“มะพร้าว…พืชเศรษฐกิจทำเงิน” วิธีคัดพันธุ์มะพร้าว โดยใช้เทคโนโลยี ดีเอ็นเอ

แต่เดิมการค้าขายผลไม้จำกัดอยู่เพียงภายในประเทศ การควบคุมคุณภาพไม่ว่าจะเป็นรูปทรง รสชาติ สีผล อาจยังไม่ค่อยสำคัญนัก กระทั่งเมื่อเข้าสู่ยุคการแข่งขันที่ต้องควบคุมรักษาคุณภาพมาตรฐานของไม้ผลจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะส่งผลต่อการนำไปขายยังตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพของพืชและไม้ผลได้อย่างมาก

ความนิยมบริโภคมะพร้าวเพื่อสุขภาพสร้างความตื่นตัวต่ออุตสาหกรรมการผลิตมะพร้าว เป็นการตื่นตัวที่กระจายไปทั่วโลก จนทำให้ตัวเลขความต้องการบริโภคมะพร้าวเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตมะพร้าวหันกลับมาพัฒนากระบวนการตั้งแต่การปลูก การแปรรูป และการส่งออกพร้อมไปกับการนำเทคโนโลยีทางด้าน ดีเอ็นเอ มาพัฒนาคุณภาพมะพร้าวให้มีมาตรฐานคงที่

งานสัมมนา “มะพร้าว…พืชเศรษฐกิจทำเงิน” ขอนำท่านผู้อ่านไปรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับวิธีคัดพันธุ์มะพร้าว โดยใช้เทคโนโลยี ดีเอ็นเอ จาก ดร.ศิวเรศ อารีกิจ ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ดร.ศิวเรศ อารีกิจ

ดร.ศิวเรศ กล่าวถึงงานที่ได้รับมอบหมายว่าเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี ดีเอ็นเอ เข้ามาช่วยในเรื่องพืชที่เห็นอย่างที่ผ่านมา ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด แต่สำหรับมะพร้าวยังเพิ่งจะเริ่มอย่างจริงจัง

สมัยก่อนราคามะพร้าวค่อนข้างต่ำจึงทำให้มีงานวิจัยออกมาน้อยและไม่แพร่หลายมาก จนมาถึงตอนนี้ราคามะพร้าวสูงขึ้นจึงทำให้มีผู้สนใจมาก แล้วจึงมีงานวิจัยออกมาหลากหลายขึ้น แต่ก่อนจะเข้าถึงเทคโนโลยี ดีเอ็นเอ ในมะพร้าว ขอชี้แจงให้ทราบว่า ดีเอ็นเอ มีพื้นฐานมาจากความหลากหลายทางพันธุกรรมของมะพร้าว เพราะมะพร้าวเป็นพืชที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีผล ขนาด รูปร่าง รวมถึงน้ำและเนื้อ

อาจารย์ประสงค์ ทองยงค์ ผู้เชี่ยวชาญมะพร้าว ขณะตรวจสอบหน่อพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมแปลงเกษตรกร

อย่างขณะนี้พันธุ์มะพร้าวที่ใช้ในทางการค้า ได้แก่ มะพร้าวแกงและมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งมะพร้าวน้ำหอมของไทยถือว่าเป็นไม้ผลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ กระทั่งได้มีการนำไปใช้ในธุรกิจแปรรูปน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม

พอมาดูทางด้านพันธุกรรมจะเห็นได้ว่าในกลุ่มประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปินส์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดมะพร้าว แต่แท้จริงแล้วมะพร้าวของไทยไม่ได้มาจากประเทศทางแถบแอฟริกาหรือทางอเมริกาใต้อย่างที่เคยมีการเข้าใจ แต่ขอบอกว่ามะพร้าวของไทยมีถิ่นกำเนิดในไทย แล้วมีการเดินทางได้อย่างไร อย่างแรกมีคนชาวเกาะของประเทศต่างๆ นำผลมะพร้าวใส่เรือแล้วเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ แล้วใช้น้ำมะพร้าวที่นำติดมาสำหรับไว้ดื่มกินเมื่อกระหาย เพราะสมัยก่อนน้ำจืดหายากแล้วเดินทางไปยังประเทศต่างๆ

