“ปุ๋ยหมักเติมอากาศ” ใช้ในสวนผลไม้ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

“ปุ๋ยหมักเติมอากาศ” เป็นกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักรูปแบบหนึ่งที่เน้นการผสมรวมกันระหว่างวัสดุอินทรีย์ที่ให้คาร์บอนและไนโตรเจน จากพวกซากพืช, สัตว์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขณะเดียวกันใช้วิธีเติมอากาศแทนการกลับกองปุ๋ย เพื่อรักษาสภาพอากาศในกองให้มีความเหมาะสมเพื่อเร่งกระบวนการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์

โดยจุลินทรีย์ธรรมชาติในกองปุ๋ย เมื่อย่อยสลายสมบูรณ์แล้วจะแปรสภาพเป็นปุ๋ยหมัก ที่มีลักษณะสีดำคล้ำหรือสีน้ำตาลปนดำ ไม่มีกลิ่น มีคุณสมบัติที่ดีต่อรากพืช สามารถดูดไปใช้ได้

กว่า 2 ปีแล้ว ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้จัดโครงการนำ “ปุ๋ยหมักเติมอากาศ” มาใช้ในสวนผลไม้ของเกษตรในพื้นที่หลายชนิด จนพบว่าผลผลิตที่ได้มีคุณภาพทัดเทียมกับปุ๋ยชนิดอื่น แต่ที่สำคัญช่วยในเรื่องการลดต้นทุนได้มากกว่า

คุณบุญเกื้อ ทองแท้ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงานบอกว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากนโยบายของกรมวิชาการ โดยเมื่อนำมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการจะแบ่งคร่าวๆ เป็นสองส่วนคือ จัดเป็นโครงการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านที่สนใจ กับการนำปุ๋ยหมักเติมอากาศไปใส่ในแปลงปลูกพืชไม้ผลหลายชนิดเพื่อหาข้อมูลนำไปวิเคราะห์ประเมินผล

คุณบุญเกื้อ ทองแท้(ขวา)กับคุณพนัส ศรีเขาล้าน เจ้าของสวนสะละ

คุณบุญเกื้อ กล่าวต่อว่า ข้อดีหรือจุดเด่นของปุ๋ยหมักเติมอากาศอยู่ตรงสามารถใช้วัสดุทางธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ได้ อย่างพื้นที่จังหวัดชุมพร จะนำขี้ไก่แกลบ ขี้วัว และขุยมะพร้าว มาใช้ในอัตรา 30 : 30 : 10 ทั้งนี้ หากพื้นที่อื่นไม่มีวัสดุดังกล่าว แต่อาจมีฟาง หญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง ใบกระถิน ขี้ไก่ ขี้หมู ก็อาจปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ขอให้ยึดอัตราส่วนตามมาตรฐานที่ทางกรมวิชาการกำหนดไว้คือ 30 : 30 : 10

น้ำจากการหมักปุ๋ยเติมอากาศใช้สำหรับรดพืชผัก

หลังจากนั้นให้นำวัสดุทางธรรมชาติที่ได้ตามอัตราส่วนไปหมักด้วยระบบเติมอากาศ ภายใต้การควบคุมเวลาด้วยเครื่องตั้งเวลาอัตโนมัติเพื่อเติมลมเข้าตามเวลาที่กำหนด สำหรับทางศูนย์ได้สร้างโรงหมักปุ๋ยเติมอากาศไว้สาธิต จำนวน 30 ตัน แต่ความจริงสามารถรองรับได้ถึง 50 ตัน

