

ในประเทศไทย เราจะคุ้นเคยกับอาหารเผ็ดร้อนตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เพราะวัฒนธรรมการรับประทานอาหารรสจัดจ้าน ซึ่งหมายถึงในจานอาหารเหล่านั้นจะมีพริกเป็นเครื่องปรุง เพื่อรสชาติที่กลมกล่อมมากขึ้น จากสถิติแล้ว คนไทยจะบริโภคพริกประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อคน ต่อปี คิดเป็นมูลค่าโดยรวมทั้งประเทศกว่า 30,000 ล้านบาท และมีการปลูกเพื่อส่งออกคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท ต่อปี ด้วยเหตุนี้ พริกจึงเป็นพืชเศรษฐกิจของคนไทยที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศ เนื่องจากพริกสามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

นอกจากพริกจะเป็นเครื่องเทศยอดนิยมแล้ว พริกยังจัดว่าเป็นสมุนไพรชั้นยอดเช่นเดียวกัน สรรพคุณของพริก ช่วยกระตุ้นทำให้เจริญอาหาร ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย

ในทางเภสัชวิทยานั้น สารสกัดจากผลพริก ซึ่งก็คือสาร capsaicinoids เป็นสารที่ให้ความเผ็ดและกลิ่น โดยประกอบด้วยสารต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบ แต่จะพบสาร capsaicin เป็นหลัก คิดเป็นประมาณ 60% จากทั้งหมด โดยจะพบสารนี้มากบริเวณไส้กลางของเมล็ดพริก ซึ่งปริมาณของสารนี้ขึ้นอยู่กับอายุของพริก จากรายงานวิจัยพบว่า พริกที่อยู่ในระยะผลอ่อนจะมีปริมาณนี้น้อยกว่าพริกที่อยู่ในระยะผลแก่ แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านสภาพอากาศ พันธุ์ และแหล่งเพาะปลูกก็มีผลต่อสารนี้เช่นกัน

การนำมาแปรรูปทำเป็นยา โรงงานผลิตยาจะใช้เป็นสารสกัด capsaicin ซึ่งสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ ในการรักษาโรคหรือความผิดปกติได้หลากหลาย เช่น อาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ภาวะความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่การใช้ในรูปแบบการทาภายนอก สำหรับบรรเทาอาการปวด เพราะมีการใช้กันมาอย่างยาวนานหลายปี โดยนิยมใช้กับคนที่มีอาการปวดตามข้อเรื้อรัง หรือปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง จากงานวิจัยระบุว่า สามารถลดอาการปวด (pain score) ได้ 50% โดยทาวันละ 3-4 ครั้ง ไม่เพียงแต่ใช้รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก สำหรับผู้ที่มีอาการปวดปลายประสาทจากโรคงูสวัด สามารถพบได้บ่อยบริเวณรอยโรค ซึ่งจะยังคงอยู่หลังจากหายจากโรคแล้ว มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า การใช้ capsaicin สามารถลดอาการปวดปลายประสาทได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ อาการแสบร้อนบริเวณที่ใช้ยา จากรายงานพบถึง 54% ด้วยเหตุนี้เองทำให้มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้พัฒนาสูตรตำรับที่ลดผลข้างเคียงนี้ ซึ่งพบอาการแสบร้อนเหลือประมาณ 4% แต่สามารถออกฤทธิ์ได้ยาวหลายชั่วโมงด้วยเทคนิคทางนาโนเทคโนโลยี โดยทาวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน และได้ผลดีในการลดอาการปวดของคนไข้โรคข้อเข่าเสื่อม ปัจจุบันได้เริ่มนำมาใช้ในคนไข้ เฉพาะภายในแผนกกายภาพบำบัดและแผนกการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ขอบคุณข้อมูล จาก ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ ในอภัยภูเบศรสาร ฉบับที่ 156