เผยแพร่ |
---|
ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา กระแสการรักสุขภาพเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจและหันมาตื่นตัวดำเนินชีวิตใหม่ ปรับวิธีการรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ที่ย่อยง่าย สินค้าขายดีติดลมบน และขายได้ราคาสูง คือ พืชผักที่ปลูกดูแลในระบบเกษตรปลอดภัย พืชผักอินทรีย์ รวมทั้งพืชผักสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผักโมโรเฮยะ มีคุณค่าสารอาหารสูง เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก
“ฮาร์โมนี่ ไลฟ์ ออร์แกนิค ฟาร์ม” ซึ่งเป็นฟาร์มผักปลอดสารพิษใกล้บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้นำเข้าเมล็ดผักโมโรเฮยะมาจากประเทศอียิปต์ ในราคากิโลละ 10,000 บาท ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมี ปลูกผักโมโรเฮยะส่งขายทั้งในประเทศและส่งออก โกยรายได้กว่าปีละ 100 ล้านบาททีเดียว
รู้จัก “ผักโมโรเฮยะ”
ผักโมโรเฮยะ ได้ชื่อว่า เป็นผักของพระราชา ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ เนื่องจากเป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ เส้นใย รวมอยู่มาก โดยเฉพาะ วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน แคลเซียม วิตามินบี1 วิตามินบี2 และเป็นผักที่มีเส้นใยอาหารรวมอยู่มาก ชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคผักโมโรเฮยะกันอย่างแพร่หลาย โดยนำมาแปรรูปเป็นอาหารเสริมสุขภาพ เช่น ซุปผัก หรือนำผักมาบดเป็นผง เพื่อเป็นวัตถุดิบปรุงแต่งในอาหาร เช่น บะหมี่ผักโมโรเฮยะ คุกกี้ ขนมปัง ฯลฯ
มองดูผิวเผิน ต้นโมโรเฮยะ ก็มีลักษณะคล้ายกับต้นกะเพรา แต่ความจริงแล้ว พืชชนิดนี้ อยู่ในกลุ่มเดียวกับต้นปอกระเจา โดยทั่วไป ต้นปอกระเจาสามารถนำมาใช้ทำอาหารได้ทั้งชนิดฝักกลมและฝักยาว ปอกระเจาฝักกลมมีรสขม ต้องลวกน้ำเกลือก่อนนำไปผัดกับกระเทียม สำหรับผักโมโรเฮยะ เป็นพันธุ์ “ปอกระเจาฝักยาว” นั่นเอง ปอชนิดนี้นิยมนำยอดอ่อนมาประกอบอาหารเพราะใบมีรสหวาน
ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ได้เคยศึกษาการผลิตผักโมโรเฮยะในจังหวัดขอนแก่น พบว่า ผักโมโรเฮยะ เป็นพืชในตระกูลปอกระเจากินใบ มีลักษณะคล้ายปอกระเจาฝักขาว แต่มีขนาดใบ ดอก และเมล็ดเล็กกว่าพันธุ์ปอกระเจา ที่ปลูกทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผักโมโรเฮยะ เหมาะสำหรับปลูกเป็นพืชผักสวนครัว ฤดูปลูกที่เหมาะสมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ถ้าปลูกก่อนหรือหลังช่วงนี้ ต้นปอจะมีการเจริญเติบโตทางลำต้นน้อย ออกดอกเร็ว ใบเล็ก และจะให้ผลผลิตต่ำ ปอชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายจนถึงดินร่วนเหนียว วิธีการปลูกเหมือนกับการปลูกปอกระเจาพันธุ์อื่น คือ ปลูกเป็นหลุม มีระยะปลูก 30×30 เซนติเมตร แต่ละหลุมมี 3-5 ต้น หลังจากเมล็ดงอกภายใน 2 สัปดาห์
ลักษณะทั่วไปของผักโมโรเฮยะคือ ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งมาก ไม่มีหนาม ใบสีเขียว ยาวรีคล้ายใบกะเพรา ออกดอกเมื่ออายุ 70-80 วัน เจริญเติบโตเร็วและแตกกิ่งมากกว่าปอกระเจาพันธุ์อื่น โดยเฉพาะในดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว ผักโมโรเฮยะถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ เพราะสารอาหารประเภทเบต้าแคโรทีน มากกว่าผักโขมถึง 3 เท่า ช่วยชะลอความชรา มีสารต่อต้านมะเร็ง แก้โรคเบาหวาน แก้ท้องผูก รักษาโรคกระเพาะลำไส้ ความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ โรคโลหิตจาง บรรเทาอาการอ่อนเพลีย และช่วยบำรุงผิวพรรณ
