ปลาไหลสองน้ำ (Catadromous eels) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำไมราคาแพง

หากใครได้มีโอกาสได้เข้าไปร้านอาหารญี่ปุ่น เมนูที่ต้องเห็นอยู่เสมอในรายการอาหาร คงจะหนีไม่พ้นข้าวหน้าปลาไหล หรือจะเป็นเมนูปลาไหลย่างราดซอสถั่วเหลือง ที่ชวนทานนึกถึงแล้วน้ำลายสอไม่น้อยทีเดียว

จากความนิยมของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ในเรื่องของราคาก็สูงขึ้นตามไปด้วย เพราะปลาไหลชนิดนี้ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ จะต้องมีการจับจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติเท่านั้น เมื่อเห็นถึงวงจรชีวิตของปลาไหลแล้ว จะไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงมีราคาแพง

วงจรชีวิตของปลาไหลสองน้ำ หรือ Catadromous eels เป็นปลาไหลที่มีวงจรชีวิตวนเวียนอยู่ทั้งในทะเลและแหล่งน้ำจืด ซึ่งเมื่อเจริญเติบโตเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ และเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ จะอพยพไปยังทะเลลึกเพื่อสืบพันธุ์และวางไข่ ตัวอ่อนของปลาไหลที่ฟักออกมาจากไข่ (ระยะ leptocephalus) จะมีรูปร่างคล้ายใบไม้เรียวยาว ลำตัวใส ไม่มีเม็ดสีและจะค่อยๆ พัฒนาจนเข้าสู่การเจริญเติบโตระยะ glass eel ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับปลาไหลตัวเต็มวัยมากขึ้น จากนั้นจึงเริ่มอพยพกลับเข้าสู่แหล่งน้ำจืด และค่อยๆ พัฒนาเข้าสู่ระยะ elver , yellow eel และ silver eel ตามลำดับ จนกระทังเป็นตัวโตเต็มวัยพร้อมที่จะสืบพันธุ์ต่อไป

วงจรชีวิตของปลาไหลสองน้ำ

ซึ่งการใช้ประโยชน์จากปลาไหลสองน้ำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในช่วงของการจับลูกพันธุ์จากธรรมชาติ (เริ่มตั้งแต่ระยะ glass eel) โดยใช้เครื่องมือจำพวกโพงพาง (fyke net) และสวิง ที่คนเป็นแรงงานหลักในการจับ เพื่อนำลูกพันธุ์ป้อนเข้าสู่ระบบการอนุบาลในบบ่อหรือโรงอนุบาลจนได้ขนาดและน้ำหนักที่ต้องการ ส่วนปลาไหลขนาดตัวโตเต็มวัย จะใช้ลอบดักจับจากบริเวณปากแม่น้ำหรือในแม่น้ำ โดยปลาไหลสายพันธุ์ที่มีการจับมาใช้ประโยชน์ได้แก่ ปลาไหลสายพันธุ์อินโดนีเซีย Indonesian Short-fin Eel (Anguilla bicolor) และปลาไหล Marbled eel (Anguilla marmorata) ที่พบแพร่กระจายอยู่มากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจในฐานะสินค้าส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ทั้งในรูปแบบปลาไหลเป็นและในรูปแบบของผลิตภัณฑ์แปรรูปพร้อมบริโภค คือ ผลิตภัณฑ์ปลาไหลย่างราดซอสถั่วเหลืองหวาน (Kabayaki-ญี่ปุ่น)

ลูกปลาไหลตัวอ่อนระยะ Leptocephalus
ลูกปลาไหลตัวอ่อนระยะ Glass eel

 

ลูกปลาไหลตัวอ่อนระยะ Glass eel

จะเห็นได้ว่าสินค้าที่เป็นปลาไหลสองน้ำเหตุที่มีราคาแพง ก็เพราะมีการจับที่ยากและที่สำคัญการเพาะเลี้ยงยังไม่สามารถทำได้เท่าที่ควร จึงทำให้ปลาไหลเหล่านี้มีราคาสูงเพื่อให้สอดคล้องกับกลไกลของตลาดนั้นเอง