เรียนจากออนไลน์ เพาะต้นอ่อนถั่วลันเตา พืชเพื่อสุขภาพ ปลูกง่าย ให้ผลเร็ว ราคารับซื้อสูง

ปัจจุบันนี้ อาหารเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมกันมาก วัตถุดิบที่นำมาประกอบเป็นอาหารได้รับการเอาใจใส่ ดูแลและตรวจสอบกันตั้งแต่ต้นทางจนถึงตลาดและผู้บริโภค จึงเห็นรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ชมรม วิสาหกิจชุมชน ที่มีชื่อเสียงกันมากหลาย เช่น กลุ่มผู้รักสุขภาพ ชมรมเกษตรอินทรีย์ เกษตรชีวภาพ เกษตรปลอดภัย ฯลฯ สำหรับพืชผักที่ได้รับความนิยมกันมากคือ ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนถั่วลันเตา

ผู้เขียนได้พบกับ คุณนัฐชานนท์ วงศ์ดาว อายุ 35 ปี อยู่ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เพาะต้นอ่อนถั่วลันเตา ที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย

ครอบครัวสนับสนุนให้กำลังใจ

คุณนัฐชานนท์ เล่าให้ฟังว่า ด้วยตนเองมีสายเลือดเกษตรคือคุณพ่อ คุณเกริกฤทธิ์ วงศ์ดาว เรียนจบเกษตรบ้านกร่าง พิษณุโลก รุ่น 6 จบแม่โจ้ รุ่น 38 ล่าสุดคุณพ่อดำรงตำแหน่งเกษตรจังหวัดลำพูน ส่วนตนเองเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่น 63 สาขาเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม หลังจากจบการศึกษาแล้ว เริ่มต้นประกอบอาชีพการเกษตรจากการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ส่งขายตลาดและห้างร้านสรรพสินค้าในเมืองเชียงใหม่

ต่อมาจากการสังเกตเห็นว่า ต้นอ่อนถั่วลันเตา ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น จึงเริ่มให้ความสนใจที่จะเพาะต้นอ่อนถั่วลันเตา ศึกษาหาความรู้จากสื่อออนไลน์ อินเตอร์เน็ต และแหล่งความรู้ต่างๆ ตัดสินใจว่าเป็นงานเกษตรที่ให้ผลเร็ว มีตลาดรองรับที่แน่นอน จึงสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ถั่วลันเตาจากประเทศแคนาดา ครั้งละ 30-50 กิโลกรัม เพื่อเริ่มงานชิ้นใหม่ของตนเอง

เริ่มต้นการเพาะเมล็ดถั่วลันเตา

เนื่องจากวิธีการทำต้นอ่อนถั่วลันเตาทำได้ง่าย โดยนำเมล็ดถั่วลันเตาแช่น้ำไว้ 1 คืน เมล็ดถั่วลันเตาจะดูดน้ำเข้าไปในเมล็ด จากนั้นนำมาห่อผ้าให้มีความชื้น เตรียมกระบะเพาะโดยใช้ตะกร้าพลาสติก ใช้วัสดุเพาะจากแกลบดำผสมทรายเทลงในกระบะเพาะ เกลี่ยให้เรียบ จากนั้นจึงนำเมล็ดถั่วลันเตาโรยด้านบน รดน้ำให้ชุ่ม นำไปวางไว้ในที่ร่ม ใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน จะได้ต้นอ่อนถั่วลันเตาสีเหลืองอ่อน เมื่อจะนำผลผลิตไปส่งตลาด ช่วงเช้าต้องยกออกมาวางไว้ด้านนอกเรือนโรง เพื่อให้ได้รับแสงแดด ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ต้นอ่อนที่สีเหลืองจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวอย่างช้าๆ จนกระทั่งกลายเป็นสีเขียวทั้งต้น

โรงเรือนขยายเพิ่มเติม

จากนั้น จึงใช้กรรไกรตัดต้นอ่อนห่างจากโคนต้น ประมาณ 1 เซนติเมตร โคนต้นที่เหลือจะนำกลับไปวางไว้ในเรือนโรงอีก เพื่อจะได้ผลผลิตต้นอ่อนถั่วลันเตาอีก 2 ครั้ง เรือนโรงครั้งแรกทดลองทำในห้องที่ว่างๆ ติดกับห้องพัก ต่อมาตลาดมีความต้องการมาก จึงได้สร้างเรือนโรงใหม่ใหญ่กว่าเดิม

ในด้านการตลาดนั้น คุณนัฐชานนท์ กล่าวว่า ต้นอ่อนถั่วลันเตา เป็นพืชผักประเภทหนึ่งที่ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ต้องใช้สารเคมี เป็นพืชที่ให้สารอาหารมากมาย เช่น ให้พลังงาน มีเส้นใย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม และวิตามิน หากรับประทานสดคล้ายกับถั่วฝักยาวอ่อน นำไปผัดกับน้ำมันหอยหรือต้มจืดก็อร่อยดี ต้นอ่อนถั่วลันเตาจึงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ในพื้นที่ภาคเหนือเริ่มเพาะขยายขายกันหลายราย บางรายส่งจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า แต่เกษตรกรผู้ส่งจะต้องเป็นผู้จัดส่งเอง ดูแลรักษาผลผลิตและเปลี่ยนเองเมื่อต้นอ่อนเริ่มเหี่ยว

น่านำมาปรุงอาหารมาก
การบรรจุภัณฑ์

“แต่ที่ฟาร์มของผมนั้น เมื่อเก็บผลผลิตแล้วนำส่งภาคเอกชนที่เป็นผู้รวบรวมส่งจำหน่ายต่างประเทศ ร้านอาหารระดับสูงในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใหญ่ๆ โดยส่งทางเครื่องบิน เพื่อให้ผู้รับได้รับผลผลิตที่สดและใหม่ ราคากิโลกรัมละ 150 บาท แต่ละวันจะได้ผลผลิตประมาณ 20 กิโลกรัม ขณะนี้กำลังวางแผนการผลิตให้มากขึ้น ทยอยเพาะในเรือนโรงเป็นรุ่นๆ ติดต่อกัน ได้เพิ่มจำนวนเรือนโรงมากขึ้น และรับสมัครสมาชิกที่สนใจรวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน”

สนใจ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนัฐชานนท์ วงศ์ดาว โทรศัพท์ (090) 330-3683