การปลูกดูแล
ผักโมโรเฮยะปลูกง่าย เติบโตเร็ว ทนทานต่อภาวะอากาศร้อนแล้งได้เป็นอย่างดี แค่หว่านเมล็ดผักในแปลงที่เตรียมไว้ ต้นกล้าจะงอกจากเมล็ด ภายใน 12-15 วัน ต้นสูงประมาณครึ่งคืบ อายุแค่ 6 เดือน จะมีความสูงกว่า 2 เมตร เปิดให้น้ำทุกๆ 2-3 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ปอชนิดนี้จะมีฝักแก่จัด เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน สามารถเก็บมาใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไป ภายในฝักแก่ 1 ฝักจะมีเมล็ดพันธุ์จำนวนมากเพาะขึ้นเกือบหมดทุกเมล็ด เกษตรกรจะเด็ดใบสดทุกๆ เช้า เพื่อนำมาตากแดด อบแห้งและบดเป็นผงผักเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปบะหมี่ผักต่อไป
“ฮาร์โมนี่ ไลฟ์ ฟาร์ม” แหล่งเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์
ปัจจุบัน ฮาร์โมนี่ ไลฟ์ ฟาร์ม ได้รับใบรับรองออร์แกนิกที่มีมาตรฐานสากลถึง 5 มาตรฐาน คือ ใบรับรองออร์แกนิก USDA ของสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป IFOAM (Germany) รวมทั้งได้รับการยอมรับจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ให้เป็นฟาร์มตัวอย่างแห่งประเทศไทย และได้เปิดอบรมการทำฟาร์มออร์แกนิกแก่ผู้สนใจที่เป็นคนไทย ญี่ปุ่น กัมพูชา อินเดีย และอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 400 คนต่อปี
จุดเริ่มต้นของฟาร์มแห่งนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจของ “คุณโช โอกะ” อดีตพนักงานบริษัทอุปกรณ์การแพทย์ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรในประเทศไทย เพราะต้องการใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ (harmonylife) จึงเป็นที่มาของชื่อ “ฮาร์โมนี่ ไลฟ์ ออร์แกนิค ฟาร์ม” ในเวลาต่อมา คุณโช โอกะ ตั้งใจพัฒนาฟาร์มปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีอาหารปลอดภัยไว้รับประทาน
คุณโช โอกะ ห่วงกังวลว่า ปัญหาโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง แมลงศัตรูพืชเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานและบ้านเรือน ปัญหายาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมีปนเปื้อนในแม่น้ำลำคลอง ปัญหาขยะล้นโลก ฯลฯ คุณโช โอกะ ยกตัวอย่างว่า ปุ๋ยเคมีที่นิยมใช้กัน เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต หินฟอตเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ มีความรุนแรงไม่ต่างจากสารเคมีที่ใช้ในสงครามโลก และสารพิษเหล่านี้ไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่ในอาหารหรือร่างกายคน แต่ยังแพร่กระจายไปถึงน้ำ อากาศ ในระบบนิเวศ
ปัญหายาฆ่าแมลงตกค้างในสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่น่ากลัวจนตัวสั่น โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงที่นิยมใช้กัน ในกลุ่มสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มสารประกอบคลอรีน ที่อยู่ในรูปของ ดีดีที บีเอสซี อัลดริน และพีซีบี ที่เกษตรกรนิยมใช้ป้องกันไม่ให้แมลงเข้ากัดกินผักที่ปลูก ความจริงแล้ว สารเคมีเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นโดยทหารเยอรมัน เพื่อเป็น “อาวุธเคมี” ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่สูดดมควันสารเคมีเหล่านี้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้คิดค้น “ฝนเหลือง” เพื่อกำจัดผลผลิตทางการเกษตร ต้นไม้ใบหญ้าในสงครามเวียดนาม ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ใช้สารเคมี 2 ชนิดคือ 2, 4-D และ 2, 4, 5-T ซึ่งเป็นสารเคมีในการผลิตฝนเหลือง มาผลิตเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตในสวนส้ม และยาฆ่าหญ้าในไร่นา
