ผู้เขียน | สาวบางแค |
---|---|
เผยแพร่ |
ส้มโอ เป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ปลูกมากในพื้นที่อำเภอบ้านแท่นและอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ส่วนส้มโอพันธุ์เนื้อแดงที่มีความแปลกใหม่ของจังหวัดชัยภูมิ ถูกค้นพบโดย รศ.ดร. สังคม เตชะวงศ์เสถียร แห่งภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อยกย่องส้มโอเนื้อแดงให้เป็นสินค้าอัตลักษณ์เด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จึงตั้งชื่อใหม่ว่า “ส้มโอมณีอีสาน”
จุดกำเนิด “ส้มโอมณีอีสาน”
ส้มโอเนื้อแดงพันธุ์ใหม่ของจังหวัดชัยภูมิ ถูกค้นพบในโครงการวิจัยระบบการผลิตส้มโอคุณภาพดีและสร้างอัตลักษณ์ของส้มโอจังหวัดชัยภูมิ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ส้มโอพันธุ์ใหม่นี้กลายเป็นของดีประจำจังหวัดชัยภูมิ และเพิ่มมูลค่าทางตลาดแก่เกษตรกรชาวสวนส้มโอ
ตั้งแต่ ปี 2550-2560 คณะนักวิจัย ภายใต้การนำของ รศ.ดร. สังคม เตชะวงศ์เสถียร แห่งภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาวิจัยส้มโอพันธุ์ทองดี ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีศักยภาพของจังหวัดชัยภูมิ ที่มีลักษณะเด่นทั้งเปลือกบาง เนื้อมีรสหวานฉ่ำ คุณภาพเกรดส่งออก เมื่อศึกษารายละเอียดในแต่ละช่วงการผลิต พบว่า ส้มโอชัยภูมิมีคุณภาพใกล้เคียงกับส้มโอพันธุ์ทองดีจากแหล่งปลูกอื่น แต่กลับขายได้ในราคาที่ต่ำกว่า
ต่อมาคณะนักวิจัยได้ค้นพบส้มโอพันธุ์เนื้อแดง ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ชาวบ้านได้นำต้นกล้ามาปลูกแล้วกลายพันธุ์ ลักษณะเด่นของส้มโอพันธุ์นี้คือ เนื้อส้มโอมีสีแดงเข้ม เนื้อแน่น ไม่แฉะ เนื้อส้มโอที่เรียกว่า “กุ้ง” มีลักษณะตรงยาวเรียงตัวเป็นระเบียบ การค้นพบส้มโอเนื้อแดงพันธุ์ใหม่ ทำให้คณะนักวิจัยสนใจที่จะพัฒนาต่อยอดงานวิจัย เรื่อง “ส้มโอพันธุ์เนื้อแดง” ที่มีรสหวานอมเปรี้ยว ให้กลายเป็นส้มโอรสอร่อย ที่มีศักยภาพเชิงการค้าในอนาคต
คณะวิจัยได้ศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์เด่นของส้มโอเนื้อแดง ในพื้นที่อำเภอบ้านแท่นและอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เพื่อศึกษาความหลากหลายทางสัณฐานวิทยาของต้น ใบ และผล พบว่า ส้มโอเนื้อแดง มีรสชาติหลากหลาย ตั้งแต่ เปรี้ยว เปรี้ยวอมหวาน หวาน และหวานมาก ผลส้มโอในระยะเก็บเกี่ยวมีสีเนื้อผลถึง 5 กลุ่ม คือ ขาว เหลือง ชมพู แดงส้ม และแดง ค่าความหวานเฉลี่ย 7-11 องศาบริกซ์ ค่าความเปรี้ยว ร้อยละ 0.4-1.0
คณะวิจัยได้เก็บข้อมูลการปลูกส้มโอเนื้อแดง สายพันธุ์พื้นเมือง ของ คุณเสมียน นราพล เจ้าของสวนส้มโอในพื้นที่ บ้านบุ่งสิบสี่ หมู่ที่ 4 ตำบลโนนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ พบว่า ส้มโอเนื้อแดงจากแหล่งนี้เกิดจากการกลายพันธุ์ จนได้ส้มโอพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นดังนี้ คือ ผลสุกมีเปลือกเป็นสีทอง เปลือกในอมชมพู เนื้อสีแดงเข้มสะดุดตา มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีเมล็ดมาก อายุการเก็บเกี่ยวผลช้ากว่าส้มโอพันธุ์ทองดี ประมาณ 15 วัน คณะวิจัยได้เก็บสายพันธุ์ส้มโอแดงทั้ง 22 ต้น เพื่อนำไปใช้เป็นพันธุ์ต้นแบบในแปลงเกษตรกร มีการใช้เทคโนโลยีการจัดการที่เหมาะสมต่อไป
เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอเนื้อสีแดง ปลูกดูแลต้นส้มโอจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้คุณภาพผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงมุ่งศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ส้มโอเนื้อสีแดง การสร้างพันธุ์ส้มโอลูกผสม การระบุความจำเพาะของสายพันธุ์ แปลงรวบรวมพันธุ์ การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การขยายพันธุ์โดยวิธีการตอนและการเปลี่ยนยอด รวมทั้งนำเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ เช่น การควบคุมปริมาณน้ำ การจัดการธาตุอาหาร ฯลฯ มาใช้ปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มรสหวานให้กับส้มโอเนื้อแดง ให้มีรสชาติจัดจ้านมากขึ้น
เพื่อตอบสนองกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ คณะนักวิจัย มีเป้าหมายศึกษาวิจัยด้านโภชนาการเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระจากสารสีแดงเข้มของเนื้อส้มโอ ซึ่งเป็นสารแอนโทไซยานิน ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดสมองอุดตัน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ส้มโอเนื้อแดงของจังหวัดชัยภูมิให้มีความโดดเด่น เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอพันธุ์เนื้อแดง มีรายได้เพิ่มขึ้นในระยะยาว
“เที่ยวบ้านบุ่งสิบสี่” ชิมส้มโอพันธุ์พื้นเมืองรสอร่อย
บ้านบุ่งสิบสี่ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ในอดีตพื้นที่แห่งนี้ เกษตรกรทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ได้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน เพราะภูมิประเทศบ้านบุ่งสิบสี่ไม่เหมาะกับการทำนา ชาวบ้านจึงหันมาปลูกส้มโอพันธุ์พื้นเมือง ที่มีรสชาติอร่อยและได้ผลผลิตที่ดี จึงนำส้มโอไปแลกข้าว เกิดเป็นตำนานส้มโอแลกข้าวของท้องถิ่นแห่งนี้
คุณอัครวิทย์ หมื่นกุล ผู้ดำเนินงานโครงการศึกษาและพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยวบ้านบุ่งสิบสี่ เคยให้ข่าวเกี่ยวกับส้มโอสายพันธุ์ดั้งเดิมของบ้านบุ่งสิบสี่ว่า ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองของที่นี่มีรสชาติดีไม่แพ้ที่ใดเลย นอกจากมีรสชาติอร่อยแล้วยังมีความหอมเหมือนมะนาวเมล่อน บางต้นมีเปลือกบางและปอกเปลือกได้ง่ายอีกด้วย เช่น ขาวหอม ขาวหล่อน (ขาวจัมโบ้) ฯลฯ
ส้มโอพื้นเมืองบางต้นมีอายุไม่น้อยกว่า 150 ปี ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองจะมีกุ้ง 2 สี หากมีสีแดง จะเรียกว่า แดงและต่อท้ายตามตำแหน่งที่เกิด เช่น แดงภูคิ้ง แดงโรงสี แดงผาพัง หรืออื่นๆ หากส้มโอมีเนื้อสีขาว จะใส่คำว่า หอม ลงไป
ต่อมา หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่บ้านบุ่งสิบสี่ ปลูกส้มโอสายพันธุ์ส่งเสริม เช่น ทองดี ขาวแตงกวา ฯลฯ เป็นต้น ส่งผลให้ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองเริ่มถูกตัดโค่นต้นทิ้ง เนื่องจากพันธุ์พื้นเมืองมีขนาดลำต้นและทรงพุ่มขนาดใหญ่ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะส้มโอพันธุ์พื้นเมืองมีความหลากหลายแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนสายพันธุ์การค้าอื่นๆ จึงอยากให้มีการอนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองนี้ไว้ก่อนที่จะสูญหายหมดไป
