ไก่เขียวพาลี อุตรดิตถ์ สวยงามโดดเด่น มีเอกลักษณ์ เพาะขายไม่ทัน มียอดสั่งจองตลอดทั้งปี

ไก่พื้นเมืองเป็นทรัพยากรของชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลายทั่วไปแทบทุกครัวเรือนเกษตรกร และนับเป็นการสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวชนบทไทย

การเลี้ยงไก่พื้นเมืองส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม โดยในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยจะมีการเลี้ยง ไก่ประจำถิ่น ทั้งนี้ไก่ประจำถิ่นหลายแห่งอาจมีประวัติที่มาในอดีตหลายร้อยปี จนสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในพื้นที่

ในปัจจุบันไก่พื้นเมืองดั้งเดิมในหลายท้องถิ่นลดน้อยลง บางแห่งสูญหายไป หรืออาจถูกนำไปผสมพันธุ์กับไก่จากท้องถิ่นอื่นจนทำให้ไก่พื้นเมืองประจำถิ่นนั้นกลายพันธุ์ไปก็มี ด้วยเหตุของความหวงแหนจึงทำให้ชาวบ้านและภาคราชการหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พันธุ์ไก่พื้นเมืองเพิ่มมากขึ้น

นายกิตติพงษ์ บุญบุตร   หรือ คุณแจ๊ค  อยู่บ้านเลขที่ 131 หมู่ 7 ตำบลบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องการอนุรักษ์พันธุ์ไก่พื้นเมืองประจำถิ่นของจังหวัดอุตรดิตถ์ นั่นคือ “ไก่เขียวพาลี”

นายกิตติพงษ์ บุญบุตร หรือคุณแจ๊ค

เดิมคุณแจ๊คมีมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหัวบึง ตำบลท่ามะเฟือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เลี้ยงไก่ชนพื้นเมืองทั่วไป จะเพาะพันธุ์แล้วขายเป็นไก่ชน พอหลังจากแต่งงานเลยย้ายมาอยู่กับภรรยาที่ตำบลบ้านดาราแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2553

เขาเล่าว่า มาสะดุดตาไก่เขียวพาลีเมื่อคราวไปเจอที่งานประกวดไก่ มองเห็นว่าสวย มีเสน่ห์ จุดเด่นที่ทำให้สนใจมากคือสีขน แล้วได้สอบถามว่าเป็นไก่มาจากไหน มีคนบอกว่าเป็นไก่อุตรดิตถ์ แต่สงสัยเพราะไม่เคยพบเจอเลย จากนั้นจึงไปซื้อลูกไก่มาเลี้ยง และขยายพันธุ์ พร้อมกับพยายามคัดเพื่อให้ได้ลักษณะตรงกับสายพันธุ์เดิมในอดีต

คุณแจ๊ค เผยว่า จากที่เริ่มต้นนำไก่เขียวพาลีมาเลี้ยงจนเติบโต พบว่า มีคุณลักษณะตรงตามสายพันธุ์เดิมเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่พบเห็นเขียวพาลีจากแห่งอื่นว่ามีลักษณะตรงตามพันธุ์นั้น ความจริงแล้วบางตัวผ่านการตกแต่งทางศัลยกรรมเพื่อให้อวัยวะทุกอย่างเหมือนและตรงกับสายพันธุ์แท้เพราะต้องส่งเข้าประกวด

ด้วยความที่ยังไม่พอใจกับความสมบูรณ์ของสายพันธุ์เขียวพาลี จึงทำให้คุณแจ๊คตัดสินใจอีกครั้งด้วยการซื้อไก่เขียวพาลีที่เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ โดยพ่อพันธุ์ซื้อมาจากอยุธยา ราคาตัวละ 1.5 หมื่นบาท กับแม่พันธุ์มาจากบางปะกงจำนวน 2 ตัว ราคาตัวละ 5 พันบาท เขาให้เหตุผลถึงการซื้อพ่อ-แม่ พันธุ์ต่างแหล่งกันเพราะป้องกันเลือดชิด ซึ่งอาจส่งผลต่อการหาสายพันธุ์แท้ในอนาคต

