ไข่ไก่ไอโอดีน ฝีมือเด็กเกษตร อร่อย จนต้องเข้าคิวซื้อ

โรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร ตั้งอยู่พื้นที่ หมู่ที่ 4 ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จัดเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียนระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวนนักเรียน 312 คน บุคลากรทางการศึกษารวมถึงอัตราจ้างที่จำเป็น 20 คน

เมื่อโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคารเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ การจัดงบประมาณสำหรับโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งปกติโรงเรียนจะบริหารจัดการภายในโรงเรียนเอง จึงจัดการด้วยการให้ผู้สนใจเข้ามาบริหารจัดการ แตกต่างจากการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนบางแห่ง ที่นำผลผลิตที่ได้จากแปลงเกษตรของเด็กนักเรียน นำมามีส่วนในโครงการอาหารกลางวันด้วย

แต่ถึงอย่างนั้น ผลผลิตที่ได้จากแปลงเกษตรส่วนหนึ่งก็ยังเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ด้วยการรับซื้อไปประกอบอาหารให้กับนักเรียนภายในโรงเรียน

อาจารย์มานะ กอสูงเนิน ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร มีนโยบายในการปูพื้นฐานในภาคเกษตรให้กับนักเรียนทุกระดับชั้นของโรงเรียนไว้อย่างดี เพราะมองเห็นว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ที่จบระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จะเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นกับโรงเรียน และหลังจากนั้นเกือบทั้งหมดจะเลือกศึกษาต่อในสายวิชาชีพ ซึ่งการมีพื้นฐานในภาคการเกษตรให้ติดตัวนักเรียนไว้จะเป็นผลดี แม้จะยังไม่พบว่ามีนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนไปเอาดีในการทำการเกษตรก็ตาม แต่เชื่อว่าจะเป็นวิชาความรู้ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถเอาตัวรอดในเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวันได้

พื้นที่ของโรงเรียนทั้งหมด 13 ไร่ โรงเรียนให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร ด้วยการแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนไว้มากถึง 3 ไร่ และจัดแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ 8 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ การปลูกผัก การเลี้ยงเป็ด การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลา การทำโรงเรือนเห็ด แปลงสาธิตไม้ยืนต้น การปลูกมะนาว และแปลงสาธิตพืชสมุนไพร

ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร อธิบายให้ฟังว่า เด็กนักเรียนที่ศึกษาในโรงเรียนนี้มีพื้นฐานครอบครัวเป็นเกษตรกรไม่มากนัก ส่วนใหญ่ครอบครัวมีอาชีพรับจ้าง ทำให้เด็กนักเรียนมีพื้นฐานทางด้านการเกษตรน้อย และไม่มีพื้นที่ทำการเกษตรของครอบครัว จึงไม่มีประสบการณ์การทำการเกษตร ดังนั้น โรงเรียนจึงจำเป็นต้องสั่งสมประสบการณ์ให้กับเด็กนักเรียน เพื่อนำไปต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวันและอนาคตต่อไป

“แต่ละฐานจะมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นพี่ใหญ่คอยดูแลน้องๆ จัดแบ่งหน้าที่ให้กับน้องๆ ตามความเหมาะสม แต่นักเรียนทุกระดับชั้นจะมีโอกาสลงแปลงเกษตร โดยเฉพาะในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ที่มีวิชาเกษตรเป็นส่วนหนึ่ง อย่างน้อยเด็กทุกคนจะได้หยิบจับการเกษตรในฐานต่างๆ สัปดาห์ละครั้งอยู่แล้ว นอกเหนือจากนั้น นักเรียนที่มีหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมแต่ละฐาน ก็ต้องจัดแบ่งเวลาและแบ่งเวรกับเพื่อนในการดูแลกิจกรรมแต่ละวัน โดยใช้เวลาในช่วงเช้าและกลางวันในการดูแล”10-1-728x485

พื้นที่ 3 ไร่ ถูกจัดแบ่งเป็นสัดส่วน แต่เรียกพื้นที่ทั้งหมดว่าการทำการ มีทั้งสิ้น 8 ฐานการเรียนรู้

1. การทำแปลงผักสวนครัวตามฤดูกาล เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง ต้นหอม ตะไคร้ และอื่นๆ ที่เป็นผักระยะสั้น สามารถเก็บเกี่ยวได้รวดเร็ว เด็กนักเรียนจะเรียนรู้การเจริญเติบโตที่สามารถจดบันทึกได้ในเวลาเรียน ผลผลิตที่ได้นักเรียนจะนำกลับไปรับประทานเองที่บ้าน และนำไปจำหน่ายยังตลาดนัดชุมชน

