ปลาตะกรับ สัตว์น้ำเศรษฐกิจ เมนูเด็ดยอดฮิตขึ้นภัตตาคาร เพาะเลี้ยงง่าย

ปลาตะกรับหรือปลาขี้ตัง เป็นปลาเศรษฐกิจที่อาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม รูปร่างลักษณะลำตัวป้อมสั้น เกล็ดเล็ก ครีบหลังยาว  มีจุดสีดำเทากลมกระจายอยู่ทั่วลำตัวคล้ายเสือดาว รูปร่างแบนข้างรูปสี่เหลี่ยมคล้ายปลาผีเสื้อ เป็นปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา  สัตว์หน้าดิน แพลงก์ตอนและสาหร่ายรวมถึงซากเน่าเปื่อยเป็นอาหาร

ปลาตะกรับจะพบอยู่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำ  นากุ้งและชายฝั่งทะเลสาบสงขลา สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่า ปลาชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ได้ในช่วงความเค็มกว้าง

ปลาตะกรับ เป็นปลาที่นิยมตกเป็นเกมกีฬาและรับประทาน ซึ่งเป็นอาหารที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะในภาคใต้ คือ แกงส้มปลาตะกรับ จะเป็นอาหารเมนูเด็ดตามร้านอาหารและภัตตาคารที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ซึ่งถ้าหากใครที่จะรับประทานปลาชนิดนี้ต้องไปแต่เนิ่นๆ เพื่อรีบสั่งแกงส้มปลาตะกรับ หรือปลาขี้ตัง เพราะหากไปช้าจะถูกจองหมด เพราะว่านอกจากคนไทยแล้วปลาตะกรับยังเป็นปลายอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาว ฟิลิปปินส์ ใต้หวัน และอีกหลายๆ ประเทศที่มาเที่ยวอีกด้วย

คุณฝารี่ดา สันสาคร หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าอบรมการเพาะเลี้ยงปลาตะกรับของกรมประมง ได้นำความรู้จากการฝึกอบรมมาทดลองเลี้ยงจริงในพื้นที่บ่อกุ้งร้าง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

คุณฝารี่ดา สันสาคร (ขวา)

คุณฝารี่ดา เล่าว่า ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเลี้ยงปลาอยู่แล้ว ขณะที่รับบทบาทเป็นแม่บ้านอยู่นั้นก็ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงปลาควบคู่กันไปด้วย โดยปี 2548  เริ่มเพาะเลี้ยงปลา กระพงขาว

“ตอนนั้น ความต้องการปลากระพงขาวในตลาดมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราเห็นว่ามีตลาดรองรับ จึงนำมาทดลองเลี้ยง เลี้ยงอยู่ได้ระยะหนึ่งปลากระพงก็เริ่มมีคนหันมาเพาะเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาขายถูกลง จึงหันไปมองหาปลาชนิดอื่นที่ยังไม่มีคนเลี้ยงมาเสริม ซึ่งในช่วงนั้น ปลาตะกรับ หรือ ปลาขี้ตัง เป็นปลาชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าปลากระพงขาว มีราคาชื้อขายกิโลกรัมละ 300-400 บาท จึงนำเข้ามาทดลองเลี้ยงควบคู่กันไป”

ขนาดกระชังที่ใช้เลี้ย

“เริ่มเลี้ยงครั้งแรก 1,000 ตัว ปล่อยลงไปในกระชัง ขนาด 4×4 เมตร ตลอดการเพาะเลี้ยงก็ทำการศึกษาดูว่าปลาชนิดนี้ เป็นอย่างไร กินอะไรเป็นอาหาร จนทำให้ทราบว่าตามธรรมชาติแล้วปลาตะกรับเป็นปลากินทั้งพืชและสัตว์ ขึ้นอยู่ที่ว่าจะให้กินอะไรก่อนหลัง และสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือ ปลาชนิดนี้จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย”

ในระหว่างที่ทดลองเลี้ยงรุ่นแรก เริ่มมีปลาตายบ้างเพราะยังไม่รู้ว่าจะให้กินอะไร แต่หากนำเทียบกับปลาอื่นๆแล้วอัตราการรอดยังสูงกว่าปลาที่เคยทดลองเลี้ยงมา เนื่องเป็นปลาที่มีความต้านทานโรคที่สูง สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้

หลังจากที่ลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง ก็ได้สูตรการเลี้ยงที่ลงตัว จึงเริ่มขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้น จากเลี้ยงในทะเลก็ปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงในบ่อกุ้งแทน เพราะเนื่องจากการเลี้ยงในบ่อสามารถควบคุมคุณภาพน้ำ อาหาร ตลอดจนการจับจำหน่ายง่ายกว่าการเลี้ยงในท้องทะเล ที่สำคัญอยู่ใกล้บ้านสามารถดูแลได้มากกว่า

วางกระชังให้ง่ายต่อการจัดการ

การเลี้ยงปลาตะกรับในบ่อกุ้งสามารถทำได้ 2 แบบ คือ ปล่อยเลี้ยงในบ่อกุ้ง และ การเลี้ยงในกระชังขึงกางในบ่อ ซึ่งรูปแบบที่ได้รับความนิยมและทำกันอยู่ในตอนนี้คือ การเลี้ยงในกระชังขึงกางในบ่อกุ้ง เนื่องจากมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าการเลี้ยงในบ่อดินโดยตรงในช่วง 1-4 เดือน เนื่องจากปลาอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดทำให้สามารถกินอาหารได้อย่างทั่วถึง