เขียวพาลี พ่อพันธุ์หนุ่มอายุ 2 ปี

หลังจากได้ลูกไก่ชุดแรกออกมาปรากฏว่าสียังไม่ตรงเพราะที่คอยังแซมดู่มากไป ส่วนอีกตัวมีลักษณะค่อนข้างดีเพราะมีไหล่ยก อกตั้ง เพียงแต่หางยังกระดกไปเล็กน้อย ทั้งนี้จะต้องมาพิจารณาดูลักษณะทั้งตัวผู้-เมีย ถึงลักษณะเด่นแล้วพยายามคัดพันธุ์ให้เหมือนที่สุด

คุณแจ๊คเลี้ยงไก่เขียวพาลีมาตั้งแต่ปี 2553 แล้วค่อยพัฒนาและคัดสายพันธุ์มาตลอดเวลา กระทั่งมาได้เป็นพันธุ์สมบูรณ์ที่สุดเมื่อปี 2556 เขาชี้ว่าแต่ละรุ่นถ้าเพาะมาแล้วไม่ตรงก็จะเสียทั้งหมด แต่จะแก้ปัญหาด้วยการใช้วิธีคัดดูว่าตัวใดไม่ตรงตามลักษณะที่ต้องการมากจึงจับแยกออกมา ทั้งนี้พบว่าคุณลักษณะเด่นของไก่เขียวพาลีที่ทำให้มีความสง่างามคือไหล่ยก อกตั้ง นั้นมักเห็นชัดกับตัวผู้ ส่วนตัวเมียนั้นลักษณะดังกล่าวจะด้อยลงมา

เจ้าของฟาร์มไก่รายนี้บอกว่า การเพาะพันธุ์ ในแต่ละครั้งแม่พันธุ์จะให้ไข่ได้ประมาณ 10 ฟอง ในจำนวนนี้จะเป็นตัวผู้จำนวน 4 ตัว จะใช้เวลาฟักประมาณ 20 วัน หลังจากเป็นลูกไก่จะเลี้ยงไปราว 3 เดือนจึงขาย

ทั้งนี้ภายในหนึ่งปีจะเพาะลูกไก่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสุขภาพความสมบูรณ์ของแม่พันธุ์ แต่โดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 รุ่น ทั้งนี้มีแม่พันธุ์อยู่จำนวนหลายตัว จึงสามารถให้ผลผลิตลูกไก่จำนวนมาก ส่วนพ่อพันธุ์มีความสามารถในการผสมพันธุ์ได้นานประมาณ 5 ปี

ส่วนการดูแลลูกไก่คงไม่ได้แยกเลี้ยงเพราะต้องลงทุนค่าอาหารเพิ่ม แต่จะให้แม่ไก่หาเลี้ยงลูกเอง ซึ่งเป็นแนวการเลี้ยงแบบธรรมชาติที่มีข้อดีตรงที่ทำให้ลูกไก่มีความแข็งแรง มีสุขภาพดี ทนต่อโรคได้ดี

พ่อพันธุ์อีกตัวอายุ 1.5 ปี

ลูกไก่ที่ได้ต่อปีมีจำนวนประมาณ 100 ตัว แต่ไม่ขายทั้งหมด โดยแบ่งตัวเมียขายเป็นไก่เนื้อ แล้วแยกแม่พันธุ์ไว้ต่างหาก ส่วนตัวผู้จะมีการคัดแยกอีกครั้งว่ามีลักษณะรูปร่างอย่างไร โดยใช้เวลาประมาณ 5 เดือนสามารถคัดแยกได้

