“กุ้งโกสต์” เลี้ยงง่าย ขายได้ ยิ่งด่าง ยิ่งแพง

จากข่าวฮือฮาชวนตาลุกวาวที่ว่ามีการซื้อ-ขายกุ้งราคาตัวละล้าน นำมาสู่ความสงสัยอยากรู้อยากเห็นว่ากุ้งอะไร ทำไมราคาแพงขนาดนั้น

เจ้ากุ้งราคาหลักล้านตัวนั้นเป็นที่รู้จักในวงการว่า “กุ้งโกสต์” เป็นกุ้งสองหรือสามสี ที่มนุษย์ทำการผสมพัฒนาสายพันธุ์ ขึ้นมาจนสายพันธุ์นิ่งแล้ว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Procambarus Clakii Ghost” ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของกุ้งเครย์ฟิช (Crayfish)

กุ้งโกสต์มีลักษณะรูปแบบที่จำเพาะเจาะจง คือ หนวด ขา แถบข้างลำตัว และส่วนหาง จะต้องเป็นสีขาว ลักษณะเด่นของโกสต์ คือ บนหลังมีสามสี น้ำเงิน ขาว แดง ตัดขวางคล้ายธงชาติไทย

ตลาดซื้อ-ขาย กุ้งโกสต์เริ่มขึ้นทางออนไลน์ ในกลุ่มเฟซบุ๊กต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่ม “ประมูลกุ้งเครฟิชทุกสายพันธุ์” มีสมาชิกอยู่ 2.7 แสนคน กลุ่ม “ประมูลกุ้งเครฟิชแห่งประเทศไทย” มีสมาชิกอยู่ 1 แสนกว่าคน

จากนั้นเมื่อมีกระแสความนิยมพุ่งสูงจึงเกิดตลาดนัดรวมตัวกันเปิดขึ้นมาใหม่เมื่อเดือนกันยายน 2559 ที่ตลาดเจเจกรีน ในวันพุธ และบริเวณโดยรอบโซนตลาดสัตว์น้ำในตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ค้าสัตว์น้ำเดิมอยู่แล้วที่หันมาขายกุ้งโกสต์ตามความนิยมของตลาด นอกจากนั้นยังมีข้อมูลจากผู้ขายกุ้งว่ามีการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยขายขาดให้บริษัทชิปปิ้ง

สำหรับราคาที่ซื้อ-ขายกันนั้นไม่มีเกณฑ์วัดตายตัว ขึ้นอยู่กับความสวยงามของลวดลายและสี เป็นราคาตามความพอใจที่ผู้ซื้อ-ผู้ขายตกลงกัน เริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักล้านบาท

ทีมข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงสำรวจพื้นที่ตลาดนัดกุ้งเครย์ฟิชในตลาดเจเจกรีน ในคืนวันพุธ พบว่ามีผู้ค้าประมาณ 170 ร้าน บรรยากาศในตลาดครึกครื้น มีผู้คนหลายเพศหลายวัยมาเดินเลือกซื้อกุ้ง

นายอธิคุณ กิตติตระกูล เจ้าของฟาร์ม 99 KFishow เล่าข้อมูลความเป็นมาของกุ้งโกสต์ในไทยว่า ในเมืองไทยเริ่มมีการเพาะเลี้ยงกุ้งโกสต์เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว เป็นโกสต์ที่ถ่ายทอดพันธุกรรมออกมาได้เหมือนตัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มาจากไต้หวัน คือเป็นโกสต์สีขาวที่มีลายแถบสามสีคล้ายธงชาติไทย จากนั้นมีการเพาะขยายพันธุ์มาเรื่อย ๆ และบางส่วนนำไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อ

ต่อมามีจุดเปลี่ยนของวงการ เมื่อฟาร์ม NST ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นฟาร์มแรกที่เพาะเลี้ยงได้กุ้งโกสต์ที่หลุดจากสีดั้งเดิมออกมาเป็นโกสต์ด่าง มีลายแปลกไปจากโกสต์แท้ และให้นิยามว่า “โกสต์ด่างวัว” ซึ่งตอนแรกคนยังไม่นิยม

“จนประมาณกลางปี 2559 คนจึงหันมาสนใจโกสต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เพราะโกสต์สีเต็มมันเหมือนกันหมด คือเป็นสีธงชาติ แต่ตัวด่างมีแพตเทิร์นมีสีที่ยูนีค เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ทำให้โกสต์ด่างเกิดเป็นที่นิยมขึ้นมา แม้กระทั่งผู้พัฒนาสายพันธุ์ในประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นต้นตำรับในการเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์กุ้งโกสต์ส่งออกก็ยอมรับว่าโกสต์ด่างตัวนี้เจ๋ง และยอมรับว่าคนไทยพัฒนาจนแซงหน้าเขาไปแล้ว

ในช่วงนั้นมีชาวต่างชาติบินมาซื้อจากคุณเอ็กซ์ 2-3 ตัว ประมาณ 1.3 ล้านบาท และตามหาซื้อโกสต์ในสายนี้อีกมูลค่าประมาณ 3-4 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาสายพันธุ์แล้วนำไปขายที่ตลาดบ้านเขาจุดนั้นเป็นจุดพลิกผันให้โกสต์ด่างวัวมีราคาทะลุหลักหมื่นจากที่สมัยก่อนกุ้งโกสต์ราคาหลักพัน ตัวละ 7-8 พันถือว่าแพงแล้ว พอมีต่างชาติมาสนใจ ราคาก็ขยับขึ้นมา จากนั้นมีคนจากวงการอื่น ๆ เช่น คนวงการกระเบน เข้ามาสนใจจับพ่อแม่พันธุ์สวย ๆ คู่เด็ด ๆ ของฟาร์มดัง ๆ ในราคาหลายแสน จนถึงที่เป็นข่าวคือราคาหลักล้านบาท”

อธิคุณบอกอีกว่า ลักษณะพื้นฐานของกุ้งที่ราคาแพงคือต้องตัวขาวมาก เพราะสีขาวเป็นสียืนพื้นที่เห็นความตัดกันของสีได้ชัดเจน มีคอนทราสต์สูง

สำหรับกลุ่มคนที่เข้ามาในวงการซื้อ-ขายกุ้งโกสต์นั้น อธิคุณบอกว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในวงการสัตว์น้ำชนิดอื่นมาก่อน เช่นตัวเขาเองที่เคยเพาะเลี้ยง-ขายปลาหมอสีมาก่อน และมีคนจากวงการอื่น ๆ เข้ามา อย่างเช่น วงการพระเครื่อง วงการรถ วงการสัตว์สวยงามอื่น ๆ รวมทั้งนักเรียนนักศึกษา คนทั่วไปที่มองว่าเป็นโอกาสในการหารายได้เสริม

“รายได้ต่อเดือนของฟาร์มนี้ เป็นฟาร์มระดับกลาง ๆ ได้เดือนละ 2 แสนบาท ถ้าเป็นฟาร์มใหญ่ ๆ ท็อป ๆ ได้เดือนละ 2-3 ล้านบาท” อธิคุณให้ข้อมูล

“พอเป็นข่าวใหญ่ว่ามีการซื้อกุ้งตัวละล้าน ก็เหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์ ทำให้ตลาดยิ่งบูม คนที่เล่นสัตว์เลี้ยงสวยงามวงการอื่นก็แห่เข้ามาเล่น เพราะได้ผลตอบแทนไวมาก ถ้าเทียบกับธุรกิจอื่น” เขาแสดงความเห็น

ตลาดกุ้งโกสต์ที่หลายคนมองว่าเป็นโอกาสและกระโจนเข้ามาเล่น จะเป็นกระแสชั่วคราวหรือจะยืนระยะได้ยาว ทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร อธิคุณมองว่า

“ต่อไปต้องแข่งขันกันเรื่องคุณภาพความสวยงาม ความแตกต่าง แข่งว่าใครจะสร้างแพตเทิร์นความแตกต่างที่เป็นที่นิยมขึ้นมาได้ ตลาดสัตว์เลี้ยงถ้ามันยังไม่ตัน หมายความว่าเรายังสามารถผสมลักษณะใหม่ ๆ ออกมาได้ ตลาดก็ยังไม่ตัน เรารู้ว่ามันยังมีช่องที่จะสร้างแพตเทิร์นใหม่ ๆ สีใหม่ ๆ ขึ้นมาขายได้ อย่างเช่น ตอนนี้ยังไม่มีโกสต์สีชมพู สีเหลือง สีเขียว หรือลายแปลก ๆ มันก็ยังมีช่องให้เล่นอยู่ น่าจะอยู่ได้อีก” เจ้าของฟาร์มกุ้งโกสต์ว่า

ถึงแม้จะมองเห็นว่ามีโอกาสรออยู่ข้างหน้า แต่ผู้ที่จะทำกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งโกสต์ก็มีข้อที่ต้องระวัง และควรทำให้ถูกต้องคือ มีกฎหมายกำหนดว่ากุ้งโกสต์ และกุ้งในสายกุ้งเครย์ฟิชทั้งหมด อยู่ในลิสต์สัตว์ควบคุมห้ามนำเข้า (แต่ส่งออกได้)

สำหรับที่มีอยู่ในประเทศอยู่แล้วต้องเพาะเลี้ยงภายใต้การควบคุม ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่กรมประมงก่อนดำเนินกิจการเพาะเลี้ยง เพื่อกำหนดเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม

นางอรุณี ลอดลอย รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ กรมประมง แสดงความเห็นในเรื่องโอกาสทางการค้ากุ้งโกสต์ว่า ยังเป็นตลาดเล็กทั้งในและต่างประเทศ และมีโอกาสที่ตลาดจะตันง่าย เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่ซื้อไปเพื่อเพาะพันธุ์ขายต่อ จึงเกิดเป็นตลาดที่มีผู้ขายมากกว่าผู้ซื้อ

อย่างไรก็ตาม ในมุมของรายย่อยที่ไม่ได้มองไปถึงการทำเป็นธุรกิจใหญ่โต ก็ยังมองว่าเป็นโอกาสที่ดี อย่างที่ นายกีรกิตติ อินมะณี หุ้นส่วนร้าน Istyle Crayfish

ที่บอกว่า ตัวเองเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่มองเห็นโอกาสในการหารายได้เสริมจากการเพาะเลี้ยงกุ้งโกสต์ จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนทำการศึกษาและเพาะเลี้ยงกุ้งโกสต์

เปิดร้านขายในเฟซบุ๊กและออกร้านขายที่ตลาดนัดเจเจกรีนด้วย ซึ่งรายได้ที่ได้รับถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่ดี