ความหลากหลายของลักษณะผลมะพร้าวในประเทศไทย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการออกกฎว่าถ้าต้องการส่งออกหรือเรียกมะพร้าวน้ำหอมจะต้องระบุว่ามีกลิ่น 2 A-P ชนิดนี้ด้วย เพราะหากไม่มีการระบุจะไม่ใช่มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้

สำหรับประเภทมะพร้าวน้ำหอมที่ได้มีการวิจัยไว้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มก้นจีบ ผลกลม พวงร้อย ทั้งนี้ กลุ่มก้นจีบจะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมมะพร้าวน้ำหอมมากที่สุด จึงได้เริ่มงานวิจัยจากกลุ่มนี้ก่อน ถ้าถามทุกท่านที่ต้องการปลูกมะพร้าวว่า พันธุ์ในอุดมคติเป็นอย่างไร คำตอบก็คงบอกว่าต้องมีผลดกมาก มีผลใหญ่และสม่ำเสมอ ซึ่งหลายคนมีความต้องการเช่นนั้น แต่อาจจะผิดหวังเมื่อปลูกผ่านไป 3 ปีแล้วปรากฏว่าไม่ใช่??

ทั้งนี้ อาจจะเกิดจากข้อบกพร่องทางด้านการบริหารจัดการ หรือบางคนคิดว่าเกิดจากพันธุ์ ซึ่งมีความน่าจะเป็นได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จุดเริ่มต้นของชาวสวนมะพร้าวคือการสรรหาพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะอย่างน้อยก็ลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ความหลากหลายทางพันธุกรรมของมะพร้าว

ด้วยเทคโนโลยี ดีเอ็นเอ ที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสามารถนำมาแก้ไขหรือปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ ได้ จึงต้องนำยีนที่ควบคุมความหอมในข้าวมาค้นหาในมะพร้าวก่อนว่ามียีนชนิดนี้ไหม จนกระทั่งประสบความสำเร็จสามารถค้นเจอยีนตัวนี้ได้ แล้วยังพบว่ามีการกลายพันธุ์ที่เปลี่ยนจากดีเอ็นเอ

ดีเอ็นเอ ของมนุษย์ประกอบด้วย เบทจำนวน 4 ตัว ได้แก่ A, T, C และ G ซึ่งถ้าเป็นมะพร้าวที่ไม่หอมจะมีเบท G ขณะเดียวกัน พบว่ามะพร้าวมีเบท C จึงถือเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นมะพร้าวน้ำหอมแท้ ดังนั้น จึงใช้หลักการนี้เพื่อเป็นตัวควบคุมความหอมของมะพร้าวตั้งแต่ต้นยังมีขนาดเล็ก จึงมั่นใจเครื่องหมาย ดีเอ็นเอ ที่กล่าวมาเพื่อชี้ว่ามะพร้าวน้ำหอมชนิดนี้เป็นพันธุ์แท้จริง

การค้นหา ดีเอ็นเอ ตัวที่หายไปจะต้องมีจำนวนมะพร้าวทั้งที่หอมและไม่หอมอยู่รวมกัน แล้วพบว่าเกิดเป็นลูกผสมขึ้นในทะลายเดียวกัน โดยบางลูกมีรสหวานหอม แล้วบางลูกไม่หอม เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการถูกควบคุมโดยยีน

ตรวจสอบมะพร้าวน้ำหอมพ่อ-แม่พันธุ์

จากนั้นจึงนำข้อมูลนี้มาใช้ด้วยการขยายผล โดยนำเครื่องหมาย ดีเอ็นเอ มาตรวจสายพันธุ์พ่อ-แม่จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากลูกมะพร้าวเมื่อนำไปใช้เพาะก็จะได้มะพร้าวน้ำหอมร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นงานวิจัยร่วมกับเกษตรกร โดยได้รับความกรุณาจากท่าน อาจารย์ประสงค์ ทองยงค์ ช่วยให้คำแนะนำ พร้อมกับได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกันมาได้ราว 2 ปี ก็สามารถตรวจสอบค้นหามะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ได้ตั้งแต่ต้นเล็ก ก่อนจะนำไปปลูกลงดินเพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในอีก 3 ปี

