ปลูก “หอมแป้น” บนพื้นที่ 2 ไร่ เลี้ยงชีพในวัยชรา

หอมแป้น เป็นผักชนิดหนึ่งที่คนทางภาคเหนือใช้เรียกผักที่คล้ายต้นหอม มีใบเรียวยาว แต่ใบแบน บาง เป็นการเรียกตามลักษณะของมันที่แบน บาง เช่น ไม้แป้น หมายถึง ไม้กระดานเป็นแผ่นบาง

หอมแป้น จึงหมายถึง กุยช่าย ที่คนเมืองเหนือเคยชินกับการเรียก หอมแป้น มากกว่าเรียก กุยช่าย ถึงแม้จะไม่เป็นที่นิยมบริโภคกันมากนักก็ตาม ส่วน ขนมกุยช่าย จะไม่เรียกว่า ขนมหอมแป้น

การปลูกกุยช่ายมักปลูกร่วมกับผักชนิดอื่น แหล่งปลูกกุยช่ายอยู่ที่ราชบุรี นครปฐม ในบางพื้นที่ปลูกแต่กุยช่ายเพียงชนิดเดียวเป็นแปลงใหญ่ การปลูกกุยช่ายเป็นการลงทุนลงแรงเพียงครั้งแรกอยู่ได้นานหลายปี เป็นพืชผักอายุยืน ต่างจากผักชนิดอื่นอยู่ได้เพียงฤดูเดียว หลังจากปลูกกุยช่ายแล้วการดูแลรักษามีให้ทำน้อย ให้ผลผลิตได้เร็ว เก็บเกี่ยวได้ตลอดปี การเก็บเกี่ยวใช้เวลาน้อยไม่เปลืองแรงงาน โรคแมลงศัตรูมีน้อย สามารถทำงานอยู่กับกุยช่ายได้อย่างสบายๆ และเบาแรง จึงเป็นงานเบาที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ดังเช่นกับ โกแป๊ะ หรือ ลุงแป๊ะ ชื่อจริง คุณบุญผ่อง ฉิมพุก เกษตรกร วัย 65 ปี หันมาปลูกกุยช่ายเลี้ยงตัวมา 10 กว่าปี

คุณบุญผ่อง ทำแปลงกุยช่ายบนพื้นที่ 2 ไร่ อยู่ หมู่ที่ 6 บ้านห้วยยาง ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง บ้านเดิมอยู่ที่ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ชีวิตของเขาผ่านการสู้ชีวิตมาหลายอย่าง

3-13-560x420

หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 (เมื่อครั้งยังเรียน ชั้น ป.7) ได้บวชเณรและบวชพระอยู่ที่วัดพะเนียงแตก ที่อำเภอบ้านเกิดจนสอบได้นักธรรมโท สึกออกมาแล้วได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2516 มาอยู่กับพี่สาว ช่วยพี่สาวทำเต้าหู้ และได้ใช้เวลาว่างสมัครเรียนที่โรงเรียนฝึกวิชาชีพ ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น จนสำเร็จหลักสูตร สามารถออกมารับจ้างซ่อมเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ วันหนึ่งได้มาซ่อมเครื่องปรับอากาศให้กับคลินิกทำฟันแห่งหนึ่ง พบรักกับลูกจ้างสาวที่คลินิกแห่งนี้เป็นสาวชาวลำปาง ในปี พ.ศ. 2519 จึงได้ชักชวนกันมาสร้างครอบครัวที่บ้านเดิมของฝ่ายสาวคือบ้านห้วยยาง ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซื้อที่ริมคลองชลประทาน ทำสวนผัก ตามที่ตนเองมีความถนัดมาแต่เดิมเมื่อครั้งอยู่ที่นครปฐม พ่อแม่มีอาชีพทำสวนผัก ได้ช่วยพ่อแม่ทำตั้งแต่เด็กจึงมีประสบการณ์ติดตัวมา ในปี พ.ศ. 2527 ไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน จึงรับจ้างติดตั้งไฟฟ้าตามบ้าน ทั้งยังรับจ้างเจาะน้ำบาดาล

