“ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ” ทดแทนการเพาะในโอ่งดิน สะดวก ป้องกันการติดเชื้อจากศัตรูเห็ดได้

จากการศึกษาข้อมูลและวิจัยกรรมวิธีการเพาะเห็ดให้ได้ผลผลิตที่ดีแก่ผู้เพาะปลูก โดย อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย ได้เริ่มต้นการวิจัยจากการเพาะเห็ดในโอ่ง ตามวิถีของชาวบ้านจากแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

แต่การเพาะเห็ดนั้น จะต้องดูแลรดน้ำให้เห็ด 3-4 ครั้ง ต่อวัน และการเพาะเห็ดในโอ่งนั้น สามารถเพาะได้เพียง 20-40 ก้อน ต่อโอ่ง

จากการลงพื้นที่ชุมชน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบบ้านควนเสม็ด หมู่ที่ 10 ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ทางชุมชนมีความต้องการส่งเสริมให้การเพาะเห็ดเป็นอาชีพของคนในชุมชน จึงได้สร้างตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ ทดแทนการเพาะในโอ่งดิน โดยออกแบบระบบโรงเรือนเพาะเห็ดให้มีขนาดเล็ก แต่สามารถบรรจุก้อนเห็ดได้ถึง 140 ก้อน ออกแบบการจัดเรียงเห็ดให้หันปากถุงเข้าหากันในรูปตัวยู (U-Shape) ซึ่งตู้เพาะเห็ดประกอบด้วยโครงตู้เพาะเห็ด ที่สามารถถอดประกอบได้

หลังคาตู้เพาะเห็ดที่สามารถเปิดออกได้ โดยด้านบนมีฉนวนกันความร้อนทำจากวัสดุพลาสติก หนาไม่น้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ปิดทับอยู่ มีกล่องควบคุมอัตโนมัติ ควบคุมชุดรดน้ำ ซึ่งมีเซ็นเซอร์ใช้วัดอุณหภูมิและความชื้นติดอยู่ด้านหลังตัวเครื่อง เพื่อใช้ตรวจจับค่าความชื้นและอุณหภูมิภายในตู้ และกล่องควบคุมอัตโนมัติ

ผนังตู้เพาะเห็ด ทำจากวัสดุพลาสติกกันความร้อนและความชื้น หนาไม่น้อยกว่า 10 มิลลิเมตร อยู่ภายใน และสามารถถอดมาทำความสะอาดได้ง่าย สะดวกในการติดตั้ง เพราะสามารถถอดประกอบและเคลื่อนย้ายได้ง่ายส่งผลดีต่อการเปลี่ยนที่เพาะเห็ดได้ตามต้องการ ไม่ต้องเสียเวลาพักโรงเรือนเพาะเห็ดแบบเดิม ช่วยป้องกันการติดเชื้อจากศัตรูเห็ด เช่น ราดำ ราเขียว เป็นต้น

โดยระบบดังกล่าวสามารถควบคุมอุณหภูมิและการรดน้ำภายในโรงเพาะเห็ดขนาดเล็กแบบอัตโนมัติได้

ระบบสามารถควบคุมการเปิด/ปิดการรดน้ำและระบายความร้อนแบบอัตโนมัติ ประหยัดพลังงานและปริมาณการรดน้ำ

สาเหตุที่ต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 27-32 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงที่เห็ดต้องการในการเจริญเติบโต ซึ่งมีความจำเป็น

ถ้าอุณหภูมิภายในโรงเพาะเห็ด ไม่เป็นไปตามทฤษฎีการเพาะเห็ด ส่งผลให้เห็ดไม่สามารถเจริญเติบโตออกมาได้อย่างมีคุณภาพ และจะเป็นการชะลอการเกิดของดอกเห็ด ส่งผลต่อรายได้ของผู้เพาะเห็ด จึงเป็นที่มาของตู้เพาะเห็ดขนาดเล็ก เพื่อใช้แก้ปัญหาดังกล่าว

อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ

โดยล่าสุดผลงาน “ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2560 จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิบัวหลวง ได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท พร้อมโล่เชิดชูเกียรติ โดยมีพิธีมอบรางวัลจาก ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในงานมหกรรม “Thai Tech EXPO 2017” เมื่อ วันที่ 20 กันยายน 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ และผลงานดังกล่าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย โดย ผศ. ยงยุทธ หนูเนียม รักษาราชการแทนอธิการบดี ส่งมอบตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ จำนวน 5 ตู้ ให้ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ภายในงานตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 2 “วิจัยขายได้” ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2560 ณ อาคารไปรษณีย์กลางและศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ บางรัก กรุงเทพฯ เพื่อมอบต่อไปยัง นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู นำไปพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนภายในจังหวัด

ทั้งนี้ การมอบตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย กับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อนำผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งผลงานดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนอาชีพและยกระดับชุมชนให้มีความเข้มแข็งด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ตามนโยบายของรัฐบาล ขับเคลื่อนประเทศ Thailand 4.0 ซึ่งเกษตรกรหรือผู้สนใจ ต้องการ “ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ”

สามารถสอบถามข้อมูล และสั่งซื้อได้ที่ อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย โทร. (074) 317-162-3