ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
ผลไม้ที่เป็นไม้ยืนต้นอีกชนิด พบว่าปลูกทั่วประเทศไทย แต่ไม่ค่อยได้พบเห็นกันบ่อยนักคือ ละมุด ทั้งที่ว่ากันว่า ละมุด เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทาน เพราะเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน มีกลิ่นหอม มีน้ำตาลสูง แต่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี ธาตุแคลเซียม และธาตุฟอสฟอรัส
ในตลาดผลไม้เมืองไทย แม้จะเดินเข้าออกในทุกวัน ทุกฤดูกาล ก็อาจไม่ได้เห็นผลไม้ชนิดนี้วางอยู่บนแผง จนเกือบลืมไปแล้วว่ายังมีอยู่
อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เป็นอำเภอหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่า มีละมุดอร่อยที่สุดของประเทศ เรียกติดปากกันว่า ละมุดบางกล่ำ (ภาคใต้เรียกละมุดว่า ลูกสวา)
แต่ปัจจุบันมีผลไม้อีกมากมายหลายชนิดขึ้นแท่นผลไม้ชื่อดังของจังหวัดไปแล้ว ทำให้ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา อนุมัติงบประมาณส่งเสริมการปลูกละมุดในพื้นที่อำเภอบางกล่ำอย่างจริงจัง เพื่อให้ชื่อเสียงละมุดบางกล่ำกลับมารุ่งเรืองเช่นอดีต
สวนที่ได้ชื่อว่า เป็นสวนที่มีละมุดผลใหญ่ รสชาติดีกว่าละมุดในละแวกใกล้เคียงทั้งหมดคือ สวนของ คุณจู้ฮ่อง เจริญแสง และ คุณจำเนียน เจริญแสง สองสามีภรรยา
คุณจู้ฮ่อง ฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับการปลูกละมุดให้ฟังว่า เขาเติบโตมากับสวนละมุด ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นต้นละมุดปลูกอยู่รอบบ้าน พ่อของคุณจู้ฮ่องบอกกับคุณจู้ฮ่องว่า นำพันธุ์ละมุดนี้มาจากเมืองกลันตัน (สมัยนั้น เมืองกลันตัน ตั้งอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ปัจจุบันเป็น รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย) เป็นพันธุ์ยักษ์ ผลใหญ่ ผลยาว ผิวสวย เนื้อเนียน กลิ่นหอม หวาน รสชาติดี และเมล็ดน้อย
และสวนละมุดที่คุณจู้ฮ่องเห็นมาตั้งแต่เด็ก ก็ตกเป็นสมบัติจากบรรพบุรุษสู่คุณจู้ฮ่องให้ได้ดูแลต่อเนื่อง
ไม่ต้องถามว่านานแค่ไหน เพราะต้นละมุดที่ปลูกอยู่หลังบ้าน มีต้นที่อายุมากที่สุดอยู่ 1 ต้น อายุประมาณ 130 ปี ลำต้นเจริญเติบโต แข็งแรง และให้ผลดกอย่างสม่ำเสมอ
พื้นที่รอบบ้านราว 2 ไร่ อยู่ติดคลองบางกล่ำ ที่อดีตใช้สัญจรทางน้ำ เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา ซึ่งการค้าขายก็ใช้เส้นทางคลองบางกล่ำ จนมีถนนตัดผ่าน การสัญจรและค้าขายทางน้ำก็ยุติลง
“คลองบางกล่ำ เป็นคลองที่เป็นเสมือนคลองสายหลักของอำเภอ ยาวไปเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา มีช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง มีความเค็มของน้ำทะเลเจือจางเป็นน้ำกร่อยผ่านคลองเข้ามา เมื่อก่อนทุกครั้งที่มีการขุดลอกคลอง ดินจากการขุดคลองก็นำขึ้นมาถมไว้ภายในสวน และดินนั้นเป็นดินเหนียวสีดำที่ดีมาก มีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์อยู่ในดิน”
ต้นละมุดเก่าแก่ราว 130 ปี มีเพียงต้นเดียว ในพื้นที่ 2 ไร่ รวมที่พักอาศัยด้วยแล้ว ยังมีละมุดอายุประมาณ 70 ปี อีกหลายต้น รวมทั้งสวนพื้นที่ 2 ไร่ มีละมุดประมาณ 45 ต้น ระยะปลูก 10×10 เมตร
คุณจู้ฮ่อง บอกว่า ละมุด เป็นพืชที่ดูแลง่าย ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีน้ำท่วม มีภาวะแล้ง ละมุดก็ยังไม่ตาย แค่ชะลอการเจริญเติบโตไปบ้างเท่านั้น แต่เมื่อกลับสู่สภาพปกติ ละมุดก็เจริญเติบโตดี ซึ่งนอกจากดินดีแล้ว เชื่อว่าเป็นเพราะสายพันธุ์ที่นำมาปลูกเป็นสายพันธุ์ที่ดีด้วย
การให้น้ำ หากสภาพอากาศปกติ ไม่จำเป็นต้องให้ ยกเว้นเกิดสภาวะแล้งต่อเนื่องนานมาก จึงให้น้ำ เพราะละมุดเป็นพืชที่มีเปลือกหนา และเก็บน้ำไว้ที่เปลือก ซึ่งเป็นธรรมชาติของต้นละมุดเอง
การให้ปุ๋ย ภายในสวนปราศจากสารเคมีปะปน เพราะทุกครั้งที่ให้ปุ๋ย คุณจำเนียน จะให้ปุ๋ยรอบโคนต้น และไม่กำหนดระยะเวลาการให้ ขึ้นกับความสะดวกของผู้ปลูก โดยทั่วไป ประมาณ 2-3 เดือน ต่อครั้ง และใช้ปุ๋ยขี้วัวหรือปุ๋ยขี้ไก่ ตามความสะดวกที่หาได้ในละแวกใกล้เคียงเช่นกัน
หลังลงปลูก ประมาณ 5 ปี ละมุดจะเริ่มให้ผลผลิต
ผลผลิตจะออกเต็มต้น เก็บไปจำหน่ายได้ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน และอีกช่วงในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
“ผลผลิตละมุดจะมากที่สุดในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน แต่หลังจากนั้นอาจเก็บได้เรื่อยๆ เพียงแต่ไม่มากเหมือนในฤดู หรือในบางปีที่สภาพอากาศดี น้ำดี มีผลผลิตให้เก็บขายได้ต่อเนื่องมาอีกหลายเดือน บางปีเก็บผลผลิตครั้งละมากๆ ได้ถึง 2 รอบ”
เมื่อถามถึงโรคและแมลงศัตรูพืช คุณจู้ฮ่อง ยืนยันว่า ละมุดเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีด้วยตนเองในธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้น โรคและแมลงศัตรูพืชจึงพบน้อย ที่ผ่านมาพบด้วงกัดยอด ทำให้เจริญเติบโต้ช้า และกินผล เมื่อผลมีขนาดใหญ่ แต่ด้วยการจัดการภายในสวนไม่ได้ใช้สารเคมี จึงใช้วิธีกำจัดแบบธรรมชาติ เมื่อพบด้วงกัดยอดและฝังตัวเข้าไปในลำต้น จะใช้ยาเส้นใส่เข้าไปในรูที่พบ อัดให้แน่น ก็เป็นการทำลายด้วงหรือแมลงที่เข้ามาทำลายละมุดได้อย่างดี
คุณจู้ฮ่อง เปรียบเทียบขนาดของละมุดภายในสวนที่เก็บได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าสวนอื่น น้ำหนักที่เคยเก็บได้อยู่ที่จำนวน 4-5 ผล ต่อกิโลกรัม หรือให้เห็นภาพชัดๆ ก็ขนาดเกือบเท่าผลส้มโชกุน ซึ่งขนาดผลมีผลต่อราคาซื้อขาย เช่น ขนาดใหญ่ 4-5 ผล ต่อกิโลกรัม ขายหน้าสวน ราคากิโลกรัมละ 100 บาท แต่ถ้าขนาดเล็กลงตามลำดับ ก็ขายในราคาหน้าสวน 40 บาท ต่อกิโลกรัม และ 60 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งนอกเหนือจากน้ำหนักผลที่มากแล้ว เนื้อละมุดมีความเนียนมาก ทั้งยังหวานหอมอีกด้วย
ต้นละมุด ก็เหมือนกับไม้ผลชนิดอื่น เมื่ออายุต้นมากขึ้น ผลผลิตที่ได้จะมากขึ้นด้วย โดยคุณจำเนียนบอกว่า ละมุดแต่ละต้นให้ผลผลิตไม่น้อย เก็บได้แต่ละฤดูกาล ต้นละ 150-200 กิโลกรัม ทีเดียว
