ชะคราม พืชท้องถิ่น สารพัดประโยชน์ ใช้กำจัดปลวกได้

ชะคราม เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง เป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี เมื่ออายุมากจะขึ้นเป็นพุ่ม สูงประมาณ 1 เมตร และเป็นพืชสมุนไพรที่น่าสนใจ นำมาแปรรูปเป็นอาหารและสกัดเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคของผู้ป่วยได้ อนาคตคาดว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำมาแปรรูปและพัฒนารูปแบบอาหารได้ แม้ว่าในปัจจุบัน ชะครามจะหาซื้อหายากในตลาดทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้อยู่ติดกับชายทะเล แต่หาได้ง่ายในจังหวัดที่อยู่แถวชายทะเล

ชะคราม กระจายพันธุ์กว้าง พบทั่วไปทั้งในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยเฉพาะป่าชายเลน ป่าโกงกาง หรือพื้นที่รกร้างรอบๆ นาเกลือ อย่างเช่น จังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาคร รวมไปถึงในเขตกรุงเทพฯ ที่ติดชายทะเล อย่างบางขุนเทียน จะพบเห็น ต้นชะคราม ลงไปเก็บได้ ควรจะเลือกที่สีเขียวและไม่มีดอก เพราะยังอ่อนอยู่ ถ้าแก่จะสีแดงและมีดอก ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นเองโดยตามธรรมชาติในพื้นที่ดินเค็มน้ำทะเลท่วมถึง ปัจจุบันมีการปลูกเป็นไม้ประดับ ขยายพันธุ์ได้ทั้งตอนกิ่งหรือปักชำ

ต้นชะคราม

ประโยชน์อันล้ำค่า ของ “ชะคราม” พืชท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาคร นำมาแปรรูปได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น “น้ำมันชะคราม” และ “ยากำจัดปลวกจากชะคราม”

ยากำจัดปลวกชะคราม ฝีมือโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย
วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา ผู้คิดค้นน้ำมันชะคราม

วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม คิดค้นนำชะครามที่มีอยู่มากในพื้นที่ นอกเหนือแปรรูปเป็นอาหาร ไม่ว่าชะครามทอดไข่ ยำชะคราม แกงเผ็ดใส่ชะคราม ผักลวกจิ้มราดกะทิ คู่กับน้ำพริก มาเป็น “น้ำมันชะคราม”

 น้ำมันชะคราม

วัตถุดิบ ได้แก่ ชะคราม 2 กิโลกรัม มะพร้าวขูด 5 กิโลกรัม น้ำสะอาด 5 ลิตร

วิธีทำ

  1. นำชะครามมาต้มให้เดือด รอให้น้ำอุ่น แล้วบีบน้ำทิ้ง
  2. นำชะครามที่บีบน้ำทิ้งแล้วมาหั่นหรือสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ
  3. มะพร้าวขูดคลุกเคล้ากับชะคราม
  4. เติมน้ำสะอาด 5 ลิตร
  5. บีบคั้นส่วนผสมทั้ง 3 ให้เข้ากัน
  6. นำน้ำที่ได้มากรองด้วยผ้าขาวบาง
  7. เคี่ยวไฟอ่อน จนกระทั่งเป็นน้ำมัน
  8. รอน้ำมันเย็น แล้วกรองด้วยผ้าขาวบางอีกรอบ
  9. บรรจุน้ำมันชะครามลงบรรจุภัณฑ์

สำหรับคุณสมบัติที่ได้จากน้ำมันชะคราม ของวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา ประดิษฐ์ขึ้นมาครั้งนี้ ใช้ในการดูแลเส้นผมให้เงางาม ลดการขาดหลุดร่วง 

ส่วนผสมของน้ำมันชะคราม

คุณสมบัติเฉพาะของชะคราม ตามตำรับยาไทย

ราก เป็นยาบำรุงกระดูก แก้พิษฝีภายใน ดับพิษในกระดูก น้ำเหลืองเสีย ผื่นคัน โรคผิวหนังและเส้นเอ็นพิการ ลำต้นและใบชะคราม ป้องกันโรคคอพอก เพราะชะครามดูดเกลือจากดินมาเก็บไว้ ทำให้มีธาตุไอโอดีนสะสมอยู่ ป้องกันโรคคอพอกได้ รักษารากผม แก้ผมร่วงได้ นอกจากนี้ ยังสามารถวัดความเค็มของดินได้ ถ้าชะครามขึ้นในดินเค็ม ใบออกสีม่วงแดง ส่วนต้นที่ขึ้นในเดินจืด ใบจะออกสีน้ำเงิน

ใบอ่อนของชะคราม เหมาะสำหรับทำอาหาร ก่อนที่จะนำไปปรุงเป็นอาหารชนิดต่างๆ จะต้องล้างน้ำหลายครั้ง พร้อมกับต้มและคั้นเอาน้ำทิ้งออกหลายครั้งเพื่อให้หายเค็ม

และที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จังหวัดสมุทรสาคร โดย ครูรัฐกรณ์ อาศาสตร์ และ ครูสุมาลี เมฆสว่างวงศ์ เป็นครูที่ปรึกษาให้นักเรียนในโรงเรียนทดลองชะคราม เพื่อนำมาเป็นยากำจัดปลวก ซึ่งมี 3 สูตร

สูตรที่ 1 ใช้ชะครามสด

สูตรที่ 2 ชะครามสดผสมกับน้ำ อัตราส่วน คือ 3 ต่อ 1

สูตรที่ 3 ชะครามผสมกับน้ำ อัตราส่วน คือ 3 ต่อ 1 และผสมพริก 1 กรัม และสารลดแรงตึงผิว

ขั้นตอนการใช้ สำรวจพื้นที่จุดต่างๆ ในบ้านหรืออาคารทั้งภายในและภายนอก เช่น ห้องเก็บของบริเวณมุมอับรอยแตกของผนังปูนหรือจุดที่มีความชื้นสูง เพื่อหาเส้นทางเดินของปลวก (ขี้ปลวก) ใช้ไม้เขี่ยเส้นทางออก จนเห็นปลวกเดิน นำยากำจัดปลวกชะครามใส่ขวดฉีดพ่น ฉีดพ่นให้โดนตัวปลวก

ยากำจัดปลวกชะคราม

ในกรณีที่ไม่เห็นตัวปลวกและไม่เห็นเส้นทางเดินของปลวก ให้สังเกตจากการได้ยินเสียงปลวกแทะกินไม้หรือจุดที่มีการผุกร่อนจากการกินของปลวก นำยากำจัดปลวกจากชะครามฉีดพ่นเพื่อให้ยาซึมเข้าไปในตัวเนื้อไม้และทำให้ปลวกไม่มากัดกิน

เนื่องจากชะครามเป็นพืชท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรสาคร ไม่ต้องซื้อ ไม่มีกลิ่นเหม็น ปลอดภัยต่อผู้ใช้ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจของคนและสัตว์เลี้ยง

ทราบแล้วใช่ไหม ว่า “ชะคราม” มีประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่วัชพืชที่ขึ้นให้รก หวังว่าต่อไปนี้ชะครามจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนและสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจได้