“มะพร้าว…พืชเศรษฐกิจทำเงิน” นานาพันธุ์มะพร้าว วิธีปลูกอย่างมีคุณภาพ การแปรรูป

“มะพร้าว” เป็นอีกหนึ่งไม้ผลที่เมื่อลืมตาบนประเทศนี้ก็ได้พบเห็นทันที แล้วที่คุ้นและชอบกันมากตั้งแต่เด็กจนโตคือน้ำมะพร้าวอ่อนที่มีรสหวาน หอม ดับกระหาย ชื่นใจ

แต่เดิมมะพร้าวนำมาใช้ในวงจำกัด เช่น มะพร้าวแกงในอุตสาหกรรมกะทิ หรือดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน จนเมื่อมีงานวิจัยแพร่กระจายออกไปถึงคุณค่าและประโยชน์ของน้ำมะพร้าว รวมถึงผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่มีต่อร่างกายนับไม่ถ้วน จึงทำให้ผู้คนทั่วไปหรืออาจจะเกือบทั่วโลก เริ่มหันมาบริโภคมะพร้าวกันอย่างตื่นตัว

โดยเฉพาะเมื่อมีพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมเกิดขึ้น จึงสร้างความคึกคักต่อวงการตลาดมะพร้าวอีกหลายเท่า มีกลุ่มต่างๆ หันมาจับธุรกิจผลิตน้ำมะพร้าวในรูปแบบต่างๆ ออกมาวางขาย ขณะที่น้ำกะทิก็เพิ่มจำนวนการผลิตส่งขายตลาดในและต่างประเทศตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้ราคามะพร้าวเพิ่มสูงขึ้น

มีชาวบ้านหลายพื้นที่ปรับเปลี่ยนจากพืชชนิดเดิมมาปลูกมะพร้าวแทน หรืออาจปลูกเป็นพืชแซม ซึ่งบางรายก็ประสบความสำเร็จ ขณะที่บางรายผลผลิตที่ได้ยังไม่ดีเท่าที่ควร แล้วบางรายโชคร้ายประสบปัญหาศัตรูเข้าทำลายต้นมะพร้าวสร้างความเสียหายหมดเนื้อหมดตัวไปก็มี

หลากหลายสาขาอาชีพมากันอย่างคับคั่ง

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักสำหรับผู้อยู่ในวงการมะพร้าวในตอนนี้คือมีความพร้อมเพื่อจะรับมือมากแค่ไหน มีความเข้าใจพันธุ์มะพร้าวดีหรือยัง เข้าใจวิธีปลูกเพื่อให้ได้มะพร้าวมีคุณภาพหรือไม่ หรือหากปลูกมะพร้าวแล้วเจอปัญหาแมลงศัตรูควรจะหาทางป้องกันอย่างไร เพราะหากได้รู้เท่าทันในสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว มะพร้าวจะเป็นพืชที่สร้างเม็ดเงินให้คุณได้จำนวนมาก

กองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้านจึงได้นำประเด็นเหล่านี้มารวบรวมแล้วจัดสัมมนาขึ้นในหัวข้อ “มะพร้าว…พืชเศรษฐกิจทำเงิน’” ซึ่งได้จัดไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุม หนังสือพิมพ์ข่าวสด ประชานิเวศน์ 1 กรุงเทพฯ

เป็นที่น่าดีใจมากเพราะเวทีนี้ได้รับความสนใจจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพเข้ามาฟังเนื้อหาการบรรยาย รวมถึงได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจต่อการรับมือกับสถานการณ์ของตลาดมะพร้าว

ถึงแม้การสัมมนาจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ความสำคัญของเนื้อหาในคราวนั้นยังมีอยู่ ดังนั้น ทางกองบรรณาธิการได้รวบรวมเนื้อหาการสัมมนาในวันดังกล่าวมาตีพิมพ์ให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลกันอีกครั้ง โดยจะทยอยนำเสนอเป็นตอน แต่ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นเนื้อหาการบรรยายจากคณะวิทยากรในช่วงแรก ใคร่ขอนำเสนอการกล่าวรายงานและคำกล่าวเปิดงานจากทางผู้บริหารเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบที่มาและความสำคัญของการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้

คุณพานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน กล่าวรายงาน

เป็นโอกาสดีที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “มะพร้าว…พืชเศรษฐกิจทำเงิน” ในครั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ข้อมูลมะพร้าวของกองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้านพบว่า ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าวอ่อน มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวแกง ต่างล้วนมีราคาสูงขึ้น เพราะมาจากธุรกิจค้าขายมะพร้าวทั้งวงจรได้รับความสนใจมากขึ้น ตลาดผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้น

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในหลายช่องทางการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นหนังสือรายปักษ์ที่ทุกท่านคุ้นเคยมายาวนาน จนมาถึงทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ที่ทำให้ทุกท่านสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวทางการเกษตรได้อย่างรวดเร็วทันที จึงไม่ตกข่าวเลย

สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นการสื่อสารอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ผู้ปลูก ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค ได้มีโอกาสมาเจอกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนรับทราบปัญหาต่างๆ ของการปลูกมะพร้าว