ปัจจุบัน “บ้านบุ่งสิบสี่” นับเป็นแหล่งปลูกส้มโอที่สำคัญของพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกส้มโอขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 600 ไร่ เกษตรกรนิยมปลูกส้มโอพันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง เป็นหลัก ส่วน “มณีอีสาน” ส้มโอพันธุ์พื้นเมือง เพิ่งได้รับการโปรโมตให้เป็นพืชเศรษฐกิจของท้องถิ่น ยังมีพื้นที่ปลูกไม่มาก เพราะเพิ่งเป็นที่รู้จักในช่วง 1-2 ปีหลังนี้เอง
สวนส้มโอในพื้นที่บ้านบุ่งสิบสี่ มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร เพราะเป็นสวนที่ถูกล้อมรอบด้วยลำน้ำพรมตอนต้น บางรายนิยมปลูกส้มโอในสวนหลังบ้าน ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะคล้ายเกาะที่มีน้ำโอบรอบ ทำให้การปลูกและดูแลรักษาเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะมีสภาพดินและความชื้นเหมาะสม บ้านบุ่งสิบสี่ นับเป็นแหล่งปลูกส้มโอพันธุ์ทองดี และส้มโอพื้นเมืองที่มีรสชาติอร่อย ราคาไม่แพง และมีผลผลิตให้ชิมได้ทั้งปี ทุกฤดูกาล
พื้นที่บ้านบุ่งสิบสี่ มีภูมิประเทศที่สวยงาม เพราะอยู่ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง) มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ วิถีวัฒนธรรมและธรรมชาติ โดยชุมชนอย่างยั่งยืน ผู้สนใจสามารถแวะมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีในทุกฤดูกาล
ชมแหล่งปลูก “ส้มโอมณีอีสาน”
พี่ดาว-คุณทนงชัย อัยยะจักร์ เกษตรตำบลโนนทอง สำนักงานอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ประมาณช่วงปี 2546-2547 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินโครงการ ปรับระบบเพื่อพัฒนาระบบการผลิต (คปร.) โดยนำส้มโอพันธุ์ดี เช่น ส้มโอทองดี ส้มโอขาวแตงกวา ฯลฯ มาส่งเสริมให้เกษตรกรในหมู่บ้านบุ่งสิบสี่ ได้นำมาปลูก และขยายพันธุ์ ต่อมาส้มโอที่นำมาส่งเสริมให้ปลูกเกิดการกลายพันธุ์ กลายเป็นส้มโอเนื้อแดงที่มีลักษณะโดดเด่น และถูกเรียกว่า ส้มโอมณีอีสาน นั่นเอง
ปัจจุบัน ตำบลโนนทอง มี 14 หมู่บ้าน ซึ่งแหล่งปลูกส้มโอส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ บ้านบุ่งสิบสี่ บ้านเล่า บ้านริมพรม บ้านโนนหนองไฮ ทางกรมได้จัดงบประมาณเงินกู้ จำนวน 10 ล้านบาท ให้เกษตรกรนำไปใช้ปรับปรุงสวนส้มโอเข้าสู่ระบบส้มโอแปลงใหญ่ต่อไป โดยมีเกษตรกรเข้าสู่โครงการส้มโอแปลงใหญ่แล้ว จำนวน 151 ราย พื้นที่ปลูกส้มโอรวมทั้งสิ้น 624 ไร่
คุณเสมียน นราพล เกษตรกรเจ้าของสวนส้มโอมณีอีสาน ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านบุ่งสิบสี่ หมู่ที่ 4 ตำบลโนนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ โทร. (087) 278-5617 กล่าวว่า ปัจจุบัน คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ใช้สวนส้มโอของตน เป็นแปลงรวบรวมพันธุ์ส้มโอมณีอีสาน รวมทั้งศึกษาเรื่องการขยายพันธุ์ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตควบคู่กันไป
คุณเสมียน ทำสวนส้มโอ เนื้อที่ประมาณ 14-15 ไร่ ปลูกส้มโอพันธุ์ทองดีเป็นหลัก และปลูกส้มโอพันธุ์พื้นเมืองหลากหลายสายพันธุ์ มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตปีละ 500,000 บาท สำหรับส้มโอเนื้อแดง ที่เรียกว่า ส้มโอมณีอีสาน ที่คณะวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นค้นพบในสวนแห่งนี้ มีจำนวน 22 ต้น ปลูกดูแลง่าย เช่นเดียวกับส้มโอพันธุ์ทั่วไป หลังจากเปิดตัวส้มโอมณีอีสานสู่สาธารณชน เมื่อปี 2557 คุณเสมียน ผลิตกิ่งพันธุ์เสียบยอดออกขายผ่านเฟซบุ๊ก ในราคากิ่งละ 350 บาท ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศแล้วกว่า 400 ต้น
“ส้มโอมณีอีสานพันธุ์แท้ มีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีกลิ่นหอมตั้งแต่เปลือกจนถึงเนื้อส้มโอ หลังเก็บเกี่ยว สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานถึง 40 กว่าวัน โดยรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง ส้มโอมณีอีสาน เป็นที่ชื่นชอบของแมลงวันทองมาก จึงต้องห่อผล ป้องกันผลผลิต ที่ผ่านมาพยายามแขวนขวดดักแมลงวันทอง แต่ล่อได้เฉพาะตัวผู้เท่านั้น ตัวเมียไม่เข้ามาติดกับดัก ผมฝากการบ้านให้คณะวิจัย ช่วยหาวิธีป้องกันแมลงวันทองในสวนส้มโอมณีอีสานด้วย” คุณเสมียน กล่าว
สำหรับเกษตรกรมือใหม่ ที่สนใจอยากปลูกส้มโอมณีอีสาน คุณเสมียนแนะนำให้ขุดหลุมปลูกลึก 25 เซนติเมตร ปลูกในระยะห่าง 8×8 เมตร โดยปลูกขวางตะวัน เพื่อให้ต้นส้มโอได้รับแสงแดดได้ตลอดทั้งวัน รวมทั้งวางแปลนปลูกแบบซิกแซ็กสลับต้น เพื่อไม่ให้กิ่งชนกัน ป้องกันการแย่งอาหารกันเมื่อต้นส้มโอโต
ควรให้น้ำ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ระวังอย่าให้น้ำมาก เพราะต้นส้มโอไม่ชอบน้ำขัง หลังปลูกควรให้ปุ๋ยยูเรีย สัก 1 ช้อนชา แค่เดือนละ 2 ครั้ง เมื่อต้นส้มโออายุ 1 ปี ค่อยเปลี่ยนมาให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ หว่านรอบต้นสักเดือนละ 1 ครั้ง ต้นส้มโอมณีอีสานที่ปลูกด้วยกิ่งพันธุ์เสียบยอด จะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 5 ปีขึ้นไป คุณเสมียนจะคอยดูแลตัดแต่งกิ่งสม่ำเสมอหลังเก็บเกี่ยว และใส่ปุ๋ยไม่มากแต่ให้บ่อยๆ ทุกเดือน เพื่อให้ส้มโอมณีอีสานมีผลผลิตตลอดทั้งปี เฉลี่ย 30 ผล/ต้น/เดือน เมื่อส้มโอมณีอีสานมีอายุมากก็จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ที่ผ่านมา เมืองไทย มีส้มโอเนื้อสีแดงจัดที่รู้จักกันทั่วไปคือ พันธุ์ทับทิมสยาม ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ขายผลผลิตได้ราคาดี ถึงผลละ 200-500 บาท แต่ส้มโอเนื้อแดงชัยภูมิ มีราคาถูก ขายริมถนนในราคา 3 ผล 100 บาท ภายหลังคณะนักวิจัยเข้ามาศึกษาเรื่องการปลูกและคุณประโยชน์ของส้มโอเนื้อแดงชัยภูมิ และตั้งชื่อใหม่ว่า “ส้มโอมณีอีสาน” ทำให้สินค้าตัวนี้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วไป จึงขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น เฉลี่ยผลละ 100 บาท
ในอนาคต หากส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องการจัดการปุ๋ย จัดการน้ำ ยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพดีขึ้นและมีรสชาติอร่อยมากกว่าเดิม ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางตลาดให้กับส้มโอมณีอีสานได้อย่างยั่งยืน