ไม้ดัดโบราณ ไม้ประดับทรงคุณค่า ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

วัดคลองเตยใน ได้นำไม้ดัดโบราณประดับในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

พระราชสิทธิสุนทร เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน ได้เล่าถึงการปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา หรือหากพูดกันในภาษาไม้ดัด คือการ “เล่น” นั่นเอง

การเล่นไม้ดัดไทย หรือไม้ดัดตามตำราของไทยนั้น มีการเล่นมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ นิยมเล่นกันตามบ้านขุนนาง ข้าราชการ หรือตามวัดวาอาราม มักนิยมปลูกไว้ในกระถางลายครามประดับตามบ้านเรือน ทำกันเรื่อยมา โดยยังไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เพียงเห็นว่าสวยงามก็นำไปใส่กระถางแล้วตั้งประดับ นานวันเข้าจึงมีการคิดรูปแบบตำรับตำราขึ้น จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เข้าใจว่ามีการเล่นไม้ดัดอย่างแพร่หลาย จึงได้ทำโครงไม้ดัดไว้เป็นตำรา ลักษณะของไม้ดัดไทยตามตำรามีอยู่ 9 ชนิด

พระราชสิทธิสุนทร เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน

ไม้ดัดโบราณถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทยโดยเฉพาะ มีตำราอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ และอีกอย่างเป็นไม้ที่ไม่เหมือนต่างชาติทำ เป็นไม้เอกลักษณ์ของไทยมีรูปแบบเฉพาะ กำหนดชื่อไว้แต่ละชื่อทำได้หลายอย่าง เป็นไม้ที่คนทำ ไม่ได้เป็นไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

พระราชสิทธิสุนทร เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน กล่าวว่า ตามประวัติวัดคลองเตยในถูกสร้างมาตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มีอายุประมาณกว่า 200 ปี เป็นวัดประจำท้องถิ่นแถบคลองเตย

วัดคลองเตยในเริ่มมีการเล่นไม้ดัดโบราณก่อนที่ท่านจะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่นี่แล้ว พอดีจังหวะช่วงนั้นขาดตอน เพราะขาดคนทำ ขาดผู้รู้ ท่านเห็นว่าของสวยงามหายากกำลังจะหมดไปจึงเริ่มศึกษา อ่านตำรา ถามผู้หลักผู้ใหญ่ และได้ไปเห็นรูปแบบตามวัดวาอารามต่างๆ จึงเกิดแรงบันดาลใจทำไม้ดัดมาจนถึงทุกวันนี้

ความยากง่ายของการดัดไม้โบราณไม่ยากอย่างที่คิด ถ้ารู้จักการทำ รู้วิธีการก็ไม่ยาก ก็เหมือนเราปลูกต้นไม้ธรรมดา ตัดแต่งกิ่ง เมื่อแตกกิ่งแทนที่เราจะตัดทิ้งไปเราก็ดึงนิดหนึ่ง ดึงไปตามรูปแบบ คนทั่วไปทำได้ ถ้าเกิดมีความสนใจทำได้ทุกคน อย่าไปคิดว่าทำยาก ถ้าเรารู้รูปแบบยิ่งทำง่ายเข้าไปใหญ่ อย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่า ก.ไก่ เขียนอย่างไร ก็ทำตามนั้น

วิธีทำไม้ดัดไทย

จะมีขั้นตอนยากมากกว่าการทำไม้ดัดญี่ปุ่นสักหน่อย เพราะการทำไม้ดัดไทยไม่แต่เพียงปลูกไม้ขึ้นมาแล้วเอาลวดพันอย่างญี่ปุ่นเท่านั้น แต่การทำจะต้องตัดลำต้นและกระโดง คือส่วนที่แตกออกจากลำต้น มีใบรอบๆ และมีแขนงด้วยส่วนที่แตกตรงรอยตัด แล้วบังคับกระโดงให้หันไปทางที่ต้องการและปิดทับรอยแผลที่ดัดจนปิดสนิท เรียกว่า “ปิดขม่อม” จะต้องมีการดัดและเลี้ยงกระโดงทุกครั้งในแต่ละท่อนของลำต้น และจะต้องเลี้ยงกิ่งออกจากต้น เมื่อกิ่งใดเลี้ยงได้ขนาดพอความต้องการก็จะต้องตัดและเลี้ยงกระโดงอีกเพื่อทำเป็นกิ่งแยก เมื่อเลี้ยงกิ่งแยกจนโตได้ที่แล้วก็ตัดกิ่งแยกออกเพื่อทำต่อ เรียกว่า ไม้วิชา ไม้ชนิดนี้ทำยาก และสวยงามมาก ถือเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลานได้เป็นอย่างดี ไม้ที่นิยมนำมาดัดสมัยโบราณจะเป็นไม้ขนาดกลาง อย่าง ต้นตะโก ข่อย โมก ชาฮกเกี้ยน มะขาม

ลักษณะของไม้ดัดไทย มีอยู่ 9 ชนิด ดังนี้

ไม้ขบวน…ควรเป็นต้นตรงหรือต้นคดเล็กน้อยก็ตาม หากจะดัดต้องทำความเข้าใจ และรู้ว่าตรงไหนคือต้น ตรงไหนคือเรือน ให้ทำเรือนจากต้นขึ้นไป คล้ายๆ ว่าทำเรือนให้วนขึ้นไป จะวนซ้ายวนขวาก็ได้ รูปทรงสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมก็ได้ ให้มีกิ่งออกข้างๆ 5 หรือ 7 กิ่ง ก็แล้วแต่ จัดช่องไฟให้สวยงาม ช่องไฟส่วนใหญ่มักเป็นเลขคี่ 5, 7, 9 คือทำเป็นไม้สองชั้น ตัวอย่างเช่น ชั้นที่ 1 ซ้ายช่อนึง ขวาช่อนึง แล้วชั้นที่ 2 สับหว่างอย่างละช่อ ยอดที่ 1 เป็นยอดที่ 5

ไม้ขบวน

ไม้ฉาก…มี 2 แบบ แบบที่ 1 เรียกว่าการดัดไม้ให้เป็นฉาก 90 องศา หรือ 30 องศา แต่ส่วนใหญ่จะทำ 90 องศา ตั้งฉาก อีกฉากหนึ่งเรียกว่าไม้ประดับฉาก คือสมัยโบราณมีโรงงิ้ว โรงละคร เขาก็ปลูกใส่กระถาง เหมาะสำหรับนำไปตั้งประดับฉากเป็นไม้แบนๆ

ไม้ฉาก

ไม้หกเหียน…คือจะต้องหักหุ่นให้ลงดินอย่างคนหกคะเมน คือหกหัวลงแล้วเหียน คือหันไปจะเป็นรอบต้นก็ได้ แล้วกลับตั้งหุ่นขึ้นก่อนที่จะเข้ายอด คือกลับเอาหัวขึ้นให้ตรงกับคำว่าหกแล้วเหียน ทำเรือนขึ้นไป 2-3 ต้น และหกลงมาครึ่งต้น แล้วเหียนขึ้นให้มียอด ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดในโคลงตอนหนึ่งว่า กิ่งสิบเอ็ด คาดคั้น คิดไม้หกเหียน แปลว่าต้องมี 11 กิ่ง ถึงจะทำได้ คือชั้นละ 4 สองชั้น และยอดอีก 3 เป็น 11 ไม้ชนิดนี้โบราณให้คำจำกัดความว่า “นานสูญ” เพราะทำยาก

