ใช้ขี้วัวเลี้ยงไส้เดือน เทคนิคพิเศษของรัตนชัยฟาร์ม เดินหน้าส่งขาย มาเลเซีย

หากติดตามข่าวคราวในแวดวงการเกษตรบ้านเรา เป็นที่น่ายินดีว่ามีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งหันมาทำการเกษตรอย่างจริงจัง โดยเริ่มค่อยๆ ศึกษาหาความรู้ ตั้งต้นจากการทำเป็นอาชีพเสริมก่อน จนเมื่อทุกอย่างลงตัวจึงตัดสินใจทำเป็นอาชีพหลัก

 

มูลไส้เดือน ประโยชน์มาก

อย่าง คุณไพฑูรย์ ไชยรักษ์ อายุ 32 ปี เจ้าของ รัตนชัยฟาร์มไส้เดือน จังหวัดสตูล ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 7 ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ซึ่งหนุ่มคนนี้ยังคงทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านทางโทรศัพท์ แต่ได้ใช้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และเวลาว่างทำฟาร์มไส้เดือน ตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยให้พ่อแม่คอยช่วยดูแล ก่อนที่เขาวางแผนจะมาทำเต็มตัวในอีกไม่ช้า เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวเต็มที่

คุณไพฑูรย์ ไชยรักษ์ กับไส้เดือนที่เตรียมนำไปเลี้ยง

คุณไพฑูรย์ มีดีกรีปริญญาตรี สาขาการจัดการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พูดถึงแรงบันดาลใจของการเลี้ยงไส้เดือนว่า มีที่มาที่ไปจากการที่อยากจะกลับมาอยู่ดูแลพ่อแม่ที่จังหวัดสตูล บวกกับความตั้งใจที่จะเดินหาช่องทางความเป็นไปได้เรื่องปุ๋ยในเส้นทางเกษตรแบบยั่งยืน และสามารถผลิตปุ๋ยใช้เองได้ จึงพยายามหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเรื่องปุ๋ยที่สามารถผลิตเองได้และมีคุณภาพสูง

กระทั่งได้มาพบเจอกับมูลไส้เดือนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากกว่าปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก เพราะมูลไส้เดือนจะมีทั้งธาตุอาหารหลักและอาหารรองมากกว่า และใช้เวลาในการผลิตที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปุ๋ยหมักโดยทั่วไป

ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ เรื่องจุลินทรีย์กว่า 200 ชนิด มีทั้งฮอร์โมนพืชที่ช่วยในการกระตุ้นในเรื่องการเจริญเติบโต และเรื่องการปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับพืชได้ดีกว่าปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไป เมื่อได้ข้อมูลเรื่องประโยชน์และความพิเศษของมูลไส้เดือนแล้ว จึงเริ่มศึกษาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต และเมื่อปี 2558 ได้ขึ้นมาอบรมที่ฟาร์มไส้เดือน แถวจังหวัดนนทบุรี ได้ตัวไส้เดือนกลับบ้านไป 2 กะละมัง และได้เริ่มต้นการเลี้ยงไส้เดือน กระทั่งตัดสินใจเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ช่วงต้นปีนี้เอง

รัตนชัยฟาร์มไส้เดือน ถือเป็นฟาร์มใหญ่ทีเดียว เขาใช้เงินเริ่มต้นในการลงทุน ทั้งโรงเรือน อุปกรณ์ มูลวัว และตัวไส้เดือน ประมาณ 100,000 กว่าบาท ซึ่งเจ้าตัวมองว่าน่าจะคืนทุนได้ภายใน 1 ปี โดยมีการเลี้ยงทั้งแบบในวงบ่อและในกะละมัง แยกเป็นการเลี้ยงในวงบ่อปูน 9 วงบ่อ และเลี้ยงแบบกะละมัง 400 ใบ พันธุ์ที่เลี้ยงไว้เป็นไส้เดือนสายพันธุ์แอฟริกัน ไนท์ คลอเรอร์ หรือบ้านเราเรียกว่า เอเอฟ

 

เลี้ยงด้วยขี้วัวออร์แกนิก

ในการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อให้ได้มูลหรือขี้ไส้เดือน นำมาขายเป็นปุ๋ยนั้น เกษตรกรจำนวนไม่น้อยใช้เศษผักมาเลี้ยง แต่สำหรับฟาร์มของคุณไพฑูรย์ใช้ขี้วัว ซึ่งถือเป็นจุดเด่นอีกอย่าง เพราะเป็นขี้วัวที่เลี้ยงแบบออร์แกนิก

