MD-2 : สับปะรดผลสดพันธุ์ใหม่ ที่ครองใจคนทั้งโลก

กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่วงการผลิตและการค้าสับปะรดของโลก ฉบับนี้จึงได้นำข้อมูลสถานการณ์ และความเคลื่อนไหวของสับปะรด พันธุ์ MD-2 ในตลาดต่างประเทศ ในช่วงเวลาสัก 4-5 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นพัฒนาการด้านการผลิตและการตลาดของเขาว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะประเทศในแถบละตินอเมริกา ที่ผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งการผลิตและส่งออก สับปะรด MD-2 นี้ ซึ่งประเทศเล็กๆ อย่าง ประเทศคอสตาริกา (Costa Rica) ที่มีการผลิตและส่งออกสับปะรดผลสดขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกได้ ภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี กรณีตัวอย่างนี้น่าจะให้ข้อคิดอะไรกับวงการสับปะรดบ้านเราได้บ้าง

สับปะรด MD-2 จัดว่าเป็นพันธุ์ที่ฮือฮาล่าสุดในวงการค้าและตลาดโลก ออกแนะนำเข้าสู่ตลาดโดย บริษัท Del Monte Foods บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด ที่ได้พัฒนาสับปะรดผลสดพันธุ์นี้ขึ้นมา และเข้าครองตลาดหลักได้อย่างรวดเร็ว โดยสับปะรด MD-2 มีสัดส่วนการตลาดในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 95 สามารถแย่งตลาดจากสับปะรดพันธุ์สมูทเคยีนและสับปะรดพันธุ์อื่นๆ ที่เคยครองความนิยมของผู้บริโภคลงได้อย่างสิ้นเชิง เป็นการพลิกประวัติศาสตร์ในวงการค้าสับปะรดผลสดของโลกกันเลยทีเดียว

 

การผลิตสับปะรดเปลี่ยนไป จากงานวิจัยและพัฒนา

จากผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม จนได้ สับปะรด MD-2 ควบคู่กับการใช้กลยุทธ์การตลาดเป็นเครื่องมือส่งเสริมสู่ผู้บริโภค แม้ว่าในช่วงแรกๆ จะมีหลายกลุ่มที่ยังไม่ยอมรับ/และไม่เห็นด้วยกับการแนะนำสับปะรดพันธุ์นี้ ทั้งจากทีมงานผู้ที่เกี่ยวข้องในบริษัท และผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังเคยชินกับรสชาติ และจุดเด่นอื่นๆของสับปะรดพันธุ์สมูทเคยีน (Smooth Cayenne) มาอย่างยาวนาน จนติดเป็นภาพลักษณ์ (image) ไปแล้ว แต่ด้วยการนำเสนอข้อมูลจุดเด่นที่เหนือกว่า และการประชาสัมพันธ์ที่ดี โดยการนำเสนอถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นของสับปะรด พันธุ์ MD-2 ที่ต่างจากพันธุ์สับปะรดอื่นๆ จึงสร้างการยอมรับ และเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ในเวลาไม่นาน ตลาดสับปะรดผลสดถูกปลุกกระแสขึ้นมา และฮือฮาด้วยราคาซื้อขาย สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตและผู้ส่งออก ขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับสับปะรดคุณภาพดี เรียกว่า win-win-win กันไป จึงส่งผลให้มีการขยายพื้นที่การผลิตไปในแหล่งผลิตสับปะรดที่สำคัญๆ ของโลก เช่น กลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกาเกือบทั้งหมด ทวีปแอฟริกาใต้ และทวีปเอเชีย ทั้งฟิลิปปินส์และมาเลเซีย เพราะมองเห็นช่องทางสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพียงแค่เปลี่ยนจากพันธุ์เดิมๆ มาปลูกพันธุ์ใหม่เท่านั้น ขอเรียกช่วงนี้ว่าเป็นยุคที่สับปะรด พันธุ์ MD-2 ฟีเวอร์ (fever) ก็คงจะพอได้ครับ