ไม้หกเหียน

ไม้เขน…คำจำกัดความคือเหมือนกับโขนเต้นเขน เปรียบเสมือนตัวละครลิง ยักษ์ ในวรรณคดี มีท่าทางหกคะเมนตีลังกา อย่างท่าเต้นเขนที่เรียกว่า 3 ท่าสลึง ไม่ควรทำกิ่งให้ซ้ำกันหรือไปในทางเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น หัว 1 ช่อ มือซ้ายขวาอย่างละช่อ เปรียบเหมือนท่าทาง

ไม้เขน

ไม้ป่าค่อม…อาจเป็นต้นตรงหรือคดงอ และหุ่นตรงตลอดยอด หรือเป็นต้นส่วนหนึ่งหุ่นอีกส่วนหนึ่งเวียนวกไปพอที่จะทำกิ่งได้สะดวกก็ใช้ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่กิ่ง คือจะต้องมีกิ่งรอบหุ่นเป็นพุ่มกลม จัดช่องไฟให้งดงามเป็นทรงพุ่ม คือกิ่งรอบตัวต้นเตี้ยมีปริมณฑลของกิ่งดุจดอกพิกุล

ไม้ป่าค่อม

ไม้ญี่ปุ่น…ไม่มีระเบียบอย่างใดปล่อยไปตามธรรมชาติ เหมือนต้นไม้ในป่าของเรา ดัดตามความสวยงาม ไม่มีระเบียบ โดยมากกิ่งควรกระจายให้เข้ารูปเรือนป่าอย่างไม้ธรรมชาติ เห็นแบบไหนก็ตัดแบบนั้น ดังนั้นก็น่าจะเข้าประเภทไม้ญี่ปุ่นได้มาก

ไม้ญี่ปุ่น

ไม้กำมะลอ…มีลักษณะคล้ายไม้หกเหียน แต่ยอดไม่เลยสูงขึ้นไป ยอดต้องต่ำกว่าเรือน เป็นไม้ที่ไม่ใช่ของจริง ต้นไม้จริงตามธรรมดาทั่วไปยอดจะต้องชี้ฟ้า ส่วนไม้กำมะลอนั้นตรงกันข้ามไม่เหมือนไม้จริงคือยอดลงดิน สมกับคำที่ว่ากำมะลอ คือไม่ใช่ของจริง ส่วนใหญ่เป็นไม้คู่

ไม้กำมะลอ

ไม้ตลกราก…เอารากทำต้นหรือคดงอไม้เข้ารูปร่างไม้ใดๆ ที่กล่าวมาแล้ว ต้องให้เป็นไม้โคลกเคลกไม่เรียบร้อยอย่างคนทำตลกฉันใด ไม้ตลกก็ควรเป็นไปตามฉันนั้น ส่วนกิ่งนั้นจะทำอย่างใดตามใจชอบ

ไม้ตลกราก

ไม้เอนชาย…ถือเอาลักษณะต้นเป็นสำคัญ ยอดจะเอนไปข้างนึง หรือหุ่นเอน คือเอนไปจากดิน หรือจะมีต้นขึ้นมาอีกเล็กน้อย ลักษณะเอนนั้น เช่น ไม้ที่อยู่ตามริมตลิ่งหรือริมห้วย คือมีรากที่จะยึดดินได้เพียงด้านเดียว อีกด้านหนึ่งหาที่ยึดไม่ได้ เปรียบเสมือนไม้เล็กที่หลบไม้ใหญ่ที่ไม่สามารถจะส่งยอดไปรับแสงสว่างทางตรงๆ ได้

ไม้เอนชาย

ความยากง่ายของการเล่นไม้ดัดโบราณ

การเล่นไม้ดัดโบราณถ้าจะบอกว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ถ้าใจรักอย่างไรก็ทำได้ สำหรับคนที่อยากเล่นไม้ดัดขั้นแรกต้องรู้จักต้นไม้ก่อน ว่าลีลา ท่าทางเป็นอย่างไร เราก็ดัดไปตามนั้น ยกตัวอย่างเช่น เราจะทำไม้เขนเราต้องรู้ว่าไม้เขนเป็นอย่างไร จึงจะดัดตามวิธีการได้ ส่วนระยะเวลา ถ้าเอาจริงๆ อยู่ที่ต้นไม้ การรดน้ำ ใส่ปุ๋ย เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าต้นไม้เจริญเติบโตเร็วเราก็ทำได้เร็ว อย่างที่อาตมาทำ 6 เดือน ก็เกือบจะเสร็จ โดยใช้วิธีขุดตอมาลงกระถาง ตัดข้างบนให้แตกปลายกิ่ง แล้วพับปิดขม่อม

