ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้าน |
---|---|
ผู้เขียน | อำพน ศิริคำ |
เผยแพร่ |
ชาวบ้านพันดอน หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง มีที่ดินเป็นของตนเองน้อย รายได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับผู้จ้าง บางรายจึงเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย โดยใช้ที่ของเพื่อนบ้าน ย้ายที่เพาะไปเรื่อยๆ แต่เมื่อมีโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการเปิดโอกาสให้ชุมชนเสนอโครงการตามความต้องการ ทำให้ชาวบ้านพันดอนแห่งนี้ได้มีอาชีพที่มั่นคง ทำรายได้ในระดับน่าพอใจ
แรงบันดาลใจ
คุณสมเดช ศิริวงศ์ (ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9) โทร. (087) 214-6499 ประธานกลุ่มเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนบ้านพันดอน เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านพันดอน มีพื้นที่ทำการเกษตรเป็นของตนเอง ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประกอบอาชีพทำไร่อ้อยและนาข้าว อีกราว 65 เปอร์เซ็นต์ มีอาชีพรับจ้าง (ผู้สูงวัยเลี้ยงหลาน วัยแรงงานรับจ้างต่างจังหวัด บางส่วนรับจ้างในพื้นที่) ต่อมาเมื่อประมาณ 5 ปี ที่ผ่านมา ได้เริ่มนำเห็ดฟางแบบกองเตี้ยมาเพาะในหมู่บ้าน จึงมีชาวบ้านให้ความสนใจเพาะ เนื่องจากอายุสั้น ให้ผลผลิตเร็ว ประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ทำเงินได้แล้ว แต่มีปัญหาคือ การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ต้องย้ายที่ใหม่ไปเรื่อยๆ เนื่องจากหากใช้ที่เดิมจะเกิดโรค ผลผลิตไม่ดี ประกอบกับชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ บางรายไปขอใช้ที่ของคนอื่นเพาะ
เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส จากรับจ้าง เป็นเจ้าของกิจการ
ดังนั้น เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน จึงได้จัดประชาคมหมู่บ้านและได้เสนอโครงการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน โดยใช้ที่โรงเรียนเก่าของหมู่บ้านเป็นสถานที่ดำเนินการ สมาชิก 42 ราย โดยใช้พื้นที่จำกัดและที่สำคัญเพาะได้ตลอดปี โดยไม่ต้องย้ายที่ใหม่ไปเรื่อยๆ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา งบประมาณ 500,000 บาท ค่าแรง 250,000 บาท (ไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์) ค่าวัสดุ 244,900 บาท
การสร้างโรงเรือน
- ขนาด กว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร สูง 4 เมตร หลังคาทรงหน้าจั่ว โครงหลังคาทำด้วยไม้ไผ่ มัดด้วยเศษผ้าเก่า (ไม่ใช้ตะปู)
- ภายในโรงเรือนสร้างชั้นเพาะเห็ด ขนาด กว้าง 1.30-1.50 เมตร 3 ชั้น แต่ละชั้นห่างกัน 60-70 เซนติเมตร จำนวน 2 แถว(ซ้าย-ขวา) มีทางเดินตรงกลาง แต่ละชั้นปูด้วยไม้ไผ่ จากนั้นนำซาแรนหรือมุ้งเขียวมาปูทับอีกชั้นหนึ่ง (เพื่อไม่ให้วัสดุเพาะร่วงหล่น)
- หลังคาและภายในโรงเรือนบุด้วยผ้าพลาสติก ด้านนอกล้อมด้วยซาแรน
- ติดเครื่องวัดอุณหภูมิไว้ภายในโรงเรือน เพื่อควบคุมให้เหมาะสมต่อการออกดอก
ส่วนผสมและวัสดุเพาะ (ต่อ 1 โรงเรือน)
- เปลือกมันสำปะหลัง 4 ตัน
- ปุ๋ยคอก (มูลวัว มูลควาย) 12 กระสอบ (กระสอบละ 25-30 กิโลกรัม)
- มูลหมู 2 กระสอบ
- รำอ่อน 50 กิโลกรัม
- หัวเชื้อเห็ดฟาง 36 ก้อน (36 กิโลกรัม)
ขั้นตอนการเพาะ
- นำส่วนผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปวางบนชั้นในโรงเรือน ความหนา ประมาณ 8 เซนติเมตร
- อบฆ่าเชื้อด้วยเตาอบไอน้ำ โดยจุดไฟที่เตา จะเกิดไอน้ำ ที่ต่อท่อไปยังโรงเรือน ที่อุณหภูมิ 65-70 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อฆ่าเชื้อที่อยู่ในโรงเรือนและวัสดุเพาะ ทิ้งไว้ 1 คืน
- เปิดโรงเรือนระบายอากาศออก (เปิดประตูหน้า และประตูหลัง) ประมาณ 2 ชั่วโมง
- เมื่อเย็นแล้ว นำเชื้อเห็ดมาขยำให้ละเอียด นำไปโรยบริเวณผิวหน้าของวัสดุเพาะให้กระจายสม่ำเสมอ (หัวเชื้อ 6 ก้อน/ชั้น)
- รดน้ำให้เปียก โดยใช้ฝักบัว แล้วปิดโรงเรือน
- ปล่อยทิ้งไว้ 2 วัน 2 คืน เชื้อจะเริ่มสร้างเส้นใย เมื่อเริ่มออกสีเหลืองเล็กน้อยให้รดน้ำจนเปียก หรือเรียกระยะนี้ว่า ระยะตัดเชื้อ แล้วปิดโรงเรือน
- ปล่อยทิ้งไว้อีก 2 คืน จะเริ่มเห็นดอกเห็ด แต่ยังไม่โต รออีก 1-2 วัน จะเริ่มเก็บเห็ดได้ ทั้งนี้ จะต้องรักษาอุณหภูมิให้ได้ประมาณ 32 องศาเซลเซียส
จะเก็บดอกเห็ดได้หลังเพาะ 7 วัน และเก็บต่อเนื่องอีกประมาณ 7 วัน โดยใช้เวลาในการเพาะแต่ละรุ่น ประมาณ 15 วัน หรือเดือนละ 2 รุ่น เก็บผลผลิตช่วงเช้ามืด วันละ 50 กิโลกรัม/โรงเรือน โดยเฉลี่ย 1 โรงเรือน จะได้ผลผลิตรวมประมาณ 350 กิโลกรัม
ตลาดต้องการสูง
มีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ ในราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 55 บาท รับจำนวนมาก ไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยแม่ค้ารายนี้ยังกระจายให้แม่ค้ารายย่อยในจังหวัด ต่างจังหวัดหลายรายและบางส่วนส่งออกไป สปป. ลาว ด้วย มีรายได้ ประมาณ 19,000-20,000 บาท/โรงเรือน/รุ่น โดยกลุ่มมีโรงเรือน จำนวน 4 โรง หรือสามารถทำรายได้ประมาณ 160,000 บาท/เดือน
“ในด้านการผลิต กลุ่มได้ทดลองนำผักตบชวาซึ่งเป็นวัชพืชน้ำ มาเป็นส่วนผสมของวัสดุเพาะ ปรากฏว่า ทำให้ดอกเห็ดโตมาก ได้น้ำหนักมาก และยังลดต้นทุนอีกด้วย”
ความยั่งยืน หรือการต่อยอดโครงการ
- กลุ่มสามารถเพาะเห็ดฟางป้อนตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดปี ทำให้มีงานทำ มีรายได้ต่อเนื่อง
- รายได้จากการจำหน่ายเห็ด จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นต้นทุนค่าวัสดุในการเพาะ ส่วนที่ 2 หักเข้ากลุ่ม ส่วนที่ 3 ปันผลค่าแรงงานให้กับสมาชิก
- สมาชิกบางรายเริ่มเห็นช่องทางเพิ่มรายได้ จึงลงทุนสร้างโรงเรือนในที่ของตนเอง (ที่อาศัย) ขณะนี้มีประมาณ 20 ราย ซึ่งทำให้สมาชิกมีงานทำตลอดปี มีอาชีพที่มั่นคงมากขึ้น
คุณชนะ ไชยฮ้อย เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จังหวัดหนองบัวลำภู ได้ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
- เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ด้วยการน้อมนำหลักการทฤษฎีใหม่ และแนวทางแก้ปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน
- เพื่อให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาภาคการเกษตรของชุมชนมีส่วนร่วมแบบประชารัฐอย่างยั่งยืน
โดยจังหวัดหนองบัวลำภู ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ 74 ชุมชน ชุมชนละ 2 ล้าน 5 แสนบาท แต่ละชุมชนจะทำ 1 โครงการ หรือมากกว่าก็ได้ แต่ละโครงการต้องเป็นค่าจ้างแรงงานไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือเป็นค่าวัสดุ มีกลุ่มเสนอโครงการ 118 โครงการ เงิน 185 ล้านบาท ดำเนินการเบิกจ่ายเงินตามโครงการเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จากนั้นทำให้เกิดกองทุนและดำเนินการเพื่อให้เกิดอาชีพอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการดำเนินการขณะนี้ได้สร้างอาชีพที่มั่นคง รวมทั้งขยายผลแก่เกษตรกรรายอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้มีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้น
จะเห็นว่า โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ได้ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาสดีๆ ให้กับผู้ที่ขาดโอกาส เกิดกลุ่มที่เข้มแข็ง เกิดความยั่งยืน และจะเป็นย่างก้าวที่สำคัญที่จะนำพาเกษตรกรไปสู่การเกษตร 4.0