ปลาหมอไทย ชุมพร 1 ตัวใหญ่ เนื้อแน่น ขยายการเลี้ยงเชิงการค้า ที่ เชียงใหม่-ลำพูน

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน นำโดย คุณสุเทพ ปั๋นธิวงค์ ประธานกลุ่ม จัดให้มีการแข่งขันตกปลาหมอไทย ภาษาทางล้านนาเรียกว่า ปลาสะเด็ด โดยใช้เบ็ดไม้ไผ่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีการตกปลา เป็นการส่งเสริมการเลี้ยงปลาหมอไทยให้ขยายวงกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาดูงานการเลี้ยงปลาหมอไทยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการของกรมประมง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงสัตว์น้ำ และการแปรรูปสัตว์น้ำ โดยการสนับสนุนถ้วยรางวัลจาก ดร. ประเทือง นรินทรางกูล ณ อยุธยา หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดเชียงใหม่ คุณสมหมาย คำมาสาร ประธานสภาเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ คุณบรรจง จำนงศิตธรรม ประมงจังหวัดเชียงใหม่ คุณพงษ์ศักดิ์ ศิริ นายกเทศมนตรีเทศบาลเจดีย์แม่ครัว

คุณสุเทพ ปั๋นธิวงค์ เล่าว่า ปลาหมอไทย เป็นปลาที่ได้รับความนิยมบริโภคกันมานานแล้ว ทั้งปิ้ง ย่าง ฉู่ฉี่ เป็นปลาที่มีความอดทนอย่างสุดยอดกว่าปลาอื่นๆ ทั้งสภาพอากาศร้อนเย็น ดินปกติ ดินเหนียว ดินกรดด่าง อยู่ในน้ำที่มีปริมาณน้อยได้นานกว่าปลาอื่นๆ เพราะมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ

คุณสุเทพ ปั๋นธิวงค์ (ซ้าย) พร้อมหัวหน้าส่วนราชการให้การสนับสนุน

ปลาหมอ ในอดีตจะเป็นปลาขนาดเล็ก พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำห้วย หนอง บึง ทะเลสาบ คูน้ำ ร่องสวน เช่น ปลาหมอน้ำค้าง พบตามชายขอบป่าพรุ ตัวเรียว เล็กแคระแกร็น แต่ทรหดทนทานมาก ปลาหมอนาหรือปลาหมอบ้าน ตัวป้อม แบนใหญ่ ความลึกลำตัวมาก การขยายพันธุ์ทั้งคุณภาพและปริมาณน้อย พ่อแม่พันธุ์ปลาหมอไทยได้มาจากธรรมชาติที่มีขนาดเล็ก ปลาอ่อนแอเป็นโรคง่าย โตช้า ใช้เวลาเลี้ยงนาน ทำให้ต้นทุนสูง เสี่ยงต่อการขาดทุน

ปัจจุบันปลาหมอไทยได้รับการผสมพันธุ์ใหม่โดยศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำ ชุมพร จึงใช้ชื่อว่า “ปลาหมอไทย ชุมพร 1” เป็นปลาหมอที่มีคุณภาพดีมาก ตัวใหญ่ เนื้อแน่นและนุ่ม จำนวน 3-5 ตัว น้ำหนัก 1-1.5 กิโลกรัม สามารถเลี้ยงในบ่อดินได้ดี พื้นที่ 1-2 ตารางเมตร ปล่อยลูกปลา 30-50 ตัว ก็สามารถเลี้ยงเพื่อการบริโภคในครัวเรือนได้ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ขยายพื้นที่บ่อเพื่อเลี้ยงแบบการค้าแล้ว ไม่ต่ำกว่า 200 ราย

ปลาหมอไทย 3 ตัว 1 กิโลกรัม

ปลาหมอไทย มีลำตัวป้อมค่อนข้างแบน ลำตัวสีน้ำตาลเหลืองปนดำ เกล็ดแข็ง ปลายกระดูกที่กระพุ้งแก้มมีลักษณะเป็นหนามหยัก แหลมคมมาก มีอวัยวะช่วยหายใจอยู่ในช่องเหงือกใต้ลูกตา จึงทำให้อยู่บนบกได้นาน ปลาหมอไทยเป็นปลากินเนื้อ กินสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่า เช่น ตัวอ่อนแมลงน้ำ ตั๊กแตน กุ้งฝอย ลูกปลาเล็กๆ ทั้งที่มีชีวิตและตายแล้ว ตลอดจนเมล็ดพันธุ์พืชและอาหารสำเร็จรูป