งานสัมมนาครั้งนี้ ทางผู้จัดงานได้กำหนดหัวข้อและประเด็นที่น่าสนใจให้ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุ์ การผลิต การตลาด ตลอดจนเรื่องการกำจัดศัตรูมะพร้าวที่เป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ

การสัมมนาในครั้งนี้ทางผู้จัดขอขอบพระคุณผู้สนับสนุนการจัดงาน อันได้แก่ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด, บริษัท ออล โคโค กรุ๊ป จำกัด รวมถึงบริษัท ปุ๋ยอินทรีย์ตรากุญแจ จำกัด แบรนด์ BRR

ดร.เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน)กล่าวเปิดงาน

ดร.เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงาน

เป็นอีกครั้งที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับพืชพรรณทางการเกษตร หากดูจากหัวข้อการสัมมนาที่บอกว่าพืชเศรษฐกิจทำเงินแล้ว คงไม่ใช่เฉพาะมะพร้าว แต่พืชผักชนิดอื่นก็ทำเงินได้ เพราะที่ผ่านมามีการจัดสัมมนามาหลายชนิดตลอดเวลาหลายปี

ในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) อยากจะเรียนว่าองค์กรแห่งนี้มีสื่อในเครือถึง 7 ชนิด มีทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ นิตยสารรายปักษ์ และรายเดือน ตลอดจนหนังสือเล่ม อย่างที่ทางเทคโนโลยีชาวบ้านได้จัดทำเป็นเล่มเรื่องเกษตรหลังเกษียณ นับเป็นอีกหนึ่งหนังสือที่มีประโยชน์กับท่านที่กำลังจะเข้าวัยเกษียณหรือผ่านพ้นมาแล้ว เป็นการชี้ให้เห็นว่าการมีที่ดินเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำประโยชน์ทางด้านเกษตรได้แล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือ ท่านได้เพลิดเพลิน แล้วได้ถือโอกาสออกกำลังกายแบบเบาๆ กับกิจกรรมเกษตรในพื้นที่เพียงเล็กน้อย

มะพร้าวเป็นพืชอีกชนิดที่เราเกิดขึ้นมาก็เห็นแล้ว เพียงแต่ไม่รู้ว่ามีที่มาอย่างไรเท่านั้น น้ำกะทิจากมะพร้าวก็เห็นตั้งแต่เด็ก รู้จักอุปกรณ์ขูดเนื้อมะพร้าวที่เรียกว่า “กระต่าย” จากนั้นเมื่อนำไปคั้นน้ำกะทิรอบจากการคั้นจะเข้มข้นมากจะถูกเรียกว่าหัวกะทิ มีการนำไปประกอบอาหารเป็นแกงชนิดต่างๆ

นอกจากประเทศไทยที่นิยมบริโภคมะพร้าวแล้ว ในต่างประเทศหลายแห่งยังมีความนิยมเช่นเดียวกัน บางประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรปหรืออเมริกา เวลาจะปรุงแกงแบบไทยจะต้องใช้นมแทนกะทิมะพร้าว แต่ตอนนี้วิวัฒนาการไปไกลมาก ผู้คนทั่วโลกสามารถบริโภคกะทิได้จากผลิตภัณฑ์กะทิกล่องที่สะดวก ปลอดภัย จึงทำให้ชาวต่างชาติรู้จักมะพร้าวจากกะทิ แล้วนิยมทานกับข้าวไทยที่ใช้กะทิปรุงด้วย ดังนั้น จึงทำให้ตลาดกะทิในต่างประเทศขยายตัวในเรื่องการส่งออกอย่างดี

สำหรับในไทย มะพร้าวมีบทบาทสำคัญทั้งในเรื่องการนำมาทำอาหาร ทำขนม หรือเพื่อสุขภาพ ประเภทมะพร้าวมีทั้งมะพร้าวแกง มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวน้ำหอม โดยการบริโภคมีทั้งแบบทานสด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากตอนนี้ ไม่ว่าจะเดินทางไปจังหวัดไหนก็จะมีมะพร้าวน้ำหอมไว้บริการ มีจำหน่ายตามสถานที่หลายแห่ง รวมถึงริมถนนด้วย ท่านสามารถทานมะพร้าวน้ำหอมได้อย่างสะดวก เพียงแค่เฉาะส่วนด้านบนแล้วเสียบหลอดดูด

แล้วที่สะดวกกว่านั้น คือมีนวัติกรรมเครื่องเฉาะ-ปอกมะพร้าวแล้ว ยิ่งช่วยทำให้สะดวกขึ้นกว่าเดิมอีก แล้วยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้หันมาดื่มน้ำมะพร้าวกันมากขึ้น ทำให้เกษตรกรขายผลมะพร้าวเพิ่มขึ้น แล้วยังขายได้ราคาดีด้วย