โดยธรรมชาติ สับปะรดเป็นผลไม้เขตร้อน (tropical zone) แต่ก็เจริญเติบโตได้ดีในภูมิอากาศกึ่งเขตร้อน (semi-tropical zone) จัดเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีปริมาณการค้าในตลาดระหว่างประเทศ ที่จัดเป็นอันดับ 3 รองจากกล้วยหอมและส้ม ผลผลิตรวมของโลกประมาณปีละ 22-24 ล้านตัน ซึ่งในโลกนี้มีสับปะรดมากกว่า 100 พันธุ์ แต่ที่ได้รับความนิยมกันในตลาดโลก มีอยู่เพียง 6-10 พันธุ์ เท่านั้น และเมื่อปี 2539 บริษัท Del Monte Foods ได้แนะนำสับปะรด พันธุ์ MD-2 ที่เป็นลูกผสมระหว่างสับปะรดสายพันธุ์ PRI hybrids 58-1184 กับ 59-443 ที่มีลักษณะเด่น คือผิวเปลือกเป็นมันวาว, สีเหลืองทองอมเขียว, ปริมาณวิตามินซีสูงเป็น 4 เท่า, เนื้อเหลืองทองเข้ม (dark yellow), เนื้อแน่นและนุ่ม, ผลเป็นรูปทรงกระบอก/ไหล่เต็ม (square shoulder), ปริมาณกรดน้อยกินแล้วไม่แสบลิ้น, รสชาติหวานนำ กลิ่นหอม ฯลฯ ซึ่งลักษณะที่ดีเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการยอมรับอย่างรวดเร็ว จนเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตลาดสับปะรดผลสดไปทันที โดยยอดผู้บริโภคสับปะรดผลสดในอเมริกาเหนือและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า ซึ่งปัจจุบัน สับปะรด พันธุ์ MD-2 ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดสับปะรดผลสดของโลก มีปริมาณซื้อขายกัน ประมาณ 2 ล้านตัน/ปี

อุตสาหกรรมการส่งออกสับปะรดผลสดของโลก ก้าวสู่จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ หลังจากการเปิดตัว พันธุ์ MD-2 เข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2539 จากเดิมที่ตลาดสับปะรดผลสดส่วนใหญ่ และอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรดกระป๋อง ก็ใช้สับปะรดพันธุ์สมูทเคยีน (smooth cayenne) แต่ที่สุดก็ถึงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น บริษัท Del Monte Foods จึงกลายเป็นผู้ที่หยุดการผูกขาดในตลาดการค้าของสับปะรด พันธุ์สมูทเคยีน ที่เคยเป็นพระเอกมาอย่างยาวนาน

ในช่วงที่ บริษัท Del Monte Foods ได้พัฒนาระบบการผลิตไปด้านสับปะรดผลสดนั้น ต้องพบกับปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การที่ต้องเผชิญกับความผันผวน/แปรปรวนด้านคุณภาพของผลสับปะรดที่เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูกาลต่างๆ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า คุณภาพสับปะรดจะไม่ค่อยดีในระหว่างฤดูหนาว (winter) เนื่องจากปริมาณกรด (acidity) ในผลสับปะรดจะมีสะสมอยู่สูงมากในช่วงหนาวของปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจัดเป็นช่วงเทศกาล/เป็นวันหยุดสำคัญของปี ที่ความต้องการมีมาก แต่กลับเป็นช่วงที่ซบเซาของตลาดสับปะรดผลสด เพราะจากรสชาติที่ออกเปรี้ยวนำจึงไม่ถูกปากผู้บริโภค ขณะที่ผลไม้ทางเลือกชนิดอื่นในช่วงนี้ก็มีปริมาณน้อย ซึ่งหากสับปะรดพันธุ์สมูทเคยีน ที่ครองตลาดอยู่เดิม มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ และคงที่ตลอดปี ผู้บริโภคจะไม่สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างได้ระหว่างผลผลิตช่วงฤดูร้อน และช่วงฤดูหนาว ตรงนี้เป็นมุมมองสำคัญที่ผู้บริหารของ Del Monte Foods เห็นโอกาสทางตลาด จึงเร่งพัฒนา สับปะรด MD-2 เข้ามานำเสนอแก่ผู้บริโภคในช่วงดังกล่าว  และยังสามารถแข่งขันกับผลไม้ชนิดอื่นได้ ซึ่งเป็นช่องทางสร้างรายได้จากผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย

 

สถานการณ์การส่งออก สับปะรด MD-2 ปี 2559

การส่งออก สับปะรด MD-2 ในตลาดการค้าของโลก จากประเทศต่างๆ ในปี 2559 มีมูลค่ารวมกันประมาณ 70,000 ล้านบาท (2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 17.7 เทียบกับที่มีการส่งออกนับตั้งแต่ ปี 2555 ที่มีการส่งออกเป็นมูลค่า 59,500 ล้านบาท (1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีแหล่งผลิตกระจายอยู่ในแต่ละทวีป แต่ที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ ได้แก่ กลุ่มประเทศในแถบอเมริกากลาง และกลุ่มทะเลแคริบเบียน มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในปี 2558 คิดเป็น ร้อยละ 51.1, สหภาพยุโรปมีการส่งออก ร้อยละ 23.8 (เป็นการนำเข้ามาแล้วส่งออก “re-export” ให้ลูกค้าเครือข่าย), ประเทศแถบเอเชีย ร้อยละ 7.2, และแอฟริกา ร้อยละ 3.2 ตามลำดับ

 

ประเทศผู้ส่งออก สับปะรด MD-2 สูงสุด 15 อันดับ ในปี 2559

  1. คอสตาริกา : 905.3 ล้านดอลลาร์ (31,685 ล้านบาท)
  2. เนเธอร์แลนด์ : 265.8 ล้านดอลลาร์ (9,303 ล้านบาท)*
  3. ฟิลิปปินส์ : 228.4 ล้านดอลลาร์ (7,994 ล้านบาท)
  4. เบลเยียม : 105.4 ล้านดอลลาร์ (3,689 ล้านบาท)*
  5. สหรัฐอเมริกา : 101.2 ล้านดอลลาร์ (3,542 ล้านบาท)
  6. เม็กซิโก : 42.6 ล้านดอลลาร์ (1,491 ล้านบาท)
  7. ไต้หวัน : 38.8 ล้านดอลลาร์ (1,358 ล้านบาท)
  8. เอกวาดอร์ : 37.5 ล้านดอลลาร์ (1,312.5 ล้านบาท)
  9. กานา : 30.4 ล้านดอลลาร์ (1,064 ล้านบาท)
  10. สเปน : 30.4 ล้านดอลลาร์ (1,064 ล้านบาท)*
  11. ฮอนดูรัส : 26.4 ล้านดอลลาร์ (924 ล้านบาท)
  12. ไอวอรีโคสต์ : 25 ล้านดอลลาร์ (875 ล้านบาท)
  13. ปานามา : 21.7 ล้านดอลลาร์ (759.5 ล้านบาท)
  14. เยอรมนี : 18.2 ล้านดอลลาร์ (637 ล้านบาท)*
  15. อิตาลี : 15.1 ล้านดอลลาร์ (528.5 ล้านบาท)*

 

(หมายเหตุ : ดอลลาร์สหรัฐ, อัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาท/ดอลลาร์,*ประเทศที่นำเข้าและมีการส่งออก)

ภาพรวมการส่งออก สับปะรด MD-2 ที่ได้จาก 15 ประเทศ คิดเป็น ร้อยละ 94.2 ของมูลค่าการค้าสับปะรดผลสดในตลาดโลก ซึ่งในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ ปี 2555 คือ ไต้หวัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1,008, กานา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 895.7, ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 125.3, และเม็กซิโก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 78.4 9  ตามลำดับ