หลังจากหมักเสร็จสมบูรณ์แล้วได้ทดลองนำไปใช้กับแปลงปลูกพืชไม้ผลของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสวนทุเรียน สวนมังคุด สวนสะละ ปรากฏว่าสวนทุเรียนที่มีอายุสัก 20 ปี ได้ลองนำไปใส่ ต้นละ 80 กิโลกรัม โดยมีต้นทุนการผลิตปุ๋ย กิโลกรัมละ 3.70 บาท หรือสวนสะละที่มีอายุราว 6 ปี ใช้ปุ๋ย จำนวน 20 กิโลกรัม ต่อต้น หรือต้นทุนค่าปุ๋ยเพียง 3 บาทกว่า ต่อกิโลกรัม หรือมังคุดที่มีอายุนานถึง 22 ปี ใส่ปุ๋ยเติมอากาศ ต้นละ 80 กิโลกรัม

คุณบุญเกื้อบอกว่าเนื้อปุ๋ยแบบนี้เหมาะกับการนำไปใช้งานได้แล้ว

เหตุผลสำคัญของการได้ประโยชน์จากปุ๋ยเติมอากาศคือช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการใช้ปุ๋ยชนิดอื่นลงทันที แล้วสามารถลดลงได้มาก ทั้งนี้ เพราะประโยชน์และคุณค่าจากวัสดุทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นขี้วัว ขี้ไก่แกลบ หรือขุยมะพร้าว ล้วนมีประโยชน์สำคัญต่อพืชอยู่แล้ว

“แถมยังมีผลพลอยได้จากน้ำหมักปุ๋ยด้วยการนำไปใช้รดพืชผัก ไม้ผล ในอัตราส่วนน้ำหมัก 1 ส่วน ต่อน้ำเปล่า 20 ลิตร ช่วยให้ฟื้นฟูดิน ปรับปรุงโครงสร้างดินให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นก็ยิ่งช่วยทำให้พืชได้ประโยชน์ทางอาหารอย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันด้วยคุณสมบัติจากวัสดุเหล่านี้ยังช่วยถนอมรักษาคุณภาพดินให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ถือเป็นโครงการที่ดีมาก แล้วไม่ต้องไปรองานวิจัยอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งยังเข้าถึงเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างทันทีและสะดวก”

คุณรำเพชรจะนำปุ๋ยเติมอากาศไปใช้ในสวนปาล์มแห่งนี้

คุณบุญเกื้อ เพิ่มเติมข้อมูลว่า การหมักวัสดุเพื่อทำปุ๋ยแบบเดิมมีข้อเสียตรงที่ต้องหมั่นกลับกองปุ๋ย แต่สำหรับปุ๋ยหมักเติมอากาศจะใช้ลมเป่าเพื่อให้ออกซิเจนเติมเข้าไป เป็นการเร่งปฏิกิริยากระบวนการหมักให้เร็วแล้วได้ผลมากขึ้น

“โดยพัดลมมีหน้าที่ระบายอากาศเพื่อให้อุณหภูมิการหมักลดลงเป็นการตั้งเวลาอัตโนมัติไว้ทุก 3 ชั่วโมง พัดลมจะทำงานจำนวน 1 ชั่วโมง พอหลังจากหมักผ่านไป 3 วัน จะพบว่ามีหนอนเป็นจำนวนมากซึ่งบ่งบอกถึงความสมบูรณ์

ทั้งนี้ การหมักปุ๋ยใช้เวลาทั้งหมด 3 เดือน โดยให้กลับกองปุ๋ยเพียงครั้งเดียวในเดือนที่สองเท่านั้น กระทั่งเมื่ออุณหภูมิในกองปุ๋ยลดลงเท่ากับอุณหภูมิอากาศก็สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยในการปลูกพืชได้”

โรงปุ๋ยหมักเติมอากาศของคุณรำเพชร

คุณบุญเกื้อ ชี้ว่าหากชาวบ้านเกษตรกรที่สนใจต้องการนำปุ๋ยหมักเติมอากาศไปใช้ในสวนของตัวเองอาจไม่จำเป็นต้องสร้างโรงปุ๋ยให้มีขนาดใหญ่แต่อาจพิจารณาตามความเหมาะสมของพื้นที่ แต่วัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาจเป็นสิ่งของที่ประยุกต์หรือดัดแปลงของเหลือใช้อย่างไม้ กระเบื้อง เพียงขอให้มีรูปร่างที่เป็นมาตรฐาน เพราะการทำปุ๋ยจำนวนไม่มาก ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากก็ได้ แต่ขณะเดียวกันจะได้ประโยชน์ที่คุ้มค่า แล้วใช้ไปได้นาน