มีสวนมะพร้าวอีกแห่งที่เจ้าของสวนมีเป้าหมายที่จะผลิตมะพร้าวน้ำหอมแท้ทั้งหมด เพื่อต้องการขายพันธุ์ให้แก่ชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างดำเนินการคัดพันธุ์ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต เพราะจากการทดสอบมะพร้าวสายพันธุ์จำนวน 1,001 ต้น ได้มะพร้าวที่เป็นน้ำหอมแท้จำนวน 937 ต้น มีลูกผสมจำนวน 56 ต้น และไม่ใช่น้ำหอมจำนวน 8 ต้น ดังนั้น หากข้อมูลเป็นเช่นนี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจสำหรับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจตัดผลสดขาย

แต่ถ้าไปมองเรื่องการทำพันธุ์ หากกำหนดให้ชุดดังกล่าวเป็นชุดที่ 1 แล้วมีต้นที่ไม่ใช่น้ำหอมอยู่ 1 เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้ามองข้ามไปก็จะทำให้เกสรปลิวไปติดยังต้นที่เป็นน้ำหอมแล้วเกิดการผสมขึ้น แล้วเมื่อนำต้นรุ่นที่ 2 ไปปลูกต่อก็จะกลายเป็นมะพร้าวน้ำไม่หอมไปอีกหลายรุ่น

ปัญหาการปนมะพร้าวที่ไม่หอมในแปลง

จึงเป็นคำถามจากชาวสวนมะพร้าวที่สงสัยว่าทำไมมะพร้าวไม่ใช่น้ำหอมหรือเกิดการกลายพันธุ์รึเปล่า หรือว่าคุณภาพดินไม่ดี ?? ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้ขึ้นจากการสันนิษฐานของชาวบ้านเลย แต่ความจริงเกิดจากพันธุกรรมเริ่มต้นครั้งแรกที่ปะปนมากับมะพร้าวที่เป็นต้นน้ำหอม แล้วมีการแพร่กระจายมากขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนจะเป็นมะพร้าวที่ไม่ใช่น้ำหอมเลย จึงเป็นสาเหตุทำให้ชาวบ้านคิดเช่นนั้น

พันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในอุดมคติ

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าเทคโนโลยี ดีเอ็นเอ ได้ถูกพัฒนาเพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม เพราะเมื่อชาวสวนนำไปปลูกแล้วจะไม่สร้างปัญหาในเวลาอีก 3 ปีเมื่อมีผลผลิต

เวลาคัดเลือกมะพร้าวเพื่อใช้สำหรับทำพันธุ์ ชาวบ้านมักเลือกอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นรุ่นเก่าแก่ที่มีการปนของมะพร้าวไม่หอมน้อยมาก หรือดูว่ามีความเสี่ยงน้อย แต่ในระยะหลังพบว่ามีการปนเข้ามามาก แล้วเมื่อปลูกไปถึงรุ่นที่ 3, 4 ก็มักพบว่าความหอมหายไป

แหล่งรวบรวมพันธุ์มะพร้าวของไทย

“สิ่งสำคัญเวลาต้องการไปซื้อพันธุ์มะพร้าวมาปลูกควรพิจารณาเลือกสวนที่มีชื่อคุ้นเคยหรือได้ยินบ่อย หรือสืบประวัติดูหน่อยว่าเป็นสวนเก่าแก่แค่ไหน เพราะถ้านำข้อมูลเหล่านี้มาใช้นอกจากประสบการณ์อย่างเดียวคงไม่พอ หรือบางท่านบอกว่าต้องดมจากรากเพื่อพิสูจน์ หากเป็นเช่นนั้นคงลำบากเพราะถ้าต้องการใช้มะพร้าวเป็นพันต้นแล้วจะเสียเวลาหรือไม่สะดวกแน่ ดังนั้น การนำเทคโนโลยี ดีเอ็นเอ มาใช้คงสามารถชี้ชัดได้ทันที” ดร.ศิวเรศ กล่าว