ตลาดเปิดกว้าง : หลายประเทศเร่งขยายการผลิตและส่งออก

เม็กซิโก ขยายการส่งออก : จากการที่ผู้บริโภคยอมรับคุณภาพสับปะรดจากประเทศเม็กซิโก ว่ามีรสชาติหวานและเนื้อนุ่มฉ่ำ ขณะที่ปัจจุบันมีการส่งออกประมาณ 30% ของผลผลิตรวมในประเทศ การส่งออกส่งผ่านทางชายแดนเข้าสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางผู้ส่งออกคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกได้มากขึ้น นอกจากนี้ เม็กซิโก ยังส่งสับปะรดผลสดไปขายยังประเทศสเปนและเกาหลีใต้อีกด้วย

โคลัมเบีย ขยายการผลิตอย่างต่อเนื่อง : ในรอบปี 2559 ที่ผ่านมา โคลัมเบียได้เพิ่มการผลิตเป็น 2 เท่า ส่วนใหญ่เป็น สับปะรด MD-2 พื้นที่ปลูกประมาณ 4,062 ไร่ (650 เฮกตาร์) ให้ผลผลิตรวม 23,000 ตัน ผลผลิตที่ส่งออกประมาณร้อยละ 50 ซึ่งพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกสับปะรดจะอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ

เปรู ส่งสับปะรดเข้าสู่ตลาดโลก : ประเทศเปรูผลิตสับปะรดได้ราวๆ 450,000 ตัน/ปี ส่งทางเรือไปตลาดประเทศสเปน ในปีที่ผ่านมาส่งไปราวๆ 500 ตัน เป้าหมายจะพัฒนาสู่ระบบสับปะรดอินทรีย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

สาธารณรัฐโดมินิกัน : เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการขยายการผลิตสับปะรดผลสด พันธุ์ MD-2 มากขึ้น ในปี 2559 ส่งออกปริมาณ 9,000 ตัน มูลค่า 245 ล้านบาท ซึ่งแต่เดิมสับปะรดเป็นพืชรอง แต่จากการพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถส่งออกเป็นพืชที่สร้างรายได้ที่ดีอีกพืชหนึ่ง

อิสราเอล : สับปะรด MD-2 ราคาดีที่ประเทศอิสราเอล สับปะรดเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีราคาสูงมากในประเทศอิสราเอล และราคาค่อนข้างคงที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในซุปเปอร์มาร์เก็ตสับปะรดผลสดขนาดกลางราคาอาจสูงถึง 330 บาท/ผล ซึ่งในรอบปีราคาจะขึ้นลงระหว่าง 175-350 บาท/ผล แต่ละปีมีผลผลิตรวมประมาณ 3,000 ตัน แต่มีการนำเข้าปีละ 500 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณไม่มากจากประเทศแอฟริกาใต้และกัวเตมาลา เนื่องจากการนำเข้าค่อนข้างยาก เพราะความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพ ด้านการปลอดสารตกค้าง และโรคแมลง แม้ว่าสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดในการปลูกค่อนข้างมาก แต่ราคาซื้อขายที่สูง และยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น จึงเป็นสิ่งจูงใจให้เกษตรกรมีความพยายามขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังได้มีการสำรวจแหล่งผลิตใหม่ๆ เพื่อการนำเข้า เช่น จากประเทศฟิลิปปินส์และไทยอีกด้วย