ในส่วนของกิจกรรมที่ศูนย์ได้จัดโครงการอบรมการให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจไปแล้ว จำนวน 3 รุ่น มีจำนวนทั้งสิ้นเกือบร้อยคน แล้วจะจัดต่อไปอีก ทั้งนี้ ได้มีการติดตามประเมินผลด้วยการเข้าไปส่งเสริมและแนะนำให้แก่ผู้ที่ผ่านการอบรมไปแล้ว โดยหวังว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ถ้ามีความชำนาญมากพอแล้วก็จะนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่สมาชิกในชุมชนทุกพื้นที่ต่อไป

สำหรับโครงการนี้ต้องขอขอบคุณ คุณโกศล มณีรัตน์ อดีต ผอ.ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร และ คุณเกริกชัย ธนรักษ์ ผอ.คนปัจจุบัน ที่ให้การสนับสนุนด้วยดีตลอดมา

คุณรำเพชร แสงมณี เกษตรกรต้นแบบปุ๋ยหมักเติมอากาศ

ขณะเดียวกันได้พบกับ คุณรำเพชร แสงมณี อยู่บ้านเลขที่ 5/2 หมู่ที่ 9 ตำบลวิสัยเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โทรศัพท์ (086) 282-0073 ชาวบ้านที่ผ่านการอบรมไปแล้ว และได้สร้างโรงผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศเป็นที่เรียบร้อย แต่กำลังอยู่ระหว่างการรอเพื่อนำมาใช้งาน

คุณรำเพชร ถือว่าเป็นเกษตรต้นแบบการใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ แล้วยังเป็นเกษตรกรประเภทหัวไวใจสู้ด้วย เธอมีสวนปาล์มอายุเกือบ 10 ปี แล้วกำลังจะโค่นบางส่วนเพื่อจะใช้ปลูกทุเรียนหมอนทอง เนื่องจากเคยปลูกมาบ้างแล้ว

เกษตรกรรายนี้บอกว่า สมัยก่อนปลูกพืชด้วยการใช้สารเคมีล้วน พอนานไปคุณภาพดินแย่ลง ปลูกอะไรก็ไม่ได้ผล เสียหาย เสียเงิน แล้วยังเสียเวลาด้วย จนกระทั่งได้นำตัวอย่างดินไปตรวจพบว่าค่าต่ำกว่ามาตรฐานมาก ดังนั้น เมื่อทางศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรมีโครงการผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศขึ้นจึงเข้าอบรมแล้วตั้งใจว่าจะลงทุนอีกครั้งเพื่อนำปุ๋ยหมักเติมอากาศมาใช้เพื่อให้ดินกลับมามีคุณภาพเหมือนเดิม

คุณบุญเกื้อ ทองแท้ กับรงผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศของศูนย์วิจัยพืชชุมพร

โรงปุ๋ยหมักเติมอากาศของคุณรำเพชรมีขนาดความจุ 2 ตัน ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 2.5 เมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 5 หมื่นบาท หมักมาได้ เดือนกว่า ส่วนวัสดุที่ใช้เป็นส่วนผสม ได้แก่ ขี้ไก่แกลบ จำนวน 30 กิโลกรัม ขี้วัว จำนวน 30 กิโลกรัม และขุยมะพร้าว 10 กิโลกรัม สำหรับปุ๋ยที่หมักแล้วจะนำไปใช้กับต้นทุเรียน ส้มโอ และปาล์มน้ำมัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร โทรศัพท์ (077) 556-073, (077) 556-194

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์