ผักกูดอินทรีย์ใต้ต้นสัก ยึดหลักพอเพียง ปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกง่าย ได้ผลดี

ผักกูด เป็นชื่อของผักชนิดหนึ่งจัดอยู่ในตระกูลเฟิร์น สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู และนอกจากจะนำมาเป็นอาหารได้แล้วยังใช้เป็นสมุนไพรได้อีกด้วย ผักกูดมักจะขึ้นอยู่ตามริมน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่าในป่าทึบ เจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้แล้ว ผักกูด ยังเป็นดัชนีชี้วัดถึงสภาพแวดล้อม ให้ได้รู้ว่าบริเวณไหนอากาศไม่ดี ดินไม่บริสุทธิ์ มีสารเคมีเจือปนอยู่ ผักกูดจะไม่ขึ้นหรือแตกต้นในบริเวณนั้น ด้วยสรรพคุณและคุณค่าที่มีมากมาย จึงทำให้ในปัจจุบันเกษตรกรหันมาปลูกผักกูดเชิงการค้ามากขึ้น

คุณชาญณรงค์ พวงสั้น อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 7 ตำบลวังจันทร์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี เล่าถึงงานปลูกผักกูดว่า เกิดนึกสนใจและมองเห็นอนาคตของผักกูดว่าน่าจะไปได้ดี ผักกูดเป็นผักที่หาได้จากธรรมชาติในสมัยก่อน แต่ในปัจจุบันเริ่มหารับประทานยากขึ้นทุกวัน ตนจึงมองเห็นโอกาสจากตรงนี้ ใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำงานสวนปลูกผักกูดอินทรีย์แซมสวนสัก โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 คือปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดังนั้น ในสวนของคุณชาญณรงค์จะเต็มไปด้วยการปลูกพืชที่เอื้ออำนวยกันไปเป็นลำดับ 

คุณชาญณรงค์ พวงสั้น

พื้นที่ 21 ไร่ ยึดหลัก ปลูก 3 ประโยชน์ 4

คุณชาญณรงค์ เล่าว่าพื้นที่เดิมตรงนี้เป็นป่าละเมาะเล็กๆ ตนเริ่มปลูกมะนาวเป็นอย่างแรก ได้มีการใช้สารเคมีมากมาย เมื่อเวลาผ่านไปสักพักได้เล็งเห็นว่าความปลอดภัยน้อยลง ทั้งในเรื่องของสุขภาพ และสภาพพื้นดิน จึงหยุดปลูกมะนาว หันมาปลูกจันทน์ผาอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนั้นจันทน์ผากำลังเป็นที่ฮือฮา ก็ขายได้บางส่วน พื้นที่อีกส่วนใช้ปลูกต้นสัก เพราะสักเป็นพืชที่มีอนาคต อายุต้นสักภายในสวนคุณชาญณรงค์อายุ 15 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่าต้นละ 5,000 บาท ภายในสวนมี 1,000 ต้น ปลูกในระยะ 6×4 เมตร สาเหตุที่ตนปลูกพืชหลายอย่างในสวนเดียวกัน เพราะได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ชั้นล่างสุดจะปลูกผักกูด ชั้นสองคือ จันทน์ผา ชั้นสาม ไม้สัก ตกกลางคืนจะมีหิ่งห้อยเข้ามาบ่งบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ในสวนแห่งนี้ สิ่งเหล่านี้ได้ประโยชน์กว่าที่คิด 

ผักกูดแซมต้นสัก

ปลูกผักกูดอย่างไร ให้ได้กิน ได้ขาย

คุณชาญณรงค์ เล่าให้ฟังว่า ผักกูด เป็นพืชที่อยู่คู่กับริมแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณริมแม่น้ำจะมีผักกูดขึ้นอยู่เต็มไปหมด แต่การปลูกเป็นแปลงจะน้อย เกษตรกรจะใช้วิธีเก็บผักกูดตามริมน้ำ ซึ่งในฤดูแล้งจะขาดแคลน ผู้บริโภคที่ต้องการก็จะหายาก

ระบบน้ำ

วิธีการปลูกผักกูดของคุณชาญณรงค์ เขาให้น้ำตลอด ดินต้องมีความชื้นตลอด และข้อดีของการปลูกผักกูดแซมในสวนสักคือ ผักกูดเป็นพืชที่ต้องการน้ำ ดังนั้น ให้น้ำผักกูดตลอด 12 เดือน ส่งผลไปถึงต้นสัก

ต้นสักโตเร็ว เท่านั้นไม่พอที่นี่กลางคืนมีหิ่งห้อย เพราะเป็นระบบธรรมชาติที่สมบูรณ์ไม่มีการใช้สารเคมีมาเกี่ยวข้อง

ผักกูดที่นี่ใช้วิธีขยายพันธุ์โดยสปอร์ ซึ่งจะพัฒนาเป็นหน่อเล็กๆ ปลูกในระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 30×50 เซนติเมตร 4 เดือน เริ่มเก็บผลผลิตได้

ผักกูด เป็นพืชที่ให้น้ำหนักดีมาก โดยยอดที่สมบูรณ์ โดยประมาณ 30 ยอด ได้น้ำหนักถึง 1 กิโลกรัม ถ้ายอดเล็กประมาณ 50 ยอด จะได้ 1 กิโลกรัม