มาเลเซีย : ยกระดับ สับปะรดพันธุ์ MD-2 ขึ้นเป็นพืชมูลค่าสูง (high-value crop) รัฐบาลประเทศมาเลเซีย โดยคณะกรรมการอุตสาหกรรมสับปะรดแห่งมาเลเซีย (The Malaysian Pineapple Industry Broad : MPIB) สนับสนุนการปลูกสับปะรด พันธุ์ MD-2 โดยจัดให้เป็นพืชมูลค่าสูง และมีเป้าหมายขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยภายในปี 2563 จะขยายการปลูกเพิ่มเป็น 31,250 ไร่ (5,000 เฮกตาร์) ผลผลิต 63,000 ตัน จากปัจจุบันที่มีพื้นที่ปลูก 2,345 ไร่ (375 เฮกตาร์) และจะปรับสัดส่วนการส่งออกสับปะรดผลสดกับสับปะรดแปรรูป จากร้อยละ 60 : 40 เป็น ร้อยละ 80 : 20 โดยจะเพิ่มผลผลิตจาก ปี 2559 ขึ้นอีกร้อยละ 70 เนื่องจากมีการทำข้อตกลงการนำเข้าจากประเทศจีนถึงเดือนละ 100 ตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่ยังมีความต้องการจากประเทศอื่นๆ อีกด้วย

ฟิลิปปินส์ : เป็นประเทศผู้ส่งออกสับปะรดผลสด เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากประเทศคอสตาริกาและเนเธอร์แลนด์ ในปี 2559 ส่งออกมีมูลค่า 228.4 ล้านดอลลาร์ (7,994 ล้านบาท) โดยมีตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง จากข้อมูลปี 2555-2559 การส่งออกสับปะรดไปยัง 5 ประเทศ มีอัตราการเติบโต ดังนี้ อิหร่าน (+3,831%), จีน (+951.6%), สหรัฐอเมริกา (+377.5%), ไต้หวัน (+236.4%) และนิวซีแลนด์ (+189.3%) โดยมี บริษัท Del Monte Foods และ Dole  Foods Company เป็นผู้ผลิตและส่งออกเป็นหลัก

คอสตาริกา : เป็นประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในแถบอเมริกากลาง แต่จัดเป็นผู้ผลิตสับปะรดรายใหญ่และส่งออกสับปะรดผลสดมากที่สุดของโลก การผลิตเริ่มตื่นตัวมาตั้งแต่ปี 2543 เมื่อมีการส่งเสริมการผลิต สับปะรด MD-2  และส่งออกต่างประเทศ จนกลายเป็นพืชหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศในเวลาต่อมา ในปี 2557/58 ปริมาณผลผลิตรวม 2,915,628 ตัน มีการส่งออกสับปะรดผลสด คิดเป็นมูลค่า 822 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (28,770 ล้านบาท) ต่อมาในปี 2559 มีการส่งออกสับปะรดผลสด เป็นมูลค่า 905.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (31,685 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 โดยตลาดหลักที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และยังมีตลาดอื่นๆ ในประเทศตะวันออกกลาง และล่าสุดบรรลุข้อตกลงการค้าสับปะรดผลสดกับประเทศจีน และนำร่องส่งผลผลิต สับปะรด MD-2 เข้าจีนบ้างแล้ว

บราซิล : เป็นประเทศผู้ผลิตสับปะรด เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ผลผลิตในปี 2557 รวม 2,646,243 ตัน ผลผลิตส่วนใหญ่นั้นใช้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งพื้นที่และลักษณะภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการปลูกสับปะรดส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศ อุณหภูมิที่สูง ทำให้สับปะรดมีความหวาน และเป็นที่ยอมรับกันมากในตลาดโลก มีผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ตลาดส่งออก ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยมี บริษัท Del Monte Foods เป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่

