อดีตกุ๊ก ร้านอาหารไทย กลับบ้านเกิด หันเลี้ยงไก่สวยงามพันธุ์ต่างประเทศ รายได้ 7 หมื่น/เดือน

กระแสเลี้ยงไก่สวยงาม สายพันธุ์ต่างประเทศกำลังเป็นที่นิยม และตลาดยังมีความสนใจอีกมาก ทำให้ผู้เลี้ยงไก่สวยงามสายพันธุ์ต่างประเทศ ได้รับออร์เดอร์สั่งจองกันข้ามปี แถมยังผลิตเพื่อส่งขายกันแทบไม่ทัน

คุณสุทธิชัย ผลิรัตน์ หรือคุณต้อย วัย 40 ปี อดีตกุ๊ก ร้านอาหารไทย ประเทศเยอรมัน ที่ลาออกจากงานกุ๊กและผันอาชีพมาเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เริ่มต้นเรื่องราวของคุณต้อยด้วยการทำงานที่ต่างประเทศว่า “ทำงานเป็นกุ๊ก อยู่ร้านอาหารไทย ประเทศเยอรมัน กว่า 18 ปีแล้ว จนตอนนี้ได้สัญชาติเยอรมันแล้วด้วย แต่ปัจจุบันนี้ได้ลาออกจากงานกุ๊กแล้ว เพราะอยากมาสานต่อความคิดที่อยากทำฟาร์ม และเอาดีด้านการเลี้ยงไก่อย่างจริงจังที่บ้านเกิด อ.ทุ่งศาลา จ.นครศรีธรรมราช

สมัยก่อนตอนเด็กๆ บ้านของผมเคยได้เลี้ยงไก่แจ้ พื้นฐานบ้านเราเป็นเกษตรกร ชาวนา ชาวสวนทั่วไป  แต่ที่ให้ความสนใจเรื่องการเลี้ยงไก่  เพราะสมัยที่ยังทำงานอยู่ที่เยอรมัน ได้มีโอกาสไปดูพันธุ์ไก่ต่างประเทศ สายพันธุ์ต่างๆ มาพอสมควร ทั้งได้มีโอกาสพบเจอกับคนเลี้ยงไก่ คนที่พัฒนาสายพันธุ์ไก่ที่เยอรมัน ยิ่งทำให้สนใจการเลี้ยงไก่มากขึ้น”

คุณต้อย บอกว่า เรานำเข้าไข่ไก่มาจากเมืองนอก แล้วมาเพาะเลี้ยง ฟักที่เมืองไทย จนเป็นตัวไก่ เน้นไปที่ไก่สายพันธุ์แท้จากต่างประเทศ ซึ่งได้ไปเลือกและดูมาเอง สำหรับการเลี้ยงไก่ ที่เมืองนอก หากเป็นไก่สายงาม เขาจะเลี้ยงเพื่อเอาไปประกวดโดยเฉพาะ จึงมีการพัฒนาสายพันธุ์มาโดยตลอด

“ตั้งแต่เริ่มต้นทำฟาร์มมาตลอด 2 ปีนี้ จึงมีความตั้งใจว่าอยากจะกลับมาบ้าน และพัฒนา “ฟาร์มผลิรัตน์” ให้ยั่งยืนสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ และถ้าหากนับในความรู้สึกของผม ผมมองว่าช่วงที่ผ่านมา 2 ปีนี้ เป็นช่วงก่อร่างสร้างตัว ใช้เงินหมุนเวียนจากการขายไก่ มาสร้างเล้าไก่ใหม่ ซื้ออาหาร และเมื่อไก่โต ก็หมุนเวียนเป็นเงิน และใช้ในการลงทุนต่อไป”

ฟาร์มผลิรัตน์ เป็นฟาร์มที่สะสมสายพันธุ์ไก่สวยงาม จากต่างประเทศมากที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ มีมากกว่า 50 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มาจากต่างประเทศทั้งหมด

“เริ่มต้นการเลี้ยงไก่แค่ 8 ตัว เพียงแค่ 1 สายพันธุ์เท่านั้น ในปัจจุบันที่ฟาร์มมีไก่พ่อแม่พันธุ์เกือบ 500 ตัว ลูกไก่อีกประมาณ 500 ตัว และไข่ไก่ที่กำลังรอฟักอยู่อีกกว่า 1,000 ฟอง โดยไข่ไก่มีหลากหลายสี เช่น สีช็อคโกแลต สีฟ้า สีเขียว เป็นต้น โดยที่ฟาร์มเป็นผู้ผสมพันธุ์ไก่เอง และได้ไข่มาฟัก รอเป็นตัวเพื่อจำหน่ายต่อไป” คุณต้อย บอก ก่อนจะว่า