มูลไส้เดือน มีลักษณะเป็นเม็ดรีๆ รอร่อนก่อนบรรจุใส่ถุง

“จุดเด่นของมูลไส้เดือนในฟาร์มเราคือ เป็นมูลไส้เดือนแท้ 100% ไม่ผสมดิน ทำมาจากขี้วัวนมที่กินอาหารเสริม ทำให้มูลมีสารอาหารเยอะกว่าขี้วัวเลี้ยงปล่อยทุ่ง”

คุณไพฑูรย์ แจกแจงขั้นตอนการเลี้ยงไส้เดือนอย่างละเอียดให้ฟังว่า

ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากการเตรียมสถานที่และอุปกรณ์เลี้ยง ในส่วนสถานที่เลี้ยงต้องเป็นที่ร่มไม่โดนแดดแรง อุปกรณ์เป็นวงบ่อที่มีรูระบายน้ำออก ขนาด 80-100 เซนติเมตร ถ้าเป็นกะละมัง ใช้ขนาด 50 เซนติเมตร เจาะรูประมาณ 20-30 รู เพื่อระบายน้ำออก

ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมเบดดิ้ง หรือเรียกว่าที่นอน เพื่อไว้เลี้ยงไส้เดือน โดยการนำขี้วัวมาแช่น้ำ 1-2 คืน แล้วถ่ายน้ำทั้งหมด 3 ครั้ง รวมระยะเวลาเตรียมเบดดิ้งอยู่ที่ ประมาณ 7 วัน วัตถุประสงค์ของการแช่ขี้วัวเพื่อทำให้ขี้วัวเย็นลงและเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของไส้เดือน หลังจากที่แช่ขี้วัวครบตามกำหนดแล้ว ก็ปล่อยน้ำออกให้ขี้วัวหมาดๆ จากนั้นตักใส่กะละมังโดยความสูงของขี้วัวอยู่ที่ 15-20 เซนติเมตร เพื่อเตรียมปล่อยตัวไส้เดือนลงไปเลี้ยง

ขั้นตอนที่ 3 ช่วงปล่อยตัวไส้เดือน ควรหาพ่อแม่พันธุ์ไส้เดือนจากฟาร์มไส้เดือนใกล้ๆ เพื่อลดปัญหาเรื่องการขนส่ง เมื่อได้ตัวพ่อแม่พันธุ์แล้ว ก็ปล่อยตัวไส้เดือนลงไปบนเบดดิ้งในภาชนะที่เตรียมไว้ กรณีวงบ่อ 1 วง ปล่อยไส้เดือนอยู่ที่ 1.5-2 กิโลกรัม

ส่วนในกะละมังปล่อยตัวไส้เดือนที่ 2.5-3 ขีด ต่อกะละมัง หลังจากปล่อยเสร็จให้สังเกตดูว่า ตัวไส้เดือนมุดลงไปในเบดดิ้งที่เตรียมไว้หรือไม่ ถ้าไม่มุดลงไปนั้น แสดงว่าเบดดิ้งที่เตรียมไว้มีปัญหา

“ปัญหาที่ไส้เดือนไม่มุดเพราะขี้วัวแช่ไม่ดี อาจจะไม่ครบกำหนด หรือขี้วัวมีการล้างคอกด้วยโซดาไฟ

กรณีถ้าไม่ครบต้องให้ครบกำหนดจะเป็นการดี เพราะขี้วัวเย็นและเหมาะสมกับการปล่อยไส้เดือน ถ้าไม่ครบกำหนดหรือขี้วัวใหม่ๆ จะมีความร้อนและแก๊สมาก ทำให้ไส้เดือนอยู่ไม่ได้ ส่วนเรื่องโซดาไฟ ต้องล้าง ถ่ายน้ำออกในขั้นตอนแช่ให้ขี้วัวเย็นลงตามที่บอกไปว่า 3 น้ำ จะช่วยปัญหาโซดาไฟนี้ไปด้วยอยู่แล้ว”