ไทย : เป็นประเทศที่มีการผลิตและส่งออกสับปะรดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยแต่ละปีจะมีผลผลิต ประมาณ 1.7-2.2 ล้านตัน เกือบทั้งหมดเป็นพันธุ์ในกลุ่มสมูทเคยีน ที่รู้จักกันในชื่อสับปะรดปัตตาเวีย และชื่ออื่นๆ ในแต่ละท้องที่ ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป และส่งออกเป็นสับปะรดกระป๋อง, น้ำสับปะรด และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในปี 2558 การส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดมีมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่มีการส่งออกสับปะรดผลสดค่อนข้างน้อยมาก และจากกระแสผู้บริโภคทั่วโลกที่ตื่นตัวกับ สับปะรดพันธุ์ MD-2 ส่งผลให้ประเทศไทยมีการปรับตัว โดยทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เริ่มมีการส่งเสริมการผลิต สับปะรด MD-2 ภาคเอกชนนำโดย บริษัท ทิปโก้ฟู้ดส์ฯ และภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ปริมาณยังไม่มาก ปัจจุบัน สับปะรด MD-2 ในประเทศไทยที่มีการผลิตและใช้ชื่อเรียกกันตามเจ้าของผู้ผลิต เช่น สับปะรดหอมสุวรรณ, สับปะรดเหลืองสามร้อยยอด, สับปะรดหอมทองเมืองราช และสับปะรดสยามโกลด์ เป็นต้น

บทสรุป : หลังจากที่มีการเปิดตัว สับปะรด MD-2 กระแสการตอบรับของผู้บริโภคโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลก ได้เปลี่ยนมาบริโภคพันธุ์นี้กันเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ ร้อยละ 95 หากจะดูตามช่วงเวลา (timeline) ของการเข้าสู่ตลาดแข่งขันกับพันธุ์เดิมๆ ก็ใช้เวลาไม่นานมากนัก ซึ่งในอดีตพันธุ์สมูทเคยีนครอบครองทั้งตลาดแปรรูปและตลาดผลสด แต่ด้วยการพัฒนาเชิงวิชาการ แล้วได้พันธุ์ใหม่ที่ดีกว่า พันธุ์เก่าก็ยากที่จะยืนหยัดต่อไปได้ เข้าทำนอง “มาทีหลัง แต่ปังกว่า” นับเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี สำหรับการพัฒนาต่อยอด แม้ว่าจะต้องใช้ความรู้ เวลา/ความอดทน/รอคอย และงบประมาณในระดับหนึ่ง เป็นการทุ่มเทที่คุ้มค่า หากมองกลับมาวงการสับปะรดบ้านเรา ในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา นับเป็นเวลาที่ยาวนานพอได้ แต่มองดูพัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงที่จะนำสู่ความเป็นเลิศจริงๆ นั้น น่าจะยังพูดไม่ได้ซะทีเดียว และการที่ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดแปรรูป เป็นอันดับ 1 ของโลก ไม่ได้หมายความว่าในระบบห่วงโซ่อุปทานสับปะรด (supply chain) ของเราจะเหนือกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ โดยเฉพาะระดับเกษตรกรที่เป็นต้นน้ำ ยังต้องมีการพัฒนาในอีกหลายด้าน ส่วนตัวเลขผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ทั้งพื้นที่เปิดใหม่และพื้นที่จากการโค่นล้มเปลี่ยนพืชที่ปลูกอยู่เดิมออกไปเพื่อปลูกสับปะรด มากกว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อหน่วยพื้นที่ (productivity)

อีกประเด็นที่น่าจะได้จากกรณีตัวอย่าง จากหลายประเทศที่เขาปรับเปลี่ยนแนวคิด สู่มิติ/และทางเลือกใหม่ ที่มีโอกาสเลือกภายใต้ศักยภาพเดิมที่มีอยู่เดิม จากประสบการณ์ที่เป็นผู้ผลิตสับปะรดมาก่อน ด้วยการเพิ่มทางเลือกและ/หรือปรับเปลี่ยนแนวไปส่งเสริมการผลิตสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมสับปะรดแปรรูป เป็นการพัฒนาการผลิตแบบคู่ขนาน (dual tract) ตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่ยกระดับ สับปะรด MD-2 ขึ้นเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง (high-value crop) และกำหนดเป้าหมายการผลิตและการตลาดไว้อย่างชัดเจน โดยเร่งขยายพื้นที่ปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตรวม และปรับสัดส่วนการส่งออก เป็นการแปลงสถานการณ์ให้เป็นนโยบายและนำสู่การปฏิบัติ อีกตัวอย่าง ประเทศไอวอรีโคสต์ (Côte d’Ivoire) ซึ่งในอดีตเป็นผู้ส่งออกสับปะรดผลสด และครองตลาดอันดับ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน (ปลูกพันธุ์สมูทเคยีน) แต่ที่สุดก็ต้องสูญเสียตลาดให้กับประเทศคอสตาริกา (Costa Rica) ที่เปลี่ยนมาผลิต พันธุ์ MD-2 เข้าเป็นคู่แข่ง และสามารถแย่งส่วนแบ่งในตลาดได้เกือบทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีการขยายฐานการส่งออกมายังตลาดในเอเชีย กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศจีน จะเห็นได้ว่าสถานการณ์สับปะรดของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะสับปะรดผลสดนั้นมาแรง ผลกระทบจากการพัฒนาสับปะรด พันธุ์ MD-2 ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตสับปะรดหลักๆ ของโลกส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมาผลิตสับปะรดพันธุ์นี้เพื่อการค้าอย่างจริงจัง พอจะมีสัดส่วนการผลิตสับปะรดพันธุ์เดิมๆ อีกไม่มากนัก ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเท่านั้น สำหรับวงการสับปะรดบ้านเรา เริ่มมีการส่งเสริมการผลิตสับปะรด พันธุ์ MD-2 กันบ้างแล้ว แม้ว่าจะยังมีพื้นที่ปลูกและจำนวนต้นไม่มากนัก แต่หากมีการสนับสนุนจากภาครัฐที่เป็นระบบ และอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสับปะรด ก็ยังไม่ช้าเกินไปที่จะลงเล่นในสนาม MD-2 เพราะประเทศไทยเรามีศักยภาพที่เหนือกว่าหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตหลักของโลก ขึ้นกับว่าเราจะจริงจังกันแค่ไหน…ขอเอาใจช่วยครับ

สนใจแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่ FB : Montri Klakhai

——————————————-

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.freshplaza.com/article/179280/Costa-Rica-Biggest-challenge-for-pineapple-producers-is-to-meet-demand-in-China
  2. Source: businessmirror.com.ph : Philippines: Banana, pineapple production grew in Q1; mango dropped
  3. Source: sunstar.com.ph : Philippines: Modest growth in pineapple and banana production
  4. http://www.freshplaza.com/article/170341/Mexico-now-one-of-the-worlds-top-10-pineapple-producer
  5. http://www.philippinesaroundtheworld.com/philippines-pineapples-exports-by-country/
  6. http://qcostarica.com/costa-rica-pineapples-on-step-away-from-exports-to-china/
  7. https://www.freshfruitportal.com/news/2017/06/05/costa-rica-exports-first-pineapples-china/
  8. http://www.worldatlas.com/articles/top-pineapple-producing-countries.html
  9. http://www.worldstopexports.com/pineapples-exports-by-country/
  10. http://www.freshplaza.com/article/5303/Colombias-MD2-pineapple-market-doubles
  11. http://www.freemalaysiatoday.com/ : Sweet success for Malaysia’s MD2 pineapples
  12. http:// http://www.cbi.eu/market-information/fresh-fruit-vegetables/pineapple/europe/ www.cbi.eu/market-information/fresh-fruit-vegetables/pineapple/europe/
  13. http://www.ticotimes.net/2017/01/23/exports-costa-rica-2016
  14. http://www.reuters.com/article/us-costarica-china-pineapple-idUSKBN16O06O
  15. http:// http://www.cbi.eu/market-information/fresh-fruit-vegetables/pineapple/europe/www.freshplaza.com : OVERVIEW GLOBAL PINEAPPLE MARKET

 

การให้ปุ๋ย และกำจัดวัชพืช
การปั่นต้นตอหลังเก็บเกี่ยว