ทุกวันนี้ เกษตรกรไทยนิยมใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและกำจัดแมลงจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในระบบนิเวศ ก่อโรคเรื้อรังทำให้มนุษย์มีอายุสั้นลง “เกษตรอินทรีย์” คือคำตอบหนึ่งของการสร้างสังคมให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เพราะช่วยสร้างโลกที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
คุณโช โอกะ พิถีพิถันการทำเกษตรอินทรีย์อย่างทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพอย่างแท้จริง เริ่มจาก “ระบบน้ำ” เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงเลือกขุดบ่อน้ำลึกถึง 150 เมตร ซึ่งเป็นน้ำสะอาดที่ไหลผ่านมาจากเขาใหญ่ นำมาใช้เพาะปลูกพืชผัก
นอกจากนี้ คุณโช โอกะ ยังใส่ใจดูแลเรื่องดิน เพราะดินถือเป็นหัวใจสำคัญของการเกษตร หากดินมีจุลินทรีย์ที่ดีอาศัยอยู่มาก เช่น แลคโตบาซิลลัส ยีสต์ ฯลฯ จุลินทรีย์เหล่านี้จะช่วยย่อยสลายสารอาหาร และช่วยให้รากพืชดูดซึมสารอาหารได้ง่าย ทำให้พืชผักแข็งแรงและมีรสชาติอร่อย
จุดเด่นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ฟาร์มแห่งนี้เลือกทำเกษตรอินทรียืด้วยวัชพืช โดยปล่อยให้มีวัชพืชเติบโตแทรกอยู่กับพืชผัก คุณโช โอกะ ให้เหตุผลว่า เมืองไทยมีฤดูฝนนานหลายเดือน แม้ดินจะชุ่มฉ่ำแต่เป็นฤดูกาลที่พืชผักไม่ชอบเอาเสียเลย เพราะฝนเม็ดใหญ่ที่ตกลงมา ทำให้เศษดินกระเด็นขึ้นมาถูกใบผักทำให้เกิดจุดหรือรอยซีดเหลืองบนใบผัก หากดินบริเวณใดระบายน้ำไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหารากเน่าติดตามมา การปล่อยให้มีวัชพืชปะปนในแปลงผัก จะทำให้ดินโคลนกระเด็นน้อยลง แถมวัชพืชยังทำหน้าที่ดูดซับน้ำฝน ทำให้รากผักไม่เน่า
นอกจากนี้ หากเจอแมลงระบาด แปลงผักที่มีวัชพืชปะปน แมลงจะกัดกินวัชพืชก่อน ทำให้ “ วัชพืช” ไม่ใช่ศัตรูที่น่ารังเกียจในฟาร์มแห่งนี้ คุณโช โอกะ บอกอีกว่า แมลงจะทำหน้าที่กัดกินผักที่ไม่แข็งแรง ส่วนผักที่เติบโตแข็งแรงดี จะไม่มีแมลงเข้ามากัดกินและไม่เป็นโรคเลย กรณีที่ผักเสียหายจากโรคและแมลง เกิดจากเกษตรกรดูแลไม่ถูกวิธี หากทำเกษตรโดยใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ยิ่งจะทำให้มีปัญหาโรคและแมลงเพิ่มขึ้น ฟาร์มแห่งนี้จึงเลือกปลูกพืชสมุนไพร เช่น ข่า ตะไคร้ พริก ฯลฯ ปะปนอยู่ในแปลงปลูกพืช เพื่ออาศัยกลิ่นสมุนไพรช่วยไล่แมลงศัตรูพืช
คุณโช โอกะ แนะนำให้เพื่อนเกษตรกรหันมาปลูก “ข้าว” ร่วมกับพืชสมุนไพรและพืชผักชนิดอื่น เพราะข้าวเป็นพืชที่ปลูกด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายกว่าพืชอื่น และช่วยเพิ่มรายได้ถึง 3 ทาง เรียกว่า เป็นการทำเกษตรอินทรีย์ลักษณะนี้ เปรียบเสมือน ยิงปืนนัดเดียวแต่ได้นกถึงสามตัว ทุกวันนี้ คุณโช โอกะ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมกรรมวิธีการปลูกเกษตรอินทรีย์ได้ตลอดทั้งปี สามารถติดต่อได้ที่ ฮาร์โมนี่ ไลฟ์ ออร์แกนิค ฟาร์ม เลขที่ 35 ม.9 ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โทร. 044-322-219, (02) 721-7511-12, (02) 721-7511-12 หรือเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.harmonylife.co.th
ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์