สาวชุมแสง ใช้พื้นที่ 2 งาน ปลูกมะละกอส้มตำ 4 เดือน เก็บขาย 3 ตัน มีพ่อค้ารับซื้อถึงสวน

เมื่อผลผลิตทางการเกษตรเริ่มตกต่ำ การหันมองพืชชนิดใหม่ที่เหมาะกับพื้นที่และสภาพอากาศ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง อย่างน้อยก็ช่วยเสริมรายได้อันน้อยนิดให้ได้เป็นกอบเป็นกำขึ้นมา

พื้นที่ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ที่ไม่จัดว่าแล้ง แต่ในบางพื้นที่อำเภอต้องประสบภาวะน้ำเค็มจากน้ำที่พื้นที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นความโชคดีของชาวบ้านบ้านดงสวาท ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ที่อาศัยแหล่งน้ำจากน้ำบาดาล ซึ่งเป็นน้ำใต้ดินที่มากเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก และปราศจากภาวะน้ำเค็มอย่างบางพื้นที่ประสบ

คุณยุพา พันธุ เกษตรกรสาว วัย 25 ปี ครอบครองที่ดินของตนเองเพียง 9 ไร่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และผักตามฤดูกาล ซึ่งราคาทั้งหมดถูกกำหนดโดยพ่อค้าคนกลาง กว่าจะเก็บข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขายได้ในแต่ละรอบ เมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตกับรายได้ที่ได้มาแล้วหลายครั้งที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงมีแนวคิดเปลี่ยนพืชชนิดอื่นแทน

คุณยุพา พันธุ สาวชุมแสง เจ้าของแปลงมะละกอพันธุ์ส้มตำ

“ในละแวกใกล้เคียงมีชาวบ้านหลายราย ปลูกมะละกอดิบสำหรับทำส้มตำขาย ได้ยินว่ามีรายได้ดี เลยอยากปลูกบ้าง พ่อค้าที่รับซื้อผักแนะนำให้นำเมล็ดมะละกอพันธุ์ส้มตำของศรแดงมาปลูก ราคา 1,000 บาท ได้เมล็ด จำนวน 500 เมล็ด”

คุณยุพา บอกว่า แม้จะมีเกษตรกรที่ปลูกมะละกอดิบมาก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวอย่างให้ทำตาม เพราะส่วนใหญ่ปลูกมะละกอดิบด้วยเมล็ดที่เก็บจากผล ทำให้เปอร์เซ็นต์ที่ได้ผลมะละกอตามที่ตลาดต้องการและให้ราคาดีมีน้อย แต่กลับได้มะละกอที่มีความแปรปรวนของสายพันธุ์มากกว่า ด้วยคำแนะนำของพ่อค้าที่คุ้นเคยกัน จึงมั่นใจว่า เมล็ดมะละกอพันธุ์ส้มตำของศรแดง จะได้ผลผลิตตามที่ตลาดต้องการในเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่า

พื้นที่ 9 ไร่ ทั้งหมดคุณยุพาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีเพียงพื้นที่ 2 งาน ปลูกมะละกอพันธุ์ส้มตำ

ปลูกหลุมละ 2 ต้น

เตรียมแปลงแบบยกร่อง ระยะห่างระหว่างต้น 1.20 เมตร ระยะห่างระหว่างแถว 1 เมตร เพาะต้นกล้ามะละกอพันธุ์ส้มตำ หลุมละ 2 เมล็ด เปอร์เซ็นต์งอกทุกเมล็ด ดูแลกล้าให้สมบูรณ์ตลอดระยะเวลา 1 เดือน จากนั้นขุดหลุม นำกล้ามะละกออายุ 1 เดือน ลงปลูก วันแรกของการปลูกไม่รดน้ำ หลังจากปลูกวันแรกเริ่มให้น้ำ จากนั้นให้น้ำทุกๆ 2-3 วัน ยกเว้นฤดูฝน

การให้น้ำ ทำโดยนำสายยางปล่อยน้ำตามร่องให้เต็มทุกร่อง

คุณยุพา บอกว่า มะละกอพันธุ์ส้มตำ หลังลงปลูกเพียง 3 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตครั้งแรกได้ ผลมะละกอที่เก็บขายมีขนาดตามที่ตลาดต้องการ ผลใหญ่ ผิวเนียน น้ำหนักเฉลี่ยผลละ 1.8 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการมาก โดยหลังจากเก็บมะละกอในครั้งแรกขาย ครั้งต่อไปเก็บขายเดือนละครั้ง แต่ละครั้งปริมาณมะละกอจะเพิ่มขึ้น ยิ่งเมื่อต้นสมบูรณ์ ผลมะละกอที่ได้จะสมบูรณ์ตามไปด้วย ที่ผ่านมาเคยได้ผลผลิตสูงสุดเก็บขาย 1.5 ตัน ต่อพื้นที่ 2 งาน

การให้ปุ๋ย แม้มะละกอพันธุ์ส้มตำ จะได้ชื่อว่าเป็นมะละกอที่มีสายพันธุ์ทนต่อโรคและแมลง ทั้งยังเจริญเติบโตดีในสภาพอากาศร้อนชื้น แต่การให้ปุ๋ยก็ถือว่าสำคัญ หลังลงปลูกคุณยุพาไม่ได้ให้ปุ๋ยเลย กระทั่งเก็บผลผลิตจึงจะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปริมาณ 2 กำ ต่อต้น เดือนละครั้งหลังเก็บผลผลิตแล้ว ราคาปุ๋ยกิโลกรัมละ 15 บาท ใช้เพียง 10 กิโลกรัม ก็ได้ครบทุกต้น

คุณยุพา บอกว่า ข้อดีของการปลูกมะละกอพันธุ์ส้มตำ คือ สามารถปลูกปล่อยตามธรรมชาติได้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงใดๆ เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ทนต่อโรคและแมลง เมื่อไม่ต้องให้ยาในแปลง แต่ให้น้ำเต็มที่ตามที่ควรได้ และให้ปุ๋ยเดือนละครั้ง มะละกอที่ได้ก็ถือเป็นมะละกอปลอดภัย ทั้งยังได้ขนาดผลที่ตลาดต้องการมากเกือบทั้งหมด ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อการเก็บขายแต่ละครั้ง มีเพียงปุ๋ยและน้ำเท่านั้น

“ตั้งแต่ลงปลูกมา 10 เดือน ยังไม่เคยฉีดยาหรือให้สารอะไรกับมะละกอ แต่ผลผลิตก็ดกขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เก็บ ต้นก็ไม่สูง ถ้าดูแลดีๆ น่าจะเก็บผลได้ถึง 2 ปี  จากนั้นถึงจะรื้อแปลงลงปลูกใหม่ ส่วนการปลูกซ่อมต้นที่ปกติต้องมีทุกแปลง ที่ผ่านมาในแปลงของดิฉันไม่ต้องปลูกซ่อมเลยสักต้น”

สำหรับราคาขาย พ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าสวน คุณยุพาทำหน้าที่เก็บและแพ็กใส่ถุงเท่านั้น หากเป็นขนาดที่ตลาดต้องการเรียงได้ 2 แถว ได้ราคากิโลกรัมละ 3 บาท  ขนาดเรียงได้ 2 แถว ได้ราคากิโลกรัมละ 2 บาท และมะละกอผลกลม ได้ราคากิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่ปรับลดลงมา แต่แนวโน้มราคาจะดีกว่านี้ เนื่องจากเข้าฤดูแล้ง

คุณยุพา กล่าวทิ้งท้ายว่า รายได้จากการปลูกมะละกอ แม้จะบนพื้นที่เพียง 2 งาน แต่ก็เป็นรายได้ที่น่าพอใจ โดยเฉพาะเป็นการปลูกมะละกอที่ไม่ต้องดูแลมาก จึงวางแผนขยายพื้นที่ปลูกมะละกอพันธุ์ส้มตำเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

คุณยุพา และเจ้าหน้าที่จากศรแดง

จากการสอบถาม คุณธนากานต์ อรัญพูล พนักงานขายและปฏิบัติการภาคสนาม บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตราศรแดง ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ปลูกมะละกอพันธุ์ส้มตำในจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก และกำแพงเพชร ซึ่งตนดูแลอยู่ ยังมีเกษตรกรผู้ปลูกมะละกอพันธุ์ส้มตำน้อย แม้ว่าจะเป็นที่ต้องการของเกษตรกรมาก แต่เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ออกมายังค่อนข้างน้อย แต่ในอนาคตจะสามารถผลิตได้ตามความต้องการของตลาด

จุดเด่นของมะละกอพันธุ์ส้มตำ คือ เป็นมะละกอลูกผสม ทนต่อโรคไวรัสใบจุดวงแหวน และโรครากเน่า ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในมะละกอ และทำลายแปลงมะละกออย่างรวดเร็ว เกษตรกรจึงจำเป็นต้องใช้ยาป้องกันหรือกำจัด ทำให้เกิดเป็นต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง เมื่อมะละกอพันธุ์ส้มตำปราศจากโรค เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาในแปลง ลดต้นทุนได้อีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ เมื่อต้นมะละกอมีความสมบูรณ์ แข็งแรง การจัดการภายในแปลงก็ทำได้ง่ายขึ้น

“มะละกอพันธุ์ส้มตำ เมื่อปลูกจะได้ดอกกะเทยในเปอร์เซ็นต์สูง ส่วนดอกตัวเมีย ซึ่งจะทำให้ได้ผลกลม ตลาดไม่ต้องการ ราคาขายถูก จะพบค่อนข้างน้อย หรือหากเกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเองหรือที่เรียกว่าเมล็ดเปลือย ก็จะพบการแปรปรวนของเมล็ดพันธุ์ อัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ และโรคที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์ ส่งผลให้เกิดโรคในแปลงตามมามีสูง เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เกษตรกรควรเลี่ยง”

สนใจชมแปลง ติดต่อได้ที่ คุณยุพา พันธุ บ้านดงสวาท ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ โทรศัพท์  (092) 043-5076

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ คุณเฉลิมพร ปานสอาด เจ้าหน้าที่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (ศรแดง) โทรศัพท์ (087) 568-3146 และ คุณธนากานต์ อรัญพูล พนักงานขายและปฏิบัติการภาคสนาม บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (ศรแดง) โทรศัพท์ (085) 918-4466 หรือ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด เลขที่ 50/1  หมู่ที่ 2 ถนนไทรน้อย-บางบัวทอง ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี โทรศัพท์ (02) 831-7777