ปี พ.ศ. 2532 ได้ทำฟาร์มไก่กระทง ประมาณ 6,000-7,000 ตัว เลี้ยงเรื่อยมาจนถึง ปี พ.ศ. 2545 เข้ามาพักอยู่ในเมืองลำปางอาศัยกับคนรู้จัก ได้นำประสบการณ์จากการที่ได้อยู่กับพี่สาวทำเต้าหู้ส่งตลาดเทศบาล (หลักเมือง) และตลาดอัศวิน ด้วยเต้าหู้มักเป็นของคู่กับถั่วงอก กุยช่าย จึงคิดจะปลูกกุยช่ายเพื่อขายคู่กับเต้าหู้ ได้เดินทางกลับไปบ้านเกิดที่นครปฐมเพื่อนำเหง้ากุยช่ายกลับมาจำนวนหนึ่ง มาขยายกอกุยช่าย

เรื่องตลาดนั้น การจะแทรกตัวเข้าไปขายให้กับผู้รับซื้อกุยช่ายรายใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละรายมีเจ้าประจำส่งกุยช่ายให้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงอาศัยคนรับเต้าหู้ให้ไปเจาะตลาด เมื่อผู้รับซื้อกุยช่ายรายใหญ่กุยช่ายขาดมือ คนรับเต้าหู้ได้แนะนำให้เอากุยช่ายของโกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะมาแทน กุยช่ายของโกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและค่อยๆ ขยายวงออกไป

2-13-560x420

กิจการการขายเต้าหู้กับกุยช่ายดำเนินไปด้วยดี ซึ่งช่วงนี้ต้องเดินทางไป-กลับ ระหว่างในตัวเมืองกับบ้านห้วยยางเพื่อดูแลทั้ง 3 กิจการ (ไก่ เต้าหู้ และกุยช่าย) เมื่อลูก 2 คน เรียนจบกันแล้ว จึงเลิกเลี้ยงไก่ ในปี พ.ศ. 2549 ได้ซื้อที่ดินใกล้กันเพิ่มอีก 2 ไร่ อยู่หน้าโรงเรียนบ้านห้วยยาง เพื่อปลูกกุยช่ายและไผ่เป๊าะ ไผ่กิมซุ่ง และไผ่ตง ไว้ด้านข้าง กว่า 30 กอ แต่การทำเต้าหู้ต้องมาสะดุดในปี พ.ศ. 2553 เมื่อทางเทศบาลต้องรื้อตลาดเก่าเพื่อสร้างตลาดใหม่ ทำให้บรรดาแม่ค้าพ่อค้าต้องย้ายไปขายหน้าศาลากลางหลังเก่าเป็นการชั่วคราว การส่งเต้าหู้ไม่สะดวกเหมือนก่อน จึงเลิกทำเต้าหู้ ขนเครื่องมืออุปกรณ์ทำเต้าหู้กลับบ้านห้วยยาง ปลูกแต่กุยช่ายอย่างเดียว

การปลูกกุยช่ายของโกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ ปลูกห่างระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 80 เซนติเมตร เป็นช่องทางเดิน สามารถเดินเข้าทำงานได้สะดวก ปลูกบนพื้นเรียบไม่มีการยกร่อง ใส่ปุ๋ยมูลไก่ 3 เดือน ต่อครั้ง โรยบางเต็มหน้าแปลงและโรยเมล็ดผัก เช่น ขึ้นฉ่าย ผักกาด ตามไปด้วย สลับการพ่นด้วยฮอร์โมน ปีละ 3 ครั้ง ไม่มีการใช้สารเคมี มีบ้างที่จำเป็นต้องพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะหญ้าระหว่างแถวเป็นบางครั้ง น้ำหมักชีวภาพจะใช้ฉีดพ่นเมื่อมีเวลาว่าง กุยช่ายที่ปลูกเป็นพันธุ์ที่มีกลิ่นแรง ต้นเล็ก โกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ บอกว่า ชาวจีนนิยมมากกว่ากุยช่ายที่ลำต้นใหญ่และไม่มีกลิ่น

การให้น้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ ปั๊มจากน้ำบาดาลไปตามท่อ พีวีซี 4 หุน ยังหัวสปิงเกลอร์ วางไว้ 4-5 หัว หัวสปิงเกลอร์อยู่บนแป้นไม้กระดาน ถูกยึดแน่นที่วางไว้หัวแปลง เมื่อให้น้ำพื้นที่นั้นจนชุ่มแล้ว จะลากแป้นไม้กระดานเพื่อย้ายตำแหน่งให้น้ำจุดที่ยังไม่ให้น้ำจนถึงท้ายแปลง ซึ่งเป็นการประหยัดจำนวนหัวสปิงเกลอร์ที่ไม่จำเป็นต้องวางไว้ทุกจุดทั่วพื้นที่

โรคที่พบในช่วงต้นฤดูฝนเป็นโรคใบเน่า เกิดจากเชื้อรา ปลายใบจะแห้ง ใบคล้ายใบไหม้ สาเหตุมาจากความชื้นในดินไม่พอ ฝนตกลงมาน้อยสลับกับอากาศที่ร้อน แก้ไขใช้ปูนขาวโรยรอบกอ

4-9-560x420

การตัด ปกติจะเริ่มตัดกุยช่ายหลังจากปลูกแล้วเมื่ออายุได้ 4 เดือน และตัดครั้งต่อไปทุกๆ 2 เดือน แต่ของโกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ เริ่มตัดหลังจากปลูกอายุได้ 2 เดือน ตัดชิดกับพื้นดิน ตัดรุ่นแรกได้ต้นที่ใหญ่ อวบ ต้นสูง ตัดครั้งต่อไปเมื่ออายุได้ 27-30 วัน ขนาดของต้นเริ่มเล็กลง ความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นแยกดึงเอาใบเหลือง ใบแห้งออก บรรจุถุงรอแม่ค้ามารับ ยิ่งตัดกอยิ่งขยายใหญ่ สามารถตัดต่อไปได้เรื่อยๆ จนเห็นว่าลำต้นเล็กลงมาก จึงจะรื้อกอ เปลี่ยนมาปลูกระหว่างแถวที่เป็นช่องทางเดิน  เหง้า 1 กอ แยกมาปลูกใหม่ได้ 5 กอ

กุยช่ายที่ปลูกเป็นพันธุ์ตัดใบ แต่จะให้ดอกระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่วนกุยช่ายพันธุ์ตัดดอกจะให้ดอกตลอดปี ซึ่งต้องมีการดูแลรักษาใส่ปุ๋ยตลอด ดอกกุยช่ายได้ราคาดีแต่มีจำนวนน้อย การทำกุยช่ายขาว โกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ เคยทำแต่ต้องหยุด เพราะสู้ราคาตลาดกุยช่ายขาวของสวนกุยช่ายรายใหญ่ไม่ไหว ที่ราคาถูกกว่ามีจำนวนมากกว่า จึงเลิกทำกุยช่ายขาว ตัดอย่างน้อย วันละ 10 กิโลกรัม ส่งในราคากิโลกรัมละ 25 บาท ยืนพื้น ไม่ว่าราคาในตลาดจะขึ้นหรือลงเท่าไหร่ก็ตาม

งานบริการสังคม…เมื่อ 10 ปีก่อน โกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ  ช่วงที่เลี้ยงไก่ได้เป็นวิทยากรการเลี้ยงไก่ให้กับนักศึกษาสาขาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาลำปาง ที่มาฟังการบรรยายที่ฟาร์ม เป็นวิทยากรการปลูกผักให้นักเรียนชั้นมัธยมฯ โรงเรียนเสด็จ วนาชยางค์กูล ตำบลบ้านเสด็จ เคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยยางอยู่ระยะหนึ่ง

การปลูกหอมแป้นหรือกุยช่ายของโกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ จึงเป็นงานเหมาะกับสภาพร่างกายในวัยชรา ไม่ต้องใช้แรงมาก ไม่เหนื่อย ไม่ต้องใช้สารเคมี ทำคนเดียวได้ รายได้จากกุยช่ายสามารถอยู่อย่างพอเพียงเลี้ยงตัวเองได้อย่างไม่ขัดสนในวัยชรา…

ผู้สนใจงานสาขานี้ สอบถามได้ที่ผู้เขียน อาจารย์นัย บำรุงเวช โทร. (094) 637-2513