2. การเลี้ยงเป็ด เป็นเป็ดเทศ จำนวนกว่า 20 ตัว มีพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ สำหรับเป็ดเทศจะเลี้ยงเพื่อขายเนื้อ ใช้ระยะเวลาประมาณ 6-7 เดือน จากนั้นจะจำหน่ายเป็นเป็ดเนื้อ ในราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท

3. การเลี้ยงไก่ไข่ เป็นการเลี้ยงแบบกรงตับภายในโรงเรือน จำนวน 90 ตัว สำหรับไก่ไข่ มีความพิเศษตรงที่อาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่เป็นอาหารสูตรพิเศษที่มีธาตุไอโอดีนสูง ทำให้ไข่ที่ได้มีไอโอดีนสูงตามไปด้วย สังเกตได้จากไข่แดงที่มีสีแดงเข้มและเป็นทรงกลมสวยงาม ในแต่ละวันจะเก็บไข่ในช่วงเช้าและบ่าย ได้ไข่ไก่ 60-70 ฟอง ต่อวัน สามารถนำไปจำหน่ายได้ในราคาสูงกว่าท้องตลาด ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 10 ใบ 50 บาท ซึ่งไข่ไอโอดีนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาก ในแต่ละวันจำนวนไข่ไก่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้สนใจจำเป็นต้องจองคิวล่วงหน้าไว้หากต้องการ

4. การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน ขนาดบ่อ 25×25 เมตร 1 บ่อ ปล่อยปลาดุกครั้งละ 2,000 ตัว ในแต่ละครั้งใช้เวลาเลี้ยง 6-7 เดือน สามารถจับขายได้น้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม ต่อครั้ง

5. โรงเรือนเห็ดภูฏาน เป็นเห็ดที่สามารถหาก้อนเชื้อได้ง่ายในท้องถิ่น จึงเลือกทำเห็ดชนิดนี้ ในแต่ละครั้งจะลงก้อนเชื้อเห็ดไว้ประมาณ 500-600 ก้อน และสามารถเก็บจำหน่ายได้ในราคา 70 บาท ต่อกิโลกรัม

6. แปลงไม้ยืนต้น ปัจจุบันส่วนนี้ปลูกชะอมไว้ และนักเรียนจะตัดยอดชะอมไปจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับนักเรียนและโรงเรียนได้ในทุกวัน

7. การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ สำหรับแปลงมะนาวในวงบ่อซีเมนต์มีทั้งสิ้น 16 บ่อ เป็นมะนาวสายพันธุ์แป้นพิจิตร และกำลังให้ผลผลิต ซึ่งเมื่อผลผลิตได้ตามต้องการ นักเรียนจะนำไปจำหน่ายยังตลาดชุมชน

8.แปลงสมุนไพร เป็นการรวบรวมสมุนไพรไว้ประมาณ 20 ชนิด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน และได้ศึกษาถึงคุณประโยชน์ของสมุนไพรแต่ละชนิด

อาจารย์มานะ บอกด้วยว่า ไข่ไก่ไอโอดีน ถือเป็นไฮไลต์ของโรงเรียน และปริมาณไข่ไก่ที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ถึงกับต่อจองคิวกันล่วงหน้า แต่การเพิ่มจำนวนไก่ไข่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการดูแลอาจไม่ทั่วถึง  โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมที่ไม่มีนักเรียนมาโรงเรียน และเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ก็ดูแลได้ไม่เต็มที่ จึงจำเป็นต้องคงจำนวนไก่ไข่ไว้เพียงเท่านี้ ดังนั้น หากผู้สนใจต้องการรับประทานไข่ไก่ไอโอดีนแท้และถูก ก็ต้องจองคิวล่วงหน้าไว้ในแต่ละวัน

เด็กชายฉัตรมงคล ประพิณ หรือ น้องโอ๊ค นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 บอกว่า เรียนที่โรงเรียนเสนารัฐวิทยาคารตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถูกปลูกฝังให้รักการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก แม้ว่าที่บ้านจะค้าขาย แต่ก็ปลูกกล้วยและมะพร้าวไว้รับประทาน และช่วยดูแลตามความสามารถที่มี ซึ่งทุกวันนี้ก็มีผลไม้รับประทานไม่ต้องซื้อ ส่วนที่โรงเรียนดูแลรับผิดชอบโรงเรือนเห็ดภูฏาน ในการดูแลเห็ดภูฏานเห็นว่าต้องทำให้เห็ดมีความชื้นมากที่สุด เมื่อได้ผลผลิตก็นำไปจำหน่าย ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งสิ่งที่เรียนรู้จากแปลงเกษตรที่โรงเรียนมีความหมายมาก เพราะทำให้ได้รับความรู้มากมาย ในอนาคตอาจนำไปประกอบอาชีพของตนเอง หรือนำไปช่วยดูแลชุมชนได้อีกด้วย