ตามลักษณะนิสัยพื้นฐานของไก่โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นไก่ในเมืองไทย หรือไก่ต่างประเทศ ก็เป็นสัตว์ที่ชอบให้มีแสงแดด ชอบเล่นฝุ่น ยิ่งไก่ต่างประเทศบางชนิดมีขนเยอะตามขา ตามนิ้ว การดูแลพื้นกรงจึงต้องสะอาด การเลี้ยงจึงต้องเข้าใจนิสัยว่าไก่ประเภทไหนเป็นยังไง ชอบบิน หรือไม่ชอบ ก็ต้องรู้จักเรียนรู้นิสัยด้วย

ข้อระวังการเลี้ยงไก่คือ เรื่องโรคหวัด ซึ่งเป็นกันได้ง่าย ต้องระวังความชื้น และสามารถเป็นได้บ่อยๆ จึงต้องทำความสะอาดคอกบ่อยๆ ที่ฟาร์มมีการแบ่งชั้น ทำกรงแยกในการเลี้ยง เพื่อการควบคุมและดูแลไก่ได้ง่าย คอกต้องระบายอากาศได้ดี ควรมีหลังคา ที่ปิดทึบบางส่วน และมีหลังคาโปร่งแสง เพื่อให้แดดส่องเข้าถึง ไก่จะได้นอนอาบแดดได้

การดูแลเรื่องอาหาร ก็เน้นเลี้ยงด้วยน้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักสมุนไพร ซึ่งเป็นสูตรที่จัดขึ้นมา และไก่ก็ควรได้กินผัก ผลไม้ ที่ฟาร์มให้กินกล้วย ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้มาจากสวนในบ้าน ที่ปลูกเอาไว้ ผลผลิตที่ได้ก็เอามาหมุนเวียนใช้ในการเลี้ยงไก่ และจำหน่าย มูลไก่ ก็เอาไปเป็นปุ๋ยใช้ในสวน

สำหรับโรงเรือน คุณต้อย บอกว่า “เรามี 2 โรงเรือนใหญ่ ขนาด 5 เมตร คูณ 20 เมตร แบ่งเป็นห้องกว้าง 2.5 เมตร คูณ 2 เมตร 1 โรงเรือนก็จะได้ประมาณ 20 ห้อง พื้นกรงจะปูด้วยทราย ไม่ใช้แกลบ เพราะแกลบทำให้เกิดไรได้ง่าย ส่วนดินก็จะมีฝุ่นเยอะมากเกินไปจทำให้ไก่เป็นหวัดง่าย สำหรับไก่ที่มาเลี้ยงในกรงจะเป็นไก่วัยรุ่น”

รายได้ต่อเดือนที่ขายไก่สวยงามตกเฉลี่ยเดือนละ 60,000-70,000 บาท มีออร์เดอร์ และผู้ซื้อต้องการเข้ามามาก จนลูกไก่ผลิตกันแทบไม่ทันในตอนนี้ คุณต้อย บอก

สำหรับสายพันธุ์ไก่ยอดฮิตที่คนนิยมกันมากที่สุดตอนนี้ คือไก่โปแลนด์ ซึ่งค่อนข้างเลี้ยงยากและหายากด้วย อีกสายพันธุ์หนึ่งที่นิยมคือไก่ซิลกี้  สำหรับที่ฟาร์มผลิรัตน์ที่นี่เลี้ยงไก่หลากหลายพันธุ์ เช่นบราม่า,เวียนด็อท, โปแลนด์, ซิ้ลกี้, บีเลเฟลเด่อ, มาราน, อรัวคาน่า, มินิโคชิน, ไจแอ้นโคชิน, เจอซี่ไจแอ้น, ออพิงตัน, อัมร็อค, พลีมันร็อค, มินิสุ่มทาเล่อ, ไก่ชนคิวบา, ไก่แจ้ขนกลับ, ไก่แจ้ขนไหม, ไก่แจ้สามสีเยอรมันเลือดร้อย ไวร็อค, ซัสเซค, ฟิฟที้ไฟเฟอเรอรี่, ออสตราลอฟและนิวแฮมป์เชียร์ เป็นต้น ส่วนลูกไก่ก็มีราคาตั้งแต่ตัวละ250บาทถึงตัวละ10,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสีสันด้วย

สำหรับใครที่สนใจลองเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก : Sutthichai Phalirat Farm