พลิกที่ดินจากพืชล้มลุก ทำสวนทุเรียนดินภูเขาไฟ เน้นให้ผลผลิตออกตามฤดูกาล มีพ่อค้ารับซื้อผลผลิตถึงสวน

จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 3,537,833 ไร่ เหมาะแก่การปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนา นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอย่างที่ทุกคนทราบกันดีกว่าเป็นแหล่งที่ปลูกหอมแดงกับกระเทียมมากที่สุดในประเทศ

ไม่เพียงแต่พืชไร่ จังหวัดศรีสะเกษยังมีแหล่งปลูกไม้ผล เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลไม้ที่กำลังเป็นที่นิยมในภูมิภาคนี้ก็ว่าได้ จึงนับว่าเป็นอาชีพสร้างเงินให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

ลุงฟอง วรรณสิทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 173 หมู่ที่ 10 ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ได้ปลูกทุเรียนประสบผลสำเร็จ เรียกง่ายๆ ว่า ผลผลิตมีไม่พอจำหน่ายกันเลยทีเดียว จึงนับว่าเป็นงานสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี

ลุงฟอง วรรณสิทธิ์

พลิกที่ดินจากพืชล้มลุก ทำสวนทุเรียนสร้างเงิน

ลุงฟอง ชายวัยเกษียณผู้มีอัธยาศัยยิ้มน้อยแต่ใจดี เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาทำสวนทุเรียนอย่างเช่นทุกวันนี้ พื้นที่บริเวณได้ใช้ปลูกพืชล้มลุกหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด และจำพวกพืชไร่อื่นๆ ต่อมาประมาณปี 2538 มีโอกาสได้เดินทางไปยังจังหวัดจันทบุรี จึงได้ไปรู้จักกับทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกอยู่ในแถบนั้น ทำให้เกิดความสนใจได้นำต้นพันธุ์มาปลูกในพื้นที่ที่มีอยู่

“ตอนที่เราไปนั้น ไปเห็นว่าทุเรียนหมอนทองน่าสนใจ ก็เลยทดลองซื้อมาปลูกประมาณ 200 ต้น ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เพื่อเป็นการทดลอง โดยหมั่นดูแลแบบง่ายๆ คือ รดน้ำด้วยสายยาง ประกอบกับให้ต้นทุเรียนเหล่านี้เจริญเติบโต จนสามารถให้ผลผลิตได้ โดยใช้เวลารอประมาณ 7-8 ปี” ลุงฟอง เล่าถึงที่มาของการปลูกทุเรียน

พื้นที่ภายในสวน

ซึ่งการเริ่มต้นปลูกดูแลทุเรียนในสมัยก่อนนั้น ลุงฟอง บอกว่า ยังมีเทคนิคหรือสิ่งอำนวยความสะดวกไม่มากนัก จะเน้นวิธีแบบง่ายที่ทำแล้วสะดวกตามความเข้าใจและสร้างเสริมประสบการณ์เอง โดยที่ยังไม่มีวิชาความรู้ทางด้านวิชาการ คือเรียกง่ายๆ ว่า ทำแบบตามความเข้าใจของเขาเอง จนทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นการลองผิดลองถูกที่สร้างประสบการณ์ให้มีความชำนาญมาถึงทุกวันนี้

 

เน้นให้ผลผลิตออกตามฤดูกาล

ต้นทุเรียนภายในสวนทั้งหมด ลุงฟอง บอกว่า จะปลูกให้มีระยะห่างอยู่ที่ 8×10 เมตร ซึ่งระหว่างที่ดูแลหากมีต้นทุเรียนตายก็สามารถหาต้นใหม่มาปลูกทดแทนได้ โดยผลผลิตจะเริ่มเก็บจำหน่ายได้ คือประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงเดือนมิถุนายน จากนั้นก็จะเริ่มดูแลเพื่อให้ออกผลผลิตใหม่ต่อไปในฤดูกาลหน้า

“พอเราเก็บผลผลิตจำหน่ายไปหมดแล้ว คราวนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่เราต้องดูแลรักษาต้น คือตัดแต่งกิ่ง ประมาณปลายๆ เดือนมิถุนายนเมื่อเก็บผลผลิตหมด ต่อไปก็เป็นขั้นตอนการดูแลต้น จะมีการรดน้ำและใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ ในอัตราส่วน 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น มากน้อยดูตามความเหมาะสมของขนาดต้น ทุก 15 วันครั้ง จนกว่าจะออกดอก” ลุงฟอง บอกถึงวิธีการดูแลรักษา

เมื่อผ่านเข้าสู่เดือนมกราคมปลายฝนต้นหนาว ลุงฟอง บอกว่า ต้นทุเรียนจะเริ่มออกดอกให้เห็น ก็จะทำการฉีดฮอร์โมนให้กับดอกเพื่อเป็นอาหารเสริมบำรุงดอก พร้อมกับรดน้ำทุกวันให้ต้นมีความพร้อมในการผลิตผล

ซึ่งทุเรียนจะใช้เวลาออกดอกประมาณ 2 เดือน จะเริ่มติดผล โดยจะคัดให้แต่ละต้นมีผลทุเรียนแตกต่างกันไป คือถ้าต้นไหนที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์จะให้มีผลติดกับต้นถึง 200 ผล ส่วนต้นที่อายุน้อยมีขนาดเล็กก็จะให้มีผลติดอยู่ประมาณ 20-30 ผล ต่อต้น

