เผยแพร่ |
---|
สองผัวเมียเกษตรกรสงขลา ยึดเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ 1 ไร่ รายได้เดือนละ 5-6 หมื่นบาท ใช้เวลาถึง 14 ปี คุ้มค่ากับการรอคอย ผลผลิตมีราคาสูงกว่าที่จำหน่ายตามท้องตลาดกว่า 1 เท่าตัว
นายคำนึง สร้อยสีมาก อายุ 48 ปี และนางยุพิน สร้อยสีมาก อายุ 48 ปี สามีภรรยาชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ 2 บ้านดีหลวง ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา หันมาประกอบอาชีพทำเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเป็นเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ โดย “ใช้เนื้อที่เพียงแค่ 1 ไร่ แต่สามารถมีรายได้ถึงเดือนละ 5-6 หมื่นบาท”
โดยภายในแปลงเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีเนื้อที่ 1 ไร่ ได้ถูกเนรมิตให้เป็นสวนผักที่มีพืชผักเกือบครบทุกชนิดที่นิยมบริโภคและตลาดต้องการ ทั้งผักกินใบและผักสวนครัว พืชสมุนไพร เช่น ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง มะเขือ ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักขมแดง ผักขมเขียว โหระพา แมงลัก กะเพรา ขิง ข่า พริก มะนาว ดอกชมจันทร์ เรียกว่ามีครบจบภายในสวนเดียวและทุกอย่างเป็นผักปลอดสารพิษ ผ่านการรับรองจากกระทรวงเกษตรฯ ที่ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบทั้งดิน น้ำ และผลผลิต ซึ่งเป็นเกษตรอินทรีย์ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์
“คำนึง” และ “ยุพิน” บอกว่า สวนเกษตรอินทรีย์ ช่วยกันลงแรงทำกัน 2 คน ด้วยความอดทนและกว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ และให้ผลผลิตเต็มที่ต้องใช้เวลาถึง 14 ปี เริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วง 7 ปีหลัง เนื่องจากดินจะค่อยๆ ปรับสภาพให้สมบูรณ์ขึ้นและต้นทุนน้อยมาก เพราะไม่ใช้สารเคมี ส่วนปุ๋ยก็จะใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพเป็นหลัก
“ศัตรูพืช ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ จะใช้ตัวห้ำและตัวเบียน ซึ่งเป็นแมลงที่กินแมลงทุกชนิด มาปล่อยในแปลงผักเพื่อเป็นเพชฌฆาต ในการปราบปรามและควบคุมแมลงไม่ให้ทำลายผลผลิต และใช้วิธีสับเปลี่ยนหมุนเวียนปลูกพืชผักในแต่ละแปลงไม่ให้ซ้ำกันเพื่อตัดวงจรการขยายพันธุ์ของแมลง”