ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“มะละกอเป็นพืชที่ต้องการน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำขัง เพราะเสี่ยงต่อการเป็นโรครากเน่า”
เป็นข้อมูลที่รู้กันดีอยู่ในกลุ่มชาวบ้านตำบลวังหามแห อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ที่ผ่านมาในอดีต ไม่มีเกษตรกรรายใดปลูกมะละกอแม้แต่รายเดียว ที่เห็นทั่วไปคือปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง และข้าวโพด มีพื้นที่ทำนาเพียงเล็กน้อย
แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มี คุณณฏฐพล นิยมจันทร์ และ คุณปรีชา แสงทอง เริ่มนำร่อง นำมะละกอฮอลแลนด์มาลงปลูก เพราะมองเห็นในศักยภาพของพื้นที่ ทั้งยังมองเห็นว่าผลกำไรจากการทำสวนมะละกอน่าจะเป็นรายได้ที่มากกว่าการปลูกพืชไร่อย่างแน่นอน
ทั้งคุณณฏฐพลและคุณปรีชา ใช้ความเป็นหนุ่ม กล้าลองผิดลองถูก ไปเรียนรู้การทำสวนมะละกอฮอลแลนด์ เพราะเห็นว่าเป็นสายพันธุ์กินผลสุกที่ตลาดต้องการ แม้จะรู้ว่าสภาพพื้นที่ทำการเกษตรของตนเองมีแหล่งน้ำน้อย ต้องอาศัยน้ำจากคลองหรือการขุดสระก็ตาม แล้วกลับมาเริ่มทดลองปลูกก่อนเพียง 5 ไร่
การเก็บผลผลิตรอบแรก ก็มองทะลุไปถึงอนาคตได้ว่า ผลไม้ชนิดนี้สร้างรายได้ที่ดีให้อย่างแน่นอน
จาก 5 ไร่ เริ่มขยายพื้นที่การปลูกออกไปเรื่อยๆ เมื่อชาวบ้านใกล้เคียงเห็นความตั้งใจและรายได้ที่มากกว่า จึงเปลี่ยนจากการปลูกพืชไร่มาทำสวนมะละกอกันจำนวนหนึ่ง ทำให้ปัจจุบันมีแปลงมะละกอมากถึง 40 ไร่ และลงปลูกไปแล้วอีกเกือบ 100 ไร่
การปลูกมะละกอฮอลแลนด์ ในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำน้อย อย่างตำบลวังหามแห ที่ต้องอาศัยเพียงแหล่งน้ำจากสระหรือคลอง มีทางออกด้วยการแบ่งพื้นที่แปลงปลูกไม่ให้มากเกินไป เช่น 3-5 ไร่ เพราะการให้น้ำมะละกอฮอลแลนด์ที่นี่ใช้ระบบสปริงเกลอร์ เมื่อแบ่งพื้นที่แปลงให้เล็กลง ระบบน้ำจะทำงานได้ดีขึ้น มะละกอได้น้ำทั่วถึง
การเตรียมแปลง ทำโดยการยกร่องความสูง 120 เซนติเมตร เพาะกล้าเอง และลงปลูกประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เพื่อให้ระยะออกดอกของมะละกอตรงกับฤดูฝน ลดการใช้น้ำ
ขุดหลุมลงปลูกครั้งแรกในแปลงใหม่ ไม่ต้องรองก้นหลุม แต่เมื่อเป็นรุ่นต่อไป ควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 หรือจะใช้ปุ๋ยคอก ขี้วัว ขี้ไก่ ก็ได้
แต่ละแปลง จะเว้นระยะปลูกอยู่ที่ 2.50×2.50 เมตร ซึ่งถี่กว่ามาตรฐานการปลูกมะละกอทั่วไป แต่ไม่ควรถี่มากไปกว่านี้ เพราะจะทำให้มะละกอไม่ติดผล ระยะปลูกเช่นนี้จะทำให้ปลูกมะละกอได้จำนวน 250 ต้น ต่อไร่
คุณปรีชา บอกว่า การปลูกมะละกอในปีแรก เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะระบบน้ำที่ต้องวางระบบสปริงเกลอร์ ส่วนเมล็ดพันธุ์เป็นต้นทุนที่น้อยที่สุด แต่โดยรวมต้องใช้เงินลงทุนในครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ต่อไร่
แต่การใส่ปุ๋ยแต่ละแปลงแตกต่างกัน คุณณฏฐพล บอกว่า ควรสังเกตจากต้นและให้ปุ๋ยตามลักษณะต้น เช่น 3-4 เดือนแรก ต้องทำต้นให้สมบูรณ์ ควรเน้นปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง อาทิ สูตร 27-10-7 เมื่อมะละกอเริ่มติดดอกก็ควรปรับสูตรให้โพแทสเซียมสูง เช่น 15-5-20 และใส่ปุ๋ยทุกๆ 15 วัน