เนื้อเหลือง หอม หวาน มัน

“ทุเรียนพอเริ่มมีดอกช่วงมกราคม ดอกก็จะเริ่มบานติดผลเต็มที่ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งช่วงนี้เราก็จะดูแลไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผลแก่พร้อมเก็บจำหน่าย โดยปุ๋ยก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยคือ ก่อนที่จะออกดอก 15 วัน หรือ 1 เดือน เราก็จะใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 เพื่อบำรุงเตรียมพร้อม พอดอกบานเริ่มติดผลก็จะเปลี่ยนปุ๋ยเป็นสูตร 13-13-21 ใส่ทุก 15 วันเหมือนเดิม รอบๆ ทรงพุ่ม” ลุงฟอง บอกถึงวิธีการใส่ปุ๋ยต้นทุเรียน

ส่วนเรื่องโรคและแมลงนั้น ลุงฟอง บอกว่า ดูตามฤดูกาลที่ระบาดโดยจะมีการฉีดพ่นยาตามที่เกิดอาการ เพราะแต่ละช่วงจะมีปัญหาที่แตกต่างกันไป ก็จะทำการรับมืออยู่ตลอดเวลา

 

มีพ่อค้าจากภาคตะวันออก มารับซื้อผลผลิตถึงสวน

ในเรื่องของการตลาดทุเรียนสำหรับจำหน่ายทุเรียน ลุงฟอง เล่าว่า จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าสวนในช่วงที่ผลผลิตเริ่มแก่ โดยติดต่อสอบถามเป็นระยะว่าผลผลิตพร้อมที่จะเก็บได้เมื่อใด ซึ่งราคาที่จำหน่าย ณ ปัจจุบัน กับสมัยก่อนที่เริ่มให้ผลผลิตได้ใหม่ๆ นั้น แตกต่างกันมาก ราคาเริ่มแรกที่ให้ผลผลิตประมาณปี 2545 ประมาณกิโลกรัมละ 8 บาท และขยับขึ้นมาเรื่อยๆ ตามกลไกของตลาด

“ราคาทุเรียนหมอนทอง ณ ตอนนี้ ต้องบอกเลยว่า มันขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จากที่เคยได้ต่ำสุดอยู่ที่ 8 บาท ขยับมา 15 บาทบ้าง และที่กระโดดสุดๆ ช่วงปี 49 ก็อยู่ที่ 30-35 บาท ซึ่งราคาประมาณนี้เราก็พออยู่ได้ และตอนนี้ราคาที่เราจำหน่ายปัจจุบัน ขยับมาที่กิโลกรัมละ 80 บาท โดยผลผลิตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 40 ตัน รวมทั้งที่ปลูกเพิ่มใหม่ด้วย เบ็ดเสร็จตอนนี้ที่สวนก็มีทุเรียนทั้งหมดที่ให้ผลผลิตอยู่ประมาณ 400 กว่าต้น และก็มีอีกบางส่วนที่กำลังปลูกขยายออกไป” ลุงฟอง กล่าวถึงเรื่องราคาและกำลังการผลิตที่มีภายในสวน

ต้นทุเรียนอายุมากกว่า 20 ปี

สำหรับปัญหาและอุปสรรคของการปลูกทุเรียน ลุงฟอง บอกว่า ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงมากนัก เพราะจากประสบการณ์ที่ได้ลองผิดลองถูกมากว่า 20 ปี ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่พบเจอได้ตลอด ที่สำคัญยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล ยิ่งทำให้การผลิตทุเรียนมีคุณภาพมากขึ้นไปอีกด้วย พร้อมทั้งพื้นที่สวนอยู่ในพื้นที่ที่มีดินดีหรือที่เรียกกันว่าดินภูเขาไฟ จึงส่งผลให้ทุเรียนที่ปลูกมีรสชาติดี

ผลผลิตดกมาก

“ดินที่สวนถือว่าเป็นดินที่โปร่ง ระบายน้ำได้ดี ตามประวัติสมัยก่อนบอกกันว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ภูเขาไฟมาก่อน จึงทำให้ดินที่ปลูกเวลาช่วงฤดูฝนมา ฝนตกทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่มีน้ำขัง ดินไม่แฉะน้ำ ก็ทำให้ต้นไม่ดึงน้ำไปใช้มาก ก็เลยส่งผลให้เนื้อข้างในมีรสชาติดี คนกินก็ชอบติดใจในรสชาติ ก็ถือว่าอาชีพนี้เป็นงานที่เลี้ยงครอบครัวได้ดี ทุเรียนยังถือว่าเป็นผลไม้ที่ไปได้ดี และแหล่งปลูกยังน้อย ยิ่งพื้นที่ภาคอีสานก็ยังมีสวนผลไม้ยังไม่มาก ปลูกได้ไม่กี่ที่ ดังนั้น ผลไม้ยังเป็นพืชที่ทำรายได้อยู่ในภาคอีสานเรา” ลุงฟอง กล่าว

การทำเกษตรให้มีความสุขและเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้นั้น ลุงฟอง แนะนำว่า สิ่งแรกที่ต้องมีเสียก่อนคือมีใจรัก เพราะไม่ว่าจะเริ่มทำสิ่งใดหากมีใจชอบและรักเสียแล้ว ยังไงก็ประสบผลสำเร็จแน่นอน ส่วนพืชที่จะปลูกควรเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่จะปลูกพืชแต่ละอย่างให้ผลผลิตที่ดีแตกต่างกันไป ดังนั้น ควรเลือกพืชที่เหมาะสมจะดีที่สุด เพื่อที่ผลผลิตจะได้ออกมาดีมีคุณภาพและเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ลุงฟอง วรรณสิทธิ์ หมายเลขโทรศัพท์ (098) 609-4288