ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล บอก เห็ดมีสรรพคุณเป็นยา

คำว่า “เห็ด” หรือ “ดอกเห็ด” ประกอบด้วย ก้าน (stipe) และหมวก (pileus) ใต้หมวกอาจเป็นครีบ หรือเป็นท่อ (tube) อันเป็นที่เกิด “สปอร์ (spore)” ซึ่งสปอร์นี้มีขนาดเล็กมากเรียกว่าจุล ขนาดต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ช่วยให้มองเห็น ปัจจุบัน ได้มีการจำแนก “เห็ด” แล้วกว่า 30,000 ชนิด มีทั้งที่เป็น “เห็ดกินได้”,
“เห็ดกินไม่ได้”, “เห็ดพิษ” บางชนิดกินแล้วเกิดประสาทหลอน บางชนิดกินแล้วถึงแก่ชีวิต
 แต่ในครั้งนี้เราจะพูดถึงประโยชน์ของเห็ดว่าสามารถนำมาทำอะไรบ้าง

หลายท่านคงรู้จักและเข้าใจกันดีว่าเห็ดกินแล้วมีประโยชน์ หรือส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันว่าเห็ดเป็นแค่ผักชนิดหนึ่ง ที่นำมาประกอบอาหารได้เพียงเท่านั้น แต่จะมีสักกี่ท่านที่รู้และเข้าใจว่า จริงๆ แล้วเห็ดนั้นเป็นยา สามารถนำมาสร้างประโยชน์ รักษาโรคภัยได้มากมาย คำว่า “เห็ดเป็นยา” คืออะไร วันนี้นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านมีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ดมาให้ความรู้ ซึ่งอาจารย์ท่านนี้ท่านได้ทำงานและศึกษาเรื่องเห็ดมาแล้วทั่วโลก

ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส (เห็ด) องค์การสหประชาชาติ ปี 2524-2548 อยู่ที่ ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บอกว่า เห็ดเป็นยา

ดร.อานนท์ เล่าให้ฟังว่า หลังจากตนเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ดกว่า 20 ปี ในต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2524-2548 อยู่ในเอเชีย 10 ปี อยู่ในแอฟริกา 14 ปี ขณะนี้เกษียณกลับมาก็ได้นำความรู้ใหม่ให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รู้เรื่องเห็ดอย่างถูกต้อง

คนทั่วไปจะเข้าใจว่า เห็ด นำมาทำแค่เป็นอาหารได้ ซึ่งทุกคนเข้าใจผิดมานานว่ามันเป็นแค่อาหาร ให้ความอร่อยเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วเห็ดทุกอย่างมีสรรพคุณเป็นยาทำได้มากกว่านั้น แต่เราไม่เคยพูดว่าเห็ดเป็นยา

“ผมสอนเรื่องเห็ดมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2516 เราก็สอนให้คนไทยรู้ว่าเห็ดเป็นอาหาร หมายความว่า การนำเห็ดไปประกอบอาหาร จะต้มหรือยำเท่านั้น ซึ่งผมก็สอนแบบนี้มาทั่วโลก พอไปถึงต่างประเทศถึงรู้ว่าต่างประเทศเขามีการนำเห็ดมาทำเป็นยานานแล้ว และบังเอิญกับที่ผมเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ และเป็นโรคเบาหวานอย่างรุนแรง ผมก็กินยาแอนตี้ฮิสตามีนมาตลอดชีวิต แต่ร่างกายไม่เคยดีขึ้น เมื่อกินไปนานๆ ร่างกายเริ่มมีผลข้างเคียง ตอนหลังไปเจอหมอที่เซาท์แอฟริกาบอกว่า ถ้ายังกินยาชนิดนี้ไปมากๆ จะมีผลต่อตาและร่างกายในส่วนอื่นๆ หลังจากนั้นผมจึงตัดสินใจเลิกกินยาชนิดนี้โดยเด็ดขาด หันมาพึ่งสมุนไพรแทน แต่เมื่อไปหาสมุนไพรตามต่างประเทศก็ไปเจอแต่เห็ดทั้งนั้น ประจวบเหมาะที่เราเป็นคนสอนเรื่องเห็ด จึงลองกินดู ปรากฏว่าตอนนี้ผมไม่ต้องกินแอนตี้ฮิสตามีนอีกแล้ว” ดร.อานนท์ กล่าว

เห็ดเป็นยา

สารเบต้ากลูแคนในเห็ด

ดร.อานนท์ บอกว่า เห็ดเป็นยานั้น คือจริงๆ แล้วเห็ดเป็นยาอยู่แล้ว เพราะเห็ดไม่สามารถผลิตอาหารได้เอง ต้องอาศัยการย่อยอาหารจากต้นไม้ หรือจากขี้เลื่อย เพราะฉะนั้นตัวเห็ดทั้งหลายจะเก็บสารอาหารที่สำคัญในตัวของมัน หรือเรียกว่า เบต้ากลูแคน แล้วเบต้ากลูแคนสำคัญอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น ในร่างกายของมนุษย์ตอนไม่สบายอุณหภูมิในร่างกายจะต่ำลง พบว่าวิธีรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบันและไม่มีผลข้างเคียงคือ การกินเบต้ากลูแคน ถามว่าเบต้ากลูแคนมาจากไหน เบต้ากลูแคนมาจากยีสต์แดง ซึ่งสมัยก่อนทางยุโรปกับอเมริกาต้องเลี้ยงยีสต์แดงเยอะมาก เพื่อนำมาทำเบต้ากลูแคนเสริมภูมิให้กับร่างกาย แต่ยีสต์แดงมีน้ำหนักโมเลกุลที่เล็ก ดังนั้น น้ำหนักของเบต้ากลูแคนที่ได้จะเบาตาม นั้นก็หมายความว่า เมื่อน้ำหนักเบาก็สร้างภูมิได้น้อยตามไปด้วย แต่ในเห็ดเราพบว่ามีสารเบต้ากลูแคนมากกว่ายีสต์แดงและหนักกว่า เพราะฉะนั้นในการสร้างเสริมภูมิจึงดีกว่า และถ้าถามว่าแล้วเห็ดชนิดไหน ที่มีเบต้ากลูแคนบ้าง ตอบได้เลยว่าเห็ดทุกชนิดมีเบต้ากลูแคน เพียงแค่ในเห็ดแต่ละชนิดจะมีน้ำหนักโมเลกุลที่ต่างกันมีมากน้อย และการทำงานในเรื่องของการเสริมภูมิไม่เหมือนกัน

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์