ปลูกมะละกอส้มตำ สร้างรายได้ แบบพออยู่พอกิน ที่ดำเนินสะดวก

มะละกอพันธุ์แขกดำ ลักษณะเป็นทรงพุ่มเตี้ย แข็งแรง ความสูงประมาณ 2-4 เมตร ก้านใบสีเขียวอ่อน ลักษณะสั้นและแข็งแรง ก้านใบตั้งตรง ยาวประมาณ 60-80 เซนติเมตร ใบหนากว่าพันธุ์อื่นๆ มีเส้นใบ 9-11 แฉก มีการออกดอกติดผลเร็ว ผลมีขนาดปานกลาง ส่วนหัวและปลายผลมีขนาดเท่ากัน ผลยาวประมาณ 25-35 เซนติเมตร ผลในขณะที่ยังดิบเปลือกมีสีเขียวเข้ม เปลือกหนา เนื้อหนา ผลสุกมีสีแดงอมส้ม เนื้อสีแดงเข้ม น้ำหนักผลประมาณ 0.60-1.70 กิโลกรัม เหมาะสำหรับบริโภคสุกและดิบ 

ในครั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มานำเสนอเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ทำแล้วรวย แต่จะขอถ่ายทอดประสบการณ์ของเกษตรกรท่านหนึ่ง ที่ไม่ย่อท้อต่อราคาและกลไกของตลาดที่มีทั้งดีและไม่ดี ผิดหวังมาก็หลายครั้ง สุดท้าย มาลงตัวที่มะละกอแขกดำ สร้างรายได้แบบพออยู่พอกิน

คุณกิตติวัฒน์ รังสีวิสิทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 113 หมู่ที่ 3 ตำบลประสาทสิทธิ์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เกษตรกรผู้ที่จะมาเล่าถึงประสบการณ์การทำเกษตรที่ไม่ได้สวยงามนัก

คุณกิตติวัฒน์ รังสีวิสิทธิ์

“อยากให้เกษตรกรที่ได้อ่านเรื่องของลุงกิตติวัฒน์แล้วมีกำลังใจสู้ต่อไป เพราะลุงกิตติวัฒน์ก็เจ็บมาเยอะ กว่าจะตั้งตัวได้ ทำเกษตรอาจไม่รวย แต่เกษตรสอนให้เรารู้จักพอเพียง” ลุงกิตติวัฒน์เล่าและว่า หนทางการเป็นเกษตรกรของลุงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ปีไหนโชคดีก็ได้ผลผลิตราคาสูง ปีไหนเจอพายุ พืชผลการเกษตรไม่ออกผลผลิต ก็ต้องเศร้ากันไป แต่ถึงอย่างไร ลุงก็ไม่เลิกอาชีพเกษตรกรรม ลุงปลูกมาแล้วหลายอย่าง เริ่มจากปลูกละมุด แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้บริโภคไม่นิยม ขายยาก ลุงจึงเลิกปลูกละมุดหันมาปลูกมะนาวแทน เพราะเห็นว่ามะนาวราคาดี แต่ก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง เพราะช่วงที่ลุงปลูก ผลผลิตออกมามะนาวกลับมีราคาตกอีก ช่วงนั้นเครียด แต่ลุงไม่ท้อ ใช้ประสบการณ์ที่เคยเจอมานั่งวิเคราะห์ว่าจะทำอะไรดี ครั้งนี้ดูการตลาดก่อน และได้เล็งเห็นแล้วว่า คนกินส้มตำกันทั่วบ้านทั่วเมือง ดังนั้น ถ้าเราปลูกทำไมจะขายไม่ได้ พอคิดได้จึงลงมือปลูกมะละกอ เพราะสายพันธุ์นี้ขายแบบผลสุกหรือผลดิบก็ได้ แต่ลุงเลือกที่จะขายผลดิบ ไม่ต้องดูแลมาก ประหยัดต้นทุนได้เยอะ

ปลูกมะละกอ 10 ไร่ รายได้ไม่มาก แต่พออยู่พอกิน

ลุงกิตติวัฒน์ ปลูกมะละกอสร้างรายได้เสริมบนพื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งตอนนี้ราคามะละกอถือว่ากำลังไปได้ดี กิโลกรัมละ 5 บาท ขนาดของผลผลิตที่สวน น้ำหนักจะประมาณ 1.5-2.0 กิโลกรัม ถ้าน้ำหนักเยอะกว่านี้ก็ขายยาก ส่วนผลผลิตจะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและโรคด้วย ถ้าอากาศดีจะได้ผลผลิตประมาณ 2-3 ตัน ต่อไร่ แต่ถ้าอากาศไม่เป็นใจ ผลผลิตจะแปรสภาพได้ คือมะละกอจะไม่ติดผล ถ้าติดก็ติดน้อย เรื่องรายได้ก็ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับราคา ต่ำสุดที่เคยขายได้ 2 บาท ถ้าดีหน่อยได้ 6 บาท แล้วแต่ช่วงเวลา ส่วนราคาสูงสุดที่เคยมีคือ 8 บาท แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ปลูก

แปลงปลูกมะละกอแขกดำ

ถามว่าคนในประเทศไทยส่วนใหญ่นิยมกินส้มตำกันเป็นประจำอยู่แล้ว โอกาสมะละกอสายพันธุ์นี้จะล้นตลาดเป็นไปได้ไหม…ลุงกิตติวัฒน์บอกว่าก็มีโอกาสเช่นกัน เพราะเมื่อมะละกอราคาดี คนก็จะแห่ปลูกตามๆ กัน จึงทำให้ผลผลิตล้น และราคาถูกลงมา อย่างปีที่แล้วคนปลูกเยอะ ส่งผลให้มะละกอราคาตกเหลือกิโลกรัมละบาทกว่า

ต้นทุนการปลูกไม่สูงมาก อยู่ในระดับปานกลาง 1 เดือน ใส่ปุ๋ย 1 ครั้ง ใส่ปุ๋ยเร่ง 20-10-10 หรือ 16-16-16 บ้าง แล้วแต่ความเหมาะสม ที่นี่ก็ใช้ปุ๋ยอินทรีย์บ้าง แต่ถ้าใช้อินทรีย์อย่างเดียวเลย การเจริญเติบโตจะช้า และจะเกิดโรคใบเหลือง ถ้าใส่ปุ๋ยเร่งจะช่วยได้หน่อย ส่วนตอนที่มีโรคระบาดที่สวนของลุงกิตติวัฒน์จะใช้ยาฆ่าไรแดง ซึ่งนานๆ ทีจะใช้ ถ้าต้นไม่มีอะไรมารบกวนจะไม่ใช้ มะละกอจะปลอดสารพิษประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์

 

วิธีการปลูก

ที่สวนของลุงกิตติวัฒน์ปลูกแบบเพาะเมล็ดลงถาดเป็นเวลาเดือนครึ่ง หลังจากนั้น ย้ายต้นกล้าลงดิน เตรียมแปลงปลูก เอารถมาไถดินทำให้ดินร่วนซุย โดยเว้นระยะห่างระหว่างต้น 5 ศอก ระหว่างร่องแบ่งตามร่องที่เคยปลูกมะนาว คือระยะ 4 เมตร ใช้เวลาปลูก 6 เดือน ให้ผลผลิต

แปลงปลูกมะละกอแขกดำ

การปลูกมะละกอสิ่งที่สำคัญคือ อย่าปล่อยให้หญ้ารก เพราะจะทำให้ดินชื้นเปียก มะละกอไม่ชอบดินชื้น เปียกเกินไปไม่ดี ถ้ามีหญ้าก็จะอุ้มน้ำส่งผลต่อดิน

ระบบน้ำ 4-5 วัน ให้น้ำ 1 ครั้ง แล้วแต่สภาพภูมิอากาศ ถ้าแดดแรง เราก็ให้น้ำถี่หน่อย คือ 3-4 วัน ต่อครั้ง

ระยะห่างระหว่างร่อง
กำลังโต

การตลาด

มะละกอที่สวนลุงกิตติวัฒน์จะมีพ่อค้ารายใหญ่มารับซื้อถึงสวน สำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่จะปลูกมะละกอสร้างรายได้ ลุงกิตติวัฒน์แนะนำมาว่าให้ดูพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นเจ้าใหญ่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ เพราะปลูกแล้วเราจะส่งขายให้เขาได้ตลอด ผลผลิตเราจะไม่เสียหาย แต่ถ้าเราไปขายให้พ่อค้าเร่ เวลาราคาดีเขาก็มาเอาของที่เรา พอราคาไม่ดีเขาก็ทิ้งเรา แล้วเราก็ไม่รู้จะไปขายให้ใคร ส่วนเรื่องราคาก็ต้องดูตามกลไกของตลาด จะไปเรียกราคาตายตัวเลยไม่ได้

สำหรับเกษตรกรมือใหม่อยากแลกเปลี่ยนความรู้ เรียนรู้ประสบการณ์ คุณกิตติวัฒน์ รังสีวิสิทธิ์ ยินดีให้คำปรึกษา ติดต่อ โทร. (081) 763-3688