ในอดีต คุณจู้ฮ่อง นำผลผลิตที่ได้ขึ้นรถโดยสารประจำทางไปขายยังตัวอำเภอหาดใหญ่ แต่ปัจจุบัน ละมุดบางกล่ำเป็นที่รู้จัก ทำให้ไม่ต้องนำไปขายด้วยตนเอง มีลูกค้ามาซื้อถึงบ้าน ในราคาที่ไม่ต่ำไปกว่าที่ต้องการเลย
แม้จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและตลาดเปิดกว้างสำหรับละมุดบางกล่ำ แต่การขยายพื้นที่ปลูกละมุดของคุณจู้ฮ่องและคุณจำเนียนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จากการสอบถามทราบว่า ต้นละมุดแต่ละต้นอายุไม่น้อย การขยายพันธุ์จึงทำได้ยาก วิธีที่สามารถทำได้มีเพียงวิธีเดียวคือ การทาบกิ่ง ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตร เพราะคุณจู้ฮ่องและคุณจำเนียนเคยทำก็ไม่ประสบความสำเร็จ
คุณอนุชา ยาอีด หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา อธิบายว่า พื้นที่ปลูกละมุดเดิมมีมาก แต่เมื่อความเจริญเข้าถึง รวมถึงการส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นร่วมด้วย ทำให้เกษตรกรบางรายเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจของพืชอื่น จึงโค่นละมุดแล้วปลูกพืชอื่นแทน ทำให้จำนวนสวนลดน้อยลงในทุกปี
คุณสมโภช นันทวงศ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศไม้ผลบางกล่ำ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศไม้ผลบางกล่ำ ก่อตั้งขึ้นมาเป็นเวลากว่า 2 ปี เป็นการรวมตัวของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบางกล่ำ 40 ราย พื้นที่ปลูกผลไม้กว่า 100 ไร่ เช่น ละมุด มังคุด กระท้อน และผักพื้นเมือง ซึ่อตำบลบางกล่ำมีจุดเด่นในการดูแลสวนโดยไม่ใช้สารเคมี และการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อสะดวกต่อการขอสนับสนุนงบประมาณส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนในการปรับปรุงสวนและดูแลผลผลิต นอกจากนี้ ยังใช้เวลาว่างในการแปรรูปผลไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตที่ได้ เช่น ละมุดผลเล็ก หากขายสดราคากิโลกรัมละ 20 บาท เมื่อนำมาแปรรูปเป็น ละมุดลอยแก้ว หรือสวาลอยแก้ว จำหน่ายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท โดยใช้ผลละมุดเพียง 1-2 ผล เท่านั้น
ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศไม้ผลบางกล่ำ กล่าวอีกว่า กลุ่มยินดีให้คำแนะนำในการเที่ยวชมสวนผลไม้ของเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะการให้ความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ละมุดบางกล่ำ ซึ่งเป็นไม้ผลที่ขึ้นชื่อของอำเภอ ทั้งนี้ มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ในพื้นที่บางกล่ำ โดยเปิดตลาดน้ำประชารัฐบางกล่ำ วัดบางหยี หมู่ที่ 4 ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ รองรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2560 และจะเปิดเป็นประจำทุกวันเสาร์เท่านั้น
ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์