คุณแจ๊คเล่าว่า สมัยแรกเริ่มเลี้ยงไก่เขียวพาลีจะนำไข่เข้าตู้ฟัก เพราะจะได้จำนวนลูกไก่ตามที่ต้องการแน่นอน แต่ปรากฏว่าลูกไก่ที่ได้จากการฟักด้วยตู้ไม่มีคุณภาพดีพอ ถึงแม้จะได้จำนวนแน่นอนแต่ขาดคุณภาพ ดังนั้นภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีเลี้ยงไก่แบบปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ ทั้งการให้อาหาร และการฟักไข่ แล้วปล่อยให้แม่ไก่ฟักเองตามธรรมชาติ ซึ่งลูกที่ออกมามีความแข็งแรง และสุขภาพดีมาก

ไก่เขียวพาลีที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มจะใช้สำหรับเป็นพ่อพันธุ์และใช้ประกวด ทั้งนี้มีพ่อพันธุ์เป็นไก่หนุ่มจำนวน 2 ตัว มีแม่พันธุ์จำนวน 10 ตัว พ่อพันธุ์อายุ 2 ปี และ 1.5 ปี ซึ่งทั้งสองตัวนี้มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากลักษณะไม่เด่น หรือไม่ตรงก็จะไม่เก็บไว้เป็นพ่อพันธุ์ แล้วมักจะขายให้กับลูกค้าที่ซื้อไปเพื่อนำไปทำศัลยกรรมตกแต่งอวัยวะให้ดูเป็นไก่พันธุ์แท้

คุณแจ๊คเผยว่าการผสมพันธุ์ไก่เขียวพาลีให้ออกมามีลักษณะตรงตามพันธุ์ดั้งเดิมเป็นเรื่องยาก เพราะมักจะมีแซมดู่เล็กน้อย ทั้งนี้กว่าจะได้พันธุ์แท้ใช้เวลานานมาก ซึ่งปัญหาเช่นนี้เท่าที่ตรวจสอบฟาร์มไก่ที่อื่นก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องใช้ความพยายามและอดทน

ด้านการเลี้ยงไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด เลี้ยงได้แบบไก่บ้านทั่วไป ส่วนโรคที่เกิดกับไก่มักไม่พบเพราะมีการเอาใจใส่ดูแลความสะอาดโรงเรือนอย่างดี อีกทั้งยังมีการฉีดวัคซีนครบทุกชนิดในเวลาที่กำหนดให้กับไก่ทุกตัว

อาหารที่เลี้ยงคือข้าวเปลือก ให้วันละ 2 ครั้ง เช้า/เย็น ตอนกลางวันจะปล่อยให้ไก่ไปหากินอาหารตามธรรมชาติ ส่วนอาหารเม็ดจะเน้นให้เฉพาะไก่ที่แยกเลี้ยงไว้เพื่อใช้ประกวด แล้วยังใช้หญ้าเขียวซึ่งเป็นหญ้าขนหรือหญ้าแห้วหมูมาให้ไก่กินร่วมกับอาหารเม็ดด้วย ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติของหญ้าเขียวจะช่วยทำให้ไก่มีความแข็งแรง และเพิ่มกล้ามเนื้ออย่างดี

คุณแจ๊ค กล่าวถึงความภูมิใจของตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมอนุรักษ์ไก่เขียวพาลี ซึ่งเป็นไก่โปรดของพระยาพิชัยดาบหักแล้วยังมีความภูมิใจกว่านั้นเพราะเป็นคนแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามคัดพันธุ์ไก่เขียวพาลีเพื่อให้ได้พันธุ์แท้ดั้งเดิม หรืออาจจะเรียกได้ว่าตำบลบ้านดาราเป็นแห่งแรกของจังหวัดที่นำไก่เขียวพาลีมาเลี้ยงอย่างจริงจัง จึงตั้งชื่อฟาร์มไก่ของตัวเองว่า ‘ซุ้ม พิชัยไก่สยาม’

(ซ้าย) คุณสุธี ใจหวัง ปศุสัตว์อำเภอ

ไก่ที่เริ่มขาย คุณแจ๊ค บอกว่า ถ้ารู้เพศสามารถขายได้ทันทีประมาณ 3 เดือน แต่เขาชี้ว่าช่วงอายุที่เหมาะสมควรรอให้ไก่โตเป็นหนุ่มไม่ต่ำกว่า 1 ปีจะเห็นรูปร่างลักษณะชัดเจนทุกอย่าง

“ราคาขาย ถ้าอายุสัก 3 เดือนที่รู้เพศแล้วขายคู่ละ 1,500 บาท ถ้าเลยไปอายุสัก 6 เดือนขายตัวละ 5,000 บาท ยิ่งถ้าอายุขวบปีขึ้นไปขายในราคาตัวละหมื่นกว่าบาท อย่างไรก็ตาม ระดับราคาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามลักษณะและรูปร่างของไก่แต่ละตัว”

ป้ายรับรองมาตรฐาน จากกรมปศุสัตว์

เจ้าของฟาร์มไก่ เผยว่า ทุกวันนี้จำนวนไก่ที่เพาะขายไม่เพียงพอ เพราะมียอดสั่งจองเข้ามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าทางแถบจังหวัดพิษณุโลก, สิงห์บุรี ซึ่งจะติดต่อเข้ามาซื้อในฟาร์มเองมักตระเวนหาซื้อไก่ไว้สำหรับใช้ประกวด แล้วยังมีไก่ชนไว้จำหน่ายด้วย นอกจากนั้นคงเป็นลูกค้ารายย่อยที่ส่วนมากเป็นขาจรที่ผ่านมาพบเจอ

“ไก่เขียวพาลีของแท้ในอุตรดิตถ์จะเริ่มจากตำบลบ้านดาราก่อน ส่วนอำเภออื่นทราบว่ามีที่อำเภอลับแล เป็นไก่แท้ แล้วที่อำเภอน้ำปาดก็มีคนมาซื้อจากฟาร์มนี้ไปเลี้ยง รวมถึงนายก อบต.คอรุมก็มาซื้อไก่จากฟาร์มนี้ไปเลี้ยงเช่นกัน”

สำหรับการนำไก่ไปประกวดมีเป็นครั้งคราว ส่วนมากเป็นงานประจำปีของจังหวัด และที่ผ่านมาได้รางวัลชนะเลิศมาหลายแห่ง

ถ้วยรางวัลที่ได้รับจากการประกวด

“อยากให้พี่น้องชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ มาช่วยกันรักษาและอนุรักษ์ไก่เขียวพาลีกันไว้ เพราะทุกท่านควรจะภูมิใจว่าเป็นไก่ประจำถิ่นของจังหวัด แล้วยังมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ นอกจากนั้นแล้วถ้าจังหวัดอื่นมีไก่ประจำถิ่นอยู่ขอให้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ เพราะมิเช่นนั้นอีกไม่นานสายพันธุ์ไก่ไทยแท้อาจจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย” คุณแจ๊ค กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณกิตติพงษ์ หรือ คุณแจ๊ค โทรศัพท์ 094-826-4805

วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2560 นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จัดสัมมนาไก่เนื้อ ไก่พื้นเมือง สัตว์เศรษฐกิจทำเงิน “แนะวิธีเลี้ยง ดูแล แปรรูป ส่งออก”

ค่าใช้จ่าย ท่านละ 650 บาท ผู้สนใจ สมัครจองที่นั่งก่อน แล้วโอนเงิน (ตามจำนวนที่ระบุ) เข้าธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนประชาชื่น เลขที่บัญชี 193-079484-5 บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) Fax (02) 580-2300 เลขที่ผู้เสียภาษี 0107536001451 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.(02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342, 2343 Fax (02) 580-2300 ดูเพิ่มเติมได้ที่www.technologychaoban.com/www.facebook.com/Technologychaoban