การเลี้ยงปลาหมอไทยเชิงการค้านั้น เกษตรกรจะต้องเลือกสถานที่ที่จะต้องเพาะเลี้ยง บ่อเพาะขยายพันธุ์ บ่ออนุบาล ลักษณะดินที่สร้างบ่อควรเป็นพื้นราบ ดินเหนียวหรือดินหนียวปนทราย น้ำไม่รั่วซึมง่าย สามารถเก็บกักน้ำได้ 4-6 เดือน พื้นที่บ่อเลี้ยงควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ แม่น้ำ ลำคลอง มีปริมาณน้ำตลอดปี หรืออยู่ในเขตชลประทาน เกษตรกรที่เคยเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่น้ำจืด นาข้าวทิ้งร้าง ก็สามารถเปลี่ยนอาชีพมาเลี้ยงปลาหมอไทยได้

บ่อเลี้ยงปลาหมอไทยเชิงการค้า

การเริ่มต้นเลี้ยงปลาหมอไทย เริ่มต้นจากการสูบน้ำให้แห้ง เป็นการกำจัดศัตรูปลาที่หลบซ่อนอยู่ในบ่อ ปรับพื้นโคลนเลนพื้นบ่อให้เหมาะสม ควรหว่านปูนขาวในขณะที่ดินเปียก อัตรา 100-200 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ของบ่อ กำจัดวัชพืชและพันธุ์ไม้น้ำที่จะเป็นแหล่งหลบซ่อนของศัตรูปลาหมอไทย เช่น ปลาช่อน ปลาดุก กบและงู อีกทั้งเป็นการสะดวกในการให้อาหารปลาและวิดบ่อจับปลา ตากบ่อทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค ฆ่าศัตรูปลาที่ฝังตัวอยู่ในดิน และทำให้แก๊สพิษบางชนิดในดินสลายตัวไป จากนั้นจึงสูบน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับ 60-80 เซนติเมตร ทิ้งไว้ 2-3 วัน ก่อนปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงหรืออนุบาลปลา ควรใช้อวนสีฟ้ากั้นรอบคันบ่อให้สูงจากพื้นประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันศัตรูปลาหรือปลาหลบหนีออกจากบ่อ เพราะปลาหมอไทยชอบปีนป่ายโดยเฉพาะช่วงที่มีฝนตก

ปลาหมอไทยจี่ รสชาติอร่อย

การปล่อยลูกปลานั้น นิยมลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร อัตราปล่อย 30-50 ตัว ต่อตารางเมตร ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการปล่อยลูกปลาคือ ช่วงเวลาเช้าหรือเย็น หลังจากปล่อยลูกปลาแล้วจะต้องสูบน้ำเข้าบ่อให้มีความสูง ระดับ 1.5 เมตร การเลี้ยงปลาหมอไทยเชิงการค้า เน้นการปล่อยเลี้ยงแบบหนาแน่นสูง ใช้ปัจจัยการผลิตทั้งอาหารปลา ยาป้องกันรักษาโรค การเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อปลา เกษตรกรจะต้องมีความพร้อมอย่างเต็มที่เมื่อถึงเวลาหรือเกิดโรคปลาระบาด

สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงแบบยังชีพหรือหัวไร่ปลายนา เลี้ยงในบ่อหลังบ้านหรือร่องสวน คันคูน้ำ มุมบ่อปลาในนาข้าว เป็นการเลี้ยงแบบง่ายๆ ลงทุนไม่สูงมากนัก นอกจากได้อาหารจากธรรมชาติแล้ว ยังใช้เศษอาหารจากครัวเรือน รำละเอียด ปลาสดสับ ปลวก ใช้ไฟล่อแมลงเวลากลางคืน ระยะเวลาเลี้ยงปลาหมอไทย ประมาณ 90-120 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดของปลาที่ตลาดต้องการ สภาวะสิ่งแวดล้อมภายในบ่อและสุขภาพของปลา บางรายขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้เลี้ยงกับพ่อค้ารับซื้อ แต่เกษตรกรรายย่อยไม่มีปัญหาด้านการตลาด การจับปลาเป็นอาหารบ้าง ที่เหลือจะขายบ้าง ตามความสะดวกของผู้เลี้ยงมากกว่า ราคาปลาหมอไทยที่ตลาดรับซื้อหน้าบ่อปลาและจับปลาเอง ขณะนี้กิโลกรัมละ 120-150 บาท

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และศึกษาดูงานการเลี้ยงปลาหมอไทย กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน เลขที่ 83 หมู่ที่ 9 ตำบลแม่แฝกใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ หลักกิโลเมตรที่ 18 ถนนเชียงใหม่-พร้าว โทร. (081) 595-0529

 

ขอขอบคุณ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยฯ ประมงจังหวัดลำปาง โทรศัพท์ (054) 825-595