กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ รวมกลุ่มปลูกพริกป้อนโรงงาน สร้างรายได้ 60,000-100,000 บาท ต่อไร่

คุณเล็ก เกตุนาค ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อยู่บ้านเลขที่ 70/3 หมู่ที่ 3 บ้านหนองโสน ตำบลเขาคิริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โทร. (061) 684-1969 เล่าย้อนกลับไปว่า ตนเองและเพื่อนๆ เกษตรกรได้รวมกลุ่มปลูกพริก เริ่มปลูกพริกเพื่อป้อนเข้าโรงงานน้ำพริก ได้มา 3 ปีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีอาชีพทำนาและไร่อ้อย หลายปีที่ผ่านมาข้าวราคาตกต่ำมาก ไม่คุ้มต่อการลงทุนปลูกจึงมองหาพืชปลูกใหม่ พอได้มีโอกาสรู้จักกับตัวแทนบริษัทที่เขาเข้ามาส่งเสริมปลูกพริกและรับซื้อคืนในราคาประกันก็มีความสนใจ เริ่มปลูกในปี 2558 กับเพื่อนเกษตรกรเกือบ 20 คน ที่สนใจ แต่ก็ไม่ได้ปลูกมาก

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่เคยปลูกพริกเชิงการค้ามาก่อน ก็เริ่มต้นปลูกกันคนละ 1-2 ไร่ ก็มีพื้นที่ปลูกรวมกันได้ 30 ไร่ ในตอนนั้น ซึ่งผลที่ได้คือกลางๆ หมายถึงไม่ขาดทุน มีกำไรบ้างแต่ไม่มาก ซึ่งเป็นเพราะยังขาดประสบการณ์ในการปลูก ดูแลและการรักษา โดยเฉพาะเรื่องโรคและแมลงที่ยังไม่รู้จักและการใช้สารเคมีที่ถูกต้องนัก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทก็พยายามเข้ามาให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเรื่องของการปลูกพริกเป็นระยะๆ จนเกิดความรู้ความเข้าใจกันมากขึ้น การปลูกพริกเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานก็ดีขึ้นตามลำดับ

ปลูกพริก “ซุปเปอร์ฮอท” ซึ่งเป็นพริกขี้หนูเม็ดใหญ่ เม็ดเล็กผลยาว 5-7 เซนติเมตร มีลักษณะต้นแข็งแรง แตกแขนงดี ทรงพุ่มกว้างปานกลาง ต้นสูง 70-80 เซนติเมตร ติดผลดกมาก ผลชูเหนือทรงพุ่ม ผลดิบสีเขียว-เขียวเข้ม ผลสุกมีสีแดงสด ผลสดเก็บได้นานโดยขั้วผลไม่เน่า อายุเก็บเกี่ยว 60-65 วัน หลังการย้ายกล้า กับ “ฮอท ชิลลี่” ซึ่งจัดเป็นพริกหนุ่มเขียวลูกผสม เป็นพริกเม็ดใหญ่ ลักษณะผลจะยาว ประมาณ 12-14 เซนติเมตร ผลดิบจะมีสีเขียวสด ผลสุกจะมีสีแดงสวย ผิวผลเรียบเป็นมันเงา เนื้อผลหนา เนื้อแน่น แข็ง ทนทานต่อการขนส่งไกล ต้นพริกแตกแขนงดี ออกดอกต่อเนื่อง ติดผลดก ผลผลิตต่อไร่สูง อายุเก็บเกี่ยว 60-70 วัน หลังการย้ายกล้า เหมาะต่อการส่งโรงงาน

แต่เกษตรกรบางคนที่ต้องการปลูกช่วงปลายปีเก็บผลพริกตั้งแต่หน้าแล้งเป็นต้นไปก็จะมีสายพันธุ์พริกที่เหมาะสม คือ พริกพันธุ์ “ซีอาน” เป็นสายพันธุ์พริกที่มีสีเขียวเข้ม ผลสุกมีสีแดง สวย ผลดก ทนโรค น้ำหนักดีซึ่งคล้ายกับพันธุ์ฮอท ชิลลี่ เป็นพริกพันธุ์หนึ่งที่นำไปผลิตซอสพริก พันธุ์ซีอานจะนำมาปลูกสลับ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม สำหรับคนที่จะปลูกผ่านหน้าแล้ง เนื่องจากพริกพันธุ์ซีอาน สามารถสู้อากาศร้อนได้ดีกว่าพันธุ์ฮอท ชิลลี่ ออกดอกติดผลดกดีในสภาพอากาศร้อน แต่ก็ไม่สู้ฝนเหมือนพันธุ์ฮอท ชิลลี่

แต่กลับกัน พันธุ์ฮอท ชิลลี่ สู้ฝนแต่ออกดอกติดผลไม่ดีในช่วงหน้าร้อน ก็มีสายพันธุ์ให้เลือกปลูกช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับสมาชิกกลุ่มที่ต้องการปลูกในช่วงนี้ แต่ทั้งนั้นสายพันธุ์พริกต้องเป็นพันธุ์ที่บริษัทหรือโรงงานกำหนดเพื่อให้ได้ผลผลิตพริกที่เหมาะต่อการนำไปใช้แปรรูป

แต่หลังจากปลูกพริกทั้งสองสายพันธุ์ได้สักระยะหนึ่งนั้น พบว่า พริกซุปเปอร์ฮอทมีปัญหาเรื่องการเก็บซึ่งเป็นพริกเม็ดเล็ก การเก็บจะค่อนข้างช้า ทำให้แรงงานที่จ้างเก็บไม่อยากเก็บพริกพันธุ์นี้เท่าไรนัก แม้ค่าจ้างจะแพงกว่าการเก็บพริกฮอท ชิลลี่ ก็ตาม ซึ่งตอนนั้นจ้างเก็บ กิโลกรัมละ 5 บาท สมาชิกจึงตกลงกับทางบริษัทผู้รับซื้อว่าขอปลูกพริกฮอท ชิลี่ เพียงพันธุ์เดียวเท่านั้น เนื่องจากเก็บเกี่ยวได้ง่ายกว่าเพราะเป็นพริกเม็ดใหญ่ คนรับจ้างเก็บก็ชอบเก็บ ซึ่งตอนนี้จ้างเก็บพริก กิโลกรัมละ 2 บาท คนรับจ้างเก็บตอนนี้สามารถเก็บได้ วันละ 100 กิโลกรัม ขึ้นไป ก็จะมีรายได้ 200-300 บาท ต่อวัน หลังการเก็บแล้วก็จะขนย้ายมาในร่มเพื่อมาเด็ดขั้วพริกออก แรงงานก็จะได้ค่าจ้างเด็ดขั้วพริกอีก กิโลกรัมละ 1 บาท พร้อมคัดแยกเกรดพริก ซึ่งเป็นต้นทุนเบื้องต้นสำหรับการเก็บพริก คือ 3 บาท ต่อกิโลกรัม ก็ได้แรงงานในหมู่บ้านที่ว่างเว้นจากงานหรือว่างจากงานไร่ตัวเองก็จะหารายได้เสริม คือการรับจ้างเก็บพริก สร้างรายได้ให้กับชุมชน

พริกตอนนี้ที่ตกลงกับทางบริษัทที่รับซื้อ คือ เก็บพริกสุกสีผลแดงพร้อมเด็ดขั้ว ราคารับซื้อที่ทางโรงงานรับประกันคือ พริกเกรดเอ ผิวสวย กิโลกรัมละ 14-18 บาท ส่วนพริกตกเกรด คือ ผิวมีตำหนิบ้างเล็กน้อย ไม่เน่า ไม่เสีย กิโลกรัมละ 6 บาท ซึ่งทางโรงงานนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำน้ำพริกสำเร็จรูปสูตรต่างๆ แล้วส่งขายทั้งในและต่างประเทศ นำพริกไปทำซอสพริก

พริก หลังย้ายกล้าปลูก เพียง 2 เดือน ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็จะต้องบำรุงรักษาใส่ปุ๋ยและฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู ก็จะเก็บผลผลิตพริกได้ยาวนานไปอีก 5-8 เดือน อย่างที่นี่เมื่อถึงช่วงหน้าร้อน ราวๆ เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ก็จะหยุดรื้อแปลง ไถพักดินหรือปลูกพืชผักหมุนเวียนแทน แล้วจะเริ่มกลับมาปลูกพริกอีกครั้งราวช่วงเดือนสิงหาคม

เรื่องของเมล็ดพันธุ์ หรือสายพันธุ์ ทางบริษัทจะจัดหามาให้ เพื่อให้เกษตรกรปลูกพริกสายพันธุ์ที่ทางโรงงานต้องการ ซึ่งเกษตรกรก็จะต้องนำเมล็ดพริกมาเพาะกล้าอีกทีหนึ่ง แต่ปัจจุบันเพื่อความสะดวกและเพื่อความแม่นยำในการวางแผนการผลิต ทางกลุ่มได้ซื้อกล้าพันธุ์พริกที่เขารับจ้างเพาะมาใช้เลย เนื่องจากคำนวณต้นทุนแล้วกับที่เกษตรกรต้องมาเพาะกล้าพริกเอง ดูแลรักษากล้า ต้นทุนก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก ซึ่งตอนนี้ราคาต้นพันธุ์พริกที่เพาะมาพร้อมปลูก ราคาต้นละ 1 บาท มาส่งพร้อมปลูกได้เลย

หลังจากคุยกับทางบริษัทแล้ว เราก็จะมารวบรวมสมาชิกว่าในฤดูกาลต่อไปแต่ละคนจะปลูกพริกในพื้นที่เท่าไร เพื่อจะได้ทราบจำนวนผลผลิตพริกเบื้องต้น และจำนวนกล้าพันธุ์ที่จะต้องสั่ง ซึ่งเบื้องต้นจะให้สมาชิกในกลุ่มปลูกคนละไม่เกิน 3 ไร่ เพื่อควบคุมคุณภาพของผลผลิต ซึ่งสมาชิกที่ส่วนมากใช้แรงงานในครอบครัวนั้นจะได้ดูแลพริกอย่างทั่วถึง แปลงปลูกพริกนั้นตอนนี้จะปลูกแบบแถวคู่ ขึ้นแปลงกว้าง ประมาณ 1 เมตร ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 45×45 เซนติเมตร เว้นทางเดินระหว่างแปลง กว้าง 1 เมตร

เกษตรกรสมาชิกในกลุ่มตอนนี้ที่ทำกันมา พบว่ามีรายได้ดีกว่าการทำนามากเมื่อเทียบพื้นที่กัน อย่างการปลูกพริกตอนนี้ทุกคนจะมีรายได้เฉลี่ยแบบกลางๆ ต่อไร่ 50,000-60,000 บาท แต่เกษตรกรในกลุ่มบางคนสามารถผลิตออกมาได้ผิวดี เกรดเอเยอะมาก ออกดอกติดผลดก ไม่โดนโรคและแมลงรบกวนมากนัก สามารถสร้างรายได้ 100,000 บาท ต่อไร่ มาแล้ว

หลังปลูกแล้วราว 25 วัน ก็จะแต่งหรือรูดแขนงที่โคนต้นออกไปเรื่อยๆ ไม่ให้ลำต้นมีแขนง จากพื้นขึ้นไป 20-30 เซนติเมตร เพื่อให้ลำต้นพริกในช่วงแรกอวบอ้วน เมื่อลำต้นสมบูรณ์มันก็จะส่งอาหารขึ้นไปยังยอดได้ดี และไม่ให้เป็นแหล่งหลบซ่อนของแมลงและโรค และพบว่าต้นพริกออกดอกติดผลในช่วงนี้ควรจะต้องเด็ดดอกหรือผลอ่อนบนต้นทิ้งไป

 

การให้ปุ๋ยพริก

หลังจากที่ยกร่องแปลงพริกเสร็จ ก็จะใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15 หว่านบนแปลงปลูกก่อนเพื่อเป็นปุ๋ยรองพื้น (กรณีรองก้นหลุม ช่วงดังกล่าวพืชจะต้องการสร้างรากเป็นหลัก ธาตุที่มีความจำเป็นสำหรับช่วงนี้คือ P ซึ่งมีอยู่แล้วใน 15-15-15) แล้วหลังจากย้ายกล้าพริกปลูกลงแปลงได้สัก 7 วัน กล้าพริกตั้งตัวได้ดีก็จะเริ่มการให้ปุ๋ยผ่านทางระบบน้ำสายน้ำหยด ปุ๋ยที่ใช้ในการให้ผ่านระบบน้ำไปนั้น เกษตรกรก็ประยุกต์ใช้ปุ๋ยทางดินนำมาละลายในน้ำ เน้นการให้ปุ๋ยผ่านน้ำเป็นหลัก โดยให้ปุ๋ยเคมีผ่านทางระบบน้ำ

คุณเล็ก เกตุนาค ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ ปลูกพริกส่งโรงงาน
วางสายน้ำหยด 2 สาย ต่อแปลงปลูก เนื่องจากปลูกพริกแบบแถวคู่

คุณเล็ก อธิบายว่า ทำงานง่าย ไม่ต้องเดินใส่ปุ๋ยเม็ดทั้งแปลงซึ่งเหนื่อยมาก การให้ปุ๋ยต้องเปลี่ยนมาเป็นการให้ผ่านระบบน้ำซึ่งได้ผลค่อนข้างดีมาก แต่การนำปุ๋ยเคมีแบบเม็ดหรือเราเรียกปุ๋ยทางดิน มาให้ผ่านระบบน้ำหยดนั้น จะมีวิธีการใช้ คือ นำปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 จำนวน 2 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยเคมี 15-0-0 จำนวน 1 กิโลกรัม (ปุ๋ยเคมี 15-0-0 หรือแคลเซียมไนเตรต (Ca NO3) เป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่ง เนื่องจากละลายง่าย ราคาไม่แพง อีกทั้งยังให้ธาตุไนโตรเจนได้ด้วย การให้ปุ๋ย 15-0-0 เป็นวิธีการให้แคลเซียมกับพืชที่ดีที่สุด และประหยัดเงินในกระเป๋ามาก คือให้แคลเซียมทางราก เนื่องจากปุ๋ย 15-0-0 ปริมาณแคลเซียมสูงมาก มีไนโตรเจนเป็นของแถม ปุ๋ยสูตรนี้เราต้องการ Ca แล้ว มี N ด้วยปุ๋ยสูตร 15-0-0 คือ แคลเซียมไนเตรต เวลาละลายน้ำ เราจะได้ไนโตรเจนในรูปไนเตรต 15% กับแคลเซียม 19% ทำให้ต้น ใบ แข็งแรง ผิวพริกแข็งแรง ทนต่อโรค)

ใช้รถไถติดอุปกรณ์ขึ้นแปลงปลูกพริก สามารถทำได้สะดวกและรวดเร็ว
วางสายน้ำหยด 2 สาย ต่อแปลงปลูก เนื่องจากปลูกพริกแบบแถวคู่