ผศ.ประสงค์ ทองยงค์ ซึ่งเป็นวิทยากรที่ได้เชิญมาบรรยายในช่วงแรกนี้มีบทบาทสำคัญต่อวงการมะพร้าวมาก เพราะท่านปลูกและเพาะขยายพันธุ์มะพร้าวอ่อนอยู่ที่จังหวัดราชบุรี จึงใช้ชื่อพันธุ์ว่า “รบ.” อีกทั้งท่านยังเป็นครูของผมสมัยที่เรียนอยู่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ทั้งนี้ ผลงานการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวที่มีชื่อเสียงโด่งดังจนทำให้มีคนรู้จักมากมายก็มาจาก ท่าน ผศ.ประสงค์ ทองยงค์ นี่เอง

มะพร้าวพันธุ์ปากจก มีแถวจังหวัดพังงา

ความจริงแล้วสมัยก่อนตลาดมะพร้าวอ่อนและมะพร้าวน้ำหอมซื้อ-ขายกันยังไม่แพง แต่ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารทันสมัยมาก ผู้คนรู้จักสรรพคุณมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของมะพร้าวทั้งสองชนิด จึงทำให้ความสนใจบริโภคเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะมีการศึกษาเรื่องมะพร้าวที่มีประโยชน์กับสุขภาพ จึงทำให้ราคามะพร้าวอ่อนและมะพร้าวน้ำหอมเพิ่มขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ขณะเดียวกัน หลายพื้นที่หันมาปลูกเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดซื้อ-ขายทั้งในและต่างประเทศคึกคัก

ทุกวันนี้อาชีพเกษตรต่างจากสมัยก่อนมาก การจะมาพูดแบบเดิมว่า ทำอาชีพเกษตรแล้วฐานะไม่ดีคงไม่ใช่แน่ เพราะเมื่อวิวัฒนาการและเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมเปลี่ยนไป เทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนไป คนที่ทำเกษตรกรรมในสมัยจึงต้องเปลี่ยนไปด้วย จะเห็นได้จากหลายบทความที่ปรากฏในหนังสือเทคโนโลยีชาวบ้านได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเกษตรกรยุคใหม่หลายท่านมีรายได้ดีอย่างน่าทึ่ง แต่มิใช่ว่าทุกคนจะทำได้นะ เพราะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขความอดทน ความขยัน และความประหยัดเป็นที่ตั้งเสียก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วจะรวยขึ้นถ้าคุณไม่ใช้ความทุ่มเทและขยันหมั่นเพียร

มะพร้าวกะทิ

เพราะฉะนั้น อาชีพเกษตรกรรมสำหรับคนไทยยังคงมีความสำคัญแล้วยังคงมีอนาคตไกลอีกมาก เพราะแผ่นดินไทยมีความเหมาะสมอย่างมากต่อการทำเกษตรกรรมหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ ไปทั่วทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทยนี้ ทำให้ทุกพื้นที่มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ จนได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติว่าท่านเป็นพระราชาแห่งดิน

การสัมมนาครั้งนี้ทางผู้จัดไม่ได้หวังจะให้ผู้สัมมนาไปลงทุนปลูกมะพร้าวกัน เพียงแต่ต้องการเชิญให้มารับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าควรจะปลูกอย่างไร ปลูกจำนวนมาก/น้อยเท่าไร เพราะมะพร้าวสามารถปลูกได้ตามความต้องการ ตั้งแต่ปลูกแบบครัวเรือน ไปจนปลูกเพื่อเป็นธุรกิจ

ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย จึงทำให้ขณะนี้การติดตามข่าวสาร สาระด้านเกษตรไม่เพียงแค่อ่านจากนิตยสารรายปักษ์ แต่ท่านยังติดตามหาอ่านได้จากสมาร์ทโฟน เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน เวลาใด ก็สามารถรับรู้ข่าวสารได้ทันที หรืออีกช่องทางที่จะสามารถติดตามได้จากผลงานของกองบรรณาธิการคือ ทางเฟซบุ๊ก ทางเว็บไซต์ หรือแม้กระทั่งทางเฟซบุ๊กข่าวสด ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 20.30 น.

ขณะเดียวกัน มีข้อแนะนำว่าควรมีการตั้งกลุ่ม ชมรมมะพร้าว โดยใช้เทคโนโลยีมือถือเป็นสื่อสำหรับส่งผ่านข้อมูล ทั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อท่านอย่างมาก

พันธุ์รบ.3จากราชบุรีของผศ.ประสงค์ ทองยงค์

“ท้ายที่สุดนี้ขอขอบคุณท่านวิทยากรที่สละเวลามาถ่ายทอดความรู้เรื่องมะพร้าวในครั้งนี้ ขอขอบคุณภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน อีกทั้งขอให้การจัดงานสัมมนามะพร้าว…พืชเศรษฐกิจทำเงิน เป็นประโยชน์กับทุกท่านมากที่สุด”

สำหรับในคราวหน้าท่านผู้อ่านจะได้รับทราบข้อมูลจากคณะวิทยากรที่มาถ่ายทอดความรู้และมุมมอง ตลอดจนถ่ายทอดประสบการณ์ของมะพร้าวในด้านต่างๆ

ฉะนั้น อย่าพลาดที่จะติดตามอ่านในคราวต่อไป

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์