ใบมันสำปะหลัง อาหารสัตว์เพื่อสุขภาพสัตว์ และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

ใบมันสำปะหลัง อาหารสัตว์เพื่อสุขภาพสัตว์และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ นำเสนอโดยผศ.ดร. เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์ และคณะภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โครงการศึกษาระบบข้อมูลความต้องการของตลาด ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์                           

ปัญหาความขาดแคลนข้อมูลด้านการตลาด สถานการณ์ และทิศทางการค้าสินค้าเกษตร รวมทั้งข้อมูลอุปสงค์และอุปทานโดยรวม เป็นปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจลงทุนของเกษตรกร รวมทั้งเป็นปัญหาต่อการกำหนดนโยบายและการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการค้าสินค้าเกษตรของหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนิน “โครงการศึกษาระบบข้อมูลความต้องการของตลาด” เพื่อกำหนดต้นแบบและยุทธศาสตร์ในการเพิ่มพูนข้อมูลความรู้ทิศทางการตลาดการค้าสินค้าเกษตรที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันต่อสถานการณ์ ให้ถึงมือเกษตรกร รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเกษตรกรในเรื่องสินค้าเกษตรเป้าหมายทั้งข้าวและมันสำปะหลัง ตลอดจนทางเลือกสินค้าเกษตรอื่นๆที่มีศักยภาพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการวางแผนการผลิตในแต่ละฤดูกาล เพื่อให้การลงทุนในปัจจัยการผลิตเกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด และทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ปรับวิถีแห่งการเป็นเกษตรกร ให้เป็น Smart Farmer ในการก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนและพอเพียง

ผศ.ดร.เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์

จากผลการศึกษาพบว่า มีความต้องการของตลาดที่จะนำใบมันสำปะหลังมาผลิตเป็นอาหารสัตว์เพื่อเสริมสุขภาพสัตว์ (Cassava Leaf as Functional Feed) รวมทั้งมีความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ที่ต้องการจะนำใบมันสำปะหลังมาใช้เป็นวัตถุดิบโปรตีนสำหรับผสมในอาหารสัตว์ เนื่องด้วยใบมันสำปะหลังสามารถใช้เป็นได้ทั้งแหล่งอาหารหยาบและแหล่งอาหารโปรตีน และจวบจนปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าวัตถุดิบโปรตีนจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 40,000 บาทต่อปี  กอปรกับปี พ.ศ. 2560 พบว่า ชาวไร่มันสำปะหลังประสบปัญหาราคาของมันสำปะหลังตกต่ำลงมาก ราคาลดลงเหลือไม่ถึงกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ทางโครงการฯจึงได้เสนอและสร้างทางเลือกเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยใช้ใบมันสำปะหลังแปรรูปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นแนวทางที่มีศักยภาพและมีความเป็นไปได้จริง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ใบมันสำปะหลังแห้งเป็นวัตถุดิบเกษตรที่มีคุณค่าทางโภชนาการ  โดยมีปริมาณโปรตีนสูงถึง 20-25%  สามารถใช้ทดแทนวัตถุดิบโปรตีนที่จะนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้ เช่น โปรตีนจากปลาป่นที่กำลังประสบปัญหาน่านน้ำการจับปลา โปรตีนจากกากถั่วเหลืองที่ปัจจุบันต้องนำเข้าและมีปัญหาจากการดัดแปลงพันธุกรรม (GMO)  ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ หากสามารถนำใบมันสำปะหลังมาทดแทนกากถั่วเหลืองได้ แม้เพียงเล็กน้อยประมาณ 10%  ประเทศไทยก็จะสามารถลดการนำเข้าโปรตีนได้ถึง 4,035 ล้านบาท (จากข้อมูลกากถั่วเหลืองนำเข้าปี พ.ศ. 2558 จำนวน 2.69 ล้านตัน)  นอกจากคุณค่าทางโปรตีนที่สูงแล้ว ยังมีสารแซนโทฟิลล์ที่ช่วยการเจริญเติบโตของสัตว์  และสารแทนนินที่ช่วยป้องกันพยาธิในสัตว์ได้เช่นกัน  นอกจากนั้นยังสามารถนำมาเป็นอาหารมนุษย์ได้ด้วย โดยใบมันสำปะหลังแห้งน้ำหนัก 400 กรัมจะเทียบเท่ากับปริมาณโปรตีน 45 ถึง 50 กรัมที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ

หลังจากเก็บใบมันสำปะหลังสดมาแล้วให้นำไปตาก/ผึ่งแดดให้แห้ง โดยอาจสับเป็นชิ้น ซึ่งจะทำให้ตากแห้งได้เร็วขึ้น ระหว่างการตาก ควรกลับใบมันสำปะหลังไปมาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ส่วนใบและก้านแห้งได้ทั่วถึง โดยตาก/ผึ่งแดด นาน 2–3 แดด ตามปกติใบมันสำปะหลังจะมีสารพิษสำคัญ 2 ชนิด คือกรดไฮโดรไซยานิคและสารแทนนิน แต่เมื่อได้รับการตากแห้งแล้วจะมีกรดไฮโดรไซยานิคเหลืออยู่ในระดับที่ต่ำมากคือไม่เกิน 30 ส่วนในล้านส่วน (ppm) เช่นเดียวกับในมันเส้นที่สารพิษจะระเหยออกไประหว่างผึ่งแดด จนเหลือในระดับที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับสัตว์ และกรดไฮโดรไซยานิคในระดับต่ำดังกล่าวนี้กลับช่วยกระตุ้นให้สัตว์มีความต้านทานโรคเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนสารแทนนินนั้นเป็นประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยปริมาณแทนนินที่มีอยู่ในระดับต่ำ 14.79 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะสามารถควบคุมพยาธิในตัวสัตว์ได้ มีคุณสมบัติในด้านการมีฤทธิ์ควบคุมพยาธิในแพะแกะได้อย่างดี ซึ่งสามารถทดแทนการใช้ยาถ่ายพยาธิในแพะแกะได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าการใช้ใบมันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์สามารถลดการใช้สารเคมีในการปศุสัตว์ได้ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การผลิตเป็นเนื้อสัตว์แบบอินทรีย์ หรือนมจากสัตว์แบบอินทรีย์ได้

การเก็บเกี่ยวใบมันสำปะหลังเพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์นั้น มีห่วงโซ่การผลิตดังแสดงในภาพ โดยจะเริ่มจากต้นน้ำ คือ เมื่อต้นมันสำปะหลังมีอายุได้ 4 เดือนขึ้นไปจะสามารถเก็บใบมันสำปะหลังได้ เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวใบมันสำปะหลังและนำมาขายให้กับพ่อค้าคนกลางในราคาประมาณ 0.8 ถึง 2 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับใบมันสำปะหลังสด (หากเกษตรกรทำการตากใบมันสำปะหลังแห้ง และนำใบมันสำปะหลังแห้งมาขาย จะขายได้ในราคา 4 ถึง 6 บาทต่อกิโลกรัม) โดยราคารับซื้อจะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ หลังจากนั้นพ่อค้าคนกลางจะรวบรวมใบมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรมาขาย ส่งต่อให้กับโรงงานที่แปรรูปเป็นใบมันสำปะหลังบดอัดเม็ด โดยทางโรงงานฯจะนำใบมันสำปะหลังสดที่รับซื้อมาตากแดดบนลานตากประมาณ 2-3 แดด เพื่อให้ได้ใบมันสำปะหลังแห้ง หลังจากนั้นทำการบดย่อยโดยการตีป่นและขึ้นรูปเป็นใบมันสำปะหลังอัดเม็ด ซึ่งโรงงานฯก็จะขายผลิตภัณฑ์ใบมันสำปะหลังอัดเม็ดให้กับฟาร์มปศุสัตว์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งมีทั้งที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ในประเทศสำหรับฟาร์มหมู สหกรณ์โคเนื้อ สหกรณ์โคนม เป็นต้น และมีการส่งออกใบมันสำปะหลังบดอัดเม็ดไปขายที่ต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็มีผู้ประกอบการผลิตและส่งออกใบมันสำปะหลังบดอัดเม็ดไปขายให้กับประเทศเกาหลีใต้ ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

บทความนี้นำเสนอเพื่อให้เห็นว่าใบมันสำปะหลังมีคุณประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนะ สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์เพื่อเสริมสุขภาพสัตว์ได้ สามารถนำไปใช้ในงานปศุสัตว์และนำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ที่เป็นสินค้าอินทรีย์ (Organic) หรือเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (Natural Product) ได้

ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีการนำใบมันสำปะหลังมาใช้ประโยชน์ในปริมาณที่น้อยอยู่ คือประมาณไม่เกิน 1% ของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทย ชาวไร่มันสำปะหลังส่วนใหญ่มักจะทิ้งใบมันสำปะหลังไว้เพื่อรอให้ย่อยสลายและเป็นปุ๋ยในไร่ หรือนำไปเผาเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นอ่อนที่ไม่ต้องการขึ้นในพื้นที่เพาะปลูก หากมีการเก็บเกี่ยวใบมันสำปะหลังเพียง 10% จากปริมาณมันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทย และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใบมันสำปะหลังบดอัดเม็ดเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ก็จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นจำนวนเงินประมาณ 420 ล้านบาทต่อปี หากสามารถนำใบมันสำปะหลังมาใช้เป็นวัตถุดิบโปรตีนทดแทนการนำเข้าโปรตีนจากกากถั่วเหลืองได้ แม้ทดแทนได้เพียงเล็กน้อย 10%  แต่ก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดการนำเข้าโปรตีนได้ถึง 4,035 ล้านบาทต่อปี

 

ยุพดี คล้ายรัศมี ประชาสัมพันธ์ มก.

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์