“สวนแก้วมังกรสมคิด” ปลูกเสริมจากการทำนา สร้างรายได้ดี ที่วชิรบารมี พิจิตร

คุณสมคิด บุญทูล เจ้าของสวน “สวนแก้วมังกรสมคิด” บ้านเลขที่ 36/2 หมู่บ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร โทร. (094) 229-6545

การขายแก้วมังกรของที่สวนนั้น ตอนนี้เน้นขายในจังหวัดเท่านั้น เน้นการขายเอง เช่น วางขายตามตลาดนัด ขายให้กับลูกค้าที่สั่งจองเอาไว้ ส่วนหนึ่งก็ขายออนไลน์ ราคาขายก็จะตามขนาดไซซ์ผล เช่น ผลแก้วมังกร ขนาด 2 ผล ต่อกิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 35 บาท ผลแก้วมังกร ขนาด 3 ผล ต่อกิโลกรัม
ขายกิโลกรัมละ 30 บาท ขนาด 4 ผล ต่อกิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งผลแก้วมังกรจะแบ่งไซซ์หรือขนาดง่าย เพราะขนาดจะไล่เลี่ยกัน วิธีการเก็บผลผลิต ต้องให้ผลแก้วมังกรมีสีแดงทั่วทั้งผล เมื่อผลของแก้วมังกรสุกเต็มที่แล้ว ให้ใช้กรรไกรตัดกิ่ง ตัดตรงผลของแก้วมังกรออกมาจากกิ่ง โดยระวังไม่ให้กิ่งเสียหาย

คุณนัน บุญทูล เจ้าของสวนแก้วมังกรสมคิด กำลังเก็บผลผลิตออกจำหน่าย

ส่วนราคาทางสวนก็อ้างอิงตามท้องตลาด อย่างปีนี้ก็ราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 20-35 บาท ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยข้อดีของการปลูกเองขายเองโดยตรง ตัวเกษตรกรก็จะได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย การเก็บผลแก้วมังกรก็ไม่ต้องรีบมาก จะเน้นเก็บผลที่แก่ 100 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งจะได้แก้วมังกรมีรสชาติที่หวานจัด ทำให้ลูกค้าติดใจแก้วมังกรจากที่สวนมาก ซึ่งถ้าเราเก็บผลแก้วมังกรที่ไม่แก่จัด จะทำให้รสชาติแก้วมังกรจะติดรสเปรี้ยว เนื่องจากการขายเหมาออกมาจากสวนจำนวนมากๆ นั้น เท่าที่ทราบพ่อค้าจะเก็บที่ความแก่แค่ 70 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น เพราะกว่าจะขนส่งถึงแผงปลายทางจะเก็บแก่จัดมากไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าที่รับประทานอาจจะไม่ประทับใจ อันนี้เป็นข้อสำคัญที่ทางสวนจะเน้นมาก ตัวอย่าง ลูกค้าบางคนที่ไม่ชอบแก้วมังกรเลย พอได้ชิมแก้วมังกรที่เก็บแก่จัดของสวนเรากลับกลายเป็นลูกค้าประจำ สั่งครั้งละ 10 กิโลกรัมแช่ตู้เย็นเก็บไว้รับประทานเลยก็มี

สวนแก้วมังกรสมคิด พื้นที่ 8 ไร่ จำนวน 900 หลัก

แล้วการขายของที่สวนก็จะเน้นเก็บขายแบบวันต่อวัน เก็บผลให้พอแค่ขายหมด อย่างเก็บขายตลาดนัดก็ครั้งละ 100-200 กิโลกรัม แล้วตอนนี้ที่สวนก็ได้การรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว เนื่องจากอนาคตอาจจะส่งผลผลิตส่วนหนึ่งเข้าห้างสรรพสินค้า และยังสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าด้วยว่าแก้วมังกรของที่สวนปลอดภัยจากสารเคมี

