ลำไยยักษ์ พันธุ์ “จัมโบ้” ผลใหญ่ เมล็ดลีบ ปลูกได้ทั่วประเทศ

“ลำไย” ถือว่าเป็นผลไม้ทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ คู่กับวัฒนธรรมและชุมชนของผู้คนในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนมานาน ลำไยเป็นพืชที่ต้องการอากาศที่หนาวเย็นในฤดูหนาวเพื่อกระตุ้นการออกดอก เมื่อหมดฤดูหนาวต้นลำไยจะออกดอกและติดผล เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม (ลำไยตามฤดูกาล) อุณหภูมิโดยทั่วไปลำไยต้องการอากาศค่อนข้างเย็น ต้องการอุณหภูมิต่ำ (10-20 องศาเซลเซียส) ในฤดูหนาว ช่วงหนึ่งคือประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคมเพื่อการออกดอก ซึ่งจะสังเกตว่าถ้าปีไหนอากาศหนาวเย็นนานๆ โดยไม่มีอากาศอบอุ่นเข้ามาแทรก ลำไยจะมีการออกดอกติดผลดี

เมื่อย้อนกลับไปในปี 2541 ได้มีการค้นพบสารโพแทสเซียมคลอเรต ด้วยความบังเอิญจากช่างทำดอกไม้ไฟ และทำให้ลำไยออกดอกและติดผลนอกฤดูได้ สามารถปลูกได้ทั่วไปเกือบทุกภาคของประเทศที่มีแหล่งน้ำที่ดี ต่อมาทำให้มีการขยายพื้นที่การปลูกอย่างมาก ทำให้ลำไยภาคตะวันออกในอำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งผลิตลำไยนอกฤดูเท่านั้น

ข้อมูลตัวเลข ในปี 2555 พบว่า พื้นที่ปลูกลำไยในเขตจังหวัดจันทบุรี มีมากเกือบหนึ่งแสนไร่ มีปริมาณการส่งออกมากเกือบห้าแสนตัน (ในปี 2554) สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรเจ้าของสวนเป็นกอบเป็นกำกว่าไม้ผลดั้งเดิมของจังหวัด เช่น ทุเรียน เงาะ สะละ ลองกอง มังคุด เป็นต้น เพราะเป็นผลไม้ที่สามารถบังคับและกำหนดระยะเวลาให้ผลผลิตออกได้ตามความต้องการ โดยการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต (KCLO3) ทำให้ออกดอกนอกฤดู สามารถจำหน่ายได้ราคาสูง กิโลกรัมละ 30-50 บาท หรือมากกว่านั้น โดยผลผลิตนอกจากจะขายในประเทศแล้วยังส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ

โดยพื้นที่ปลูกลำไยในเขตจังหวัดจันทบุรีนั้น ได้เปรียบมากในเรื่องของแหล่งน้ำ มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าทางภาคเหนือ ทั้งแรงงานที่ไม่ประสบปัญหามากนัก และสุดท้ายเรื่องการบริหารจัดการค่อนข้างเป็นระบบเกษตรกรมีความคุ้นเคยกับการปลูกพืชในแปลงขนาดใหญ่เป็นอย่างดี และเข้าใจเรื่องการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นอย่างดี

ปัญหาการผลิตลำไยในภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่และลำพูน ยังเป็นการผลิตลำไยในฤดู และอาศัยปัจจัยการผลิตโดยอิงธรรมชาติแบบดั้งเดิมอยู่ ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตค่อนข้างน้อย เป็นส่วนน้อยที่ผลิตลำไยนอกฤดู และทำให้ขาดแคลนแรงงานในช่วงลำไยออกสู่ตลาด ลำไยต้นสูงต้องเสียเวลาในการปีนเก็บและค่าไม้ค้ำ คุณภาพขนาดของผลและสีผลไม่ตรงตามความต้องการตลาด ผลผลิตกระจุกตัวออกมาเป็นปริมาณมาก ทำให้พ่อค้าได้เปรียบ อาจมีการกดราคาเกษตรกร อย่างการแปรรูปรองรับไม่ทัน

สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลกระทบและเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในฤดูกาล เทคนิคง่ายๆ คือ ตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มเตี้ยลง เพื่อลดค่าไม้ไผ่ค้ำยันกิ่งลำไยและค่าแรงเก็บเกี่ยว เมื่อทรงพุ่มเตี้ยลงก็ทำให้ง่ายต่อการจัดการต่างๆ โดยเฉพาะการดูแลรักษาป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตอย่างเหมาะสม ไม่ควรใช้เกินคำแนะนำ ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือตามความต้องการของพืช

พันธุ์ลำไยที่ปลูกมากที่สุดในประเทศไทย คือ พันธุ์ “ดอ” หรือเรียกลำไยพันธุ์ “อีดอ” เป็นสายพันธุ์หลักที่ปลูกมากที่สุดในบ้านเราขณะนี้คือ ราว 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นลำไยพันธุ์เบา คือออกดอกและเก็บผลก่อนพันธุ์อื่น ชาวสวนนิยมปลูกมากที่สุด ราคาดี เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตดี มีแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ ภาคเหนือตอนบนและทางภาคตะวันออก อย่างจังหวัดจันทบุรี ออกดอกและติดผลง่ายกว่าพันธุ์อื่น ให้ผลผลิตค่อนข้างสม่ำเสมอ เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 4 ปี หลังปลูก ถ้าออกดอกกลางเดือนมกราคมก็จะเก็บผลผลิตได้ราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ลำไยพันธุ์จัมโบ้ ปลูกที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร เป็นอีกทางเลือกของลำไยที่มีขนาดผลใหญ่ หวานกรอบแบบพันธุ์ดอ แต่จุดเด่นเรื่องของเมล็ดที่ลีบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะผล ค่อนข้างกลม กว้าง 2.8 เซนติเมตร หนา 2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 เซนติเมตร สีน้ำตาลอ่อน บ่าผลยกข้างเดียว รสหวาน จำนวนผลโดยเฉลี่ย 85-94 ผล ต่อกิโลกรัม นิยมบริโภคสด และแปรรูป ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ก็ยังคงมีให้เห็นบ้าง เช่น พันธุ์สีชมพู พันธุ์เบี้ยวเขียว พันธุ์แห้ว บ้านโฮ่ง 60 พวงทอง เพชรสาครทะวาย เป็นต้น

ลำไยยักษ์ พันธุ์ “จัมโบ้” ลำไยสายพันธุ์ใหม่ ที่กรมวิชาการเกษตร ได้มีหนังสือรับรองพันธุ์ขึ้นทะเบียนกรมวิชาการเกษตร เป็นลำไยอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ได้จากการกลายพันธุ์มาจากการเพาะเมล็ด (ซึ่งคาดว่าน่าจะกลายมาจากพันธุ์ดอ) เป็นพันธุ์ที่เหมาะต่อการบริโภคสด ผลมีขนาดใหญ่มาก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง เซนติเมตร มีขนาดผลใหญ่กว่าลำไย เกรด A ที่ส่งขายยังต่างประเทศถึง เท่า เป็นลำไยที่เนื้อหนาแข็งและแห้งไม่แฉะน้ำ มีความหวานเฉลี่ย 13-15 องศาบริกซ์

ที่น่าสนใจคือ “เมล็ดเล็กลีบ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์” และได้มีการตั้งชื่อว่า พันธุ์ จัมโบ้ (JUMBO)

