แนะอาชีพเลี้ยงปลากะพงในกระชัง การลงทุน-การขาย ที่สร้างรายได้ 4 แสนบาท/ปี

การทำประมง ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักของชุมชนชาวเกาะยอ จังหวัดสงขลา โดยชาวบ้านที่ยึดอาชีพนี้จะใช้เครื่องมือประมงที่สืบทอดกันมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็น การดักไซนั่ง การดักไซนอน การดักโพงพาง และการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง 

ความได้เปรียบเชิงนิเวศทางธรรมชาติอันมาจากการมีสภาพน้ำถึง 3 อย่าง ได้แก่ น้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย จึงทำให้อาหารทะเลทุกชนิดมีรสชาติที่อร่อยกว่าที่อื่น แล้วถือเป็นโอกาสที่ชาวบ้านเกาะยอสามารถเลี้ยงปลากะพงในกระชังได้อย่างมีคุณภาพ จัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสงขลาด้วย

ขณะเดียวกันการใช้เวลาเลี้ยงถึง 2 ปี กับผลตอบแทนที่ได้รับค่อนข้างสูง จึงทำให้ชาวบ้านที่ยึดอาชีพนี้ต้องใส่ใจและทุ่มเทต่อการเลี้ยงปลากะพงอย่างเต็มที่

คุณไพฑูรย์ ทีปบวร อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นชาวบ้านอีกคนของชุมชนแห่งนี้ที่ยึดอาชีพประมงด้วยการเลี้ยงปลากะพงในกระชัง ได้ให้รายละเอียดว่า ลูกพันธุ์ปลากะพงสั่งซื้อมาจากจังหวัดสตูลหรือปัตตานี มีขนาด 7 นิ้ว โดยนำมาปล่อยในกระชัง จำนวน 400-500 ตัว ต่อกระชัง

คุณไพฑูรย์ ทีปบวร

ทั้งนี้ จำนวนปลาที่ปล่อยควรสอดคล้องกับขนาดของกระชัง เพราะไม่ต้องการให้ปลาหนาแน่นเกินไป ส่วนจำนวนกระชังที่ต้องการเลี้ยงไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ของผู้เลี้ยงแต่ละราย แต่สำหรับคุณไพฑูรย์เลี้ยงปลากะพงไว้จำนวน 5 กระชัง แต่ละกระชังมีขนาด 5×7 เมตร

ชาวประมงรายนี้ชี้ว่า อัตราการรอดของปลากะพงที่เลี้ยงไว้ มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น เนื่องจากคุณภาพน้ำในทะเลสาบปัจจุบันกับในอดีตต่างกัน อย่างเมื่อสมัยก่อนปลาที่เลี้ยงตายน้อย เพราะคุณภาพน้ำยังสมบูรณ์อยู่ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่เลี้ยงปลาซึ่งมีช่วงเวลาเกือบ 2 ปี ชาวบ้านทุกรายต้องหาวิธีบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ต้องควบคุมทุกปัจจัย ทั้งคุณภาพน้ำ โรค และอาหาร มิเช่นนั้นอาจประสบปัญหาทุนหายกำไรหดได้

คุณไพฑูรย์ ชี้ว่าการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพอาจเป็นตัวชี้วัดผลกำไรจากการเลี้ยงปลาในแต่ละครั้ง ฉะนั้นผลกำไรจะมาก-น้อย ขึ้นอยู่ที่ปัจจัยภายนอกและภายใน ทั้งนี้ต้นทุนการเลี้ยงปลากระชัง ได้แก่ ค่าสร้างกระชัง พันธุ์ปลา เครื่องให้อาหาร และเหยื่อหรืออาหารปลา

อย่างปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ในกรณีพันธุ์ปลาที่สั่งซื้อมาเลี้ยงในแต่ละรุ่นอาจแตกต่างกัน เพราะจะได้หัวปลาหรือหางปลา อันนี้ต้องแล้วแต่โชคด้วย เพราะถ้าโชคดีสั่งซื้อได้หัวปลา (หมายถึง ปลาที่อนุบาลในบ่อดินแล้วคนเลี้ยงคัดปลารุ่นแรกให้ก่อน) ทำให้ปลาที่เลี้ยงรุ่นนั้นโตเร็วมาก จับขายได้เร็ว ใช้อาหารน้อย ปลามีน้ำหนักมาก ได้กำไรมาก