แบบนี้เด็ดรับประทานได้แล้ว

ปุ๋ย ให้เป็นปุ๋ยคอกอย่างเดียว ปีละครั้ง ระบบน้ำ ดินชื้นไม่ต้องให้ ดินแห้งจึงให้

“ฤดูฝนไม่ต้องให้น้ำ ผักกูดเป็นพืชที่ไม่ชอบแสงแดดมากเกินไป ถ้าน้ำน้อยน้ำขาดจะแห้งเลย ถ้าอยากปลูกผักกูดสร้างรายได้ต้องคำนึงถึงน้ำและร่มเงา ปลูกกลางแจ้งไม่ได้ ข้อจำกัดเขามีอยู่ตรงนี้ อีกวิธีหนึ่งคือใช้ซาแรนคลุมเพื่อลดแสงแดด แต่จะเป็นการเพิ่มต้นทุน ใบไม้ก็สามารถทำเป็นปุ๋ยได้ เมื่อทิ้งไว้นานใบไม้เริ่มเปื่อยใช้ได้ดี ใช้ไม่มีหมด อย่าไปเผา อย่าไปทำลายฉีดยา สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ทั้งนั้น” คุณชาญณรงค์ บอก

ศัตรูพืช ของผักกูดคือ แมลงกินใบ แต่คุณชาญณรงค์บอกว่าไม่เป็นไร เพราะใบของผักกูดมีเยอะ ถ้าเราให้น้ำเยอะใบก็แตกเยอะ แมลงกินไม่ทัน คุณชาญณรงค์ยังพูดติดตลกอีกว่า ก็แบ่งๆ แมลงกินบ้างไม่เสียหาย ดีกว่าเสียเงินไปซื้อยาฆ่าแมลง ทั้งเพิ่มต้นทุนและทำลายระบบนิเวศที่สมบูรณ์อยู่แล้ว

ผักกูดนำมาประกอบอาหารอร่อยเลิศ

หากท่านใดเคยได้ลิ้มลองผักกูดในเมนูอาหารต่างๆ มาแล้ว มั่นใจว่าท่านจะต้องติดใจในรสชาติความหวานและความกรอบของยอดผักกูดอย่างแน่นอน สำหรับท่านที่ยังไม่เคยได้ลองเมนูผักกูดถือว่าพลาดมาก รีบไปหามารับประทานได้เลย ผักกูดสามารถประกอบอาหารได้หลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นยำ แกงส้มผักกูด ผัดผักกูดใส่หมูกรอบ หรือจะลวกจิ้มน้ำพริกอร่อยสุดยอด และยังมีคุณค่าทางสมุนไพรอีกด้วย

เมนูผักกูดลวกจิ้มน้ำพริก
ยำกุ้งสดใส่ยอดผักกูด

การตลาดหาไม่ยาก เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว

“แก่งกระจาน มีรีสอร์ตเยอะ ดังนั้น การตลาดของผมจึงไม่ต้องคิดมากเลย มุ่งหน้าทำตลาดกับรีสอร์ตก่อนเป็นอันดับแรก เหตุผลที่เลือกส่งรีสอร์ตจะเป็นในเรื่องของความสะดวก ไม่ต้องเสียเวลานั่งขาย ได้รายได้แน่นอนกว่า แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ผมก็จัดสินค้าบางส่วนส่งให้ตลาดในท้องถิ่นและตลาดที่กรุงเทพฯ ซึ่งแม่ค้านำสินค้าจากในพื้นที่เข้ากรุงเทพฯ ก็จะติดผักกูดไป กิโลกรัมละ 50 บาท ลองคิดดูเล่นๆ ตกยอดละบาทกว่าเลยนะ แปลงนี้เรายังไม่เน้นขาย เน้นทำพันธุ์และเก็บกิน แจก เหลือก็ขาย พอสร้างรายได้เลี้ยงคนงาน” คุณชาญณรงค์ บอก

คุณชาญณรงค์ พวงสั้น (ซ้าย) และ คุณบุญส่ง พูลพัฒน์ เจ้าของไร่ส่งตะวัน ผู้ผลิตสับปะรดฉีกแวะมาเยี่ยม

แนะนำสำหรับคนที่อยากปลูก

สิ่งแรกที่ต้องดูคือ ตลาด ว่าผู้บริโภคต้องการไหม เพราะพืชบางตัวผู้บริโภคไม่ต้องการก็มี สองยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูก 3 ประโยชน์ 4 เพื่อลดความเสี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แถมได้รายได้หลายทาง ไม่ต้องปลูกเยอะเริ่มจากน้อยๆ เพื่อรับรู้ลองถูกลองผิด เมื่อชำนาญแล้วจึงขยาย ถ้าทำแบบนี้ได้จะปลูกอะไรก็สำเร็จ และสร้างอาชีพได้อย่างยั่งยืน

จันทน์ผาพืชเอื้อประโยชน์ ลำดับที่ 2

สำหรับท่านที่สนใจอยากซื้อต้นพันธุ์ผักกูดต้องรออีกนิด เพราะเบี้ยยังเล็กอยู่ แต่ถ้าจะมาศึกษาดูงานหรือจะมารับประทานอาหารเมนูผักกูดก็ได้ คุณชาญณรงค์ยินดีให้คำปรึกษา โทร. (081) 705-7911