อย่างตัวเลขของการขาย อย่างปีแรกๆ อาจจะยังน้อย ประมาณ 40,000 บาท เท่านั้น เนื่องจากยังขาดประสบการณ์ในการดูแลรักษาต้นแก้วมังกร คือบำรุงน้ำและปุ๋ยมากจนเกินไป ประกอบกับอากาศในปี 2559 ร้อนจัด ทำให้ต้นแก้วมังกรเน่าเป็นจำนวนมาก เราจึงต้องตัดยอดและลำต้นที่เน่าทิ้งไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียโอกาสในเรื่องของกิ่งที่จะให้ผลผลิตไปช่วงหนึ่ง รายได้ในปีแรกก็ถือว่ายังไม่ดีนัก ซึ่งในปีแรกอาจจะได้เงินนับแสนบาทก็ได้ ถ้าไม่เกิดความเสียหาย หลังจากที่มีประสบการณ์ก็รู้แล้วว่า แก้วมังกรนั้นไม่ได้ชอบน้ำมากแต่อย่างใด เพียงแต่แค่รักษาความชื้นของดินก็พอเพียงแล้ว อาจจะแค่เดือนละ 1-3 ครั้งเท่านั้น ส่วนในฤดูฝนนั้นไม่ต้องให้น้ำเลย ชอบแสงแดดพอเหมาะ โล่งแจ้ง

สวนแก้วมังกร จะเน้นเลือกเก็บผลที่แก่เต็มที่เท่านั้น เพื่อให้ได้รสชาติหวานจัด

ในเรื่องของการให้ปุ๋ยก็จะเน้นเพียงปุ๋ยคอกเท่านั้น เพื่อเน้นปรับปรุงโครงสร้างดินและช่วยเรื่องความสมบูรณ์ของต้น ปุ๋ยเคมี ก็จะใช้ปุ๋ย สูตร 8-24-24 ปีละ 1-2 ครั้ง เท่านั้น เนื่องจากปุ๋ยสูตรนี้ค่อนข้างเหมาะ คือช่วยสะสมอาหารได้ ช่วยในการออกดอกได้ดี และเพิ่มความหวาน เนื่องจากมีสูตรตัวท้ายสูง และตัวเลขการขายแก้วมังกรในปีนี้คร่าวๆ ก็น่าจะมีหลักแสนบาทแน่นอน

ศัตรูของผลแก้วมังกร ก็มีหลายชนิด เท่าที่สังเกตนั้นคงขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูกด้วย เช่น มดคันไฟ เพลี้ยอ่อน (ตอมยอด) ด้วงค่อมทอง (แทะกินกลีบผล) หนอน (เจาะเปลือกและเนื้อ) เพลี้ยหอย (เกาะที่ปลายผล) หนอนแมลงวัน นก และหนู (เจาะทำลายผล) เพลี้ยไฟ (ผิวผลจะกร้านและตกกระลายพบน้อยมาก) หนอนบุ้ง เพลี้ยแป้ง ด้วงปีกแข็ง แต่เรื่องศัตรูสำคัญของแก้วมังกรที่สวนก็คงจะเป็นนกเอี้ยง ที่จะมาจิกกินผลแก้วมังกรมากกว่า ก็ต้องปล่อยไป เนื่องจากยังป้องกันได้ยากพอสมควร แม้จะลองมาหลายวิธีแล้วก็ตาม เรื่องโรคและแมลงก็ไม่ได้มีอะไรมารบกวนมากนัก อย่างโรคโคนเน่า สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคโคนเน่า เนื่องจากการให้น้ำมากจนเกินไป ก็ต้องควรระวังการให้น้ำ และควรให้น้ำในอัตราที่เหมาะสม หากเกิดโรคแล้วให้ปาดเนื้อที่เน่าออก แล้วนำปูนแดง (ปูนทาหมาก) ทาที่แผลหรือใช้ยาป้องกันเชื้อราทาก็ได้

คุณทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ (ผู้เขียน), เจ้าของสวนแก้วมังกร, คุณเฉิน ชิง เฉิน

สวนแก้วมังกรของเรามุ่งเน้นเรื่องรสชาติมากกว่า และพยายามบริหารจัดการเรื่องการให้น้ำแบบเหมาะสม ตอนนี้ถือว่าต้นทุนการปลูกดูแลรักษาแก้วมังกรค่อนข้างน้อยมาก แก้วมังกรเป็นพืชที่ให้ผลผลิตสูง ทำให้รายได้จากการขายแก้วมังกรหลังจากหักลบรายจ่ายก็ถือว่าแก้วมังกรเป็นพืชที่สร้างรายได้ดีพอสมควร ก็ถือว่าเป็นสวนผลไม้ที่สามารถทำประกอบไปกับอาชีพการทำนาได้เป็นอย่างดี คุณสมคิด บุญทูล กล่าวอย่างภูมิใจ