จากประวัติพบว่า เจ้าของลำไยพันธุ์จัมโบ้นี้คือ คุณสุทัศน์ อินต๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ขณะนี้ต้นแม่ลำไยจัมโบ้มีอายุต้นกว่า 30 ปีแล้ว ทราบว่าเป็นต้นลำไยที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดและกลายพันธุ์มาดีจากลำไยต้นหนึ่งในเขตอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะการติดผลของลำไยพันธุ์นี้อยู่ในระดับปานกลางจากข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบ แจ้งว่าลำไยพันธุ์จัมโบ้ มีจำนวนผล 15-19 ผล ต่อช่อ ซึ่งหลังจากที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร นำมาปลูกเริ่มราดสารให้ออกดอก หลังบำรุงรักษาจนติดผล พบว่าจำนวนผลต่อช่อมีมากกว่านั้น คือโดยประมาณ 15-40 ผล เลยทีเดียว (ซึ่งเป็นผลดีในเรื่องของการไม่ต้องแต่งหรือซอยช่อผล)

ลักษณะผลจะกลมแป้น ผิวเปลือกเรียบ มีสีน้ำตาลปนเหลือง เปลือกหนาประมาณ 1.3 มิลลิเมตร ในธรรมชาติจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมและเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนสิงหาคม แล้วยังพบว่าใน 1 ช่อ ผลลำไยมีเมล็ดลีบเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นพันธุ์ลำไยที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก คือรสชาติหวาน ลักษณะเหมือนลำไยพันธุ์ดอทุกประการ แต่ได้ขนาดที่ผลใหญ่มาก และที่สำคัญ “เมล็ดลีบ และเนื้อหนามาก”

สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร ได้สายพันธุ์ลำไยยักษ์ “จัมโบ้” มาปลูกมากกว่า 10 ปี พบว่า มีการเจริญเติบโตเร็ว ออกดอกติดผลง่าย ตั้งแต่ปีแรกหลังปลูก ทั้งปล่อยให้ออกดอกตามธรรมชาติ (ในบางปีที่มีอากาศหนาวเย็น) และโดยวิธีบังคับให้ออกนอกฤดูกาลโดยใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตตามที่ต้องการ และได้มีการตรวจสอบถึงผลผลิตที่ออก ที่ สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร ผลปรากฏว่าสามารถบังคับให้ออกนอกฤดูได้เป็นอย่างดี ผลผลิตที่ได้ พบว่าผลลำไยมีขนาดผลใหญ่มาก จากการซุ่มตรวจพบว่า เมล็ดลีบหมดทั้งต้น และเนื้อแห้งไม่แฉะ รสชาติหวาน รับประทานอร่อยมาก

การปลูกลำไยแบบสมัยใหม่ ลำไยนั้นสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ในช่วงที่เหมาะสมคือ ปลายฤดูฝน(กันยายนถึงตุลาคม) ซึ่งมีความชื้นในดินและอากาศพอเหมาะ ลำไยจะเจริญเติบโตได้ดีและไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน แต่จะต้องให้น้ำบ้าง เกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนมักนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรดน้ำ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องน้ำขังบริเวณหลุมปลูก จึงต้องหมั่นคอยดูแลเมื่อมีน้ำขังต้องระบายน้ำออกจากหลุม หรือเตรียมหลุมพูนดินเป็นโคกหรือหลังเต่า

และเมื่อฝนจะทิ้งช่วงในเดือนตุลาคม-มกราคม และเข้าสู่ฤดูแล้ง (กุมภาพันธ์-เมษายน) ซึ่งจะต้องมีการจัดการน้ำที่ดี ในระยะปีที่ 1-2 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ลำไยตั้งตัวและจะรอดได้ จำเป็นต้องไม่ให้ขาดน้ำในฤดูแล้ง และไม่ให้น้ำท่วมขังในฤดูฝนด้วยการเตรียมดิน ถ้าเป็นพื้นที่ที่เคยปลูกพืชอื่นมาก่อน ให้ไถดินลึก ประมาณ 30 เซนติเมตร ตากดินฆ่าเชื้อไว้ประมาณ 15-30 วัน แล้วไถพรวนย่อยดินอีก 1-2 ครั้ง และปรับระดับดินให้สม่ำเสมอตามแนวลาดเอียง

 