ขั้นตอนที่ 4 การควบคุมความชื้น ให้สเปรย์น้ำให้ความชื้นเมื่อหน้าเบดดิ้งแห้ง ระยะเวลาที่ 1-2 วัน ต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และตามความเหมาะสม พยายามอย่าลดน้ำให้แฉะ เพราะจะทำให้ไส้เดือนหนีออกจากภาชนะที่เลี้ยง ควรระวังเรื่องศัตรู เช่น มด อึ่งอ่าง จิ้งจก จิ้งเหลน ที่จะมากินตัว เพราะไส้เดือนพวกนี้เป็นไส้เดือนผิวดิน จะทำให้พวกสัตว์เหล่านั้นมารบกวนได้ง่าย

ขั้นตอนที่ 5 การแยกตัวไส้เดือนกับมูล หลังจากเลี้ยงได้ประมาณ 45 วัน ใช้วิธีสังเกตดูเบดดิ้งในภาชนะเปลี่ยนจากขี้วัวเป็นมูลไส้เดือนจนหมดแล้ว (มูลไส้เดือนมีลักษณะเป็นเม็ดรีๆ คล้ายลูกรักบี้) ก่อนจะแยกตัวให้งดน้ำ 7 วันเพื่อให้มูลไส้เดือนแห้งและง่ายต่อการคัดแยกตัว เมื่อมูลไส้เดือนพร้อมแยกตัวแล้วให้ตักใส่เครื่องร่อน ถ้าหากผู้เริ่มต้นเลี้ยงให้หาอุปกรณ์การแยก เช่น ตะกร้ารูเล็กที่มูลไส้เดือนรอดออกได้ แต่ตัวไส้เดือนยังติดอยู่ นำมาร่อนแยกได้เช่นกัน

สำหรับการเลี้ยงไส้เดือนแบบใส่กะละมังกับวงบ่อนั้น คุณไพฑูรย์ ระบุว่า ให้ผลผลิตที่เป็นมูลเหมือนกัน แต่จะต่างเรื่องการจัดการ เพราะถ้าเลี้ยงวงบ่อ เมื่อได้มูลต้องก้มๆ เงยๆ ขนย้ายมาใส่เครื่องร่อน ลำบากใช้แรงงานมากขึ้น แต่ตัวไส้เดือนจะอวบกว่า ส่วนการเลี้ยงใส่กะละมังจะจัดการง่ายกว่า แต่ตัวไส้เดือนจะขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย

ลูกค้าของฟาร์มแห่งนี้ที่มาซื้อมูลไส้เดือนมีหลากหลาย อาทิ พวกร้านขายต้นไม้ ชาวสวน เกษตรกรทั่วไป ส่วนตัวไส้เดือนมีลูกค้าซื้อไปเลี้ยงต่อ พวกนักตกปลา และพวกเลี้ยงนก

มูลไส้เดือน ที่พร้อมบรรจุใส่ถุง

ว่าไปแล้ว ถึงตอนนี้แม้เขาจะยังไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก แต่ก็ทำให้เจ้าตัวและครอบครัวมีรายได้ดีทีเดียว เดือนหนึ่งตก 10,000-20,000 บาท โดยผลผลิตของทางฟาร์มแบ่งขายเป็น 2 แพ็กเกจ แบบถุงพลาสติก 1 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 25-30 บาท แบบกระสอบอยู่ที่ 15-25 บาท ต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับจำนวนที่ลูกค้าสั่งซื้อ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปเล็กน้อย เพราะส่วนใหญ่จะขายกันที่กิโลกรัมละ 35 บาท แต่ถ้าซื้อในห้างจะตกกิโลกรัมละ 70 บาท ส่วนพ่อแม่พันธุ์ขายที่ กิโลกรัมละ 600 บาท

จากประสบการณ์การเลี้ยงไส้เดือน เขาระบุว่า ปัญหาแทบไม่มี เพราะตัวไส้เดือนเองไม่มีโรค เพราะจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ของมันช่วยป้องกันในเรื่องนี้ ซึ่งหากควบคุมปัจจัยภายนอกได้ เตรียมเบดดิ้งดีเหมาะต่อการเลี้ยงแล้ว แทบจะไม่มีปัญหาในการเลี้ยงไส้เดือนเลย

วางแผนทำเกษตรปลอดสาร

สำหรับการวางแผนทำฟาร์มในอนาคต หนุ่มรายนี้บอกว่า เตรียมช่องทางที่จะส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย เพราะทำงานอยู่ที่มาเลเซีย และได้เข้าร่วมกลุ่มไส้เดือนในมาเลเซีย ทำให้เห็นว่าทางมาเลเซียยังต้องการมูลไส้เดือนอีกเยอะ เนื่องจากผู้คนในประเทศนี้ใส่ใจเรื่องสุขภาพและเรื่องเกษตรอินทรีย์

ตลาดไส้เดือนเป็นตลาดที่ยั่งยืนไม่ใช่ตลาดตามกระแส เพราะไส้เดือนมีมานานแล้วและยังคงอยู่ ต่างประเทศเขาก็ผลิตมูลไส้เดือนขายกันอยู่ทั่วโลก และยิ่งปัจจุบันคนไทยเราเริ่มหันมาบริโภคอาหารปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์คือเกษตรที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยที่ทำมาจากธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี อีกทั้งตอนนี้ทางเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง-ปลา นิยมนำมูลไส้เดือนไปช่วยปรับสมดุลของบ่อ ช่วยเรื่อง pH และควบคุมเรื่องโรคในบ่อ ทำให้สัตว์น้ำแข็งแรง เปอร์เซ็นต์การรอดสูงและผลผลิตสูงขึ้น มองว่าตลาดเรื่องไส้เดือนยังไปได้อีกไกล

เขาให้คำแนะนำสำหรับผู้สนใจรายใหม่ที่จะเลี้ยงไส้เดือนเป็นอาชีพว่า ควรเริ่มต้นเลี้ยงเพื่อทำความเข้าใจไส้เดือนก่อน สัก 1-4 กะละมัง เพื่อให้รู้จักนิสัยของไส้เดือนก่อนว่า มันอยู่อย่างไร กินอะไร ชอบอะไร แล้วค่อยๆ ขยับขยายไปเรื่อย หากมั่นใจในเรื่องการทำมูลไส้เดือนและมีตลาดรองรับถึงค่อยลงทุนในการเริ่มต้นสร้างโรงเรือน อุปกรณ์ และลงทุนซื้อพ่อแม่พันธุ์ ทั้งนี้จำนวนเงินที่ใช้อาจจะเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสน ขึ้นอยู่กับขนาดของฟาร์ม

“ผมอยากแนะนำให้เริ่มต้นศึกษาไส้เดือนให้เข้าใจชีวิตไส้เดือนก่อน ให้ลองใช้จริงๆ ก่อน และคุณก็กล้าที่จะไปบอกต่อคนอื่นว่ามันดีจริง ในระยะ 2 ปีแรก ผมแทบจะไม่ได้ขายมูลเลย ผมนำมาใช้ในสวนผักและถั่วฝักยาวที่พ่อปลูกผลออกมาก ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เมื่อเราเข้าใจประโยชน์และการตลาดจะตามมา ไม่ใช่ว่าคุณเลี้ยง 2 กะละมังแล้วถามหาตลาดแล้วว่าอยู่ไหน ซึ่งจำนวนมูลที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อการใช้ในครัวเรือนของคุณเลย คนส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น ส่วนเรื่องการตลาด ผมจะมุ่งในการนำเสนอให้คนในพื้นที่รู้จักการใช้มูลไส้เดือน ถือว่าเป็นงานหนักสำหรับคนในพื้นที่ที่ยังเน้นเรื่องเคมี และภาคใต้เรายังไม่รู้จักประโยชน์มูลไส้เดือน เป้าหมายต่อไปของผมทางด้านตลาดคือ การส่งออกมาเลเซีย และการทำแปลงผักปลอดสารพิษ โดยใช้มูลไส้เดือนที่ผมผลิตเอง”

หากเกษตรกรสนใจติดต่อ รัตนชัยฟาร์มไส้เดือน อยู่ที่หมู่บ้านหัวผัง 36 บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 7 ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล โทร. (089) 869-7927 เฟซบุ๊ก “รัตนชัยฟาร์มไส้เดือน จ.สตูล” หรือติดต่อทางไลน์ไอดี nuang_101

นับเป็นเกษตรกรหนุ่มอีกรายที่มีวิสัยทัศน์ และมีการบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ ซึ่งก่อนที่จะยึดเป็นอาชีพก็ได้ศึกษาค้นคว้าและทดลองจนรู้แจ้งเห็นจริง และเชื่อว่าอีกไม่นาน “รัตนชัยฟาร์มไส้เดือน” คงจะสามารถส่งขายมูลไส้เดือนไปทั่วประเทศ นอกเหนือจากการส่งไปขายที่มาเลเซียและส่งขายในพื้นที่จังหวัดสตูล เท่านั้น