จับปลาชั่งกิโลแยกใส่ตะกร้าของลูกค้าที่สั่งจองไว้

ในทางตรงข้าม ถ้าไปเจอหางปลา (หมายถึง ปลาเล็กที่คัดมาแล้วหลายรุ่น) ก็จะใช้เวลาเลี้ยงนาน สิ้นเปลืองเวลา สิ้นเปลืองอาหาร เพิ่มต้นทุน ได้กำไรน้อย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นลูกปลาชนิดใดก็ตาม ทั้งคนเลี้ยงและคนซื้อไม่มีทางรู้จนกว่าปลาจะมีรูปร่างโตขึ้นสักระยะ อันนี้จึงเป็นจังหวะฟลุกของคนเลี้ยงปลาด้วย แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่ดีมากกว่า

นอกจากนั้นแล้ว โรคที่เกิดจากปลากะพงก็นับเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เช่นกัน โดยมากจะเป็นพวกเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักเกิดกับปลาตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงปลาที่มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม โดยเมื่อปลาเป็นโรคจะซึมผิดสังเกตแล้วต้องรีบจับแยกออกมา มิเช่นนั้นจะติดกับปลาตัวอื่น ดังนั้น จึงต้องหมั่นสังเกตทุกวัน

คุณไพฑูรย์ บอกว่า ช่วงที่น่าเป็นห่วงของการเลี้ยงปลาแล้วมีโอกาสติดโรคได้ง่ายคือ ตั้งแต่ปลาเด็กไปจนถึงขนาดสัก 1 กิโลกรัม เพราะในช่วงดังกล่าว ปลามีภูมิคุ้มกันน้อย แต่หลังจากนั้นโอกาสรอดมีสูง เพราะปลาสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเองได้แล้ว

ถึงแม้ว่าการขึ้น-ลง ของระดับน้ำในทะเลสาบไม่ส่งผลกระทบกับการเลี้ยงปลาอย่างรุนแรง เนื่องจากปลากะพงสามารถปรับตัวได้กับน้ำทุกสภาพ แต่ในบางคราวน้ำอาจอยู่ในสภาพขาดออกซิเจนจนทำให้ปลาช็อกแล้วตายได้ ดังนั้น แนวทางนี้คุณไพฑูรย์จึงต้องออกไปนอนเฝ้าปลาที่ขนำ เพื่อคอยระวังระดับน้ำที่อาจเปลี่ยนแปลง

การคลุกคลีกับการเลี้ยงปลากะพงมานานกว่า 8 ปี จึงทำให้เขารู้ว่าช่วงเวลาใดที่น้ำมีออกซิเจนน้อย แล้วหากเจอปัญหาดังกล่าวขึ้น จะต้องปล่อยออกซิเจนลงไปในน้ำเพื่อช่วยปรับสภาพน้ำให้สมดุล โดยเฉพาะในช่วงน้ำลดในเวลากลางคืน สักตี 3-4 ทั้งนี้ ปลาจะแสดงอาการลอยหัวหรือว่ายไป-มา เสียงดังมาก ฉะนั้น แสดงว่าน้ำมีออกซิเจนน้อย

ตัวนี้เกือบ 6 กิโลกรัม

ต้นทุนอาหารปลาเป็นอีกปัจจัยภายในที่ควบคุมได้ คุณไพฑูรย์ แจงว่าถ้าเหยื่อเป็นปลาตัว มีราคากิโลกรัมละ 13-14 บาท แต่ถ้าเป็นหัวปลาอย่างเดียว ราคากิโลกรัมละ 8.75 บาท ทั้งนี้จะใช้สลับกัน โดยอาหารปลาที่ให้แต่ละครั้งใช้ 2 กระชัง จำนวน 3 เข่ง โดยให้อาหารปลาวันเว้นวัน ส่วนอาหารสำหรับลูกปลาเล็กก็ใช้ปลาและหัวปลาเช่นเดียวกับปลาใหญ่ เพียงแต่ต้องป่นให้ละเอียดพอประมาณเท่านั้น

เจ้าของกระชังปลารายนี้ระบุว่า ในส่วนของอาหารที่เลี้ยงปลา ถ้าได้หัวปลามาเลี้ยงอย่างเดียวก็ดี เพราะราคาถูกกว่าปลาตัว มีคุณค่าทางอาหารเท่ากัน และอัตราการเติบโตของปลาเลี้ยงไม่ต่างกัน แต่หัวปลาช่วยลดต้นทุนได้มากกว่า

คุณไพฑูรย์ ทีปบวร (เสื้อขาว) พร้อมเจ้าหน้าที่เกษตร

สำหรับการเลี้ยงปลากะพงในกระชัง จะใช้เวลาทั้งหมดจนถึงช่วงจับขายราว 2 ปี หรือประมาณ 25 เดือน โดยคุณไพฑูรย์ ขายให้แก่แม่ค้าในเกาะยอที่เป็นคนกลางเพื่อนำไปขายต่อยังแหล่งขายปลีก หรือนำไปขายส่งตามร้านอาหาร และคนที่มารับซื้อจะเป็นขาประจำที่สั่งจองไว้ล่วงหน้า โดยสั่งจองกันเป็นคิว ส่วนเมนูอาหารปลากะพงยอดฮิต อาทิ ทอด แกงส้ม ต้มยำ หรือลวก

ปัจจุบัน จำนวนชาวบ้านที่เลี้ยงปลากะพงในกระชังบนเกาะยอเพียงแค่หมู่ที่ 7 แห่งเดียว มีจำนวน 45 ราย การกำหนดราคาขายของแต่ละกระชังเป็นการตกลงกันของผู้เลี้ยงปลาทั้งหมดในเกาะยอ อีกทั้งถือว่าราคาปลากะพงในเกาะยอมีราคาสูงกว่าที่อื่น

เนื่องจากเป็นปลาที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติของทะเลสาบสงขลาที่มีแร่ธาตุทางอาหารครบถ้วน จึงทำให้ได้ปลากะพงที่มีคุณภาพ มีความสมบูรณ์ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคว่ามีความอร่อย ทั้งเนื้อ รสชาติ ความสด แล้วยังมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคด้วย ซึ่งปลากะพงที่เลี้ยงแล้วเคยขนาดใหญ่สุด มีน้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม หากเฉลี่ยน้ำหนักตัวปลาที่เลี้ยง จะอยู่ระหว่าง 5-8 กิโลกรัม ต่อตัว ทั้งนี้ ราคาขายหน้ากระชัง กิโลกรัมละ 165 บาท (13/6/60) สำหรับราคาขายที่ตลาด ประมาณกิโลกรัมละ 230 บาท โดยในรอบการจับปลาขาย (2 ปี) มีรายได้ประมาณ 800,000 บาท

ลำเลียงปลาใส่เรือเข้าท่าเพื่อขาย

ในระหว่างรอเวลาจับปลากะพงขาย คุณไพฑูรย์มีงานเกษตรกรรมที่สร้างรายได้จากสวนละมุดที่มีด้วยกัน 2 แห่ง ซึ่งแห่งแรกมีจำนวน 1 ไร่ ปลูกจำนวน 40 ต้น มีระยะปลูก 6×6 เมตร ขณะเดียวกันยังโค่นต้นยางพาราหลังบ้านแล้วปลูกละมุดอีกรุ่นเป็นแห่งที่สอง จำนวน 30 ต้น

คุณไพฑูรย์ บอกว่า ละมุดใช้เวลา 3 ปี จึงเริ่มมีผลผลิต จะให้ผลผลิตดกมากในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม แต่หลังจากนั้นจะมีประปราย ทั้งนี้ผลผลิตที่ได้ขึ้นอยู่กับอายุต้นและความสมบูรณ์ ทั้งนี้ยิ่งต้นมีอายุมากเท่าไร และได้รับการดูแลปุ๋ย/น้ำ อย่างดีแล้วจะให้ผลผลิตดกมาก

กระชังปลากะพงของ คุณไพฑูรย์ ทีปบวร

เหตุผลที่สนใจปลูกละมุด เพราะเป็นผลไม้ท้องถิ่นของเกาะยอที่ได้รับความนิยมมาก มีราคาดี โดยการขายผลผลิตละมุดที่ยังไม่สุกจะแบ่งเป็น 2 เกรด ได้แก่ เกรด เอ ราคากิโลกรัมละ 40-45 บาท ส่วน เกรด บี กิโลกรัมละ 30 บาทคุณไพฑูรย์ บอกว่า ละมุดเกาะยอมีคุณภาพแล้วเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค เพราะมีรสหวาน กรอบ หอม เนื่องจากปลูกจากดินที่มีคุณภาพ เพราะมีแร่ธาตุอาหารต่างๆ ทำให้ดินมีความสมบูรณ์มาก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณไพฑูรย์ ทีปบวร โทรศัพท์ (093) 575-6704