วิธีการปลูก

เริ่มจากการเตรียมพันธุ์ โดยวิธีการตอนกิ่ง ซึ่งชำลงถุงดำจนแข็งแรงควรเตรียมไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้ต้นกล้าที่แข็งแรง หรือเลือกใช้ต้นพันธุ์ลำไยที่ขยายพันธุ์แบบตอนกิ่ง ซึ่งจะโตเร็ว สร้างพุ่มได้เร็ว (เหมาะกับพื้นที่ที่ไม่มีลมแรง ดินทราย ซึ่งอาจจะทำให้โค่นล้มได้ง่าย นอกจากการค้ำยันต้นที่ดีแล้ว เกษตรกรบางรายอาจจะเสริมรากให้ต้นลำไยภายหลังปลูกไปแล้ว อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป เพื่อเสริมความแข็งแรง) หรือต้นพันธุ์เสียบยอดหรือทาบกิ่งก็ได้ (เพราะจะได้ต้นพันธุ์ที่มีรากแก้ว ทำให้ต้นแข็งแรง หากินเก่ง ทนต่อสภาพดินไม่ดีได้)

ต่อมาก็เป็นเรื่องของ “ระยะปลูก” วางผังระยะปลูกมีหลายระยะนั้นขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น การจัดการโดยใช้เครื่องจักรก็จะใช้ระยะปลูกที่กว้าง ระหว่างแถวและต้น 8×8 เมตร หรือ 10×8 เมตร เป็นต้น ส่วนถ้ามีพื้นที่น้อย ต้องการจำนวนต้นที่เยอะ ดูแลทั่วถึงสามารถควบคุมทรงพุ่มได้ ก็จะปลูกระยะถี่ลงมา เช่น ระยะ 7×5 เมตร หรือ 6×6 เมตร ในกรณีที่มีการควบคุมทรงพุ่ม

จากข้อมูลโดย ผศ.ดร.พาวิน มะโนชัย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บอกว่า สวนลำไยดั้งเดิมส่วนใหญ่ปลูกลำไยห่างกันมาก ระยะ 8×8 เมตร ทำให้เปลืองเนื้อที่ และกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน ใช้เวลานาน 7-8 ปี จากการศึกษาวิจัยและทดลองปลูกลำไยระยะชิด โดยใช้กิ่งตอน ในระยะห่าง 2-4 เมตร หรือไร่ละ 200 ต้น จะคืนทุนได้ภายใน 4-5 ปีเท่านั้น

วิธีปลูก ขุดหลุมปลูก ขนาดประมาณ 80x80x50 เซนติเมตร (กว้างxยาวxลึก) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้ว อัตรา 3-5 กิโลกรัม ต่อหลุม โดยผสมกับหน้าดิน ใส่ลงหลุม พูนดินสูงจากปากหลุมประมาณ 15 เซนติเมตร ก่อนปลูกทำหลุมเท่าถุง เพื่อวางชำต้นกล้าตัดรากที่ขดงอรอบๆ ถุงชำต้นกล้า ทิ้งไปเฉพาะบริเวณก้นถุงใช้มีดคมกรีดจากก้นถุงขึ้นมาปากถุงทั้งสองด้าน แล้วดึงถุงพลาสติกออก ระวังอย่าให้ดินแตก กลบดินให้แน่น ปักไม้หลักและผูกเชือกยึดต้นเพื่อป้องกันต้นกล้าโยกคลอน รดน้ำให้ชุ่มพรางแสงให้จนกระทั่งแตกยอดอ่อน 1 ครั้ง จึงงดการพรางแสง

ผลลำไยพันธุ์จัมโบ้ เทียบขนาดกับลูกปิงปองและเหรียญ 10 บาท

การดูแลรักษา การใส่ปุ๋ย ลำไย อายุ 1-3 ปี หลังจากต้นแตกใบอ่อน ชุดที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 100 กรัม ต่อต้น ปีละ 3 ครั้ง และเพิ่มขึ้นปีละ 2 เท่า ทุกปี ลำไยอายุ 4 ปี แตกใบอ่อนประมาณต้นเดือนสิงหาคม ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น และเดือนพฤศจิกายนพ่นปุ๋ยเคมี สูตร 0-52-34 อัตรา 150 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่มเพื่อไม่ให้ลำไยแตกใบใหม่ พ่น 3 ครั้ง ทุก 7 วัน สำหรับลำไยที่ให้ผลผลิตแล้ว (อายุ 5 ปีขึ้นไป)

หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีที่ผ่านมา ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 2 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อน ชุดที่ 1 หลังจากนั้น ประมาณเดือนกันยายนใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น เมื่อลำไยแตกใบอ่อน ชุดที่ 2 กลางเดือนตุลาคม ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 0-46-0 + 0-0-60 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อให้ลำไยพักตัวและพร้อมต่อการออกผล

เมื่อลำไยติดผลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร แนะนำควรใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อบำรุงผลให้เจริญเติบโต ก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 0-0-60 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น

ลำไยพันธุ์จัมโบ้ ปลูกที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร เป็นอีกทางเลือกของลำไยที่มีขนาดผลใหญ่ หวานกรอบแบบพันธุ์ดอ แต่จุดเด่นเรื่องของเมล็ดที่ลีบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

เทคนิคและการบริหารจัดการลำไยนอกฤดู

ในส่วนของการบริหารจัดการการผลิตลำไยให้ประสบความสำเร็จจะต้องเอาการตลาดเป็นตัวนำการผลิต เพราะเมื่อผลผลิตออกจะตรงกับความต้องการของตลาดและราคาจะสูง ตามเทศกาลของประเทศจีนเป็นหลักและลดความเสี่ยง คือ

ช่วงที่ 1 ให้สารเดือนมีนาคม เก็บผลผลิตเดือนกันยายน ตรงกับงานชาติจีน (1-7 ตุลาคม ของทุกปี)

ช่วงที่ 2 ให้สารเดือนเมษายน เก็บผลผลิตเดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่สากล

ช่วงที่ 3 ให้สารเดือนมิถุนายน เก็บผลผลิตเดือนมกราคม ก่อนเทศกาลตรุษจีน

ช่วงที่ 4 ให้สารเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เก็บผลผลิตเดือนมีนาคม วันเช็งเม้ง เนื่องจากตลาดจีนเป็นตลาดรับซื้อและนำเข้าลำไยของไทยที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะการให้ผลผลิตออกช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม จะเป็นช่วงเวลาที่ตลาดคู่แข่งอย่างเวียดนามและแหล่งอื่นๆ ไม่มีผลผลิต

นอกจากการใช้ตลาดเป็นตัวนำแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอและความสมบูรณ์ของต้นลำไยและการแบ่งทำเป็นรุ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของราคา

มีชาวสวนลำไยหลายท่านปีนี้ที่ประสบความสำเร็จในการทำลำไยนอกฤดู และสามารถขายเหมาลำไยหลักล้านบาทขึ้นหลายรายปีนี้ เพราะว่าราคานอกฤดูก่อนตรุษจีนที่จะมาถึงปีนี้ ถือว่าราคาค่อนข้างดีทีเดียว โดยปกติราคาลำไยในช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือปีใหม่ วันชาติจีน ราคาจะดีกว่าช่วงอื่นๆ ในการวางแผนการทำลำไยนอกฤดู ถ้าเราต้องการให้ได้ราคาดี ก็ควรให้ออกก่อนช่วงเทศกาลเล็กน้อยก็จะขายได้ราคาที่แพงกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของต้นลำไยด้วย ว่าได้ต้นลำไยพร้อมสมบูรณ์ที่จะราดสารหรือไม่ โดยแตกยอดอ่อนอย่างน้อยสองครั้งถึงจะราดสารหรือพ่นสารทางใบ เพื่อให้ลำไยออกดอก

สนใจกิ่งพันธุ์ลำไยยักษ์ พันธุ์ “จัมโบ้” สายพันธุ์แท้ ติดต่อได้ที่ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 901-3760, (081) 886-7398 หรือ ID Line LEEFARM2 หรือช่องทางเฟซบุ๊ก “สวนคุณลี”