คนรุ่นใหม่ที่ อ.เบตง ตามรอยศาสตร์พระราชา ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทำเกษตรยั่งยืน

โครงการในพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีอยู่มากมาย เกษตรกรรายใดมองเห็นศาสตร์ใดของพระราชา ที่เหมาะกับตนเอง ก็มักจะหยิบนำไปใช้

เช่นเดียวกับ คุณสมชาย เชี่ยวชาญศิลป์ หรือ คุณชาย วัย 45 ปี เจ้าของสวนส้มโชกุนดาวทอง ที่อ.เบตง จ.ยะลา

คุณสมชาย เป็นที่รู้จักของนักวิชาการ เกษตรกร และสื่อมวลชน เมื่อเขาลุกขึ้นมาโค่นยางพารา บางส่วนของที่บ้าน แล้วปลูกส้มโชกุนเบตง ของดีจังหวัดยะลา

อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอำเภอที่อยู่ใต้สุดของประเทศ ตั้งอยู่ในเทือกเขาสันการาคีรี  มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง มีอากาศดี และมีหมอกตลอดทั้งปี

ด้วยภูมิอากาศเช่นนี้เอง อ.เบตง ในอดีต จึงเป็นแหล่งปลูกส้มโชกุนอย่างดี มีชื่อเสียง แต่ด้วยโรคระบาด และราคาไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ พากันโค่นต้นส้มทิ้ง และหันไปปลูกยางพารา

กระทั่งในปัจจุบัน เหลือพื้นที่ปลูกส้มโชกุน ในอำเภอเบตง ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

และด้วยความที่ไม่ต้องการให้ ส้มโชกุน เบตง เหลือแต่เพียงชื่อในตำนาน หลายภาคส่วนในจังหวัดยะลา จึงร่วมมือกันสนับสนุนเกษตรกรให้กลับมาปลูกส้มโชกุน

และคุณสมชาย เป็นหนึ่งในเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว ที่พยายามอนุรักษ์ของดีเมืองยะลาไว้

ประวัติคร่าวๆ ของคุณสมชายคือ บัณฑิตสาขาวิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลังจากจบปริญญาตรี คุณชายก็ทำงานไม่ต่างจากเพื่อนๆ ร่วมคณะอีกหลายคน นั่นคือเป็นพนักงานส่งเสริมการขายเคมีเกษตร ในบริษัทเอกชน ไม่ว่าจะเป็น บริษัทต่างชาติ หรือ บริษัทคนไทย แต่สำหรับคุณชาย หลังจากเรียนจบ ทำงานได้เพียง 8 ปี ตัดสินใจกลับบ้านเกิด ที่อ.เบตง จ.ยะลา

 

ทุนรอนเดิมที่บ้านคือทำสวนยางพารา 100 ไร่ คุณชายปรึกษากับครอบครัว ตัดทิ้ง ให้เหลือเพียง 50 ไร่ เนื่องจากราคายางพาราขึ้นเร็ว ลงเร็ว อยู่บนพื้นฐานความไม่แน่นอน  จากนั้นพลิกผืนดิน 50 ไร่นี้  ปลูกส้มโชกุน ซึ่งนับเป็นพืชปราบเซียนชนิดหนึ่งเลยทีเดียว

 

พื้นที่ส้ม 50 ไร่ ถูกโค่นทิ้งไปอีกครั้ง  ปัจจุบัน เหลือเพียง 20 ไร่ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ และเพื่อให้น้ำอันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงส้มราว 1,500 ต้น

 

ปัจจุบัน นอกจากส้มโชกุนแล้ว คุณสมชาย ยังบุกเบิกทำการเกษตรอีกหลายชนิด โดยมีแนวคิดที่น่าสนใจ ซึ่งเบื้องหลังแนวคิดดังกล่าว  ก็ได้จากการศึกษาพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะเป็นการทำฝายชะลอน้ำในสวน

“ฝายชะลอน้ำ นี่ผมดำเนินรอยตามศาสตร์พระราชาเลยครับ คือข้างสวนผม มีคลอง เวลาน้ำหลาก ไหลแรง ตลิ่งพัง กัดเซาะหน้าดิน การทำฝาย ช่วยได้เยอะ ซึ่งพระองค์ท่าน ก็พระราชทานแนวทางไว้ครับว่า การทำฝายชะลอน้ำ จะช่วยกักน้ำไว้ยามแล้ง และช่วยการพังทลายของดิน ร่วมกับการปลูกหญ้าแฝก”  คุณสมชาย ว่าอย่างนั้น และบอกอีกว่า  ที่ผ่านมา เราปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่างปลูกยางพารา จำนวนมากๆ ปริมาณมาก เราก็ฝากความหวังไว้กับยางพารา ซึ่งตลาดโลกเป็นผู้กำหนดราคา เกษตรกรได้แต่รอ ทีนี้หากเราปลูกพืชอื่นร่วมด้วย ในแนวเกษตรผสมผสาน ทำให้ความเสี่ยงเราลดลง มีพืชหลายชนิด

“ผมนำความรู้ที่เรียนมา และประสบการณ์ที่เคยทำงานมาปรับปรุง  ที่ผ่านมา เราปลูกพืชเชิงเดี่ยว ก็นำเรื่องเกษตรผสมผสานมาปรับใช้ ทำให้ความเสี่ยงลดลง ง่ายๆ คือ ปลูกทุกอย่างที่อยากกิน  พืชผักสวนครัว ไม้ผล  เลี้ยงปศุสัตว์ ปลา ความเสี่ยงลดลง คือ ถ้าเราเจอปัญหาเช่นราคายาง  เรายังมีพืชอื่น สละอินโด กาแฟอาราบิก้า ผักเหลียง แซมในสวนยาง  ตามแนวพระราชดำริ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พยายามดัดแปลงให้เป็น วนเกษตร  ตามความเหมาะสม   ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในเชิงเศรษฐกิจ  ยังได้ทำงานร่วมกับชุมชน จ้างแรงงานในชุมชน เมื่อตรงนี้เป็นต้นแบบ ก็พยายามทำศูนย์การเรียนรู้ให้สมบูรณ์ เพื่อส่งต่อความรู้ไปยังเกษตรกรหรือผู้สนใจคนอื่นๆ”

ปัจจุบัน คุณสมชายเป็นผู้ริเริ่มทำศูนย์การเรียนรู้สวนดาวทอง ที่ อ.เบตง มีเกษตรกร นักวิชาการ นักศึกษา เข้ามาเรียนรู้ดูงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งคุณสมชายบอกหลักง่ายๆ มาว่า “เราต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อน มั่นคง แข็งแรงแล้ว ก็จะได้ส่งต่อความรู้ไปยังคนอื่นๆ ได้”

ทั้งนี้ คุณสมชายบอกอีกว่า อีกราว 3 ปีสนามบินเบตง จะเปิดใช้บริการ และเมื่อถึงเวลานั้น เขาต้องการให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้  เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์ก หรือสถานที่สำคัญ สำหรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

และนี่เป็นอีกเรื่องราวๆ ดี ของผู้ที่ศึกษา เรียนรู้ และลงมือทำจริง ตามแนวพระราชดำริ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้กับประชาชนชาวไทย

 

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก คุณสมชาย  เชี่ยวชาญศิลป์