 การปลูกแก้วมังกรในไต้หวัน ขายได้ กิโลกรัมละ 90 บาท  

ผู้เขียน จะขอเล่าเสริมจากประสบการณ์การดูงานการปลูกแก้วมังกรที่ไต้หวัน ซึ่งมีความน่าสนใจอยู่หลายเรื่องที่อาจจะนำมาประยุกต์ใช้ได้ในการปลูกแก้วมังกรในบ้านเรา ผู้เขียนเองได้มีโอกาสเข้าดูงานเกษตรเยี่ยมชมแปลงปลูก “แก้วมังกร” เมืองไทจง ไต้หวัน ซึ่งเป็นแปลงแก้วมังกรที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน จากการสอบถามเจ้าของสวนได้อธิบายว่าตนเองปลูกแก้วมังกรมาได้เพียง 6 ปี แต่ด้วยความตั้งใจ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาปลูกแก้วมังกร เขาเองเคยปลูกผักกะหล่ำปลีมาก่อน แต่ด้วยความสนใจ มุ่งมั่น เอาใจใส่ จึงได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และส่วนหนึ่งได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในเรื่องของเงินลงทุนในการลงทุนครั้งแรก ลงทุนไป ประมาณ 30 ล้านบาท โดยลงทุนเรื่องของโครงสร้างแปลงปลูก และโรงเรือน นอกจากจะปลูกแก้วมังกรกลางแจ้งแล้ว ซึ่งแปลงปลูกส่วนหนึ่งได้แบ่งเป็นแปลงที่ต้องกางมุ้ง และมีระบบการให้ไฟแก่แก้วมังกร เพื่อเป็นการบังคับให้แก้วมังกรออกตามต้องการ หรือให้แก้วมังกรออกดอกและติดผลทั้งปีตามที่ต้องการ เพื่อผลิตแก้วมังกรนอกฤดูที่มีราคาสูง ด้วยที่สวนแก้วมังกรแห่งนี้สามารถขายแก้วมังกรได้ราคาสูง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 90 บาท ตลอดทั้งปี ทั้งขายตรงและขายผ่านระบบการประมูลในตลาดเช้าของไต้หวัน เจ้าของสวนชาวไต้หวันยังบอกเล่าอีกว่า ในช่วงเทศกาลวันสำคัญ อย่างช่วงตรุษจีนนั้น สามารถขายแก้วมังกรได้สูงถึงกิโลกรัมละ 400 บาท นั่นสร้างความน่าทึ่งให้กับคณะดูงานเป็นอย่างมาก เจ้าของสวนยังพาคณะเยี่ยมชมสวนแก้วมังกร โดยทั่วพบว่า สวนแก้วมังกรมีการจัดการสวนที่ดีมาก มีการจัดแปลงปลูกให้เครื่องจักรเล็กสามารถเข้าทำงานได้สะดวก ส่งผลให้ใช้แรงงานน้อยลง ผลผลิตไม่บอบช้ำจากการขนย้ายที่ไม่ดี ทำงานได้รวดเร็ว เป็นต้น

แปลงปลูกแก้วมังกรที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน

ซึ่งเจ้าของสวนแก้วมังกร ได้เล่าว่า เนื้อที่การปลูกแก้วมังกรของเขามีทั้งหมด ประมาณ 44 ไร่ น่าจะเป็นแปลงปลูกแก้วมังกรขนาดใหญ่ที่สุดในตอนนี้ รูปแบบแปลงปลูกแก้วมังกรแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แปลงแก้วมังกรที่ปลูกแบบกลางแจ้ง และแปลงแก้วมังกรที่ปลูกในโรงเรือนที่สามารถเปิดหรือปิดหลังคาโรงเรือนที่เป็นตาข่ายได้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการผลิตให้เป็นได้ตามที่ต้องการ มีการใช้แสงไฟเพื่อเร่งการเจริญเติบโต โดยตอนกลางคืนจะเปิดไฟไว้ตลอด เพื่อให้แก้วมังกรคิดว่าเป็นตอนกลางวัน ซึ่งเป็นเทคนิคการทำให้แก้วมังกรออกผลตลอดทั้งปี (หรือทำนอกฤดู) และการทำการเกษตรที่ไต้หวัน ผลไม้ทุกชนิดจะนิยมห่อผลด้วยถุงห่อ เพื่อผลผลิตผลไม้ที่ความปลอดภัย และเพื่อให้ผลมีสีผิวสวยงามมากขึ้น โดยในขั้นตอนการห่อผลจะใช้ถุงห่อที่ออกแบบมาเฉพาะในการห่อผลแก้วมังกร ซึ่งทำให้การห่อผลแก้วมังกรทำได้โดยง่าย และรวมถึงการแกะถุงออกได้ง่ายในการเก็บเกี่ยว

เกษตรกรไต้หวันใช้ถุงห่อผลแก้วมังกร เพื่อทำให้ผิวสวยและป้องกันศัตรูต่างๆ ที่จะมาทำลายผิว

ขั้นตอนการปลูกแก้วมังกรในไต้หวัน

การปลูกแก้วมังกรด้วยกิ่งปักชำ ใช้ระยะปลูกระหว่างต้นเพียง 30 เซนติเมตร เท่านั้น ยึดลำต้นแก้วมังกรให้เลื้อยขึ้นตั้งตรง โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นหลัก ลักษณะโครงสร้างของค้างแก้วมังกรที่ไต้หวัน เน้นเรื่องความคงทนและแข็งแรง โครงสร้างค้างที่ใช้เหล็กและใช้ลวดสลิงในการปลูกแก้วมังกรแล้วเดินระบบน้ำผ่านกลาง ที่สวนแก้วมังกรแห่งนี้ ได้มีการประหยัดเนื้อที่ด้วยการปลูกแก้วมังกรแบบ 2 ชั้น คือได้ผลผลิตทั้งจากด้านบนและด้านล่าง ผลผลิตแก้วมังกรที่ปลูกแบบ 2 ชั้นนี้ จะทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว เป็นแนวคิดที่จะเพิ่มผลผลิต ในพื้นที่การเกษตรอันจำกัดของไต้หวัน นอกจากนั้น เกษตรกรไต้หวันเน้นการจัดการด้วยเครื่องจักร เน้นการทำงานที่สะดวกและรวดเร็ว สังเกตว่าช่องว่างระหว่างแถวนั้น เครื่องจักรขนาดเล็กสามารถเข้าไปทำงานได้สะดวก

เกษตรกรไต้หวันกำลังใช้มีดตัดแต่งดอกแก้วมังกรที่มีจำนวนมากต่อกิ่งทิ้ง

การตัดปลายกิ่ง เพื่อกระตุ้นให้ออกดอก

แก้วมังกร เป็นพืชที่ออกดอกง่ายและติดผลดก แต่ถ้าจะให้ได้คุณภาพควรมีการตัดแต่งดอกออกไว้ผลให้พอเหมาะ เพื่อให้ผลแก้วมังกรได้คุณภาพ หลังการบังคับให้ออกดอก ต้องมีการตัดแต่งปลายกิ่งออกเพื่อช่วยเรื่องของการสะสมอาหารให้แก่ผลแก้วมังกร และเป็นการเปิดแดดให้ส่องผ่านให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลังดอกแก้วมังกรออกดอกนับไปอีกประมาณ 45 วัน ผลผลิตก็จะแก่เก็บเกี่ยวได้ สวนแก้วมังกรที่ไต้หวันสังเกตว่าจะเลือกไว้ผลแก้วมังกรส่วนของปลายกิ่ง และอยู่ในระดับความสูงที่คนงานสามารถห่อผลและเก็บผลหรือทำงานได้ง่าย หลังการบังคับให้ต้นแก้วมังกรออกดอก ดอกจะออกมาจำนวนมาก ควรต้องมีการคัดเลือกดอกที่สมบูรณ์ไว้เพียงดอกเดียวต่อกิ่ง หรือติดผลเพียงผลเดียวต่อยอด แก้วมังกรเป็นพืชที่ออกดอกและติดผลมาก ฉะนั้น ต้องมีการเลือกไว้ผลที่เหมาะสม จึงจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีดที่เกษตรกรไต้หวันใช้ในการตัดดอกแก้วมังกรทิ้ง เกษตรกรไต้หวันกำลังใช้มีดตัดแต่งดอกแก้วมังกรที่มีจำนวนมากต่อกิ่งทิ้ง ตัดให้เหลือดอกที่สวยสมบูรณ์ที่สุดไว้เพียงดอกเดียวต่อกิ่ง วิธีการตัดเพียงเฉือนเบาๆ ดอกก็ขาด
การตัดแต่งดอกที่ดีมีความเหมาะสมบริเวณชายกิ่ง จะทำให้การห่อผลง่ายและเก็บเกี่ยวผลผลิตง่ายด้วย สังเกตว่าการไว้ดอกให้ติดผล จะเน้นไว้ส่วนของปลายกิ่งและให้อยู่ระดับเดียวกัน

การห่อผลแก้วมังกรที่ไต้หวัน

ชาวสวนผลไม้ไต้หวันเน้นการห่อผลไม้ทุกชนิดด้วยถุงห่อ เพื่อทำให้ผลไม้ผิวสวยแล้วเน้นการผลิตผลไม้ที่ปลอดภัยจากสารเคมีและป้องกันศัตรูพืชทำลาย ถุงห่อแก้วมังกรจะออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อใช้ห่อผลแก้วมังกร และก้นถุงจะมีรูระบายอากาศ 2 รู พับถุงห่อให้คลุมผลมิดชิด แล้วใช้ตัวหนีบผ้าหนีบถุงห่อให้แน่น เพื่อสะดวกต่อการห่อและการเก็บผล หลังจากห่อผลได้เพียง 25-30 วัน ก็จะสามารถเก็บผลผลิตได้

แรงงานกำลังเก็บผลแก้วมังกร แปลงปลูกเน้นการใช้เครื่องจักรเข้าทำงานได้สะดวก

การคัดแยกผลผลิตด้วยเครื่องคัด

เมื่อขนย้ายผลแก้วมังกรมาจากแปลง ก็จะเอาเข้ามาในโรงคัดผลผลิต เกษตรกรนำผลแก้วมังกรเข้าเครื่องคัดน้ำหนัก เพื่อให้ได้ตามเกณฑ์ที่จะขายส่งตลาดนั้นๆ เครื่องคัดน้ำหนักทำให้เกษตรกรสามารถแยกขนาดได้อย่างรวดเร็ว และแบ่งเกรดในการจัดส่งได้อย่างง่ายดาย การทำงานของเครื่องคัดแยกน้ำหนัก ผลผลิตแก้วมังกรจะมีความสม่ำเสมอกัน สามารถเลือกใส่ตะกร้าหรือบรรจุลงกล่องได้อย่างพอดีกล่อง เครื่องคัดน้ำหนักจะถูกตั้งค่าน้ำหนักเอาไว้ เมื่อผลไปตามช่องที่กำหนด ผลแก้วมังกรก็จะกลิ้งตกลงไป ผลแก้วมังกรมีขนาดที่สม่ำเสมอ เกรดที่ส่งตลาดก็จะนำมาบรรจุตะกร้าส่งขายภายในวันนั้นๆ เกรดที่บรรจุกล่อง ติดสติ๊กเกอร์สวนพร้อมส่งขายภายในวันนั้นๆ เช่นกัน ผลผลิตส่วนหนึ่งจะถูกเก็บรักษาในห้องเย็น ที่อุณหภูมิ 2-4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นข้อดีมากสำหรับเกษตรกรที่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานถึง 1 เดือน ในโรงคัดเกษตรกรก็เฝ้าระวังแมลงวันผลไม้ที่จะมาต่อยผลแก้วมังกรขณะคัด โดยจะใช้ผลแก้วมังกรผ่าครึ่งผลล่อแล้ววางแผ่นกาวไว้ใกล้ๆ เพื่อดักจับ ส่วนรสชาติแก้วมังกรที่ไต้หวันนั้นรสชาติหวาน รับประทานอร่อยมาก เนื้อแน่น เนื่องจากสังเกตว่าเก็บผลแก้วมังกรที่แก่จัดจำหน่ายนั่นเอง

ซึ่งที่ไต้หวันยังคงนิยมรับประทานแก้วมังกรเนื้อสีขาวเป็นหลัก แก้วมังกรเป็นผลไม้สุขภาพชนิดหนึ่งที่คนไต้หวันนิยมรับประทาน โดยผลผลิตทั้งหมดของสวนแห่งนี้ขายภายในไต้หวันทั้งหมด เฉลี่ยกิโลกรัมละ 90 บาท        

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์