5-2-728x485

ด้าน เด็กหญิงศรสวรรค์ ขุนเทียม หรือ น้องเตย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 บอกว่า การเกษตรทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่ง ความรับผิดชอบและอาชีพ สามารถนำกลับไปทำที่บ้านได้ แต่น้องเตยไม่ได้ทำ เพราะที่บ้านไม่มีพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ในแปลงเกษตรที่โรงเรียนทำให้รู้ว่าตนเองชอบปลูกผัก เพราะผักมีระยะการปลูกสั้น นำไปรับประทานและจำหน่ายเป็นรายได้

“การปลูกผักทำได้ไม่ยาก ยกตัวอย่าง เช่น การปลูกผักกวางตุ้ง เพียงแค่ต้องเตรียมดินก่อนปลูก โดยการพรวนดิน ตากดิน เพื่อให้เชื้อราในดินแห้ง ด้วยการทิ้งไว้หลังพรวนดิน 2-3 วัน จากนั้นเตรียมเพาะพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดเพาะ จากนั้นรอให้เมล็ดพันธุ์เจริญเติบโต ประมาณ 45 วัน ก็สามารถเก็บกินได้ ซึ่งผลผลิตที่ได้จะนำไปเป็นอาหารกลางวันของโรงเรียน นำกลับไปรับประทานที่บ้าน และนำไปจำหน่ายหากมีปริมาณมาก”

ส่วน เด็กหญิงสุนิสา สวัสดิแสน หรือ น้องมด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เล่าว่า ชอบทำเกษตรมาก เพราะรู้ว่า การทำการเกษตรจะทำให้มีอาหารกิน ที่บ้านจึงปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง เช่น บวบ ตะไคร้ และผักสวนครัวอื่นๆ ส่วนที่โรงเรียนได้รับผิดชอบฐานปลาดุกในบ่อดิน ซึ่งการเลี้ยงปลาก็เป็นกิจกรรมหนึ่งของภาคเกษตรที่ไม่ใช่กิจกรรมที่ยาก เพียงแต่ให้อาหารให้ตรงเวลา ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป และการเลี้ยงปลาเมื่อทำไประยะเวลาหนึ่ง ก็สามารถจับขายเป็นรายได้เช่นกัน

น้องมด ฝากบอกไปยังเยาวชนด้วยกันว่า การเกษตรไม่ใช่เพียงแค่การศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้ แต่การเกษตรเมื่อได้ทำแล้วจะเป็นผลดีต่อสุขภาพและร่างกาย เพราะเมื่อลงมือทำเองจะได้ผลิตผลที่ปลอดสารพิษ และมีประโยชน์ต่ออนาคตหากจะยึดเป็นอาชีพต่อไป

สำหรับ เด็กหญิงนราพร วระวิสัน หรือ น้องแอ้ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีตำแหน่งประธานนักเรียน ซึ่งดูแลกิจกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ เล่าว่า การเลี้ยงไก่ไข่ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการดูแลหลักๆ เพียงแค่ต้องให้อาหารและน้ำให้ตรงเวลา ทำความสะอาดโรงเรือน สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เก็บไข่ในตอนเช้าและบ่ายของทุกวัน จำนวนไข่ไก่ที่ได้ในแต่ละวันอยู่ที่ 60-70 ฟอง สำหรับจำนวนไก่ไข่ 90 ตัว ไก่ไข่ของโรงเรียนมีความพิเศษกว่าที่อื่น คือ มีไอโอดีน เรียกว่า ไข่ไก่ไอโอดีน หากใครต้องการรับประทานไข่ไก่ไอโอดีนจะต้องจองคิวไว้ล่วงหน้า เพราะแต่ละวันไข่ไก่ไม่เคยพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

น้องแอ้ บอกทิ้งท้ายว่า หากเด็กหรือเยาวชนไม่รู้เรื่องเกษตร ก็จะไม่มีเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะคนจะซื้อของกินไม่รู้จักการปลูก ซึ่งประโยชน์ของการทำการเกษตรเอง อย่างน้อยก็เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

เห็นไฮไลต์ไข่ไก่ไอโอดีน จองคิวรอแบบนี้แล้ว หากท่านใดสนใจจะเข้าไปจองคิวบ้าง ก็ติดต่อไปที่โรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร หมู่ที่ 4 บ้านซับม่วง ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา