คุณหมู ต้นแบบ Young Smart Farmer จังหวัดสงขลา แบ่งพื้นที่ทำเกษตรแบบใหม่ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่คนหนุ่ม-สาว หันมาสนใจทำเกษตรกรรม ด้วยการนำความรู้ด้านบริหาร เทคโนโลยี รวมถึงแนวคิดการตลาดมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้กิจกรรมการเกษตรเกิดความก้าวหน้าทันยุคสมัย เสมือนหนึ่งเป็นฟันเฟืองรุ่นใหม่ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการเกษตรของประเทศให้รุ่งโรจน์ในอนาคต จนได้รับการขนานนามว่า Young Smart Farmer

ปัจจุบันนโยบายภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมการก้าวเข้ามาเป็น Young Smart Farmer ของคนรุ่นใหม่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีกระบวนการคัดเลือกเกษตรกรรุ่นใหม่ของแต่ละจังหวัด เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในทุกระดับของจังหวัด แล้วขยายผลไปทั่วประเทศ ภายใต้หลักคิด Young Smart Farmer เป็นผู้นำทางการเกษตรสมัยใหม่ พึ่งพาตนเองได้และเป็นที่พึ่งแก่เพื่อนเกษตรกร

คุณกรวิชญ์ มาระเสนา

คุณกรวิชญ์ มาระเสนา หรือ คุณหมู เป็นอีกหนึ่งของ Young Smart Farmer จังหวัดสงขลา ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ขณะเดียวกัน ยังได้ใช้ความรู้ ความมีทักษะ ถ่ายทอดให้แก่เพื่อนสมาชิกเพื่อเป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจต่อความมุ่งหวังกิจกรรมเกษตรของแต่ละคน

แต่กว่าชายผู้นี้จะก้าวมาสู่แถวหน้าของ Young Smart Farmer เขากลับต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในฐานะเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

เดิมคุณหมูยึดอาชีพเป็นวิศวกรโยธา แต่แล้วพบว่าเวลาทั้งหมดอยู่กับงานประจำจนแทบจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง กระทั่งละเลยครอบครัวพ่อ-แม่ ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง จากนั้นจึงตัดสินใจลาออกแล้วเบนเข็มชีวิตสู่การเป็นเกษตรกร แต่ในระยะแรกยังค้นหาตัวตนไม่เจอ เพียงแต่คิดว่าควรจะทำอาชีพเกษตรกรรมที่ต่างจากคนอื่นเพื่อสร้างความน่าสนใจ จึงได้ลองศึกษาหาความรู้ในเรื่องการปลูกผักไฮโดรโปนิกเมื่อกว่าสิบปีที่ผ่านมา

โรงเรือนผักไฮโดรที่เพิ่งเก็บผลผลิตขาย

การปลูกผักไฮโดรโปนิกของคุณหมูใช้หลักคิดโดยการใช้ตลาดนำ ด้วยการมองหาความต้องการของลูกค้าว่าชอบผักประเภทไหนมากที่สุด แล้วจึงปลูกผักชนิดนั้นเป็นอย่างแรก แล้วจึงตามด้วยผักชนิดอื่นรองลงมาตามความต้องการ ในที่สุดแนวทางเช่นนั้นก็ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมจนทำให้จากเดิมที่มีโรงเรือนเพียงหลังเดียวทำให้ต้องขยายออกไปกว่า 40 โรงเรือนจนทุกวันนี้

ผักไฮโดรโปนิกที่คุณหมูปลูกมีจุดเด่นตรงรสชาติผักหวานและกรอบ อันเป็นผลมาจากที่ไม่ได้เน้นใส่ปุ๋ย แต่กลับปลูกแบบธรรมชาติด้วยการผสมผสานผักไฮโดรโปนิกคู่กับผักไทยในโรงเรือนเดียวกัน ซึ่งแนวทางนี้ช่วยทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตแบบเกื้อกูลกัน แล้วนำมาด้วยการช่วยลดต้นทุนทั้งค่าปุ๋ยและอาหารเสริม ขณะเดียวกัน ได้ใช้ความรู้จากวิชาชีพวิศวกรด้วยการออกแบบโรงเรือนให้มีความประหยัด จากราคาทั่วไปหลักหมื่นกว่าบาท ลดลงเหลือเพียง 4,000 กว่าบาทเท่านั้น

คุณหมูได้วางแผนขายผักไฮโดรโปนิกด้วยการกำหนดว่าในแต่ละสัปดาห์จะต้องขายผักที่มีอยู่ในจำนวน 4 โรงเรือนให้หมด จากนั้นในสัปดาห์ต่อไปก็จะต้องขายผักในอีก 4 โรงเรือนให้หมด แล้วจะใช้แนวทางนี้สลับหมุนเวียนไปตลอด เพื่อให้ลูกค้าได้บริโภคผักใหม่ สด ทั้งนี้ นำผักขายทั้งในตลาดเกษตรอินทรีย์ และขายผ่านออนไลน์ซึ่งได้ผลดีมาก

ปลูกพืชผสมผสานเกื้อกูลกัน

ขณะเดียวกัน ยังวางแผนการตลาดโดยไม่เน้นกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปอย่างเดียว แต่เพิ่มเจาะเฉพาะกลุ่มข้าราชการ โดยยึดหลักการดำรงชีพว่าข้าราชการจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าได้มีโอกาสบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย ดังนั้น จึงนำผักไปสัญจรขายยังหน่วยงานราชการหลายแห่ง แล้วก็ได้รับความนิยมอย่างสูงไม่แพ้กัน

ต่อมาเมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Yong Smart Farmer (YSF) ของทางกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็น ประธานกลุ่ม YSF ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้เขาสามารถบ่มเพาะทักษะ แนวคิด ตลอดจนใช้ความรู้ด้านวิศวกรโยธาเพื่อนำมาผสมผสานร่วมกัน

กระทั่งเกิดการตกผลึกเป็นหัวข้อหลักสำคัญแล้วนำมาถ่ายทอดให้แก่สมาชิก ได้แก่ 1. การบริหารคนเพื่อให้เกิดจรรยาบรรณ และมีคุณภาพ มีคุณธรรม มีความสามัคคี 2. สร้างแนวคิดเพื่อให้บริหารจัดการพื้นที่ของตัวเองด้วยการกำหนดให้ทุกคนฝึกการออกแบบพร้อมกับเขียนแผนผังการทำเกษตรกรรมของตัวเอง 3. การสร้างแนวคิดว่าควรจะเพิ่มผลผลิตของตัวเองเพื่อให้เกิดคุณภาพ มาตรฐานได้อย่างไร?? และ 4. การบริหารจัดการด้านตลาดซึ่งในปัจจุบันทางกลุ่มได้จับมือกับทางห้างเซ็นทรัลเพื่อนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายเพื่อสร้างโอกาสและสร้างขวัญกำลังใจให้เพิ่มขึ้นตามมา

“ฉะนั้น หัวข้อหลักทั้งหมดจึงเป็นการปูพื้นฐานที่เข้มแข็งให้แก่สมาชิกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม แนวคิดเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาในเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มาเป็นหลักที่สอนให้รู้ว่าควรจะเรียนรู้จากล่างสู่บน มิใช่จากบนลงล่าง ปัจจุบัน YSF ของจังหวัดสงขลามีจำนวน 60 คน”

ภายในพื้นที่ 3 ไร่ คุณหมูจึงแบ่งออกเป็นการสร้างโรงเรือนผักไฮโดรโปนิก การสร้างแปลงโมเดลสวนเกษตรผสมผสาน และบริเวณที่สำหรับปลูกและเพาะต้นกล้าพืช

ต้นเบิร์ดเลิฟ ขายกระถางละ 500 บาท เป็นพันธุ์ไม้ประดับ เปลี่ยนจากใส่กระถางมาใส่ตะกร้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

สำหรับแปลงโมเดลสวนเกษตรผสมผสานที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ ได้มีการกำหนดพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปศุสัตว์ ประมง พืชผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ผล โดยใช้หลักประโยชน์ที่เกื้อกูลกัน อันนำมาซึ่งการลดต้นทุน ทั้งนี้ บริเวณรอบบ่อจะปลูกผักหลายชนิด พร้อมกับมีการสร้างราวกันตกบ่อด้วยการปลูกต้นมะเขือเทศไว้ แล้วทั้งหมดเน้นการดูแลและบำรุงด้วยระบบอินทรีย์จากใช้การหมักปุ๋ยและสารชีวภาพ ตลอดจนมีการทำฮอร์โมนฉีดพ่น

อย่างไรก็ตาม โมเดลแห่งนี้จึงกำหนดให้เป็นจุดสอนและถ่ายทอดองค์ความรู้ จาก Young Smart Farmer ที่มีความสามารถในแต่ละกิจกรรมการเกษตรสาขาต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ในจังหวัดสงขลา ขณะเดียวกัน ได้จัดให้เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ภาคใต้ตอนล่าง ของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมการส่งเสริมการเกษตร

ด้วยความมุ่งมั่น ใส่ใจ ตลอดจนทุ่มเทกำลังกายและใจกับกิจกรรมต่างๆ ของ Young Smart Farmer ในระดับจังหวัด อีกทั้งยังคอยประสานงานช่วยเหลือเครือข่ายอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย จึงทำให้ในปัจจุบันคุณหมู ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง, ประธาน YSF จังหวัดสงขลา ตลอดจนเป็นผู้ประสานงาน YSF THAILAND, รองประธาน YSF เขต 5 (7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง) แล้วในโอกาสเดียวกันนี้ได้พูดคุยกับผู้แทน YSF จังหวัดสงขลา พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในโครงการนี้

อย่างท่านแรก คุณปัญชลี สุขวิไล นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาเกษตรที่ 5 สงขลา กล่าวว่า บทบาทจะให้การสนับสนุนและชี้แนะ ตลอดจนจัดให้มีการฝึกอบรมในทุกด้าน พร้อมไปกับการทำงานควบคู่กับเครือข่ายระดับจังหวัด ขณะที่ในแต่ละจังหวัดมารวมกันเป็นระดับเขต

คุณนันทกานต์ แก้วเนียม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรสงขลา บอกว่า สำหรับ YSF ของจังหวัดสงขลามีการประสานงานกันในทุกอำเภอเพื่อให้มีการคัดเลือกในแต่ละอำเภอขึ้นมาถึงจังหวัด แล้วทางจังหวัดจะพิจารณาคัดเลือกจากผู้มีคุณสมบัติและความสามารถให้ขึ้นเป็นตัวแทนระดับจังหวัด ทั้งนี้ YSF ระดับจังหวัดสงขลามีด้วยกันทั้งหมด 4 รุ่นแล้ว

คุณธนกฤต แสงจันทร์ ทำเกษตรผสมผสาน เป็น YSF ทางด้านกสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ ในพื้นที่ 7 ไร่ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเคยอบรมหลักสูตร 1 ไร่ 1 แสนมาแล้ว โดยเป็นการเน้นในเรื่องจุลินทรีย์อะตอมมิก ดังนั้น จึงนำมาใช้ต่อยอดในแปลงนา สำหรับการได้เป็น YSF จะช่วยเสริมสร้างความรู้ในหลายด้าน อีกทั้งยังได้มีโอกาสช่วยเหลือแบ่งปันระหว่างเพื่อนสมาชิกด้วยกัน ขณะเดียวกัน ยังได้เรียนรู้วิธีบริหารจัดการตลอดถึงการตลาด จึงอยากจะบอกว่าการทำเกษตรกรรมชนิดใดก็แล้วแต่ ตัวเองควรต้องรู้ก่อนว่าถนัดอะไร อย่าไปทำแบบคนอื่นที่เราไม่ถนัด

คุณวีระชาติ ยืนบุรี จากบ้านยืนบุรีฟาร์มเห็ด บอกว่า สำหรับตัวเองถนัดการเพาะเลี้ยงเห็ดเป็นอาชีพโดยเริ่มตั้งแต่การเขี่ยเชื้อ ทำก้อน เปิดดอก และแปรรูป จากนั้นจะดำเนินการนำไปขายเอง สำหรับเห็ดที่ทำอยู่ ได้แก่ นางฟ้า นางรม เป๋าฮื้อ หลินจือ และหูหนู ส่วนแปรรูป ได้แก่ ข้าวเกรียบเห็ด น้ำเห็ดสามอย่าง เฉาก๋วยเห็ดหูหนู และล่าสุดเป็นวุ้นกรอบเห็ดหูหนู

วุ้นกรอบเห็ด

ทำมาได้ประมาณ 5 ปี มีโรงเรือนทั้งหมดจำนวน 8 โรง แต่ละโรงผลิตเห็ดได้จำนวนหลังละ 2,000 ก้อน นำไปขายในเมือง แต่ภายหลังที่ได้เข้ามาร่วมในโครงการ YSF แล้วเริ่มมีตลาดมากขึ้น หลากหลายขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำไปขายตลาดระดับบนเกรดพรีเมี่ยมในห้างดังได้เพราะมีใบรับรองแล้ว

ข้อดีภายหลังการได้รับการคัดเลือกเป็น YSF คือทำให้เปิดกว้างในสังคมอื่นๆ เพราะ YSF ถือเป็นสังคมที่มีการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันอย่างชัดเจน เพราะแต่ละคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมปราศจากการเป็นคู่แข่งทางการค้า แต่กลับจะช่วยกันผลักดันเพื่อให้ทุกคนก้าวไปพร้อมกัน

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีความรู้ด้านการตลาดเพิ่มมากขึ้น เข้าใจกลไกตลาดมากขึ้น จะเก่งแต่ผลิตอย่างเดียวโดยไม่เข้าใจตลาดคงไม่ได้ เพราะเมื่อรู้ความต้องการของตลาดแล้วสินค้าก็ขายได้ทันที ไม่ต้องเก็บไว้ให้เสียหาย สำหรับในอนาคตกำลังมองในเรื่องเห็ดเป็นยา ตัวอย่างที่เห็นชัดคือเห็ดถั่งเช่าและเห็ดหลินจือ

คุณธนู จุลมณีโชติ จากไร่ดำรงกิจ มีกิจกรรมทำไร่นาสวนผสม บอกว่า สำหรับตัวเองมีกิจกรรมประเภทไร่นาสวนผสมในชื่อ ไร่ดำรงกิจ เริ่มมาได้สัก 5 ปี อันเป็นผลมาจากวิกฤติราคายางพาราตกต่ำ กิจกรรมด้านเกษตรที่ทำอยู่จะน้อมนำหลักปรัชญาในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ไร่นาสวนผสมของไร่ดำรงกิจประกอบไปด้วย การปลูกกล้วย มะนาว มะม่วง ชะอม และทำนาข้าวสังข์หยด รวมถึงการแปรรูปข้าวด้วย โดยมีพื้นที่ทำสวนจำนวน 11 ไร่ ทำนาจำนวน 13 ไร่ และสมาชิกในครอบครัวช่วยกันทำกิจกรรมเกษตรทั้งหมดเป็นหลัก

ไก่ดำภูพาน,ไก่โคลลอน,ไก่อินโด
กุ้งก้ามแดงในตะกร้าเลี้ยงแบบเกื้อกูลกัน โดยกุ้งกินขี้ปลาเป็นอาหาร

สำหรับจุดแข็งของไร่นาสวนผสมจะเกิดจากความหลากหลายโดยไม่ได้เน้นการทำแบบธุรกิจ แต่ต้องการอยู่อย่างพอเพียงตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้รายได้จะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเมื่อคราวที่ทำธุรกิจยางพารา พอใจกับรายรับที่ได้ แต่สิ่งที่ได้รับมากกว่าคือความสุขและสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ไม่ได้เกิดความเครียด พร้อมกับมีความอบอุ่นกับครอบครัว

สอบถามข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ของ Young Smart Farmer สงขลา ได้ที่ คุณกรวิชญ์ มาระเสนา โทรศัพท์ (081) 599-1745 และติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมที่น่าสนใจได้ใน fb.korawit marasena