การให้ปุ๋ยทางใบ เป็นสิ่งสำคัญมากพอกับการให้น้ำ แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยราคาแพง เพราะผลผลิตที่ดกและสมบูรณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเดียว
หากการดูแลต้นให้สมบูรณ์ดี เพียง 8 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตส่งจำหน่ายได้ ยกเว้นระหว่างปลูกเกิดภาวะแล้ง หรือการให้น้ำไม่ถึง ผลผลิตอาจจะเก็บขายได้ในเดือนที่ 10-11 แทน
การให้น้ำ เมื่อติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ไว้แล้ว จะเปิดสปริงเกลอร์ให้น้ำวันละครั้ง นานครั้งละประมาณ 40 นาที ยกเว้นฤดูฝนที่งดให้น้ำในวันที่ฝนตก หรือควรสังเกตจากปริมาณฝนที่ตกลงมา อาจเว้น 1-2 วันได้
โรคและแมลงในมะละกอฮอลแลนด์ ก็เหมือนโรคและแมลงในมะละกออื่นๆ ควรระวังมากที่สุดคือ เพลี้ยไฟ ให้หมั่นสังเกตหรือพ่นยาป้องกันไว้ก่อน ส่วนโรคโคนเน่า ก็สามารถให้ยาฆ่าเชื้อราป้องกันไว้ก่อนได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น หากทราบว่าอีก 2 วัน จะมีฝนตกหนักก็ควรฉีดยาป้องกันเชื้อราไว้ก่อน เมื่อฝนหยุดตกก็ให้ยาฆ่าเชื้อราซ้ำอีกครั้ง
การรื้อแปลง ให้สังเกตจากต้นมะละกอ หากต้นไม่สมบูรณ์ จัดว่าโทรม ก็สามารถรื้อแปลงได้ ไม่จำเป็นต้องยื้อไว้ เพราะผลผลิตจะไม่ได้คุณภาพตามต้องการ
“เก็บผลผลิตครั้งแรกได้ไม่มาก แต่จะเริ่มมากขึ้นเมื่อเก็บผลผลิตครั้งต่อๆ ไป เฉลี่ย 300 กิโลกรัม ต่อไร่ น้ำหนักผลไซซ์ใหญ่อยู่ที่ 1.8 กิโลกรัม ต่อผล มะละกอฮอลแลนด์มีข้อดีคือ สามารถเก็บขายได้ทุกไซซ์ เพราะมีตลาดกว้างและต้องการไซซ์ที่ไม่เหมือนกัน” คุณณฏฐพล กล่าว
คุณณฏฐพลและคุณปรีชา เป็นสองหนุ่มที่เริ่มนำมะละกอฮอลแลนด์เข้ามาปลูกในพื้นที่ตำบลวังหามแห แม้จะมีเกษตรกรหลายรายเปลี่ยนจากพืชไร่มาทำสวนมะละกอฮอลแลนด์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีเกษตรกรอีกบางส่วนที่ขาดความเชื่อมั่น คุณณฏฐพลและคุณปรีชา จึงทำหน้าที่ให้คำแนะนำ พร้อมทั้งรับซื้อผลผลิตเพื่อนำไปส่งขายที่ตลาดไท
คุณปรีชา ประเมินผลผลิตจากมะละกอฮอลแลนด์ต่อต้น โดยระบุว่า แม้การเก็บผลผลิตครั้งแรกจะได้ไม่มาก แต่เมื่อประเมินจากตลอดระยะเวลาปลูกแล้ว ต่อต้นจะได้ผลผลิตขั้นต่ำ 50 ลูก หรือ 2 ไร่ เก็บได้ 1 ตัน ราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ราคาตันละ 6,000-7,000 บาท
ทั้งคุณณฏฐพลและคุณปรีชา รับซื้อมะละกอจากเกษตรกรด้วยกันเองในราคากิโลกรัมละ 10 บาท แล้วนำไปส่งขายให้กับตลาดไท ในราคากิโลกรัมละ 12 บาท รายได้จากการปลูกมะละกอ หากประเมินขั้นต่ำที่สุด คือ 25,000 บาท ต่อไร่
การขนส่งไปตลาดไทในแต่ละครั้ง จะบรรทุกรถกระบะน้ำหนัก 4 ตัน ต่อคัน ครั้งละ 1-2 คัน และขนส่งไปตลาดไททุกวัน หรือวันเว้นวัน
สอบถามเพิ่มเติม คุณณฏฐพล นิยมจันทร์ โทรศัพท์ (097) 931-0715 และคุณปรีชา แสงทอง โทรศัพท์ (090) 457-5455 หรือสนใจพูดคุยการบริหารจัดการระบบแปลงและลูกสวนได้ที่ หมู่ที่ 5 ตำบลวังหามแห อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงแพชร