หลังเมล่อนขาลง ราคาตก เกษตรกรหนุ่ม จ.ฉะเชิงเทรา ปรับตัวปลูก ‘ฟักทองบัตเตอร์นัท’ พืชทางเลือก ราคาดีสวนกระแส ลงทุนครั้งแรก 12,000 บาท กำไร 40,000 บาท

หลังลาออกจากงานประจำ กลับมาช่วยครอบครัวขายวัสดุก่อสร้างที่ฉะเชิงเทรา ‘ฉัตรชัย ล้อมสุขวัฒนา’ อดีตพนักงานบริษัทเอกชนก็เริ่มสนใจเกษตร ครั้งแรกปลูกเมล่อน บนพื้นที่ 2 งาน รอบแรกขายได้ 250 ลูก ราว 400 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 48,000 บาท ต่อมาเดือนเมษายน ปี 49 เมล่อนราคาตกฮวบ ชายหนุ่มไหวตัวทันหันปลูก ‘ฟักทองบัตเตอร์นัท’ พืชทางเลือกใหม่ รูปทรงแปลกตา ปลูกง่าย รสชาติดี ทำได้หลายเมนู ลงทุนครั้งแรก 12,000 บาท กำไร 40,000 บาท

คุณฉัตรชัย ในวัย 32 ปี เล่าว่า หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำงานวางระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 2 ปี หลังจากนั้นลาออกมาช่วยกิจการครอบครัวขายวัสดุก่อสร้างที่จังหวัดฉะเชิงเทรา  ช่วงที่มีเวลาว่างเริ่มสนใจเกษตร ไปลงเรียนคอร์สไม้ผลที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ในปี 2555 ที่คุณฉัตรชัยกลับมาช่วยงานที่บ้าน เขาบอกว่า นำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยบริหารจัดการร้าน  เช่น ระบบบาร์โค้ด ระบบบิล ทำให้ร้านขายวัสดุก่อสร้างดำเนินงานง่าย โดยที่เจ้าของไม่ต้องนั่งเฝ้าร้านทั้งวัน ดังนั้นจึงมีเวลาว่างมากขึ้น

“ผมอาศัยอยู่ในอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรค่อนข้างเยอะ เลยเริ่มสนใจอาชีพนี้ ในเบื้องต้น ไปลงเรียนคอร์สไม้ผลที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรียนรู้เรื่องการทำเกษตรสมัยใหม่แบบปลอดสารพิษ ในปี 58 ปลูกเมล่อนตามกระแส ทดลองปลูกในโรงเรือน บนพื้นที่ 2 งาน ลงทุนเกือบ 60,000 บาท โดยเมล่อนที่ปลูก มี 5-6 สายพันธ์ุ  อาทิ มิชิโอะคิงส์ (เนื้อสีส้ม)  แมริเอจ ฮอกไกโด กาเลีย เฮิร์ลเรด”

ผลผลิตเมล่อนในรอบแรกที่คุณฉัตรชัยปลูก เขาใช้วิธีเปิดให้ลูกค้าจองออนไลน์ ราว 250 ลูก น้ำหนักต่อลูก 1.5 กิโลกรัม ทั้งหมดเกือบ 400 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 120 บาท เบ็ดเสร็จขายเมล่อนครั้งแรก คุณฉัตรชัย บอกว่า รายได้เกือบ 48,000 เลยทีเดียว

สถานการณ์ “เมล่อน” ในช่วงแรก คุณฉัตรชัย เผยว่า ไปได้ด้วยดี  แต่ระยะหลังพืชตระกูลแตงชนิดนี้ คนหันมาปลูกกันเยอะขึ้น ราคาเริ่มตก จากกิโลกรัมละ 120 บาท เหลือเพียง 50-60  บาท ฉะนั้นก่อนที่เมล่อนจะราคาตกไปมากกว่านี้ หาทางออกให้ตัวเองด้วยการหันมาปลูกฟักทองบัตเตอร์นัท

“ผมเพิ่มทางเลือกให้กับตัวเองด้วยการหันมาปลูก ฟักทองบัตเตอร์นัท ฟักทองชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายน้ำเต้า รสชาติคล้ายมันเทศ เนื้อเหนียว แน่นหนึบกว่าฟักทองทั่วไป เมื่อแก่จัดผิวจะสีเหลืองเข้ม มีหลายสายพันธุ์ แต่ผมเลือกปลูกสายพันธุ์ เมล็ดแท้ Hybrid F1”

ก่อนที่ชายหนุ่มจะตัดสินใจปลูกฟักทองบัตเตอร์นัท เขาลองปลูกพืชและไม้ผลหลายชนิด อาทิ มะระ แตงกวา มะเขือเทศ และฟักทองบัตเตอร์นัท ผลปรากฏว่าฟักทองบัตเตอร์นัทปลูกง่าย คุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด เพราะปลูกง่าย ปลูกได้ทุกฤดู ในช่วงฤดูฝนที่เมล่อนไม่ออกผล ฟักทองบัตเตอร์นัทก็ยังสามารถเก็บผลผลิตขายได้

ระยะเวลาปลูก ใกล้เคียงกับเมล่อน ประมาณ 70 วัน ราคาเมล็ดพันธุ์ เมล็ดละ 6 บาท 1 ต้นจะให้ผลจำนวน 3-4 กิโลกรัม ราคาขายผลฟักทองบัตเตอร์นัทอยู่ที่ กิโลกรัมละ 60 บาท

“หลังจากเพาะเมล็ดไปแล้ว 10 วัน ให้ย้ายกล้าลงถุงเพาะขนาด 8×13 นิ้ว ปลูกในวัสดุทดแทนดิน อาทิ ขุยมะพร้าว แกลบดำ ทรายหยาบ ฉีดปุ๋ยทางใบ  ปล่อยให้โตประมาณ 25 วัน จะเริ่มออกดอก และติดผลสีเหลืองนวลๆ ปลูกต่อไป 45 วัน ฟักทองจะเริ่มแก่และกินได้”

สำหรับพื้นที่ปลูก คุณฉัตรชัย ปลูก 2 โรงเรือน ขนาด 7×16 เมตร ปลูกได้ 300 ต้น   และ 7×24 เมตร ปลูกได้ 450 ต้น   ต้นทุนโรงเรือนละ 12,000 บาท

“ฟักทองบัตเตอร์นัท 1 ต้น จะให้ผลจำนวน 3-4 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 60 บาท  ยกตัวอย่างฟักทองบัตเตอร์นัท 300 ต้น จะขายได้ในราคา 54,000 บาท”

ปัจจุบันจำนวนเกษตรกรที่ปลูกฟักทองบัตเตอร์นัท ยังมีไม่มาก ขณะที่ตลาดมีความต้องการสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารเพื่อสุขภาพ โรงแรม นับว่าเป็นพืชทางเลือกอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