การใช้ ให้ใส่น้ำให้เต็มถังแล้วใช้ไม้คนน้ำให้ปุ๋ยเคมีละลายในถังน้ำสะอาด 200 ลิตร ไว้ก่อน 1 คืน ซึ่งเช้าขึ้นมาปุ๋ยเคมีที่เราละลายทิ้งไว้จะแยกชั้น ซึ่งกากปุ๋ยจะตกตะกอนอยู่ด้านล่าง ส่วนน้ำปุ๋ยใสๆ เราจะนำไปใช้นั้นเอง เราก็จะเอาสายยางจากปั๊มน้ำดูดปุ๋ย เพื่อให้น้ำปุ๋ยผ่านระบบน้ำไป อัตรานี้เราจะสามารถให้ปุ๋ยกับพริกในพื้นที่ 1 ไร่ ก็จะใช้สูตรนี้ยืนพื้นไปตลอดการปลูกพริก แต่อาจจะมีการให้ปุ๋ยเพิ่มแบบเจาะหยอดลงบนแปลง วิธีการคือ ใช้ไม้แทงลงบนพลาสติกคลุมแปลงให้ขาดทะลุเป็นหลุม แทงช่องว่างระหว่างต้น จากนั้นก็จะหยอดปุ๋ยเม็ดลงไป ประมาณ 1 ช้อนแกง ต่อหลุม ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เพื่อช่วยส่งเสริมกันทั้งทางดินและทางน้ำ

 

หลังจากปักไม้หลักก็จะเริ่มเจาะหลุมระหว่างต้นพริก เพื่อหยอดปุ๋ยเคมีช่วยเสริม
ต้นกล้าพริกนับแสนต้นที่สั่งจากแหล่งที่รับเพาะกล้า สามารถนำไปปลูกได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลามาเพาะกล้าเอง

การเก็บพริกส่งโรงงาน

ก็จะนัดหมายกับโรงงานล่วงหน้า เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1-3 ครั้ง อย่างสมาชิกนำผลผลิตมาส่งที่จุดรวมสินค้า เช่น สมมติว่าสมาชิกเอาพริกมาส่ง น้ำหนักรวม 100 กิโลกรัม หลังการคัดเกรดแล้ว ก็จะมีคณะกรรมการในกลุ่มที่ทำหน้าที่จดบันทึกว่าได้เท่าไร เช่น คัดได้เกรดเอ 80 กิโลกรัม ตกเกรด 20 กิโลกรัม ก็สามารถรู้ยอดของผลผลิตที่ผ่านการคัดเกรดได้ในวันนั้น

นำมาเด็ดขั้วและคัดแยกเกรดพริก

หัวใจสำคัญในการค้าขายกับทางบริษัทคือความซื่อสัตย์เรื่องของการคัดแยกผลผลิตพริกจะต้องดี ไม่ปนหรือยัดไส้เอาของไม่ดีปนไป ถ้าตรวจสอบเจอก็จะส่งผลต่อกลุ่มเป็นอย่างมาก สินค้าก็จะเกิดปัญหา เช่น ถูกตีกลับ หรือส่งกลับมาคัดแยกใหม่แล้วกลับไปส่งใหม่ ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลาและเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงงานนั้นอยู่ที่ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ดังนั้น การคัดแยกพริกจะต้องมาคัดแยกที่จุดศูนย์รวมเท่านั้น เพื่อควบคุมคุณภาพ การคัดแยกผลผลิตดังที่กล่าวเอาไว้คือ หลังจากเด็ดขั้วพริก แบ่งเป็น 2 เกรด คือ เกรดเอ กับ ตกเกรด ก็จะถูกบรรจุลงถุงที่มีรู ถุงละ10 กิโลกรัม เพื่อขนส่งไปโรงงาน

คุณเล็ก เกตุนาค เล่าว่า พริก 1 ไร่ จะสามารถเก็บผลผลิต เฉลี่ย 4-5 ตัน โดยประมาณ แต่ก็เคยมีสมาชิกที่ทำได้ ไร่ละ 6 ตัน มาแล้ว ถ้าเป็นตัวเงินก็เฉลี่ย 60,000-100,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งจากการพูดคุยกับทางบริษัทหรือโรงงานนั้น ยังมีความต้องการพริกอีกจำนวนมาก ผลผลิตที่ปลูกส่งโรงงานนั้นยังไม่มีความเพียงพอต่อความต้องการของโรงงานที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบ เกษตรกรหรือสมาชิกในกลุ่มค่อนข้างพอใจในรายได้จากการปลูกพริกป้อนโรงงาน มีการรับซื้อที่แน่นอน ส่วนผลผลิตพริกก็ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรเองและสภาพดินฟ้าอากาศประกอบ