เสน่ห์ของไม้ดัดโบราณ

การเล่นไม้ประดับ ทุกอย่างไม่มีอะไรสวยงามและน่าหลงใหลเกินไม้ดัด สวยที่สุดจะเป็นกุหลาบ โป๊ยเซียน ชวนชม หรืออะไรต่างๆ ก็ตายที่ไม้ดัด ช่วยสร้างความเพลิดเพลิน มีการพินิจพิจารณา ฝึกการคิด ฝึกสมาธิ เพราะถ้าตัดผิดคือต้องวางกรรไกรเลย เพราะต้องรอให้แตกกิ่งใหม่อีกนาน ถือว่าเป็นสมาธิ ในสมัยโบราณจะเล่นไม้ดัดเพื่อความเพลิดเพลินอย่างเดียว จะไม่เล่นเชิงพาณิชย์

2 อย่างที่ครูไม้ดัดสอน ถ้าจะเล่นไม้ดัดต้องจำไว้

  1. ปลูกให้เหลือมือ คืออย่าปลูกแค่ต้นสองต้น เพราะกว่าไม้จะแตกเราก็เบื่อแล้ว ลืมแล้ว ปลูกไปเลย 20-30 ต้น ตั้งเป็นแถวไป วันนี้เรามาทำต้นสองต้น มืดกลับเข้าบ้าน รุ่งขึ้นทำต่อ พอสุดแถวต้นแรกก็แตก ทำได้อีกแล้ว คือทำได้ทุกวัน
  2. ให้อยู่ใกล้ตา คือระยะที่เราเดินผ่านทุกวัน ไม่ใช่เดือนหนึ่งผ่านทีนึง ไม้ก็ใหญ่ทำยาก ถ้าเราเห็นทุกวันเราก็จะเด็ดโน่นเด็ดนี่ แต่งนั่นนี่ หลักการมีสองอย่างที่จะทำให้ไม้เสร็จ

ไม้ดัดโบราณ เตรียมพร้อม

ในส่วนของไม้ดัดโบราณจะใช้ตกแต่งบริเวณรอบพระเมรุมาศ ไม้กระถางวางสูงไม่เกิน 40 เซนติเมตร ใช้วาง 4 มุม จำนวน 40-50 ต้น การเตรียมพร้อมต้องมีการติดต่อกันทุกระยะ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่ทางวัดคลองเตยในมีความพร้อมมากสำหรับงานในครั้งนี้

เขามอ

“เรารู้เราต้องเตรียมไว้เตรียมให้พอ พระเมรุมาศเรารู้มีทั้งหมด 4 ทิศ ทิศกว้าง ต้องใช้ด้านละกี่ต้นเราก็ต้องไปดู กะขั้นบันได ถ้าไม่พอก็ต้องเตรียมไว้ อย่างสระอโนดาต ถ้าเอาไม้ดัดโบราณเข้าไปก็จะสร้างความสมจริงมากขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ กับสัตว์หิมพานต์ สัตว์หิมพานต์คืออะไร เป็นสัตว์ที่จินตนาการขึ้น อย่างไม้ดัดก็เช่นกัน ตามธรรมชาติก็หาไม่ได้ที่จะเป็นระเบียบ สวยงามก็ไม่มี เป็นของที่จินตนาการทำขึ้น ก็เอามาเข้ากันกับสัตว์หิมพานต์ได้” พระราชสิทธิสุนทร เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน กล่าว