“การเลี้ยงในบ่อดิน สามารถว่างกระชังได้ทั้งแบบแพลอยและแบบผูกติดกับเสาติดดิน แต่แพลอยจะมีต้นทุนสูงกว่า จึงเลือกทำแบบผูกติดเสาเพื่อลดต้นทุนลง โดยใช้เสาไม้หรือเสาเหล็ก ขนาด 3 นิ้ว ขึงกระชังขนาด 4X 4 ให้ตึงทั้ง 4 มุม ยึดมุมกระชังด้านบนและด้านล่างให้ติดกับเสาให้แน่น ใช้ตะขอตอกรอบก้นกระชัง เพื่อยึดก้นกระชังให้ติดกับดิน เพื่อป้องกันกระชังเคลื่อนที่ กระชังที่ใช้เลี้ยงจะไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกิดไป”

ขนาดกระชัง มี 3 ขนาด คือ กระชังอวนฟ้า กระชังอวนสีแดงขนาดตา 1 เซนติเมตร กระชังอวนสีดำ ขนาดตา 1 นิ้ว

เริ่มปล่อยลูกปลาลงในกระชังอวนฟ้าก่อน เมื่อเลี้ยงไปประมาณ 1 เดือน ก็จะย้ายลงอวนแดง ขนาดตา 1 เซ็นติเมตร เลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 2 เดือน ปลามีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะเปลี่ยนมาเลี้ยงในกระชังอวนสีดำ ขนาดตา 1 นิ้ว และเลี้ยงต่อจนปลาได้ขนาดซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 7-8 เดือน แต่ถ้าหากใช้อวนที่โปร่งน้ำ มีการไหลถ่ายเทได้ดีจะทำให้ปลาโตเร็วขึ้นและไม่ทำให้ปลาขาดอากาศในช่วงเช้ามือ อย่างไรก็ตามภายในบ่อก็จะมีกังหันน้ำช่วยเติมอากาศในบางช่วงเวลา นอกจากนี้เพื่อความสะดวกในการดูแลและการเปลี่ยนกระชังก็จะทำสะพานไม้ผ่านเพื่อให้ง่ายต่อการการให้อาหารและการจับปลาอีกด้วย

“หลังจากเตรียมกระชังเลี้ยงพร้อมแล้ว ก่อนนำน้ำเข้าบ่อเลี้ยงจะใช้ผ้าอวนมุ้งกรองลูกปลาและไข่ปลาที่ติดมากับน้ำไม่ให้เข้ามาภายในบ่อเลี้ยง เพื่อป้องกันลูกปลาชนิดอื่นมาแย่งอาหารลูกปลาตะกรับ และนอกจากศัตรูที่จะเข้ามาทำลายแล้ว ความเค็มของน้ำจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ ความเค็มระหว่าง 5-10 พีพีที พีเอช 7-9 อุณหภูมิน้ำ 27-30 องศาเซลเซียส ค่าอัลคาลินิตี้ 90-130 มิลลิกรัมต่อลิตร และปริมาณออกซิเจนละลายน้ำอยู่ระหว่าง 5-6 มิลลิกรัมต่อลิตร”

สำหรับพันธุ์ปลาและอัตราการปล่อยในแต่ละกระชัง คุณคุณฝารี่ดา บอกว่า ใช้พันธุ์ปลาที่ผ่านการฝึกให้กินอาหารเม็ดมมอย่างดี ซึ่งจะมีอายุประมาณ 1 เดือนครึ่ง หลังจากฟักเป็นตัว มีขนาด 0.5 กรัม โดยอัตราการปล่อยที่เหมาะสมที่สุด คือ 2,000 ตัว/กระชัง  อัตราการรอด 90 เปอร์เซ็นต์

ปลาตะกรับ ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8 เดือน ดังนั้นอาหารที่ให้จะไม่ใช้เพียงอาหารเม็ดเพียงอย่างเดียว จะมีอาหารที่สามารถหาจากธรรมชาติ เช่น สาหร่าย เป็นตัวเสริม เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งโดยช่วงเวลาการให้นั้นขึ้นอยู่กับว่าจะให้เสริมในช่วงเวลาใด เช้า กลางวัน กลางคืน ซึ่งอาหารเม็ดสำเร็จรูปจำเป็นต้องมีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันคุณฝารี่ดา มีกระชังปลาตะกรับ ทั้งหมด 5 กระชัง สามารถเพาะเลี้ยงปลาได้ผลผลิตออกจำหน่ายส่งไปขายยังตัวจังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา ในราคากิโลกรัมละ 300-400 บาท สร้างเม็ดเงินต่อรุ่น/กระชัง มูลค่าหลักแสนบาท

ผู้ที่สนใจทดลองเลี้ยง แนะนำว่า ควรเริ่มเลี้ยงจำนวนน้อยประมาณ 1,500 ตัว เพราะการเลี้ยงน้อยๆเช่นนี้ไม่ต้องลงทุนมาก กระชังเพียง  1 ชุดก็เพียงพอ  แต่หากยังไม่มั่นใจหรือต้องการความรู้เพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยง สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่คุณฝารี่ดา สันสาคร บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง โทรศัทย์ (084) 266-3253

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์