เคล็บลับเลือกซื้อ “ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา” สำหรับเพาะเห็ด

“ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา”  เป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่เกษตรกรนิยมนำมาใช้เพาะเห็ด  ทั้งนี้การเลือกใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ควรตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่า ไม่ใช่ขี้เลื่อยไม้ยางพาราที่มาจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ เพราะขี้เลื่อยประเภทนี้ผ่านการอบฆ่าเชื้อนำมาใช้ในการเพาะเห็ดไม่ได้  หากนำขี้เลื่อยประเภทนี้ มาทำก้อนเชื้อเห็ดหยอดเชื้อลงไปแล้วเชื้อไม่เดิน เพราะไม้ยางพาราจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จะผ่านการอบยาฆ่าเชื้อรามาแล้ว  หากนำมาใช้เพาะเห็ด  เชื้อเห็ดก็จะไม่เดินอย่างแน่นอนเพราะเชื้อเห็ดก็เป็นเชื้อราประเภทหนึ่งนั่นเอง

 หากใครต้องการตรวจสอบคุณภาพขี้เลื่อยว่าใช้ได้หรือไม่  ขอแนะนำให้ทดลองทดสอบตามคำแนะนำของศูนย์เห็ดล้านนานคือ  เอามือ ล้วงเข้าไปในขี้เลื่อย ถ้าขี้เลื่อยนั้นร้อน เหมือนมีการหมัก ถือว่า  ขี้เลื่อยนั้นใช้ได้ แต่ถ้าขี้เลื่อยนั้นไม่ร้อน หรืออุ่นแดด  และควรสอบถามคนขับว่า ไปขึ้นขี้เลื่อยจากที่ไหน เป็นโรงไม้ หรือโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ถ้าไม่แน่ใจ ก็จะไม่ควรรับ เพราะเสี่ยงขาดทุนได้

นอกจากนี้ ก่อนลงขี้เลื่อย ควรตรวจดูบริเวณที่จะลงขี้เลื่อยว่ามีความสะอาดพอไหม พื้นที่ตรงนั้นมีน้ำขังหรือเปล่า ควรปรับระดับการระบายน้ำให้ดี ข้อควรระวังก็คือ ขี้เลื่อยเก่าที่ค้างอยู่ แล้วมีเชื้อราแข่งขัน หรือมีเห็ดขึ้นอยู่ ควรจัดการขี้เลื่อยเก่านั้นก่อน

หลังจากลงขี้เลื่อยแล้ว ควรหาซาแรนคลุมไว้ หรือไม่ให้ขี้เลื่อยถูกแสงแดดโดยตรง บางท่านอาจจะมีข้อคิดเห็นแตกต่างว่าให้โดนแสงแดดน่าจะดีกว่าจะได้ฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ในทางปฎิบัติพบว่า ขี้เลื่อยที่โดนแดดโดยตรง ขี้เลื่อยจะแห้งจะสูญเสียความชื้นมากเกินไป เมื่อนำมาเพาะเห็ดแล้วจะไม่ค่อยได้ผล

หากฟาร์มเห็ดของท่านมีแหล่งน้ำดี ควรเปิดสปริงเกลอร์ให้น้ำกับขี้เลื่อยเพื่อชะล้างยางไม้ และให้ความชื้นในกองขี้เลื่อยทำให้เกิดกิจกรรมของจุลินทรีย์เรียกว่าเป็นการหมักขี้เลื่อยไปในตัว ทำให้เกิดสารอาหารบางชนิดที่เห็ดสามารถนำไปเป็นอาหารได้

เมื่อจะนำเอาขี้เลื่อยไปใช้ ควรที่จะร่อนขี้เลื่อยก่อน เพราะว่าไม้ส่วนที่แข็งจะไปทิ่มถุงพลาสติก ทำให้ถุงขาด เชื้ออื่นสามารถเข้าไปได้ เมื่อร่อนแล้วก่อนนำไปผสมควรหมักขี้เลื่อยไว้สัก 1 คืน (เทคนิคของอาจารย์สุรศักดิ์ รัตนะ)   เพื่อให้ขี้เลื่อยได้ดูดซึมความชื้นเข้าไป ที่ผ่านมาพบว่า ฟาร์มหลายแห่งไม่หมักขี้เลื่อยแล้วเจอความชื้นเทียม เมื่อทำถุงเชื้อเห็ด นำไปนึ่งเสร็จเชื้อเห็ดเดินไม่ดี เนื่องจากความชื้นไม่ทั่วถึง

การเลือกใช้ ขี้เลื่อยจากไม้ชนิดอื่น

ศูนย์เห็ดล้านนา เคยทดลองใช้ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา ไม้มะม่วง ไม้มะขาม มาเพาะเห็ด ปรากฎว่าได้ผลผลิตดีพอสมควรแต่ไม่เท่าไม้ยางพารา ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา ต้องหมักก่อน 3-4 เดือน มีข้อเสียคือ ขี้เลื่อยมักหยาบทำให้ก้อนเชื้อไม่แน่นพอ ให้ผลผลิตต่ำเนื่องจากก้อนจะเสียเร็ว ขี้เลื่อยไม้มะม่วงมักมีปัญหาโรงงานไม่ค่อยแยกขี้เลื่อยออกจากขี้กบและเศษไม้ ทำให้ยากต่อการจัดการ

    ไม้มะขามนำมาเพาะเห็ดได้ผลผลิตดีพอสมควร แต่หายาก มีขี้เลื่อยจากไม้ชนิดอื่นอีกหลายชนิดที่นำมาเพาะเห็ดได้ แม้กระทั่งไม้สัก ส่วนขี้เลื่อยจากไม้ไผ่นำมาเพาะเห็ดแครงได้ แต่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดพอสมควร  เพราะเชื้อเห็ดแครงแรงมาก เป็นวัชพืชเห็ดชนิดหนึ่ง เมื่อระบาดเข้าไปในโรงเพาะเห็ดแล้วจะเกิดความเสียหาย