พยาบาลสาวที่ราบสูง เชื่อมั่นงานเกษตร ลาออกจากราชการ ทำเกษตรผสมผสานและเลี้ยงเป็ด-ไก่

การต์รวี บัวบุญ หรือ น้องอ้น อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ที่ 7 ตำบลหนองทุ่ม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เดิมมีอาชีพรับราชการเป็นพยาบาล โดยจบการศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสระบุรี พยาบาลวิชาชีพ (4 ปี) จากนั้นรับราชการอยู่หลายแห่งเป็นเวลารวม 8 ปี (ศูนย์มะเร็งลพบุรี 2 ปี, โรงพยาบาลวาปีปทุม 3 ปี, โรงพยาบาลมหาสารคามอินเตอร์ 1 ปี, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 2 ปี…จบปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาเดียวกันและที่เดียวกัน

เขาลาออกจากพยาบาลมาทำเกษตรอย่างจริงจัง

การต์รวี มีพื้นที่ 22 ไร่ ทำนา 10 ไร่ สระน้ำ 4 ไร่ ที่เหลือเป็นที่ดอน โดยได้ทำการเกษตรหลายอย่าง ดังนี้

  1. เลี้ยงเป็ดไข่ (พันธุ์กากีแคมป์เบล, ซีพีซุปเปอร์) 500 ตัว ให้ไข่แล้ว 200 ตัว ซื้อวัตถุดิบมาผสมอาหารเอง เช่น กากปาล์มน้ำมัน กากถั่วเหลือง รำ มีการเพาะพันธุ์เป็ดเองโดยใช้เครื่องฟักไข่ช่วย
  2. ไก่ไข่ 50 ตัว แต่เลี้ยงแบบไก่พื้นเมือง ให้อาหาร ได้แก่ รำ หญ้าเนเปียร์ น้ำหมักปลา ทำให้เปอร์เซ็นต์การไข่ดีถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ได้รับความสนใจจากลูกค้าดีมากโดยเฉพาะผู้ห่วงใยสุขภาพ เช่น หมอ พยาบาล และมีเครือข่ายมากขึ้นเรื่อยๆ
  3. ไก่ประดู่หางดำ 300 ตัว ขายเป็นไก่เนื้อ กิโลกรัมละ 90 บาท และขายพันธุ์อายุ 7 วัน ตัวละ 25 บาท
  4. ไก่พันธุ์พื้นเมือง 100 ตัว ขายกิโลกรัมละ 90 บาท
  5. ไก่ดำ KU ภูพาน ขายลูก อายุ 7 วัน ตัวละ 50 บาท
  6. ไก่เหลืองดงยอ 100 ตัว ขายลูก ตัวละ 20 บาท

กิจกรรมอื่นๆ ปลูกดาวเรืองตัดดอกขายเป็นระยะๆ ส่วนดอกที่ตกเกรดจะนำมาตากแดดผสมในอาหารไก่ ทำให้ไข่แดงเข้มขึ้น ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา 2 ไร่ เพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์เพื่อให้ได้วัตถุดิบปลอดสารพิษ และปลูกทานตะวัน 1 ไร่ นำเมล็ดมาบดเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์เช่นกัน

นอกจากนี้  ยังได้เปิดเพลงให้ไก่ฟังทุกวันเพื่อให้ไก่ผ่อนคลาย ไม่เครียด เพราะนอกจากได้อาหารดีแล้วยังได้ฟังเพลง ทำให้อารมณ์ดี และให้ผลผลิตดีอีกด้วย

วันนี้รายได้อาจไม่เท่าอาชีพพยาบาล แต่วันหน้าอาจมีรายได้มากกว่า วันนี้จึงเป็นการเสียสละตัวเองเพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค

ด้านการตลาด การที่เจ้าตัวเน้นการผลิตเชิงประณีต ทำให้ราคาสูงกว่าท้องตลาดเล็กน้อย และกำลังสร้างเครือข่ายผู้บริโภคซึ่งมีแนวโน้มขยายตัว ขณะเดียวกันก็มองหาเครือข่ายผู้ผลิตควบคู่กันไปด้วยเป็นพยาบาลเพราะแม่

“เป็นพยาบาลเพราะความต้องการของแม่ แต่เมื่อแม่ป่วยเป็นมะเร็ง ตนเองกลับไม่มีเวลาแม้แต่จะพาแม่ไปหาหมอ เมื่อเรียนปริญญาโททำให้เปลี่ยนมุมมอง และเมื่อเรียนปริญญาเอกจึงลาออกตามความฝันของตนเอง” การต์รวี บอก

“ขณะนี้เป็นวิกฤตของอาชีพเกษตร หมดยุคนี้แล้วจะไม่มีคนทำการเกษตร ไม่อยากให้ลูกหลานเกษตรกรมุ่งไปที่ทำงานราชการเท่านั้น อย่างน้อยเด็กในอีสานมีต้นทุนด้านที่ดิน ไม่อยากให้อาชีพเกษตรกรเป็นพลเมืองชั้น 2” การต์รวี ให้แง่คิด

ด้วยความรู้ความสามารถและความมุ่งมั่นตั้งใจในการยกระดับการเกษตรเป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่น จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็น Young Smart Farmer ของจังหวัดมหาสารคาม

จะเห็นว่าอาชีพการเกษตรนั้นยังมีเสน่ห์และมีอนาคต แม้แต่พยาบาลสาวสวยยังหลงใหลถึงเพียงนี้แล้วทำไมท่านที่เป็นเกษตรกรหรือลูกหลานเกษตรกรจะไม่เห็นคุณค่า และกลับมายกระดับการเกษตรของไทยจรรโลงไว้สืบต่อให้ลูก หลาน เหลน โหลนต่อไป